parallax background
 

วัยรุ่นหัดเดิน

ผู้เขียน: ดวงคำ หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

“สังขารทั้งหลายเป็นของหนักเน้อ”

ในวันที่ 8 เป็นวันแรกที่เราเริ่มออกเดิน ซึ่งพวกเราจะต้องแบกสัมภาระมากมายไว้บนหลังเองยกเว้นเต็นท์กับถุงนอน สิ่งที่ผมบรรจุลงในกระเป๋าเป้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นและจะอำนวยความสะดวกให้ในยามลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่เตรียมมาพอดีสิบวันโดยไม่ต้องซักให้เป็นภาระ น้ำดื่มและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครีมกันแดด หรือแม้กระทั่งแบตเตอรีสำรอง ผมคิดไว้แล้วว่าเมื่อผมลำบาก สิ่งเหล่านี้จะช่วยผมให้ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้ แต่เมื่อลองแบกเป้ขึ้นหลัง ผมเริ่มรับรู้ถึงน้ำหนักที่กดทับลงมาบนบ่าและแผ่นหลังของผมตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ร่างกายรับรู้ถึงน้ำหนักที่มากกว่าปกติ แต่ตอนนั้นผมคิดว่าแบกไหว เพราะแม้จะหนัก แต่ก็ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงมากนัก

จนวันแรกของการเดิน อาจารย์พาพวกเราขึ้นไปน้ำตกที่อยู่ใกล้บ้านของอาจารย์เอง ซึ่งแน่นอนว่าระยะทางประมาณกิโลเมตรกว่าๆ ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่เป็นการขึ้นภูเขา เมื่อเริ่มเดินสักระยะหนึ่ง ผมเริ่มได้ยินเสียงหัวใจที่เต้นแรงและสั่นสะเทือนไปทั่วร่างกาย เสียงภายนอกดับลง เหลือเพียงเสียงลมหายใจและเสียงหัวใจที่ก้องอยู่ในหูทั้งสองข้าง และพร้อมจะหยุดได้ในทุกขณะ ความคิดหายไป ความอ่อนล้าและเหน็ดเหนื่อยทำงานอย่างเต็มที่ ทุกๆ ครั้งที่เหนื่อยจนเริ่มจะเดินไม่ไหว ทำให้รู้สึกว่า สัมภาระที่แบกมานี้มีอะไรจำเป็นสำหรับการเดินขึ้นภูเขาบ้าง เมื่อหันไปมองเป้ของตัวเอง มีเพียงน้ำที่ใกล้หมดแล้วเท่านั้นที่จำเป็น ณ ตอนนี้ ส่วนอย่างอื่นล้วนไม่จำเป็น แต่ก็มิอาจตัดใจทิ้งหรือละวางได้ เพราะเราคิดว่าวันใดวันหนึ่งต้องใช้งานมันแน่ และมันเป็นของของเรา ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้คือ แบกสัมภาระมากมายเหล่านี้ขึ้นสู่ที่สูงต่อไป อย่างยากลำบาก

ผมเกิดความรู้สึกกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากหลังจากที่ทำวัตรสวดมนต์แปลด้วยกัน แล้วมีบทหนึ่งที่สวดว่า “สังขารทั้งหลายเป็นของหนักเน้อ” ขณะที่สวดอยู่ ผมอดคิดถึงตอนที่ต้องแบกเป้ขึ้นไปบนภูเขาไม่ได้ เมื่อเกิดมาเราต่างพะรุงพะรังด้วยร่างกายและสังขารนี้ ที่จะต้องทำนุบำรุงเพื่อพาเราไปให้ถึงจุดหมาย อาจารย์ประมวลเปรียบว่า “สังขารนี้เปรียบเหมือนเรือที่จะพาเราข้ามฝั่ง” ดังนั้นเราต้องดูแลและแบกเรือลำนี้และบังคับหางเสือให้ไปถึงอีกฝั่งหนึ่งให้ได้ ในขณะที่เดินและมีความเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมากบังเกิดขึ้นกับร่างกายนี้ ผมรู้สึกได้ถึงการมีอยู่ของร่างกายอย่างชัดเจน ทุกๆ ก้าวเป็นเหมือนกับการเดินเพื่อที่จะพยุงร่างกายนี้ไปข้างหน้าเท่านั้น และมีโอกาสที่จะเป็นก้าวสุดท้ายในทุกๆ ขณะ เพียงแค่สังขารร่างกายที่จะนำเราขึ้นไปสู่ที่สูงให้ได้นั้นก็หนักเพียงพอแล้ว กลับต้องมาแบกสัมภาระที่สะสมมาอีก

หากมองดูในมุมของชีวิตแล้ว การที่เราจะพัฒนาและหลุดพ้นจากความทุกข์และเข้าถึงสภาวะอันเป็นธรรมชาติที่แท้นั้น ก็ต้องบังคับหางเสือเรือลำนี้ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง บางครั้งก็อาจเจอสายน้ำที่นิ่งสงบ แต่บางครั้งก็ต้องเจอกับสายน้ำที่เชี่ยวกราก ลำพังเพียงแค่เรือเปล่าๆ ก็ยากที่จะข้ามพ้นได้แล้ว แต่เมื่อลองมองดูในเรือของเราดีๆ กลับเต็มไปด้วยสัมภาระมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย 4 หรือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ไม่อดตาย มีทั้งข้าวสารเป็นถังๆ น้ำดื่ม เสื้อผ้า และเครื่องอำนวยความสะดวกที่ก่อนจะขึ้นเรือ เราถูกสอนมาว่า การเดินเรือสิ่งไหนบ้างที่สำคัญ จงสะสมและนำเสบียงเหล่านี้ติดตัวเพื่อแล่นไปในท้องทะเลแห่งชีวิต แล้วเจ้าจะไม่อดตาย เราสะสมและยึดสิ่งของเหล่านั้นว่า “เป็นของกู” จึงไม่อาจทำใจที่จะสละสิ่งใดสิ่งหนึ่งทิ้งไป จนเมื่อเราเดินทางมาได้สักระยะหนึ่ง จึงจะตระหนักได้ว่า สิ่งไหนจำเป็นและไม่จำเป็น ตามเหตุการณ์และกระแสน้ำที่เราต้องผ่านไป

แต่ถึงแม้จะเห็นแล้วว่าสิ่งไหนสำคัญสิ่งไหนไม่สำคัญ แต่หากเป็นเพียงการเห็นผ่านความคิดและเหตุผล เราก็ยังไม่อาจละทิ้งสิ่งเหล่านี้ได้เลย ก่อนหน้านี้ผมเคยคุยกับอาจารย์เรื่องการเดินทางในมิติภายในของผม ผมบอกอาจารย์ว่า ตอนนี้ผมรู้สึกสับสนและเต็มไปด้วยความคิดมากมายในการเดินไปบนเส้นทางนี้ บางครั้งผมรู้สึกไม่ปลอดภัยและรู้สึกว่าตัวเองจะต้องพัฒนาและมีเครื่องมือพัฒนาตัวเองมากมายขนาดไหน ถึงจะสามารถมีอิสรภาพจากตัวตนได้ อาจารย์ตอบเพียงสั้นๆว่า “เมื่อก่อนเราจะออกเดินทาง และเราจะต้องเตรียมของ อะไรๆ มันก็ดูสำคัญไปหมด มันไม่อาจบอกได้เลยว่าสิ่งไหนที่จะต้องทิ้งและสิ่งไหนที่จะต้องเอาไป แต่เมื่อเราออกเดินทาง เราจะรับรู้เองว่าสิ่งไหนที่จำเป็นและสิ่งไหนที่เราจะต้องละทิ้ง บางครั้งสิ่งที่เห็นว่าสำคัญในช่วงแรกๆ อาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลยเมื่อออกเดินทางจริง ลองออกเดินทางดูก่อนแล้วเราจะรู้ว่า สัมภาระอันไหนที่สำคัญและจำเป็น”

อันที่จริงแล้ว สัมภาระภายนอกและสัมภาระภายใน ล้วนเป็นสิ่งที่เราแบกมันไว้ และสิ่งที่ยึดให้เราแบกสิ่งเหล่านี้คือสายสะพายสองเส้น เส้นหนึ่งเรียกว่า “ตัวกู” และอีกเส้นเรียกว่า “ของกู” เมื่อเรายังแบกสายสะพายสองเส้นนี้อยู่ เราก็มิอาจเดินขึ้นจุดสูงสุดของภูเขานี้ได้อย่างสบายตัว

“โปรดสำรวจสัมภาระของท่าน ณ ตอนนี้ เพราะบางทีมันมีบางอย่างที่ไม่จำเป็นและหนัก ค่อยๆ ทิ้งสัมภาระที่ไม่จำเป็น และสุดท้ายเราจะรู้ว่า ไม่มีสิ่งไหนจำเป็นและไม่จำเป็น คือการอยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู ของกู ทุกสิ่ง ล้วนเป็นอยู่อย่างนั้น (ตถตา)”

ด้วยความขอบคุณ
ทาม (นเรศ เสวิกา)

[seed_social]
23 มิถุนายน, 2563

ถุงยังชีพเพื่อแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์ COVID – 19

จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติกว่า 9 หมื่นคน ส่วนใหญ่เข้ามาประกอบอาชีพในภาคบริการ การท่องเที่ยว ทำงานบ้าน เป็นแรงงานในการก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป พวกเขาอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
17 เมษายน, 2561

ความเคลื่อนไหว เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในมาเลเซีย

รากฐานเริ่มแรกของขบวนการฮอสพิซในมาเลเซีย เป็นผลงานการบุกเบิกของ ดาโต๊ะ ศรี จอห์น คาร์โดซา (John Cardosa) ในช่วงทศวรรษที่ ๗๐ และ ๘๐ เมื่อจอห์นพบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งใน ปี ค.ศ.๑๙๗๒ ทำให้เขาประสบกับการบำบัดโรคร้ายที่คุกคามชีวิต
25 เมษายน, 2561

คัลลานิช นิเวศบำบัดเพื่อการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยมะเร็ง

ประเทศแคนาดาได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) และมีฮอสพิซ (Hospice) ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นระบบ ทว่ายังมีความพยายามค้นหาวิธีการดูแลเยียวยาผู้ป่วยถึงด้านในของจิตใจ