parallax background
 

คัลลานิช
นิเวศบำบัดเพื่อการเยียวยาจิตใจ
ผู้ป่วยมะเร็ง

ผู้เขียน: เพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ประเทศแคนาดาได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) และมีฮอสพิซ (Hospice) ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นระบบ ทว่ายังมีความพยายามค้นหาวิธีการดูแลเยียวยาผู้ป่วยถึงด้านในของจิตใจและลึกซึ้งถึงด้านจิตวิญญาณ รวมถึงการค้นหาความหมายของชีวิตในวาระสุดท้าย และการมีสติเผชิญหน้ากับความตาย

เจนี่ บราวน์ (Janie Brown) เป็นพยาบาลที่ทำงานกับผู้ป่วยมะเร็งที่เมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา เธอพบว่ามะเร็งเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต กระบวนการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัด และฉายรังสี ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดทรมานไม่เฉพาะทางร่างกาย หากยังส่งผลถึงความเจ็บปวดทางจิตใจด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เธอจึงชักชวนเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกัน สร้างรูปแบบการเยียวยาจิตใจและจิตวิญญาณให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “คัลลานิช (Callanish)” ซึ่งเป็นชื่อกองหินที่เรียงเป็นวงกลมบนเกาะลูอิส ทางตะวันตกของสกอตแลนด์ ซึ่งคาดว่าถูกจัดวางขึ้นเมื่อราว ๕ พันปีก่อนเพื่อประกอบพิธีกรรมสำคัญ ความศักดิ์สิทธิ์และเป็นปริศนาของกองหินเทียบเคียงได้กับความมีมนต์ขลังและความไม่แน่นอนของชีวิต

แนวคิดหลักในการดูแลผู้ป่วยของคัลลานิช เน้นกระบวนการเยียวยา หรือ healing เพื่อให้เข้าถึงตัวตนภายในจิตใจ และจิตวิญญาณ ไม่เน้นการดูแลทางการแพทย์เพื่อให้หายจากความเจ็บปวดที่เรียกว่า curing มีแนวคิดหลัก ๓ ข้อ คือ ๑. สร้างพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเยียวยา ๒. ใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการเยียวยา เช่น ดนตรี ศิลปะ เสียงหัวเราะ ธรรมชาติ อาหารอร่อย และ ๓. การค้นหาความต้องการภายในเฉพาะบุคคล

โปรแกรมการเยียวยาผู้ป่วยมะเร็งของกลุ่มคัลลานิช มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยแกนนำผู้ก่อตั้งและอาสาสมัครทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้แก่ แพทย์ นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา นักศิลปะบำบัด นักดนตรี และนักแต่งเพลง นักบำบัดด้วยการนวด ครูชี่กงและโยคะ แม่ครัว

จวบจนปี พ.ศ. ๒๕๔๗ คัลลานิชจึงเพิ่มการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ “นิเวศบำบัด (retreat)” ซึ่งเป็นกระบวนการฟื้นฟูจิตใจให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการเรียนรู้ภายในเพื่อการเติบโตและมีชีวิตก้าวไปข้างหน้า โดยการเยียวยาลักษณะนิเวศบำบัดนี้ ในประเทศแคนาดามีจัดขึ้นที่คัลลานิชเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

แต่ละปี จะมีการจัดนิเวศบำบัด ๔ ครั้ง ครั้งละ ๗-๘ วัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาเหล่านี้ ผู้ป่วยจะได้สัมผัสการเปลี่ยนแปลงครบทุกฤดูกาล บรรยากาศในฤดูหนาว จะมีเสียงฟืนแตกจากเตาผิง กลิ่นหอมโชยจากซุปและขนมปังอบ และหิมะที่ตกโปรยปราย ส่วนในฤดูใบไม้ผลิ หมู่มวลดอกไม้จะผลิบาน เหล่านกฮัมมิงเบิร์ดกินน้ำหวานจากเกสร ประกอบกับการดูแลที่อบอุ่น ความไว้วางใจที่มีให้แก่กัน และธรรมชาติรอบตัวจะส่งผลกระตุ้นต่ออารมณ์ความรู้สึก ปลุกประสาทสัมผัสให้ตื่นขึ้น ช่วยกล่อมเกลาให้เกิดการค้นพบภายใน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่จุดเริ่มต้นของการบำบัดและเยียวยา

คัลลานิชเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า องค์ประกอบสำคัญในการจัดนิเวศบำบัด ได้แก่ ธรรมชาติ (Nature) ความสงบ (Silence) เสียง (Sound) ดนตรี (Music) ความงดงาม (Beauty) เสียงหัวเราะ (Laughter) ช่วงเวลาดูแลความสูญเสีย (Grief Work) การผ่อนคลาย (Relaxation) การสัมผัส (Touch) อาหารที่มีประโยชน์และอร่อย (Health Food) และสุดท้ายคือชุมชน (Community) ที่ดูแลอย่างเข้าใจและใส่ใจ สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ในการจัดกิจกรรมเพื่อการเยียวยา

นอกจากนี้ องค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญมาก คือ “การฟัง” เป็นการฟังเสียงจากหัวใจ รับรู้อย่างใส่ใจและไม่ตัดสิน เพราะแต่ละคนมีความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกัน ไม่มีถูกผิด การเยียวยาจะเกิดขึ้นเมื่อเปิดใจเล่าอย่างซื่อตรงต่อความรู้สึก และการฟังอย่างลึกซึ้งจะมีพลังช่วยให้ผู้ป่วยกลับสู่โลกภายในและเชื่อมโยงกับโลกภายนอก จนค้นพบความปรารถนาอย่างแท้จริง

ดังนั้น ผู้เยียวยาจึงเริ่มต้นกิจกรรมแรกด้วยการฟัง โดยนั่งล้อมวงพูดคุยกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ป่วยแบ่งปันเรื่องราว ซึ่งเราจะพบเรื่องราวภายในใจที่อาจซ่อนอยู่ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคนหนึ่งมีอาการซึมเศร้าและอยากฆ่าตัวตาย เธอเล่าว่าหมอให้กลับบ้านเพื่อเตรียมตัวบอกลา แต่เธอยอมรับไม่ได้ เธอรู้สึกว่าตนเองมีศักดิ์ศรี เธออยากสู้และยืนยันจะรักษาต่อ แต่ตอนนี้เธอรู้สึกเคว้งคว้างไม่รู้ว่าอะไรคือเป้าหมายในชีวิต

หลังเปิดใจเล่าเรื่องราวแล้ว จึงให้ผู้ป่วยทบทวนหาจุดแข็งของตนเอง ว่าสามารถก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากนั้นมาได้อย่างไร มีใครสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ต่อจากนั้น เลือกลูกปัดแทนจุดแข็งหรือผู้คน แล้วร้อยลูกปัดใส่ติดตัว การเลือกลูกปัดเป็นการใช้เวลาจัดระบบความคิดใหม่ และการนำติดตัวเสมือนย้ำเตือนความเข้มแข็งที่ตัวเรามี หรือผู้คนที่โอบอุ้มเรา

กิจกรรมอื่นๆ เช่น “I fear” เขียนความกลัวแล้วอ่านให้ฟัง เพื่อทำงานกับความกลัว และเพื่อเป็นอิสระจากมัน หรือกิจกรรมการทำงานกับความหวัง ซึ่งไม่ใช่ความหวังที่จะหายจากโรคร้าย หรือความหวังลมๆ แล้งๆ แต่เป็นความหวังในการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยเขียนความหวังลงบนก้อนหินกลมแบน และกุมก้อนหินนั้นไว้ในมือ แล้วจึงนำก้อนหินไปฝากไว้กับลำธาร ให้สายน้ำกับธรรมชาติช่วยดูแล

กิจกรรมทั้งหมดจัดขึ้นท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ สวยงาม บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง มีเสียงดนตรี มีอาหารที่เอร็ดอร่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกปรอดโปร่ง สบาย และปลอดภัย ที่สำคัญกิจกรรมจะไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่จะให้ผู้ป่วยได้ออกไปเดินให้เท้าสัมผัสดิน ออกกำลังกายด้วยชี่กงท่ามกลางธรรมชาติรายล้อม

ศิลปะบำบัด กิจกรรมหนึ่งในนิเวศบำบัด

เกรทเชน แลด (Gretchen Ladd) เป็นศิลปินและนักศิลปะบำบัด ทั้งยังเป็นอาจารย์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไปที่สนใจเรียนรู้ศิลปะบำบัดให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แลดมีแรงบันดาลในการเรียนรู้ความสูญเสียและความตายจากการสูญเสียย่ากับยายในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้เธอเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าชีวิตและความตายมีความหมายมากเพียงใด อีกทั้งพบว่าการช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เผชิญกับความตายมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

เธอจึงทำงานเป็นอาสาสมัครที่แผนกงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลชุมชน ได้รู้จักกับเจนี่ บราวน์ และร่วมงานกับคัลลานิช เพื่อใช้กระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะสะท้อนตัวตนภายในและเพื่อการเยียวยา

เธอบอกว่าศิลปะบำบัดของคัลลานิชในนิเวศบำบัด มีห้องทำงานศิลปะในฝัน เนื่องจากโอบล้อมด้วยธรรมชาติ หากเปิดหน้าต่างจะได้ยินเสียงนกร้องและเสียงสายน้ำ เพราะมีลำธารเล็กๆ ไหลผ่าน ความงดงามของธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งในการกล่อมเกลาและโอบอุ้มจิตใจที่เปราะบางของผู้ป่วย แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้น ศิลปะบำบัดต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ป่วยกลับเข้าไปเชื่อมโยงและค้นพบตนเอง

ศิลปะสำหรับผู้ป่วยนั้นมีประโยชน์มากมาย ศิลปะช่วยสร้างคุณค่าในตนเอง รู้สึกดีต่อตนเอง รักตนเอง เช่น จากการที่ทำงานได้สำเร็จ และรู้สึกว่าฉันทำได้ ศิลปะยังช่วยทบทวนความปรารถนาและความต้องการที่แท้จริงของชีวิต เพื่อคืนพลังให้เขาเป็นผู้เลือกและควบคุมกำหนดชีวิตตนเอง เช่น ผู้ป่วยคนหนึ่งกลัวตายมาก แต่ทำศิลปะไปไม่กี่วัน ก็สามารถบอกความปรารถนาของตนเองได้ว่า หลังเผาศพของเขาแล้วอยากนำเถ้ากระดูกใส่ในภาชนะแก้วสีน้ำเงิน และเขาก็ทำงานปั้นภาชนะนั้น เมื่อกลับไป เขาจ้างศิลปินมาปั้นเป็นรูปร่างตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ งานศิลปะยังเปิดพื้นที่สำหรับการเตรียมตัวบอกลาและบอกรัก เพราะงานศิลปะที่เขาสร้างเมื่อมีชีวิตอยู่ จะเป็นเสมือนตัวแทนให้ผู้คนเชื่อมโยงและระลึกถึงเขาเมื่อจากโลกนี้ไป

โปรแกรมนิเวศบำบัดแต่ละครั้ง มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม โดยใช้ข้อมูลจากการประเมินหลังจบกิจกรรม และข้อมูลจากครอบครัวของผู้ป่วยที่โทรกลับมาแจ้งว่าผู้ป่วยเป็นอย่างไรบ้าง โปรแกรมต่างๆ ของคัลลานิชได้รับการสนับสนุนจากการระดมทุนและบริจาคจากชุมชน ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วย ครอบครัวและเพื่อนฝูง นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานทุกคนเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ยกเว้นเจ้าหน้าที่ประจำเท่านั้นที่ได้รับเงินเดือน

เจนี่ บราวน์ ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคัลลานิช มีความเชื่อมั่นว่าผู้ป่วยมะเร็ง แม้จะเปราะบาง แต่มีความสามารถที่จะผ่านพ้นวิกฤตได้ด้วยตนเอง ผู้บำบัดหรือผู้เยียวยาไม่ได้มีหน้าที่เหมือนหน่วยกู้ภัยที่กระโดดลงไปช่วย ทว่าคัลลานิชมีหน้าที่สร้างกระบวนการที่เอื้อโอกาสให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูจิตใจด้วยการเชื่อมโยงกลับเข้าหาตนเอง เพื่อค้นพบความหมายที่ตนเองต้องการอย่างแท้จริง

ข้อมูลจาก
๑. www.callanish.org
๒. ร่วมอบรมศิลปะบำบัด Art and Healing at the edge: where Life and Death meet โดยเกรทเชน แลดด์ (Gretchen Ladd) เมื่อวันที่ ๑๐-๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ สตูดิโอ Human Center กรุงเทพฯ

[seed_social]
1 มิถุนายน, 2561

DI(E)ALOGUE…เรียงร้อยมรณา

ไม่มีสถานที่ใดที่ความตายมิอาจย่างกรายไปถึง…ไม่ว่าจะเป็นในห้วงนภากาศ ในมหาสมุทร หรือแม้แต่ในยามที่อยู่ท่ามกลางขุนเขา…
20 เมษายน, 2561

Hospice – Palliative Care มิติใหม่เชื่อมสาธารณสุขไทยไร้รอยต่อ

นับว่าคุ้มค่ากับการต้องฝ่ารถติดข้ามเมืองเพื่อไปร่วมงานประชุมวิชาการเรื่อง “Hospice - Palliative Care : มิติใหม่เชื่อมสาธารณสุขไทยไร้รอยต่อ” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งกรมการแพทย์ สช. และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาการพยาบาล สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
20 เมษายน, 2561

ดูแลใจด้วยงานศิลปะ

งานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นงานหนักและต่อเนื่อง ต้องอาศัยความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและเวลา เพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นผู้ดูแลทั้งที่เป็นบุคลากรสุขภาพหรือเป็นญาติผู้ป่วย ต่างต้องเหนื่อยล้า ประสบภาวะเครียด ท้อแท้ หงุดหงิดรำคาญใจ