จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติกว่า 9 หมื่นคน ส่วนใหญ่เข้ามาประกอบอาชีพในภาคบริการ การท่องเที่ยว ทำงานบ้าน เป็นแรงงานในการก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป พวกเขาอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
ในช่วงการระบาดของ COVID – 19 แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้เนื่องจากมาตรการปิดประเทศ ทำให้การดำรงชีวิตมีความยากลำบากมากกว่าเดิม จากเดิมที่ต่างลำบากอยู่แล้ว ต้องตกอยู่ในสภาวะที่รายได้ลดลงเพราะนายจ้างไม่จ้างงาน ตกงาน บางคนเจ็บป่วย หรือถูกดำเนินคดี
หลังมาตรการควบคุมโรคระบาดทำให้การจ้างงานลดลง แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องใช้เงินเก็บที่มีอยู่อย่างประหยัด งานบางอย่างที่ยังพอทำได้ก็มีรายได้ไม่มากนัก เนื่องจากนายจ้างก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน และต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID – 19
การช่วยเหลือผ่านการแจกจ่ายอาหาร การติดตั้งตู้ปันสุข รวมทั้งสิ่งของจำเป็น อาจจะไม่เพียงพอกับความเดือดร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม นอกจากกรมการจัดหางานได้สั่งชะลอการนำเข้าแรงงานข้ามชาติและขยายเวลาการต่ออายุใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรให้กับแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา ไปถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 หลายหน่วยงานได้เข้าไปสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกัน COVID – 19 รวมทั้งมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปอีกกว่าหนึ่งปี หากมีการระบาดระลอกใหม่ซ้ำเติมเข้ามาจะทำให้เกิดผลกระทบที่ยาวนานยิ่งกว่าเดิม
ทำให้นักวิชาการและนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ภายใต้ชื่อ “กลุ่มนักวิชาการเพื่อแรงงานข้ามชาติ” และภาคีเครือข่าย รวมกลุ่มกันแบบเฉพาะกิจลุกขึ้นมาระดมเงินบริจาคเพื่อซื้อเสบียงอาหาร นำไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการส่งต่อความช่วยเหลือให้ไปถึงคนที่เดือดร้อนอีกกลุ่มที่ (อาจจะ) ถูกลืมไว้ข้างหลัง
ภารกิจอาสาสมัครของกลุ่มฯ
กลุ่มนักวิชาการเพื่อแรงงานข้ามชาติและเครือข่ายต้องการแบ่งเบาความทุกข์ยากของพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะบรรเทาเบาบางลงเมื่อไหร่ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากคนไทย แต่แรงงานข้ามชาติแทบเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คุณพิสิษฏ์ นาสี ผู้ประสานงาน กลุ่มนักวิชาการเพื่อแรงงานข้ามชาติ บอกเล่าถึงความตั้งใจของกลุ่มฯ ที่ต้องการสะท้อนปัญหาของแรงงานข้ามชาติในภาวะวิกฤต COVID – 19 “ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวในจังหวัดเชียงใหม่ แต่พวกเราหวังว่ามันจะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่กระทุ้งให้รัฐบาลและสังคมหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทยมานานแล้ว และภายหลังจากวิกฤตการณ์นี้หมดไป พวกเขาก็จะเป็นแรงกำลังสำคัญในการฟื้นฟูประเทศไทยต่อไป แต่ถึงกระนั้นแม้พวกเขาจะไม่มีบทบาทใด ๆ การเห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งควรทำ
กลุ่มเป้าหมายของการแบ่งปันครั้งนี้
ชุมชนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการช่วยเหลือจากกิจกรรมนี้มีเป็นจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น พื้นที่ดอนจั่น สุเหร่าช้างคลาน ชุมชุนเก็บขยะสันป่าข่อย ชุมชนหลังสนามบินเชียงใหม่ ตลาดหนองหอย ตลาดไนท์บาซาร์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันกำแพง บ้านถวาย อำเภอหางดง อำเภอแม่ริม ปางช้างแม่แตง และยังขยับขยายไปถึงพื้นที่จังหวัดลำพูนอีกด้วย
แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง ปะหล่อง ไทใหญ่จากรัฐฉาน คะฉิ่น ชิน คะยาห์ ลีซู อาข่า ว้า แรงงานที่นับถือศาสนาอิสลาม จากเมียนมา อีกทั้งยังมีการส่งต่อถุงยังชีพให้หน่วยงานเครือข่ายนำไปมอบให้กับชุมชนแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพ เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและสตรี (SWAN) นำไปมอบให้กับศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านกุงจ่อ เปียงหลวง อ.เวียงแหง ติดกับชายแดนไทย-เมียนมา (ฝั่งรัฐฉาน) เป็นต้น
ภาคีร่วมแบ่งปัน
ภาคีเครือข่ายที่เข้ามาทำงานรวมกันกับกลุ่มนักวิชาการเพื่อแรงงานข้ามชาติมีหลากหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นภาคีที่เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือชุมชนแรงงานข้ามชาติที่กำลังได้รับความลำบากอยู่ในขณะนี้ ทั้งภาคีในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยสังคม อาจารย์และนักวิชาการที่บริจาคหนังสือสำหรับนำมาประมูลระดมทุน (และยังมีนักวิชาการนอกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกหลายท่าน) พรรคนักศึกษา DYP กลุ่มยุวธิปัตย์เพื่อสังคม ชมรมสิทธิมนุษยชน ภาคีองค์กรพัฒนาต่าง ๆ เช่น MAP Foundation Beam Foundation เครือข่ายเยาวชนไทใหญ่วัดป่าเป้า Empower Foundation (เพื่อแรงงานหญิง) SWAN (Shan Women's Action Network) กลุ่มพัฒนาสหพันธ์ ภาคีภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มสายใต้ ออกรถ ประชาชนทั่วไป ภาคีภาคธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างร้าน ต่าง ๆ เป็นต้น ภาคีเหล่านี้ต่างออกมาร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนสังคมแห่งการแบ่งปัน หลายคนมาร่วมลงแรงบรรจุสิ่งของตามวันและเวลาที่นัดหมาย
เปิดถุงยังชีพ
เงินที่ได้รับจากการระดมทุนในช่องทางต่าง ๆ (มีการเปิดระดมทุนจากภาคีเครือข่ายทั้งการบริจาคสิ่งของ บริจาคเงิน สนับสนุนหนังสือเพื่อการระดมทุน) ถูกนำไปซื้อสิ่งของบรรจุถุงเตรียมนำออกไปแจกจ่ายให้กับชุมชนแรงงานข้ามชาติ ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำยาล้างจาน ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สิ่งของเครื่องใช้จำเป็น นมกล่อง นมผงเด็ก ผ้าอ้อมสำหรับเด็ก ผ้าอนามัย หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ผักและผลไม้ที่สามารถรับประทานได้ทันที เช่น มันม่วง มะม่วง ผักสวนครัว เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563 ได้มีประกาศผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เป็นช่วงที่ 4 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ มีการอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ รวมทั้งยกเลิกการออกนอกเคหสถานหลังเวลา 23.00 น. ในวันที่ 14 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป การผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ อย่างน้อยก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นในระดับหนึ่งจะได้กลับไปทำงาน มีรายได้เข้ามา ซึ่งแน่นอนว่ายังคงไม่เต็มที่และคาดว่าจะยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาอันใกล้
แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นแล้ว แต่กลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าสู่งานได้เพราะนายจ้างขาดสภาพคล่องและการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนยังไม่ดีขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและบริการที่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลักยังคงซบเซาเนื่องจากยังไม่เปิดประเทศ นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มกิจกรรมจนถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 2 เดือน มีแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับประโยชน์จาก “ถุงยังชีพ” ที่ช่วยให้พวกเขายังมีชีวิตต่อลมหายใจ เพื่อสู้ต่อไปหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง
คุณพิสิษฏ์ นาสี กล่าวว่า “ในภาวะเช่นนี้ทางกลุ่มของเราจึงยังจะดำเนินกิจกรรมอาสานี้ต่อไปพร้อมกับประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากถึงเวลาสมควร ทางกลุ่มจะประกาศปิดรับบริจาคและยุติบทบาท โดยจะกลับไปขับเคลื่อนประเด็นแรงงานข้ามชาติในทางวิชาการต่อไปและจะแจ้งให้ทุกท่านทราบอย่างเป็นทางการต่อไป” เป้าหมายการแบ่งปันครั้งนี้แม้จะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ แต่ส่งผลให้เกิดการตระหนักรู้ให้กับสังคม ได้มองเห็นความเกื้อกูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติ
หากต้องการสมทบทุน สามารถบริจาคเงินผ่านบัญชี นายพิสิษฏ์ นาสี (ผู้ประสานงาน) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขที่ 667-293339-2 หรือพร้อมเพย์ เลขที่ 357 0101 351 453
ขอบคุณ คุณพิสิษฏ์ นาสี และภาคีเครือข่าย #กลุ่มนักวิชาการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ที่แบ่งปันเรื่องราวและภาพประกอบ
พันธกานต์ อินต๊ะมูล
จิตอาสาชุมชนกรุณาขะไจ๋