ลองจินตนาการว่ามีใครสักคนเอื้อมมาจับมือของเราแน่นแล้วจูงเราพาไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ถ้าเรามองว่าเขาเป็นคนแปลกหน้า มองว่าเขาจะพาเราไปยังสถานที่แปลกถิ่น เราคงต่อต้านขัดขืนด้วยความหวาดหวั่นไม่วางใจ
แต่ถ้าเรามองเห็นว่าคนที่กำลังจับมือจูงเราไปคือ 'แม่' ผู้ให้กำเนิดที่รักเราอย่างสุดหัวใจ ผู้หญิงที่เราวางใจ รู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งที่อยู่ใกล้ ผู้หญิงที่พร้อมจะเข้าใจและยอมรับเราอย่างไร้เงื่อนไขเสมอ เราก็คงพร้อมจะเดินตามเธอไปด้วยความรู้สึกปล่อยวางและตระหนักรู้อยู่ลึกๆ ว่าปลายทางที่แม่จะพาเราไปก็คือ...บ้าน
การเดินกลับบ้านโดยการนำทางจากมารดานี้ คือความปรารถนาข้อที่สามในการเดินภาวนารอบเกาะสมุยเป็นครั้งที่สาม ของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่อาจารย์ยอมรับว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่สุด นอกเหนือจากความตั้งใจสองข้อแรก คือ เดินเพื่อเคารพบรรพชนกับธรรมชาติรอบเกาะ และเดินเพื่อพิจารณาธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในจิตใจของตัวเอง
ที่เป็นเรื่องส่วนตัวเพราะอาจารย์ประมวลเข้าใจดีว่า คงไม่ใช่ทุกคนที่มาเดินด้วยกันจะยินยอมพร้อมใจกลับบ้าน หรือที่อาจารย์ใช้คำว่า 'กลับคืนสู่ธรรมชาติอันสงบสุข' เช่นเดียวกับอาจารย์
"พูดถึงการกลับคืนสู่ธรรมชาติ เราต้องกลับคืนไปด้วยความเคารพ" อาจารย์บอก "คือมีความน้อมรับที่จะกลับไปด้วยความเต็มอกเต็มใจ ไม่ใช่ดิ้นรนขัดขืน จนกระทั่งถูกลากไปอย่างทุลักทุเล"
"นึกถึงภาพเวลามีใครสักคนลากเราไป แล้วเราขัดขืนไม่ยอมไป แต่เขามีพลังมาก สุดท้ายเขาก็ลากเราไปจนได้ เราต้องเจ็บปวดขนาดไหนที่ถูกลากไป ผมบอกเสมอว่า ธรรมชาติก็ประดุจดังมารดาผู้อาทร เมื่อถึงวันหนึ่ง เขาจะพาเราไป คำถามคือเราจะดื้อดึงขัดขืนให้เกิดความรู้สึกทุลักทุเล หรือเราจะจับมือธรรมชาติแล้วเดินตามไปอย่างมีความสุข"
"ก็เหมือนแม่กับลูก เวลาแม่จะจูงเราไปที่ไหน ถ้าเราขัดขืน แม่จะดึง เราก็จะดึงรั้งไว้ เหมือนเวลาเด็กที่แม่พาไปเที่ยวห้าง พอเด็กอยากได้อะไร เขาจะหยุดเลย ไม่ยอมไป แม่จะดึงยังไงเขาก็ไม่ยอม สุดท้ายแม่มีพลังมากกว่าก็จะดึงไปจนได้ แต่ผมเข้าใจว่าทันทีที่เรากับแม่มีใจตรงกัน เราจะเดินจับมือแม่ไป แล้วเราก็จะมีความรู้สึกงดงามที่ได้กลับคืนสู่ธรรมชาตินี้"
อาจารย์สบตาพวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ในวงสนทนา ก่อนจะกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า อาจารย์เข้าใจดีว่าอาการหวาดกลัวไม่ยินยอมสูญเสียชีวิตเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเราต่างก็ถูกปลูกฝังสั่งสอนให้หวงแหนชีวิตที่สร้างมานี้ด้วยกันทั้งนั้น
"ผมรู้สึกได้ถึงความหมายของมณฑลที่ชาวทิเบตสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธี ไม่ว่าจะสร้างอย่างวิจิตรอลังการขนาดไหน วันสุดท้ายก็ต้องทำลายทิ้ง ผมคิดว่ามณฑลที่แท้จริงอยู่ในใจเรา เราสร้างตัวตนขึ้นมาให้มีสีสัน ให้มีเรื่องราว ให้มีความหมาย มณฑลที่เราสร้างอยู่นี้ก็ไม่ต่างอะไรจากมณฑลที่ใช้ประกอบพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีชีวิต มีความหมาย มีพลัง แต่ชาวทิเบตต่างก็มีความสุขเป็นล้นพ้นที่จะทำลายมันทิ้งในวันสุดท้าย”
แม้อาจารย์ประมวลจะไม่ได้พูดสรุปในค่ำคืนนั้น แต่ประสบการณ์ได้นั่งฟังอาจารย์มาหลายครั้งหลายครา พวกเราต่างก็สัมผัสได้ว่า แท้จริงแล้วความงดงามและคุณค่าของชีวิตอยู่ที่มันสามารถสูญสลายตายจากไปได้นี่เอง
เป็นความงามของการเดินจับมือมารดาผู้อาทรกลับคืนไปยังบางแห่งที่เราจากมานาน จนหลงลืมไปว่าเรากับธรรมชาติล้วนเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอ
[seed_social]