ตู้พระทำนำสุข
วัด ชุมชน และความกรุณา

ผู้เขียน: พันธกานต์ อินต๊ะมูล หมวด: ชุมชนกรุณา


 

“หยิบแต่พอดี ถ้าท่านมีช่วยแบ่งปัน” ได้ยินหรือเห็นประโยคนี้ หลายคนคงพอจะเดาออกว่ากำลังพูดถึง “ตู้ปันสุข” นวัตกรรมทางสังคมในสถานการณ์ COVID - 19 ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดการแบ่งปันของผู้คนในสังคมที่ไม่ได้ซับซ้อน ใครพอมี อยากแบ่งปันก็นำเอาสิ่งของมาใส่ตู้ใบนี้ ส่วนใครมีความต้องการก็สามารถมาหยิบไปได้อย่างพอดี ตู้ปันสุขจึงเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในสังคมอย่างรวดเร็ว และครั้งนี้ชุมชนกรุณาขะไจ๋ขอนำเสนออีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของตู้ปันสุขที่เกิดขึ้นใน “วัด”

ทุกเช้าของวันพระใหญ่ตามธรรมเนียมปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่วัดปันง้าว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง รวมถึงวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ นิยมมาทำบุญตักบาตรที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับและเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ จำนวนอาหารที่ได้รับจากการมาทำบุญของญาติโยมมีเป็นจำนวนมาก โดยปกติเมื่อพระท่านรับอาหารมาแล้วมีปริมาณมากเกินกว่าที่จะฉันได้หมด มักจะแบ่งปันให้ญาติโยมในหมู่บ้านที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะอาหารสดหากไม่แบ่งปันก็จะเน่าเสีย รวมถึงการส่งต่ออาหารแห้งไปยังกลุ่มคนที่มีความต้องการ เช่น คนยากไร้ มูลนิธิที่ต้องดูแลเด็ก โรงเรียน เป็นต้น นอกจากได้ทำบุญถวายพระและทำบุญถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับแล้วนั้น ยังได้ส่งต่อความช่วยเหลือไปถึงผู้คนที่ได้รับความยากลำบาก ในช่วงสถานการณ์ COVID - 19 ภาพของผู้คนที่ยกทุกข์ได้ยากเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในสังคม “วัด” ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ของผู้คนในสังคม จึงกลายเป็นที่พึ่งพิงยามยากลำบาก

การเกิดขึ้นของตู้พระทำนำสุข
ชุมชนกรุณาขะไจ๋ได้พูดคุยกับ สามเณรกิตติคุณ ทรายแก่น ที่ได้แบ่งปันเรื่องราว “ตู้พระทำนำสุข” ของวัดปันง้าวว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร “แรกเริ่มแนวคิดนี้เกิดจากพระดำริสมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) ให้วัดที่มีศักยภาพเพียงพอ จัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้คนที่ประสบความยากลำบากในสถานการณ์ COVID - 19 ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ต่อยอดพระดำรินั้น ให้วัดทั่วประเทศขยายผลจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID - 19 โดยการจัดทำตู้พระทำนำสุขและส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว”

“ตู้พระทำนำสุข” ของวัดปันง้าวเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของพระสงฆ์และคนในชุมชน ที่ต้องการช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อน นอกจากอาหารที่ญาติโยมนำมาตักบาตรทำบุญในวันพระใหญ่ที่วัดแล้ว พระสงฆ์ก็จะนำอาหารจากการบิณฑบาตในทุกเช้าที่มีปริมาณมากเกินกว่าการฉันไปใส่ไว้ในตู้ปันสุข พร้อมกับเปิดโอกาสให้ญาติโยมนำอาหาร สิ่งของสำหรับบริโภคที่ตนเองต้องการแบ่งปันมาใส่ไว้ในตู้ใบนี้

วัด ชุมชน และความกรุณา
วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชนมาอย่างเนิ่นนาน การขับเคลื่อน “ตู้พระทำนำสุข” จึงเป็นอีกภาพหนึ่งของความกรุณาที่วัดเกื้อกูลต่อผู้คน วัดไม่ได้เป็นเพียงที่พึ่งพิงแต่เพียงทางใจอีกต่อไป ในสถานการณ์ COVID - 19 ที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าพื้นที่จังหวัดลำปางมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนักเนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือผลกระทบในเรื่องปากท้อง หลายคนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ หลายคนกลับมาจากเมืองใหญ่ ตกงาน ขาดรายได้ เกิดความยากลำบากของคนในชุมชน “วัด” จึงเป็นที่พึ่งพิงในช่วงเวลาที่ยากลำบาก นี่จึงเป็นตัวอย่างของความกรุณาที่เกิดขึ้นจากพระสงฆ์ ญาติโยม ผู้คนในชุมชนที่เข้ามาร่วมแรงร่วมใจเติมเต็มสิ่งของที่เป็นธารน้ำใจส่งต่อไปยังผู้คนที่กำลังเดือดร้อน

พิกัดตู้ปันสุข วัดปันง้าว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ยินดีรับการแบ่งปันจากทุกท่าน เชิญชวนมาเติมสิ่งของให้กับตู้ปันสุขได้ หรือติดต่อได้ที่ Facebook Page ของทางวัด (https://www.facebook.com/watpanngao106/)

ขอบพระคุณ สามเณรกิตติคุณ ทรายแก่น ที่แบ่งปันเรื่องราวและภาพถ่ายครับ

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

คุณค่าความหมายภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

เครือข่ายพุทธิกาทำงานสร้างทีมสุขภาพที่มีพยาบาล จิตอาสาและภิกษุสงฆ์ เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง ๔ มิติ โดยทุกคนในทีมสุขภาพจะเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการทำงานไปด้วยกัน
25 เมษายน, 2561

เตรียมพร้อมตกกระไดพลอยกระโจน

หลักคิดที่เป็นฐานในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติธรรมของพี่ คือการลดละตัวกูของกู อย่าเห็นแก่ตัว และคลายความยึดติด นี่คือเรื่องจิตใจ ส่วนเรื่องร่างกายก็มีหลักการว่า ฉันต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย
13 เมษายน, 2561

ส่งบุญ ด้วยใจเมตตา

หลังกลับจากไปสอนผู้สูงอายุที่เทศบาลไทรโยง บ่ายแก่ๆ ฉันนั่งทำชาร์ตผู้ป่วยจำหน่าย ได้ยินเสียงเทปบทสวดมนต์ที่คุ้นเคย ทำให้นึกถึงคุณยายผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล ในใจคิดว่าเป็นอย่างไรกันบ้างหนอ