ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ชีวิตและความตาย
คุณป้าวัยหลังเกษียณนั่งรถเข็นในสถานดูแลคนชรา เคลื่อนไหวได้ช้าและอ่อนแรงจนต้องรับการป้อนข้าวป้อนน้ำ คุณป้ารู้สึกเหงาเพราะนานๆ ครอบครัวจึงมาเยี่ยมสักครั้งหนึ่ง ในระหว่างนี้คุณป้าเผชิญความเจ็บป่วยและต้องวนเวียนเข้าออกโรงพยาบาล
ใช่หรือไม่ว่า นี่คือภาพตัวแทนของผู้สูงอายุภาพหนึ่งที่สังคมไทยเป็นกังวล ภาพตัวแทนซึ่งมีลักษณะหมดหวัง อ่อนแอ เจ็บป่วย พึ่งพาผู้อื่น หากคุณเป็นผู้สูงอายุ คงรู้สึกไม่ดีนักที่ใครๆ มองว่า คุณอ่อนแอและต้องรอรับการช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดเวลา
การทำความเข้าใจความปรารถนาที่แท้จริงของผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้พวกท่านได้รับสิ่งเหล่านั้น จึงน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้พวกท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และเอื้อต่อการจากไปอย่างสงบ
คำถามคือ ผู้สูงอายุมีความปรารถนาอะไรบ้างล่ะ?
ดร.ไมเคิล รันจี้ (Michael Rungie, PhD.) สมาชิกคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ได้เดินทางมาบรรยายในงานประชุมวิชาการเรื่อง Active Ageing ที่จัดโดยบ้านสุทธาวาส กรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ “คุณภาพที่แท้จริงของการดูแลผู้สูงอายุ” ดร.ไมเคิลสะท้อนประสบการณ์การทำงานกับผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน ทั้งยังสะกิดให้หน่วยงานที่ทำงานกับผู้สูงอายุได้ฉุกคิดว่า แท้จริงแล้วผู้สูงอายุอาจมีพลังสร้างสรรค์มากกว่าที่คิด
ดร.ไมเคิลกล่าวว่า ผู้สูงอายุมีความปรารถนาพื้นฐาน 5 ประการ ได้แก่ 1. ความปลอดภัยทางกายภาพ 2. ความสัมพันธ์ที่ใช่ 3. การทำงานอย่างเข้มแข็ง 4. การพึ่งพาตนเอง และสุดท้าย เป็นผู้ให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือ
สังคมส่วนใหญ่มักเสนอความอยู่รอดปลอดภัยและความสุขสบายแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความต้องการในมิติแรกเท่านั้น แต่มักไม่ให้ความสำคัญกับความต้องการในมิติอื่นๆ ลูกหลานบางคนอาจกีดกันผู้สูงอายุไม่ให้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนอื่นๆ การขอร้องไม่ให้ผู้สูงอายุทำงานหนัก และมักปฏิเสธความช่วยเหลือที่ผู้สูงอายุเสนอให้ด้วยความปรารถนาดี
แม้เราไม่จำเป็นต้องตอบสนองความปรารถนาของผู้สูงอายุในทุกๆ ข้อ แต่การทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของพวกท่าน และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเข้าถึงคุณค่าและความปรารถนาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยทุกคนต้องการ
ดร.ไมเคิลได้แจกแจงความต้องการพื้นฐานดังกล่าว สู่บทบาทรูปธรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำและเป็นได้อีก 9 ประการ การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงบทบาทเหล่านี้ตามที่พวกท่านปรารถนา จะช่วยเปลี่ยนภาพของผู้สูงวัยธรรมดา เป็นผู้สูงวัยที่มีพลังสร้างสรรค์ หรือ Active Ageing
บทบาทของผู้สูงอายุที่ ดร.ไมเคิลกล่าวถึงได้แก่
นี่คือบทบาททั้ง 9 ประการที่ผู้สูงอายุต้องการมีส่วนร่วม ในการนี้ ระบบสุขภาพและระบบสังคมควรร่วมกันสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงบทบาทเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจอาจเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว เช่น การจัดห้องเรียนสำหรับผู้สูงอายุ การจัดรายการกีฬาสำหรับผู้สูงวัย การให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการวัยเกษียณ เป็นต้น
ด้วยวิธีมองผู้สูงวัยที่เปลี่ยนจากผู้รอรับความช่วยเหลือ (passive) เป็นผู้มีความสามารถกระทำการ (active) ย่อมสนับสนุนให้เกิดระบบบริการที่เอื้อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ศักยภาพของตนเองในทางสร้างสรรค์ มีความหวัง และมีความหมาย