งานศพ ความโศกเศร้า และโควิด 19

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

งานศพเป็นพิธีกรรมที่อุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ แต่ผลพลอยได้ที่ให้ประโยชน์ไม่น้อยไปกว่ากันคือเป็นกระบวนการเยียวยาความรู้สึกโศกเศร้าของญาติมิตรที่ใกล้ชิดผู้ตาย การจัดพิธีศพตามประเพณีและความเชื่อจะทำให้พวกเขามั่นใจและวางใจว่าคนที่รักจะไปสู่สุคติ และตนเองได้ทำสิ่งที่ควรทำแล้ว นอกเหนือจากนี้งานศพยังเป็นโอกาสสำคัญให้ญาติมิตรทั้งของผู้วายชนม์และบุตรหลานได้มาร่วมแสดงความเสียใจและให้กำลังใจคนในครอบครัวอีกด้วย

ทว่าในยุคที่ไวรัสโควิด 19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ผู้คนมากมายสูญเสียผู้เป็นที่รัก ลำพังการตายจากก็ยากจะทำใจอยู่แล้ว หากไม่สามารถจัดงานศพตามประเพณีได้ ยิ่งทำให้ญาติรู้สึกร้าวรานใจทับถมทวีคูณ บ้างรู้สึกคับแค้นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ้างรู้สึกผิดบาปที่ไม่สามารถ “ส่ง” คนรักไปสู่ภพภูมิใหม่ได้อย่างที่ควรเป็น กลายเป็นบาดแผลในใจที่ทับซ้อนกันอยู่และจะส่งผลต่อสุขภาพกายใจต่อเนื่องยาวนาน

ในอิตาลี ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงสุดในขณะนี้ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่าหนึ่งหมื่นคนแล้ว ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โศกนาฎกรรมร่วมที่คนในครอบครัวเหล่านี้กำลังเผชิญคือในยามที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเจ็บป่วย พวกเขาไม่สามารถไปดูแลหรือเยี่ยมไข้ได้ เพราะตนเองถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน ส่วนโรงพยาบาลก็ห้ามเยี่ยมผู้ป่วย และเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต พวกเขาก็ไม่สามารถไปแสดงการอำลาอาลัยแบบเห็นหน้า กอด จับมือ จุมพิต หรือทำพิธีกรรมตามความเชื่อใดๆ

ภาพน่าสะเทือนใจที่เผยแพร่ไปทั่วโลกคือภาพในเมืองเบอกาโมที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและศูนย์กลางการระบาดที่หนักที่สุด ผู้คนล้มตายจนสุสานภายในเมืองไม่สามารถรองรับได้ ขบวนรถบรรทุกนับสิบคันที่ภายในบรรจุโลงศพไม้สนแบบหยาบๆ เพราะทำอย่างเร่งรีบ เคลื่อนตัวจากโรงพยาบาลไปตามถนนที่ไร้ผู้คนเพื่อไปยังสุสานต่างเมืองที่จัดเตรียมไว้

ส่วนที่ประเทศสเปนซึ่งมีคนตายจากโควิดนับหมื่นคนเช่นกัน ทางการมีคำสั่งห้ามจัดงานศพ ขณะที่สุสานที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมาดริดออกข้อกำหนดให้ญาติเข้าร่วมพิธีศพเพียง 3 คนเท่านั้นและใช้การเผาแทนการฝังตามประเพณี ส่วนพิธีศพก็รวบรัดย่นย่อ เมื่อรถขนศพมาจอดหน้าเตาเผาศพ พระผู้ประกอบพิธีจะยืนห่างจากตัวรถระยะประมาณ 2 เมตร ทำพิธีสวดแบบสั้นๆ ส่วนญาติยืนห่างจากท้ายรถขนศพระยะมากกว่า 2 เมตรและไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสัมผัสหรือเปิดโลงศพเพื่อดูหน้าตาหรือใส่สิ่งของที่ระลึก เมื่อทำพิธีเสร็จเจ้าหน้าจะนำรถเข็นมาลำเลียงโรงศพไปยังเตาเผา จากนั้นควันไฟจากเตาเผาก็ขึ้นโขมง เป็นอันจบพิธี ระหว่างนั้นรถขนศพคันต่อมาก็เข้ามาแทนที่

 

“เรามิเพียงถูกปล้นชีวิตของคนที่เรารักไปเท่านั้น แต่เรายังถูกปล้นความสามารถที่จะรวมตัวกันเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ตายอีกด้วย” เดวิด เคสเลอร์ ผู้เขียนหนังสือชื่อ "On Grief and Grieving" ร่วมกับอลิซาเบท คูเบอร์ รอสส์ ผู้เชี่ยวชาญระดับตำนานด้านการสูญเสียกล่าวในวาระนี้

ย้อนกลับมาบ้านเรา แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังไม่รุนแรงและยังไม่มีคนตายมากเท่ายุโรปและสหรัฐอเมริกา ทว่าการจัดงานศพเริ่มได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากคำสั่งของทางการเพื่อป้องกันไวรัสแพร่ระบาด เช่น การห้ามเดินทางเข้า-ออกเมือง การห้ามออกจากบ้านตามเวลาที่กำหนดหรือเคอร์ฟิวส์ การกักตัวเมื่อมาจากพื้นที่เสี่ยง การห้ามรวมตัวกันในที่ชุมชนเกิน 50 คน เป็นต้น งานศพที่เคยจัดตามประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นงานที่ผู้คนมากมายและจัดต่อเนื่องกันหลายวันก็ไม่อาจทำได้อีกต่อไป

โจทย์สำคัญอยู่ที่ว่าขณะที่ความเชื่อที่เป็นแก่นแกนของงานศพยังคงดำรงอยู่ในใจของผู้คน เช่น การจัดงานศพคือการทำบุญเพื่ออุทิศบุญกุศลส่งให้ผู้ตายไปสู่ภพภูมิที่ดี และเป็นโอกาสให้กำลังใจแก่ญาติพี่น้องผู้ตาย เราจะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถทำตามความเชื่อดังกล่าวได้ เพื่อที่คนที่อยู่ข้างหลังจะไม่รู้สึกผิดหรือเป็นบาดแผลในใจในภายหลัง

ในฐานะผู้เขียนหนังสือ “ฉลาดทำศพ” ผู้เขียนเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ หากเราเข้าใจถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรมต่างๆ ประกอบกับใช้ประโยชน์จากยุคแห่งสังคมโซเชียลมีเดีย เราจะมองเห็นทางเลือกในการจัดงานศพที่ยังคงเนื้อหาสาระสำคัญของประเพณีงานศพได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง มิเพียงเท่านั้นยังถือเป็นโอกาสให้เราพิจารณาตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปได้อีกด้วย ดูแนวทางการจัดงานศพและการดูแลจิตใจผู้สูญเสียด้านล่าง

  • เลื่อนการจัดงาน ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว หากผู้ตายเป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้มีฐานะหรือหน้าตาในสังคมก็มักมีการเก็บศพไว้ระยะหนึ่ง เช่น หนึ่งปี เพื่อรอให้ลูกหลานที่อยู่ห่างไกลกลับมาร่วมพิธีศพแบบพร้อมหน้าหรือมีเวลาจัดเตรียมงานให้สมบูรณ์พร้อม อย่างไรก็ดีในสมัยนี้วัดส่วนใหญ่ไม่มีศาลาเก็บศพระยะยาว ส่วนที่เก็บศพในโรงพยาบาลก็มีไม่มากพอเพื่อการณ์นี้ การเลื่อนการจัดงานศพออกไปจึงอาจทำได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

กรณีนี้เดวิด เคสเลอร์บอกว่าจากประสบการณ์ของเขา การจัดงานศพควรเกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังการเสียชีวิต และหากไม่มีการจัดงานศพ ญาติที่ใกล้ชิดอาจรู้สึกผิดและโศกเศร้าเสียใจ “สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับความโศกเศร้าก็คือ คนที่ไม่ได้ไปร่วมงานศพหรือไม่ได้จัดงานศพให้แก่บุคคลที่รักมักจะเผชิญปัญหาความโศกเศร้าที่หนักหน่วงกว่า”

  • ออกแบบงานศพแบบใหม่-ลดระยะเวลาให้สั้นลง งานศพของชาวพุทธส่วนใหญ่มักประกอบด้วยการรดน้ำศพ สวดอภิธรรม และการฌาปนกิจ ซึ่งการสวดอภิธรรมมักสวดในตอนค่ำระยะเวลา 3 ,5 หรือ 7 วัน

พระครูวิเศษโชติธรรม เจ้าอาวาสวัดโพธิธรรมโชติยาราม อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ให้ความเห็นกับผู้เขียนว่าการจัดงานศพในช่วงโควิดยังสามารถได้ โดยทางวัดจะร่วมปรึกษาและขอความร่วมมือกับเจ้าภาพให้จัดจำนวนวันที่น้อยลง เช่น ปกติเคยสวดอภิธรม 5-7 วัน ก็อาจลดลงเหลือ 1-2 คืน และฌาปณกิจวันรุ่งขึ้น โดยในระหว่างจัดงานให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเคร่งครัด เช่น นั่งห่างกัน สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ไม่มีพิธีอาบน้ำศพ หรือไม่เปิดโลงศพช่วงบังสกุลและก่อนเผา เป็นต้น

อภิชญา วรพันธ์ จิตอาสาดูแลผู้ป่วยเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อผู้เป็นแม่ของเธอเสียชีวิต เธอจัดงานศพในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เพื่อที่เธอจะได้มีเวลาสื่อสารกับญาติมิตรถึงความตั้งใจและเตรียมของใช้ในพิธีอย่างประณีตบรรจง เช่น ไม่รับพวงหรีด โดยขอให้เปลี่ยนพวงหรีดเป็นการบริจาคเงินเพื่อนำไปซื้อเครื่องมือแพทย์เพื่อบริจาคโรงพยาบาลแทน และจัดผ้าไตรทุกผืนด้วยตัวเอง ในวันงานมีการรดน้ำศพตอนเย็น การสวดอภิธรรมเพียงคืนเดียว วันรุ่งขึ้นเลี้ยงพระเพลและฌาปนกิจศพช่วงบ่ายสองโมงเย็น ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติมิตรที่มาจากต่างจังหวัดที่สามารถพักค้างเพียงคืนเดียวและเดินทางกลับได้ในวันฌาปนกิจ นับเป็นงานศพที่ย่นย่อกระชับแต่ยังคงคุณค่าและความหมายของงานศพตามประเพณีพุทธอย่างครบถ้วน

  • โอบอุ้มออนไลน์ “เราต้องการเห็นหน้าค่าตากันเพื่อรับรู้ว่าคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือในสังคมอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถปรากฎกายได้ ก็ติดต่อกันทางโซเชียลมีเดียที่เห็นหน้าค่าตากันได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านการสูญเสียรายหนึ่งกล่าว

เราสามารถใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในการสื่อสารเกี่ยวกับงานศพ ทั้งการบอกข่าวการตาย สาเหตุการตาย เจตนารมณ์ของผู้จัดงาน รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้ญาติมิตรร่วมแสดงความเสียใจและให้กำลังใจ เรียกได้ว่าสามารถส่งใจถึงเจ้าภาพได้ภายในสัมผัสเดียว

ข้อควรระวังในการแสดงความเสียใจเกี่ยวกับงานศพทั้งในโซเชียลมีเดียและเมื่ออยู่ต่อหน้าคือความเห็นหรือข้อความที่ผู้ส่งหวังดีต้องการปลอบโยนให้คลายทุกข์ แต่แฝงไว้ด้วยคำแนะนำสั่งสอน เช่น คนเราเกิดมาแล้วต้องตายทำใจเถอะนะ, อย่าเศร้ามากนะเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา, สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เป็นต้น

ในยามนี้สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือกำลังใจ ความเข้าใจ และความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ นั่นคือการมีผู้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเองและแสดงความเป็นเพื่อนผู้โอบอุ้มสนับสนุน มากกว่าการกล่าวอ้างถึงหลักธรรมคำสอนหรือหลักเหตุและผล ข้อความที่มักช่วยทำให้ญาติรู้สึกดีคือการกล่าวถึงคุณงามความดีของผู้ตาย หรือการดำรงอยู่ของผู้ตายส่งผลต่อความรู้สึกของตนเองอย่างไร รวมทั้งคำพูดที่บ่งบอกถึงความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เช่น มีอะไรให้ช่วยบอกได้เลยนะ เต็มใจช่วยนะ

ผู้เขียนเพิ่งสูญเสียมารดาไปเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อโพสต์ข้อความเกี่ยวกับผู้เป็นแม่ มีข้อความที่ช่วยให้ผ่อนคลายและยิ้มได้ เช่น เห็นรอยยิ้มของแม่ทีไรแล้วชื่นใจ แม่เป็นคนแก่ที่มีความสุขจนอยากยึดเป็นแบบอย่าง บทกวีที่บอกว่าสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างเรากับคนที่เรารักระหว่างโลกนี้กับโลกอื่นคือความรัก เป็นต้น

นอกจากนี้เรายังสามารถนัดวันเวลากับเพื่อนในโซเชียลมีเดียวเพื่อร่วมกันส่งจิตอธิษฐานให้ผู้เสียชีวิตไปสู่สุคติ อาจเป็นช่วงเวลาเดียวกับการฌาปณกิจด้วยการไลฟ์สด โดยให้เห็นภาพและร่วมกันสงบนิ่ง 3 นาที หรือเป็นช่วงเวลาหลังจากนั้นก็ได้

  • เยียวยาจิตใจตัวเอง เคยมีคนกล่าวว่างานศพคือกุศโลบายที่ทำให้ผู้สูญเสียหันไปสนใจพิธีกรรมและการงานต่างๆ จนไม่มีเวลาโศกเศร้าเสียใจ บางพื้นที่เมื่องานศพผ่านพ้นไปแล้วยังมีประเพณีให้ญาติหรือเพื่อนบ้านมานอนที่บ้านผู้ตายเพื่อเป็นเพื่อนญาติต่ออีกนานวัน เมื่อผู้เขียนสูญเสียมารดา ระหว่างงานศพมีญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านมากมายทั้งกลางวันและกลางคืน ทันทีที่งานศพเสร็จสิ้นก็ไปเที่ยวต่อกับเพื่อนกลุ่มใหญ่อีกหนึ่งสัปดาห์ ระหว่างนั้นไม่มีโอกาสอยู่ตามลำพังเลย จนเมื่อกลับมาอยู่บ้านตามลำพังจึงถูกกระแสความโศกเศร้าและคิดถึงเล่นงาน วิธีช่วยคือการรับรู้ความรู้สึกและยอมรับ ยอมรับว่าเราเศร้าและยอมให้น้ำตาไหลออกมาบ้าง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสูญเสียและความโศกเศร้ามักพูดตรงกันว่าเมื่อไม่มีโอกาสใคร่ครวญพิจารณาการสูญเสีย ไม่ได้รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ได้แสดงความขอบคุณหรือความเสียใจต่อผู้ตาย หรือบางคนรับรู้อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นแต่เก็บงำไว้อย่างมิดชิด สุดท้ายมักปรากฎในรูปแบบความเจ็บป่วยทั้งกายและใจ ส่วนเครื่องมือหรือวิธีการใคร่ครวญและระลึกถึงผู้จากไปนั้นมีหลากหลาย

  • ดูรูปหรือวิดีโอของผู้ตาย อาจดูภาพในกรอบรูปหรือในโทรศัพท์มือถือโดยลำพังหรือดูร่วมกันกับคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง บ้างแชร์รูปภาพและวิดีโอของผู้ตายในโซเชียลมีเดีย ภาพเหล่านั้นจะเชื่อมโยงให้เรานึกถึงเหตุการณ์หรือความสัมพันธ์ที่เคยมี นอกจากนี้ความเห็นของเพื่อนๆ ยังช่วยให้เราได้รับความรักความเข้าใจอีกด้วย ผู้เขียนมักเฝ้ามองรูปภาพแม่ที่ปรากฎขึ้นมาในวันครบรอบปีต่างๆ ในเฟสบุค บางครั้งก็ยิ้ม บางครั้งก็ร้องไห้ด้วยความคิดถึง สิ่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดูแลจิตใจ
  • เขียนจดหมายถึงผู้ตาย กระบวนการนี้ถูกใช้เพื่อคลายความโศกเศร้า เนื้อความในจดหมายประกอบด้วยความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน สิ่งที่อยากขอบคุณ สิ่งที่อยากขอโทษ การเขียนจดหมายจะช่วยให้เราใคร่ครวญตัวเองและส่งผ่านความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ จากนั้นอาจอ่านให้ตัวเองฟัง และหากมีคนที่วางใจก็อ่านให้เขาฟัง โดยจินตนาการว่าเขาเป็นตัวแทนของคนที่เราเขียนจดหมายถึง หากเกิดอารมณ์ความรู้สึกใดเกิดขึ้นขณะอ่านจดหมายก็รับรู้ ยอมรับ และยอมปลดปล่อยความรู้สึกเหล่านั้นออกมา
  • หาวาระระลึกถึงผู้จากไป วาระดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่แต่ขึ้นอยู่กับสภาพอารมณ์ที่เปิดกว้าง สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใคร่ครวญและแสดงความรู้สึกอย่างปลอดภัย ช่วงเดือนแรกๆ ที่แม่จากไป ผู้เขียนมักใช้ช่วงเวลาวิ่งออกกำลังกายตามลำพังบนถนนริมคลองชลประทานหน้าบ้านที่ไร้ผู้คนระลึกถึงแม่ นึกถึงเรื่องที่อยากขอบคุณ เรื่องที่อยากขอโทษ และเรื่องราวในชีวิตที่เกิดขึ้นหลังแม่ไม่อยู่ด้วยการพูด หัวเราะ หรือร้องไห้ออกมาดังๆ หรือบางครั้งก็ร้องไห้ออกมา ทำจนกระทั่งรู้สึกว่าไม่มีเรื่องใดต้องระบายอีกแล้ว และภายในรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย

พิธีกรรมในงานศพเป็นสิ่งที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งผันแปรไปตามบริบทสังคมในช่วงนั้นๆ แก่นแกนที่สำคัญของงานศพคือการช่วยให้เราระลึกถึงและส่งความปรารถนาดีถึงผู้ตาย เมื่อสถานการณ์และบริบทแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนไป โจทย์ที่ท้าทายสำหรับคนรุ่นเราคือการดัดแปลงสร้างสรรค์ออกแบบงานศพแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งสังคมในยุคสมัยนั้นและหัวใจของเรา ขณะเดียวกันก็ยังคงแก่นแท้ของงานศพไว้ได้ครบถ้วน และท้ายที่สุดเราอาจพบว่างานศพที่ ใหญ่โตและยาวนานนั้นมีค่าเทียบเท่าหรือเทียบมิได้กับงานศพที่เรียบง่าย ประหยัด และคงความหมายของงานศพไว้อย่างครบถ้วน

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2020/04/01/health/grief-fear-coronavirus-wellness/index.html
https://www.theverge.com/2020/4/1/21202122/coronavirus-grief-mourning-isolation-funeral-die-alone
http://www.orderofthegooddeath.com/funerals-dying-in-absentia-inspiration-tips-during-covid-19

12 เมษายน, 2561

ยายนิ

เรื่องนี้ทำให้ฉันได้มองเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่เคยนึกถึงเลย ความรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจ ความหวาดกลัว การเผชิญหน้ากับภาวะความเจ็บป่วยของญาติ
25 เมษายน, 2561

สวัสดีความตาย ยินดีที่ได้รู้จัก

เพราะเคยถูกความตายมาทักทายอย่างไม่ทันได้ตั้งตัวครั้งหนึ่ง ทำให้ คุณรัศมี มณีนิล นักจัดรายการวิทยุเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว เริ่มตระหนักว่า ความตายวนเวียนอยู่ใกล้ตัวจนต้องหันมาใส่ใจทำความรู้จักกันมากขึ้น
4 เมษายน, 2561

ข้อแนะนำห้าประการ

ไม่นานมานี้ผมได้คิดค้นคำแนะนำ ๕ ประการ เพื่อเป็นคู่มือของผู้ที่กำลังจะตาย คำแนะนำดังกล่าวอาจจะเป็นประโยชน์กับมิติอื่นๆ ของชีวิต สามารถให้แรงบันดาลใจและเป็นแนวทางปฏิบัติได้ด้วย