parallax background
 

พก “สมุดเบาใจ”
ไปนครศรีธรรมราช

ผู้เขียน: วรรณวิภา มาลัยนวล หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

สมุดเบาใจ เป็นกิจกรรมที่เครือข่ายพุทธิกา นำไปเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุม Living Will and Palliative Care Conference ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมแกรนด์ปาร์ค จ.นครศรีธรรมราช

ผู้เข้าร่วมอบรมส่วนใหญ่เป็นบุคคลากรทางการแพทย์ทั้งจากโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขในชุมชน ซึ่งสนใจและทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง บ่อยครั้งที่เราพบว่าการทำงานไปด้วยความเคยชิน ความเหน็ดเหนื่อยก็พาให้เราหลงลืมเป้าหมายในการทำงาน ให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตได้เช่นกัน การกลับมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เห็นเป้าหมายและตรวจสอบวิถีแห่งการดำเนินชีวิตอีกครั้งหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

เวิร์คชอปสมุดเบาใจครั้งนี้ จึงชักชวนผู้เข้าร่วม ได้ย้อนกลับพลิกบทบาทจากผู้ดูแลมาเป็นผู้ถูกดูแลกันบ้าง หรือเปลี่ยนมาเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจแทนบ้าง และที่สำคัญคือ กลับมาเป็นตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รัก หากว่ามีโอกาสได้มองหน้ากัน ได้ดูแลกัน และกระทั่งได้มีโอกาสบอกความในใจผ่านเป็นตัวอักษร จนกระทั่งถึงการพูดบอกความในใจอย่างแท้จริงกับคนที่รัก ราวกับว่าเป็นช่วงเวลาท้ายของชีวิต และชวนให้ได้ลองสัมผัสความรู้สึกลึกๆ ที่เกิดขึ้นจากการพลัดพรากแม้เพียงเสี้ยววินาทีที่เกิดขึ้นในจิตใจ

ความสำคัญของหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต ที่เป็นส่วนสำคัญของสมุดเบาใจ ที่เราดึงขึ้นมาให้เห็นว่า การตัดสินใจเลือกวิธีด้วยตนเองนั้นมีความสำคัญทั้งต่อผู้ป่วยและญาติมิตรอันเป็นที่รักอย่างยิ่งเพียงใด ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ทุกคนสามารถที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของตนเองในวาระสุดท้ายได้เท่าเทียมกัน

การเตรียมความพร้อมสำหรับการตายดี ตายสงบ ไม่ได้หมายถึงการเตรียมเฉพาะตนเองอีกต่อไปแล้ว แต่หมายถึงการเตรียมครอบครัวทั้งหมดให้พร้อมไปด้วยกัน

ไม่ว่าวันนั้นของใครจะมาถึงเมื่อไหร่ โดยอาศัยเครื่องมือที่ชื่อว่า “สมุดเบาใจ” ที่จะช่วยทำให้เกิดความพร้อมเพราะเหมือนการซ้อมอุ่นเครื่องกันกับทุกคนในครอบครัว นอกจากนี้บทเรียนจากชีวิตจริงของผู้ป่วยระยะท้าย 3 ราย ที่ได้นำมาเป็นแนวทางการเลือกใช้ชีวิตที่มีคุณค่าแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในระยะท้าย แต่นั่นก็หมายถึง ของขวัญชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายในชีวิตที่หลายคนปรารถนา เช่น บางคนเลือกที่จะจากไปอย่างธรรมชาติในบ้านอันเป็นที่รัก บางคนเลือกที่จะไปสถานที่ที่อยากไปกับคนรัก และ บางคนเลือกที่จะไม่ยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือใดๆ

กิจกรรมในห้องเวิร์กชอปจบลงแล้วก็จริง แต่ผู้เข้าร่วมอบรมกลับพบว่า นี่เป็นการเริ่มต้นเดินทางครั้งใหม่ ที่มีครอบครัวอันเป็นที่รักร่วมเดินทางไปด้วยกัน บนเส้นทางหน้าที่ด้านการดูแลผู้ป่วย หลายคนพบว่า ควรเริ่มต้นที่การเข้าใจความต้องการตนเอง เพราะที่สุดแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาบั้นปลายชีวิตที่สงบสุขด้วยกันทุกคน และสมุดเบาใจก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เริ่มต้นเข้าใจตนเอง และพร้อมจะเข้าใจผู้อื่น.

[seed_social]
16 พฤษภาคม, 2562

ชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย วัดห้วยยอด (ตอนที่สอง) จากโรงพยาบาลสู่ชุมชน

การทำงานของชมรมชายผ้าเหลืองในปีแรกจะเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในโรงพยาบาลหรือติดตามไปดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้านในกรณีที่โรงพยาบาลร้องขอ
20 เมษายน, 2565

เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องรับฟัง ด้วยไพ่ฤดูฝน

อดีตแอร์โฮสเตสที่ผันตัวมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จังหวัดสกลนครบ้านเกิด เป็นหนึ่งในกลุ่มครูผู้สอนที่เข้าร่วมทำกิจกรรม “ห้องเบาใจ”