parallax background
 

ชมรมชายผ้าเหลือง
เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย
วัดห้วยยอด (ตอนที่ 2)
จากโรงพยาบาลสู่ชุมชน

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

การทำงานของชมรมชายผ้าเหลืองในปีแรกจะเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในโรงพยาบาลหรือติดตามไปดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้านในกรณีที่โรงพยาบาลร้องขอ แต่การเข้าออกโรงพยาบาลทำให้ท่านได้พบว่านอกเหนือจากผู้ป่วยที่ท่านมีส่วนร่วมในการดูแลแล้ว ยังมีผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงในชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงคิดถึงการทำงานดูแลผู้ป่วยอื่นๆ ในชุมชนด้วย

เริ่มด้วยชมรมชายผ้าเหลืองร่วมกับโรงพยาบาลได้เชิญแพทย์ จิตอาสา พระสงฆ์ และแม่ชี มาร่วมเสวนาธรรมที่ศาลาใหญ่ วัดห้วยยอด เรื่อง “พุทธศาสนากับการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวม” มีการพูดคุยเรื่องการทำงานเยียวยาผู้ป่วยระยะท้ายในตำบลห้วยยอดที่ผ่านมาและทิศทางในอนาคต กิจกรรมนี้เป็นการประกาศตัวแก่สาธารณะว่าชมรมชายผ้าเหลืองมีความตั้งใจที่จะเยี่ยมผู้ป่วยให้ครอบคลุมทั้งตำบลห้วยยอด

หลังจากงานเสวนา ชมรมได้ขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยในชุมชนจากจิตอาสาคนหนึ่งที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จนได้รายชื่อผู้ป่วยจาก 5 หมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลห้วยยอดหมู่บ้านละสองสามคน และเดินทางไปเยี่ยมจนครบทุกหมู่บ้าน เมื่อมีคนมาส่งข้อมูลว่ามีผู้ป่วยหรือผู้ป่วยติดเตียง ชมรมจะไปเยี่ยมโดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองจากโรงพยาบาลเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

ศูนย์อุปกรณ์ทางการแพทย์

การลงเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน ทำให้ชมรมรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแต่ละคนว่า นอกจากธรรมะแล้วยังต้องมีสิ่งใดอีกบ้าง และมองเห็นช่องทางการดูแลผู้ป่วยที่ชมรมจะเข้าไปช่วยสนับสนุนระบบสาธารณสุขเพิ่มเติมได้ คือเรื่องการอาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่ขาดแคลน จึงเริ่มคิดขยับขยายกระบวนการรับของบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยนอกเหนือจากการรับข้าวก้นบาตรและสังฆทานในวันพระ เปลี่ยนมาเป็นการรับบริจาคอาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโดยตรง เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป นม เป็นต้น

ปลายปี 2560 ชมรมชายผ้าเหลืองและรพ.ห้วยยอด จึงริเริ่มกิจกรรม “ตักบาตรยาและอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย” โดยมีพระสงฆ์ 4 รูปออกเดินบิณฑบาตไปในเขตเทศบาลห้วยยอด พร้อมกับผู้บริหารและคณะทำงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของโรงพยาบาล งานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลและนักการเมืองท้องถิ่น จนได้รับของบริจาคมาเกินกว่าที่คาดไว้มาก เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนในชุมชนรับรู้และเห็นความสำคัญของงานที่ชมรมชายผ้าเหลืองทำอยู่

สองปีที่ผ่านมา ชมรมจัดงานตักบาตรยาไปสามครั้ง ได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนเป็นอย่างดีทุกครั้ง รวมถึงยังมีคหบดี นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้าในห้วยยอดอีกจำนวนหนึ่งที่ยินดีจะสนับสนุนอุปกรณ์ทางแพทย์ตามที่ชมรมร้องขออีกด้วย

อาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้ ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ที่โรงพยาบาล แต่อีกส่วนหนึ่งจะเก็บที่ศูนย์ฯ ของชมรม ผู้ป่วยที่จะมาขอความช่วยเหลือ ต้องได้รับความเห็นชอบจากโรงพยาบาลก่อน เนื่องจากผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านสามารถขอยืมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เตียงจากระบบสาธารณสุขได้ เพียงแต่อาจจะต้องรอนาน หากโรงพยาบาลและชมรมพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็น เช่น ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตก่อนได้เตียงจากโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตแล้วล้มหมดสติ ต้องใช้เตียงที่ปรับระดับได้ ชมรมจะสนับสนุนได้ทันที พร้อมกับทำเรื่องผ่านระบบสาธารณสุขไปด้วย เมื่อได้เตียงจากโรงพยาบาลแล้วค่อยคืนเตียงกลับมาให้ชมรมเพื่อให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ ยืมต่อไป

เมื่องานของชมรมเริ่มขยายตัวกว้างออกไปเรื่อยๆ ศาลาการเปรียญชั้นบนของวัดห้วยยอดที่แต่เดิมใช้เป็นสำนักงาน สถานที่จัดกิจกรรมและเก็บอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มไม่เหมาะสม ชมรมจึงขออนุญาตเทศบาลย้ายเข้ามาอยู่ในอาคารศูนย์เด็กเล็กที่ย้ายออกไป แล้วใช้ชื่อ “ศูนย์การเรียนรู้และการเยียวยา” เพราะมีพื้นที่เหมาะแก่การทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งห้องฝึกอบรม ห้องเก็บของและอุปกรณ์การแพทย์ไม่ว่าจะเป็นเครื่องผลิตออกซิเจน รถเข็น ไม้เท้า เครื่องดูดเสมหะ รวมถึงเป็นสถานที่ทำกิจกรรมสาธารณะที่ชุมชนใช้จัดประชุมและจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น ประชุมเรื่องการจัดการขยะในชุมชน หรือจัดค่ายสามเณรฤดูร้อน เป็นต้น

ไม่เพียงแต่จัดหาอาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโดยตรง ชมรมยังร่วมกับทางโรงพยาบาล หน่วยงาน และนักการเมืองท้องถิ่นช่วยกันระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่อโรคยาศาลและตึกอุบัติเหตุอีกด้วย โดยใช้รูปแบบการเดินธรรมยาตราจากจังหวัดตรัง มายัง รพ.ห้วยยอด ระยะทาง 29 กิโลเมตร ในเดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อเชื่อมโยงคนทั้งจังหวัดตรังให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ขบวนธรรมยาตราประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล พระ จิตอาสา หน่วยงานท้องถิ่นและโรงเรียนต่างๆ ที่เดินผ่านและแวะพัก 9 แห่ง เพื่อรวบรวมเงินบริจาค สาธยายพระไตรปิฎก แล้ววันต่อมาขบวนธรรมยาตราจึงเดินจากวัดห้วยยอดไปทำพิธีทอดผ้าป่าที่โรงพยาบาล มีผู้คนในชุมชนเข้าร่วมนับพัน สามารถระดมทุนได้เกินกว่าที่คาดไว้และนอกจากจะได้อุปกรณ์การแพทย์สำหรับสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลแล้ว สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลกันดูแลผู้ป่วย และทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้จักจนกลายมาเป็นจิตอาสาที่เข้มแข็งของชมรมอีกหลายคน

8 วัน 8 ชุมชนแห่งการเยียวยา

กิจกรรมสำคัญที่ช่วยยกระดับการทำงานเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนให้เป็นตามที่ชมรมเคยประกาศไว้ว่าจะดูแลผู้ป่วยครอบคลุมให้ทั่วตำบลห้วยยอด คือการเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงใน8 ชุมชนรอบวัด โดยการประสานความร่วมมือกับเทศบาลตำบลห้วยยอด และหน่วยงานต่างๆ มี รพ.ห้วยยอด มาช่วยสนับสนุนเรื่องการตรวจวินิจฉัยโรค และทีมสาธารณสุขชุมชน เป็นต้น โดยรวบรวมทีมที่ประกอบด้วยแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยงานเทศบาล แคร์กีฟเวอร์ (ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง) เจ้าหน้าที่อนามัย รพ.สต. อสม. จิตอาสาทั่วไป พระสงฆ์ และที่สำคัญคือนักเรียนจากโรงเรียน 5 แห่งในเขตเทศบาล ที่จะมาเรียนรู้การทำงานและลงเยี่ยมผู้ป่วยด้วยกัน (เฉลี่ยวันละ 20 กว่าคน) แบ่งออกเป็นสองทีม โดยแต่ละวันจะเดินเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วย 1 ชุมชน 10 บ้าน เพื่อเป็นการเรียนรู้ชุมชนไปด้วย

กิจกรรม 8 วัน 8 ชุมชน เพื่อการเยียวยา นอกจากจะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนเข้าด้วยกันโดยมีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ชมรมให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเยาวชนที่จะมีบทบาทเป็นผู้เชื่อมโยงทีมเยี่ยมบ้านกับผู้ป่วย โดยก่อนลงชุมชน ทีมเยี่ยมบ้านจะอธิบายวิธีการดูแลและสัมผัสผู้ป่วยสูงอายุที่นอนติดบ้านติดเตียง เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วย เพียงแค่ส่งเด็กเข้าไปทักทาย พูดคุย ผู้ป่วยสูงอายุจะได้กำลังใจมากกว่าพระเข้าไปหาด้วยซ้ำ เขาจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเด็กๆ ที่ชมรมขอให้โรงเรียนส่งมาเข้าร่วมกิจกรรมต้องเป็นคนในชุมชนเดียวกันหรือละแวกใกล้เคียงกับผู้ป่วย พวกเขาจะได้เรียนรู้การดูแลผู้ป่วยและกระบวนการอยู่ร่วมกันในชุมชนซึ่งไม่มีสอนในโรงเรียน เมื่อจบโครงการไปแล้ว เด็กๆ จะรู้ว่าบ้านไหนมีผู้ป่วย อสม.ที่ดูแลผู้ป่วยในชุมชนอยู่แล้วสามารถติดต่อเด็กๆ ให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยได้อีก ซึ่งทำให้เด็กเกิดความตื่นตัวในการทำความดี ส่วนชุมชนตื่นตัวและเห็นว่าเด็กมีบทบาทได้มากกว่าการวิ่งเล่นไปมาในชุมชน

ทางด้าน อสม.จะรับอาสาเป็นคนกลางประสานความช่วยเหลือระหว่างผู้ป่วยกับชมรม จนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต ซึ่งชมรมจะไปร่วมเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมศพด้วย เป็นการดูแลตลอดกระบวนการ ทำให้ชมรมกับครอบครัวผู้ป่วยเกิดความผูกพันกัน บางครอบครัวเมื่อญาติเสียชีวิตไปแล้วจะกลับมาช่วยงานชมรมต่อ

ผลจากการเยี่ยมผู้ป่วย 8 ชุมชน ทำให้ชมรมได้พบและเรียนรู้จากผู้ป่วยจำนวนมากที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวผู้ป่วยต้องอยู่คนเดียว บางครอบครัวอบอุ่นด้วยญาติมิตร ล้วนแต่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยพัฒนางานดูแลผู้ป่วยของชมรมต่อไปในอนาคต

ในมุมมองของคุณบารมิตา เหลียวพัฒนพงศ์ แคร์กีฟเวอร์ของเทศบาลตำบลห้วยยอดกล่าวว่า “โครงการมีผลต่อการเยียวยาจิตใจอย่างมาก ผู้ป่วยบางคนไม่ได้ไปวัดเลย เพราะต้องอยู่ติดบ้านติดเตียง เป็นเรื่องยากมากที่จะไปวัดหรือมีพระไปเยี่ยมที่บ้าน ผู้ป่วยบางคนเล่าให้ฟังว่าเหมือนพระมาโปรด เขาไม่โดนทอดทิ้ง เพราะพระชักชวนจิตอาสาอื่นๆ บุคลากรทางการแพทย์ และเด็กนักเรียนไปเยี่ยม ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ บางคนร้องไห้เพราะไม่มีใครไปที่บ้านนานแล้ว พอพระไปพูดคุยเหมือนเขาได้รับการเติมเต็มด้านจิตใจ”

พระกฎษดาสะท้อนว่า “นับว่าโครงการ 8 วัน 8 ชุมชน ประสบความสำเร็จ มีเสียงเรียกร้องให้จัดอีก และกิจกรรมในครั้งต่อไป จะยกระดับจากการเก็บข้อมูลและเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ มาเน้นเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ให้ผู้ป่วยได้เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่ช่วยเหลือเขาได้จริงๆ เช่น ลุงพิการที่ต้องใส่ขาเทียมคนหนึ่ง ได้รับนัดให้ไปโรงพยาบาล แต่ไม่มีรถ จึงไม่ได้ไปโรงพยาบาลและไม่ได้ใส่ขาเทียม เมื่อชมรมไปพบปัญหาและประสานให้เกิดการพูดคุยกัน หน่วยงานเทศบาลที่รับผิดชอบชุมชนโดยตรงจึงอาสานำรถจากเทศบาลมารับลุงไปทำขาเทียมตามหมอนัด เกิดการช่วยเหลือและติดตามการช่วยเหลือได้ง่าย เป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำหน้าที่ของตัวเอง โดยพาไปดูชุมชนให้เห็นสิ่งที่เขาต้องช่วย แม้ว่าจะช้าหน่อย แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”

...

สองปีที่ผ่านมา กระบวนการต่างๆ ที่ชมรมชายผ้าเหลืองริเริ่ม ช่วยความตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือกันในชุมชนขยายตัวออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ ล่าสุดโรงเรียนเอกชนสองแห่งที่มาร่วมกิจกรรม 8 วัน 8 ชุมชนแห่งการเยียวยา เริ่มส่งทีมนักเรียนไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลช่วงปีใหม่ โดยชมรมไม่ต้องชักชวนแต่อย่างใด ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่พระกฎษดากล่าวว่า แก่นสำคัญของทุกกิจกรรมที่ทำคือ “สร้างการตื่นตัวในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการกลับมาช่วยเหลือกัน” สร้างกระบวนการให้ชุมชนและสังคมกลับมาอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลผ่านการดูแลเยียวยาผู้ป่วยระยะท้ายเป็นสำคัญ เพราะเป็นภาวะแห่งความทุกข์ที่สุดของมนุษย์ กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลผู้ป่วยจึงเป็นการถักทอชุมชน ทุกกิจกรรมจะมีความสืบเนื่องกันจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่กิจกรรมหนึ่ง แต่ล้วนอยู่ภายใต้กระบวนการเยียวยาเพื่อสร้างสุขภาวะของชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนที่สานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์
1. พระกฎษดา ขันติกโร, ประธานชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะสุดท้าย วัดห้วยยอด
2. คุณดรุณี ชนะภัย, พยาบาลวิชาชีพชำนาญ, พยาบาล Palliative Care อโรคยาศาล รพ.ห้วยยอด
3. คุณบารมิตา เหลียวพัฒนพงศ์, อสม., แคร์กีฟเวอร์ และเลขานุการชมรมชายผ้าเหลือง

ภาพประกอบ
1. FB: พระกฎษดา ขนฺติกโร สังฆะแห่งการเยียวยา
2. FB: ชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย
3. FB: อโรคยาศาล โรงพยาบาลห้วยยอด 

อ่านบทความตอนที่ 1 ได้ที่นี่

อ่านบทความตอนที่ 3 ได้ที่นี่