ชมรมชายผ้าเหลือง
เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย
วัดห้วยยอด
(ตอนแรก)
ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา
จุดกำเนิด
ห้วยยอด เป็นอำเภอเก่าแก่อำเภอหนึ่งในจังหวัดตรัง มีตลาดตั้งอยู่บนถนนสายหลักเพชรเกษมที่ทอดยาวไปจนสุดชายแดนใต้ เดิมเป็นแหล่งทำเหมืองแร่ดีบุกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งหมดไปเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่มาทำเหมืองและตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนั้นจนถึงปัจจุบัน เฉพาะในเขตเทศบาลตำบลห้วยยอด มีศาลเจ้าถึง 8 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง โบสถ์ 1 แห่ง และวัดเพียงแห่งเดียว คือ วัดห้วยยอด ที่ก่อตั้งมานานกว่า 100 ปี และเป็นที่ตั้งของชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะสุดท้าย
พระกฎษดา ขันติกโร ผู้ก่อตั้งชมรมชายผ้าเหลือง เกิดและเติบโตที่ห้วยยอด เมื่อเรียนจบ ม.3 ท่านใช้ช่วงชีวิตวัยรุ่นออกไปผจญโลกกว้างไกลจากบ้านเกิดโดยทำงานโรงแรมอยู่ในพัทยาถึง 12 ปี ด้วยท่านสนใจเรื่องธรรมะ จึงมักจะร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักศึกษาธรรมะไปวัด และฝึกสมาธิกับหลวงพ่อจรัญ ตธัมโม วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อท่านอายุ 30 ปี จึงตัดสินใจกลับมาบวชที่บ้านเกิดคือวัดห้วยยอด
ช่วงแรกของการบวช ท่านเน้นการศึกษาพระไตรปิฎก เมื่อเข้าใจการปฏิบัติตนและการใช้ชีวิตพระแล้ว ในปีที่สาม จึงเรียนไปนักธรรมเอกพร้อมกับเรียนบาลีในตัวเมือง และเริ่มทำงานดูแลผู้ป่วยไปด้วย เนื่องจากได้แรงบันดาลใจจากโครงการดูแลผู้ป่วยข้างเตียงและเผชิญความตายอย่างสงบของพระไพศาล วิสาโล จากสื่อออนไลน์ และเห็นคลิปวิดีโอรายการหนึ่งที่มีพระกลุ่มคิลานธรรมไปเยี่ยมผู้ป่วยตามโรงพยาบาล จึงจุดประกายให้ท่านสนใจการทำงานดูแลผู้ป่วยด้วย
กระทั่งโอกาสมาถึงเมื่อโรงเรียนนักธรรมบาลีปิดในช่วงวันพระ ท่านต้องกลับมาปฏิบัติศาสนกิจที่วัดห้วยยอด แล้วมีหน่วยพยาบาลจากรพ.ห้วยยอดมาตรวจสุขภาพพระสงฆ์ในวัด ท่านจึงถามพยาบาลว่าโรงพยาบาลมีหน่วยงานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายไหม พยาบาลให้เบอร์โทรศัพท์ของคุณดรุณี ชนะภัย พยาบาลหน่วยพาลลิเอทีฟแคร์ (Palliative care: การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง) ของรพ.ห้วยยอด ท่านจึงติดต่อไปหาพร้อมกับขอเข้าไปพูดคุยที่โรงพยาบาลในวันต่อมา เพื่อบอกเล่าวัตถุประสงค์ที่อยากจะเยี่ยมผู้ป่วย รวมทั้งบทบาทที่พระสงฆ์เช่นท่านจะช่วยเหลือโรงพยาบาลได้
ผ่านไปกว่าสัปดาห์ ทางโรงพยาบาลติดต่อมาขอให้ท่านไปเยี่ยมผู้ป่วยกับทีมเยี่ยมบ้านเป็นครั้งแรก แต่ท่านติดเรียนจึงไปไม่ได้ หลังจากนั้นไม่นาน คุณดรุณีโทรไปหาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ท่านตัดสินใจขอลาเรียนและนั่งรถตู้จากในตัวจังหวัดตรังมารพ.ห้วยยอดและไปเยี่ยมผู้ป่วยพร้อมกับทีมเยี่ยมบ้าน
คุณดรุณีเล่าว่า “จังหวัดตรังไม่ค่อยมีพระสงฆ์ทำงานพาลลิเอทีฟแคร์ แต่วันดีคืนดี พระอาจารย์เดินเข้ามาหาเรา ว่าอยากทำงานร่วมกัน เลยมาคุยกันก่อนว่าความต้องการที่จะดูแลคนไข้ตรงกันไหม พอตรงกัน เลยโทรบอกพระอาจารย์ให้ไปเยี่ยมคนไข้ซึ่งมีฐานะยากจน เป็นคนไข้มะเร็งที่ขาดคนดูแล ที่แผลมีหนอนเต็มไปหมด แล้วคอยสังเกตดูว่าพระอาจารย์จะดูแลคนไข้ได้ไหม ท่านดูแลได้ เข้าไปสัมผัสคนไข้ได้หมด เลยชวนทำมาเรื่อย แต่พระอาจารย์จะไม่ได้ลงเยี่ยมผู้ป่วยทุกคน เพราะภาคใต้มีความเชื่อว่าถ้าพระไปเยี่ยมเหมือนไปแช่งเขา จะไปหาเลยไม่ได้ ต้องไปตามระบบที่โรงพยาบาลเป็นผู้กำหนด”
“เคสแรกเรายังไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกับผู้ป่วยเขา เพราะไม่มีประสบการณ์เลย การเจอผู้ป่วยระยะท้ายไม่เหมือนกับผู้ป่วยทั่วไป ส่วนมากเราจะให้ทีมแพทย์ดำเนินการ พระสนับสนุนเมื่อเขาพร้อมจะให้เราสนับสนุน” พระกฎษดากล่าว
อโรคยาศาล
แต่เดิม รพ.ห้วยยอดมีบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยตามแนวทางการดูแลแบบประคับประคองมานานถึงสิบปีแล้ว ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศเป็นนโยบายระดับประเทศเสียอีก แต่เป็นการทำงานในลักษณะจิตอาสา ยังไม่มีหน่วยงานและสถานที่ทำงานเป็นสัดเป็นส่วน ต้องดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในตึกผู้ป่วยทั่วไป จนกระทั่งเกิดนโยบายทดลองนำร่องศูนย์อภิบาลและฟื้นฟูผู้ป่วยเรื้อรัง ที่อาศัยทีมสหวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นักโภชนาการ ผู้ช่วยเหลือในการดูแลจากชุมชน โดยเชื่อมโยงกับชุมชน หมอพื้นบ้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความสามารถในการดูแลรักษาตนเองได้อย่างเหมาะสม
อโรคยาศาล รพ.ห้วยยอด เป็นศูนย์ของภาคใต้ 1 ในศูนย์อภิบาลฯ 5 แห่งทั่วประเทศ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 มีขนาด 8 เตียง นอกจากจะดูแลผู้ป่วยเรื้อรังแล้ว ยังเป็นสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายโดยใช้หลักการดูแลแบบประคับประคองอีกด้วย และเป็นพื้นที่ทำงานหลักของชมรมชายผ้าเหลืองมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน
แม้จะมีความรู้ไม่มากนักในตอนเริ่มต้น แต่การเยี่ยมผู้ป่วยในคราวนั้นเอง ทำให้ท่านตั้งใจจะทำงานดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจังและเป็นที่มาของชมรมชายผ้าเหลือง “หลังจากการเยี่ยมคุณยาย วันต่อมาตั้งใจจะเอากล่องใส่ยาเอนกประสงค์ไปให้ เพราะเห็นว่าที่บ้านยายไม่มี แต่ก่อนที่จะได้ไปเยี่ยม ทางโรงพยาบาลโทรมาบอกว่ายายเสียชีวิตแล้วหลังจากนอนติดเตียงมานานเกือบสิบปี” เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ท่านได้เรียนรู้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท เพราะเวลาไม่เคยรอใคร กับมีผู้ดูแลมาบอกท่านว่า “คุณยายนอนติดเตียงอยู่หลายปี ไม่เคยได้เจอพระเลย เมื่อวานได้ทำบุญสังฆทาน ได้เกาะชายผ้าเหลืองของพระ แกไปสบายแล้ว” ทำให้ท่านมาเกิดฉุกใจคิดและนำมาตั้งเป็นชื่อ “ชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ในเวลาต่อมา
หลังจากการเยี่ยมผู้ป่วยคนอื่นๆ อีกหลายครั้ง ท่านตัดสินใจยุติการเรียนบาลีเพื่อมาทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และสร้างเครือข่ายจิตอาสาเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจัง พร้อมกับคิดจะสร้างชมรมเพื่อรองรับการทำงาน ในช่วงแรกเพียงหาผู้สนับสนุนเรื่องการเดินทางโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวชักชวนญาติโยมในวัดช่วยขับรถรับส่งเวลาไปเยี่ยมผู้ป่วย จนเขาเกิดศรัทธาในสิ่งที่ท่านทำและปวารณาตัวเป็นคนขับรถพาพระไปเยี่ยมผู้ป่วยเอง พร้อมกับพาคนในครอบครัวเข้ามาช่วยงานของชมรมด้วย กลายเป็นจิตอาสาครอบครัวแรกของชมรมชายผ้าเหลืองที่ช่วยให้ชมรมทำงานได้สะดวกขึ้น กระทั่งค่อยๆ พัฒนาเป็นคณะทำงานที่เข้มแข็ง มีครู แคร์กีฟเวอร์ (ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง) มาเป็นจิตอาสารวมกันประมาณสิบคน ช่วยกันคิดช่วยกันต่อยอดขยายงานให้กว้างขวางออกไปจนถึงปัจจุบัน
ถุงชายผ้าเหลือง
ในช่วงครึ่งปีแรก การเยี่ยมผู้ป่วยจะใช้ของสังฆทานและทุนส่วนตัวที่พระกฎษดาเก็บออมตอนเป็นฆราวาสซื้อของเยี่ยมผู้ป่วยและเป็นค่าน้ำมันรถ ยังไม่เปิดรับบริจาคเนื่องจากเกรงคนจะมองว่าพระใช้ผู้ป่วยเป็นข้ออ้างเพื่อหาผลประโยชน์ แต่โครงการแรกที่ชมรมชายผ้าเหลืองทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะคือ “โครงการถุงชายผ้าเหลือง” ซึ่งไม่ได้มาจากการเยี่ยมผู้ป่วย แต่มาจากการเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่โดนโคลนถล่มในเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ตามคำขอของคนรู้จัก ชมรมจึงทำถุงชายผ้าเหลืองใส่อาหารแห้งที่ได้รับบริจาคจากการตักบาตรตามโรงเรียนในช่วงสิ้นปี แล้วนำมาใช้ในการเยี่ยมผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับถุงชายผ้าเหลืองเติมใจผู้ป่วยจากกลุ่มชีวิตสิกขาที่ส่งมาสนับสนุนกิจกรรมของชมรม
โครงการถุงชายผ้าเหลืองทำให้พระกฎษดาตระหนักถึงความสำคัญของการให้ ว่าสามารถนำมาใช้เป็นกระบวนการสร้างจิตอาสา เชื่อมโยงผู้ให้ไปสู่ผู้รับได้ เมื่อเริ่มมีคนทราบเรื่องการเยี่ยมผู้ป่วยของชมรมและอยากจะมีส่วนช่วยเหลือ ชมรมจึงเริ่มเปิดรับบริจาคเป็นสิ่งของเยี่ยมผู้ป่วย โดยช่วงแรกจะเป็นของใช้ประจำวันที่ได้จากสังฆทาน เช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ แป้ง ก่อนจะเพิ่มอาหารที่พระกฎษดาบิณฑบาตได้ แล้วขยายเป็น “โครงการข้าวก้นบาตรเติมใจผู้ป่วย” รับบริจาคอาหารบิณฑบาตจากพระสงฆ์ในวัดไปให้ผู้ป่วยและญาติในโรงพยาบาล โครงการนี้นอกจากจะทำให้พระสงฆ์ในวัดสิบกว่ารูปมีส่วนร่วมและเกิดความเข้าใจในสิ่งที่ชมรมทำอยู่แล้ว ยังทำให้ชาวบ้านที่มาถวายอาหารได้เห็นการทำงานของชมรมชายผ้าเหลืองไปด้วย กระทั่งเสนอตัวให้ความช่วยเหลือในเวลาต่อมา
การลงไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายตามคำนิมนต์ของอโรคยาศาล นอกจากการเอาของไปให้แล้ว ท่านจะเน้นการรับฟัง และพูดคุยธรรมะ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ตัวผู้ป่วยรวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วย และทำความเข้าใจกับครอบครัวผู้ป่วยหากเวลาช่วงสุดท้ายมาถึง เพื่อให้เผชิญความตายได้อย่างสงบเย็น
นอกจากการเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายข้างเตียงแล้ว อโรคยาศาลยังใช้กระบวนการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย เช่น การเปิด “คลินิกธรรมะเยียวยาใจ” ทุกวันพฤหัสที่สองและสี่ของเดือน โดยนิมนต์พระกฎษดาไปสอนสมาธิและพูดคุยธรรมะกับเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย หรือการใช้ศาสนพิธี เช่น สังฆทาน เพื่อเชื่อมโยงผู้ป่วยและญาติให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน คล้ายๆ กับกระบวนการประชุมครอบครัว (Family Meeting) แต่เป็นทำบุญร่วมกันเพื่อสร้างสภาวะจิตใจที่ดีให้เกิดในครอบครัว
...
งานของชมรมชายผ้าเหลืองในช่วงแรก จะเป็นการทำงานอยู่ในระบบโรงพยาบาล เป็นช่วงของการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ดูแลเรื่องจิตวิญญาณของผู้ป่วยระยะท้ายและญาติ ทำให้พระกฎษดามองเห็นความป่วยไข้ในมิติต่างๆ และบทบาทของพระสงฆ์ที่มากกว่าการเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ขยายออกไปสู่การดูแลผู้ป่วยในชุมชนอีกด้วย
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์
1. พระกฎษดา ขันติกโร, ประธานชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะสุดท้าย วัดห้วยยอด
2. คุณดรุณี ชนะภัย, พยาบาลวิชาชีพชำนาญ, พยาบาล Palliative Care อโรคยาศาล รพ.ห้วยยอด
3. คุณบารมิตา เหลียวพัฒนพงศ์, อสม., แคร์กีฟเวอร์ และเลขานุการชมรมชายผ้าเหลือง
ภาพประกอบ
1. FB: พระกฎษดา ขนฺติกโร สังฆะแห่งการเยียวยา
2. FB: ชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย
3. FB: อโรคยาศาล โรงพยาบาลห้วยยอด