parallax background
 

ชมรมชายผ้าเหลือง
เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย
วัดห้วยยอด (ตอนที่ 3)
ศูนย์เยียวยาภิกษุป่วยไข้

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

งานต่างๆ ของชมรมไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลและชุมชน การช่วยเหลือเรื่องอาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาจดูเหมือนการเอาของไปให้ผู้ป่วยและญาติ เป็นงานสังคมสงเคราะห์ แต่พระกฎษดายืนยันว่า “งานที่ชมรมทำอยู่ไม่ใช่งานสาธารณะสงเคราะห์อย่างที่ทุกคนมอง แต่คือการเผยแผ่พุทธศาสนาในแง่มุมของการเกื้อกูลกันในชุมชน เป็นการนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติธรรมที่ไม่ใช่การนั่งสมาธิ แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อสร้างการหลุดพ้นให้แก่ผู้อื่น ผู้ป่วยเปรียบเสมือนธรรมะ และการเยี่ยมผู้ป่วยคือการปฏิบัติธรรมที่ลงลึกไปถึงจิตใจ ไม่ได้แค่การเอาของไปให้”

สำหรับพระกฎษดาเอง สิ่งที่ท่านได้รับจากการทำงานชมรมชายผ้าเหลือง นอกจากการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและลักษณะนิสัยของคนในชุมชนแล้ว สิ่งสำคัญคือการมีความเข้าใจธรรมะมากขึ้น เพราะการเห็นผู้ป่วยและความตาย ทำให้ท่านเห็นสภาวะความเป็นจริงและเป็นไปของชีวิตมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นไปด้วย ไม่คิดมากเหมือนแต่ก่อน สามารถปล่อยวางความกังวลและอารมณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

ชมรมตระหนักถึงคุณค่าของกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน จึงจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้านนอกเหนือจากที่เยี่ยมผู้ป่วยตามปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริจาคได้ไปเจอกับผู้ป่วยที่จะทำให้จิตใจของเขาเกิดการตระหนักรู้ แล้วชักชวนให้เห็นธรรมะที่ปรากฏอยู่ เป็นการสอนธรรมะในชีวิตประจำวันแม้ไม่ได้เข้าวัดปฏิบัติธรรม แต่สามารถเรียนรู้ผ่านการช่วยเหลือผู้อื่นได้ ต่อเมื่อเขาเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ธรรมะให้ลึกซึ้งขึ้น ก็เข้าร่วมกิจกรรมฝึกสมาธิ ฟังการสาธยายประไตรปิฎกที่วัดในวันพระได้ เป็นการช่วยทำให้คนกลับมาใกล้ชิดกับวัดมากขึ้นในอีกทางหนึ่ง

ศูนย์เยียวยาภิกษุอาพาธ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชมรมชายผ้าเหลืองได้เข้าไปดูแลเยียวยาผู้ป่วยผู้ป่วยระยะท้ายและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฆราวาส กระทั่งในการประชุมคณะสงฆ์ที่ทำงานดูแลผู้ป่วยคราวหนึ่ง มีพระรูปหนึ่งเปิดประเด็นคำถามว่าในขณะที่พระสงฆ์ดูแลผู้ป่วยฆราวาส แล้วใครจะดูแลภิกษุอาพาธ ทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจที่จะขยายการทำงานของชมรมให้ครอบคลุมการดูแลพระภิกษุอาพาธด้วย โดยการสร้างศูนย์เยียวยาภิกษุอาพาธที่มารักษาตัวกับรพ.ห้วยยอด เพื่อให้ท่านพักฟื้นได้ในเวลาไม่เกิน 1 เดือน ก่อนจะกลับไปพบแพทย์อีก ไม่จำต้องกลับไปพักที่วัดซึ่งอาจอยู่ไกล โดยมีแพทย์อาสามาตรวจผู้ป่วยที่ศูนย์นอกเวลาทำงาน

ชมรมคาดหวังว่านอกจากการเอื้อเฟื้อแก่ภิกษุอาพาธแล้ว ศูนย์เยียวยาฯ จะเป็นแหล่งสร้างกระบวนการเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชนและจิตอาสาที่มาดูแลภิกษุอาพาธ เช่น ช่วยทำความสะอาดร่างกายและซักจีวรให้ รวมถึงพระในวัดให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลภิกษุกันเองอีกด้วย

ปัจจุบัน ศูนย์เยียวยาฯ อยู่ในระหว่างการก่อตั้งข้างๆ ศูนย์การเรียนรู้และการเยียวยาในวัดห้วยยอด กำลังอยู่ในช่วงของการรวบรวมงบประมาณและออกแบบอาคารกระจกชั้นเดียวขนาด 5-6 เตียง สามารถเปิดผ้าม่านโล่งให้ผู้ป่วยมองเห็นได้โดยรอบ และมีเฉพาะห้องรวม พระแต่ละรูปที่มาพักฟื้นจะมีเพียงเตียงนอน ตู้เก็บจีวร เพื่อป้องกันการเป็นเจ้าของห้อง และสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูล เข้าใจและให้เกียรติกัน

สร้างวัฒนธรรมแห่งการเยียวยา

นอกจากการนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติธรรมด้วยการพาผู้คนไปเยี่ยมผู้ป่วยข้างเตียงแล้ว ชมรมชายผ้าเหลืองยังทดลองทำกิจกรรมที่ท้าทายวัฒนธรรมความเชื่อบางเรื่องของคนห้วยยอดเสียใหม่ เช่น การจัดงาน “มรณสติข้ามปี” พูดเรื่องความตายในปีใหม่ เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ชุมชน แม้จะถูกเจ้าอาวาสและชาวบ้านบางคนทัดทานว่าคนห้วยยอด 60% เป็นชาวจีนที่ถือว่าการพูดเรื่องความตายเป็นอัปมงคล แต่ชมรมยังยืนยันการจัดกิจกรรมดังกล่าว เริ่มด้วยการเสวนาเรื่องชีวิตและความตาย การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในช่วงหัวค่ำ ต่อด้วยการสาธยายปฐมมรณัสสติสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุระลึกถึงความตายตลอดเวลา แล้วจึงมีการเจริญมรณสติภาวนา ให้ผู้เข้าร่วมรับฟังบทพิจารณาความตายที่เครือข่ายพุทธิกาใช้ในการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ แล้วใช้กระบวนการจุดประเด็น ตั้งคำถามให้ผู้มาร่วมงานได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแง่มุมต่อความตายตามความเข้าใจของตนเอง ซึ่งได้ผลดีเกินคาดในระดับหนึ่ง

คุณบารมิตา จิตอาสาที่มาเข้าร่วมกิจกรรมกล่าวว่า “ตอนจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีและมรณานุสติที่วัดห้วยยอด คนจีนในตลาดจะบอกว่าพูดเรื่องความตายในช่วงมงคลปีใหม่ได้อย่างไร ต้องไปพูดในงานศพสิ แต่ปรากฏว่าในวันงานมีคนมาเกือบร้อยคน ในงานจะมีคำถามถึงผู้เข้าร่วมว่าใครพร้อมจะตายหรือไม่พร้อมจะตาย แบ่งกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนเหตุผลกัน แล้วพระอาจารย์จะสื่อสารเพิ่มว่าทำไมถึงต้องพร้อมตายตลอดเวลา เป็นการเปิดโลกทัศน์เรื่องความตายให้คุยกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

ความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งของชมรมในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เกื้อกูลต่อการดูแลสุขภาพคือ ยกเลิกการจุดธูปในศาลาการเปรียญซึ่งแต่เดิมจะมีพระพุทธรูปและกระถางธูปเป็นจำนวนมาก ในวันสำคัญจะมีคนมาวัด 600-700 คน จุดธูปจนควันเต็มศาลา ด้วยความเชื่อว่า “ถ้าไม่จุด ไม่ถึงเจ้า” พระเณรมีหน้าที่เก็บธูปจุ่มลงไปในถังน้ำเพื่อไม่ให้ไฟไหม้ ชมรมเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วยการหารือกับเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ในวัดก่อน เมื่อได้รับฉันทามติแล้ว จึงจัดการสถานที่ใหม่โดยลดกระถางธูปหน้าพระองค์เล็กๆ ก่อน ก่อนที่จะประกาศยกเลิกการจุดธูปในวัดในเวลาต่อมา แม้ในช่วงแรกจะมีชาวบ้านมาขู่ว่าถ้าไม่ให้เขาจุดธูป คนจะมาน้อยหรือไม่มาวัดเลย แต่การที่ชมรมทำกิจกรรมเรื่องการเยียวยาจนเป็นที่ประจักษ์ของคนในชุมชน ทำให้สามารถอธิบายเหตุผลที่ไม่ให้จุดธูปเพราะเป็นห่วงสุขภาพของทุกคน เมื่อชาวบ้านมองเห็นเจตนาดีจึงเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง จนใช้เวลาเพียงไม่ถึงครึ่งปี วัดห้วยยอดก็ไม่มีการจุดธูปอีกต่อไป

...

จากจุดเริ่มต้นด้วยการเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้ายในโรงพยาบาล ค่อยๆ ขยายตัวออกสู่การเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยา พระกฎษดากล่าวย้ำว่า “ทุกกิจกรรมของชมรมล้วนเชื่อมโยงกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือสร้างการเรียนรู้ในการดูแลผู้ป่วยโดยชุมชนมีส่วนร่วม เป็นชุมชนแห่งการเยียวยา ชุมชนกรุณา ที่ผู้คนมีความเกื้อกูลกัน พึ่งพาอาศัยกันนั่นเอง”

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์
1. พระกฎษดา ขันติกโร, ประธานชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะสุดท้าย วัดห้วยยอด
2. คุณดรุณี ชนะภัย, พยาบาลวิชาชีพชำนาญ, พยาบาล Palliative Care อโรคยาศาล รพ.ห้วยยอด
3. คุณบารมิตา เหลียวพัฒนพงศ์, อสม., แคร์กีฟเวอร์ และเลขานุการชมรมชายผ้าเหลือง

ภาพประกอบ
1. FB: พระกฎษดา ขนฺติกโร สังฆะแห่งการเยียวยา
2. FB: ชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย
3. FB: อโรคยาศาล โรงพยาบาลห้วยยอด

อ่านบทความตอนที่ 1 ได้ที่นี่

อ่านบทความตอนที่ 2 ได้ที่นี่

25 เมษายน, 2561

ของแถมล้ำค่าจากความตาย

แม้ชีวิตจะเคยผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาถึง ๕ ครั้งติดๆ ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ตั้งแต่ขับรถไปติดคาอยู่บนรางรถไฟจนเกือบจะถูกรถไฟชน พลัดตกลงมาจากที่สูง ขับรถแฉลบน้ำขังบนถนนจนไปชนกับรถคันอื่น
12 เมษายน, 2561

ยายนิ

เรื่องนี้ทำให้ฉันได้มองเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่เคยนึกถึงเลย ความรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจ ความหวาดกลัว การเผชิญหน้ากับภาวะความเจ็บป่วยของญาติ
25 เมษายน, 2561

ยิ้มกว้างบนทางสายป่วย

“ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากโรคที่คุณเป็นนะ แต่เกิดจากการที่คุณไม่อยากเป็น คุณดิ้นรนขัดขืน คุณแกะโรคออกมาไม่ได้หรอก หมอยังแกะออกมาไม่ได้เลย