parallax background
 

ชวนคิดชีวิตที่เหลือ

ผู้เขียน: วรรณวิภา มาลัยนวล หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

นับเป็นรอบปีที่ 10 แล้ว สำหรับกิจกรรม “ชวนคิดชีวิตที่เหลือ” ที่จัดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16-18 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ครั้งนี้จัดที่ศูนย์วิปัสสนาสอนทวี อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา นำโดยพระครูบวรวีรวงศ์ หรือ พระอาจารย์ครรชิต อกิญจโน ท่านเจ้าอาวาสวัดวีรวงศาราม พร้อมด้วย วิทยากรรับเชิญ คุณเกื้อจิตร์ แขรัมย์ พยาบาลวิชาชีพจากจังหวัดชัยภูมิ ร่วมด้วยทีมวิทยากรอาสาจากกลุ่มชวนคิดชีวิตที่เหลือ และ โครงการ ความตายพูดได้ จากเครือข่ายพุทธิกา

ผู้เข้าอบรมคอร์สนี้เป็นประชาชนทั่วไป ที่สนใจในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการเตรียมพร้อมสำหรับความตายทั้งในมิติของทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาน บ้างก็มาเป็นคู่สามีภรรยา มารดากับลูก พี่น้องและเพื่อน การอบรมจึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศของกัลยาณมิตรที่สนใจในเรื่องราวเดียวกัน

เริ่มจากการเรียนรู้เกี่ยวกับเป้าหมายในชีวิตของแต่ละคน ที่ผู้เข้าร่วมหลายคนสะท้อนว่า ทำให้ชัดเจนมากขึ้นว่าเป้าหมายอะไรที่สำคัญ ควรรีบนำมาทำก่อน หรือการผลัดวันประกันพรุ่งกับเป้าหมายของตนเอง อาจจะมีผลทำให้พลาดไปอย่างน่าเสียดายสำหรับชีวิตที่เหลือ การมีโอกาสเรียนรู้ตรงนี้มีส่วนช่วยให้กลับไปทำเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจนและสำเร็จได้เร็วขึ้น ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เป็นอีกเรื่องราวที่สำคัญ หากความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดี ก็มีส่วนช่วยในการดำเนินชีวิตไปสู่ความสุข และ ช่วยในการจากไปอย่างสงบ กิจกรรมที่ชวนให้ผู้เข้าร่วม ได้เปิดมุมมองในความสัมพันธ์ทุกแง่มุม และฝึกที่จะสื่อสารความรู้สึกที่แท้จริงต่อกัน เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้

การอบรมส่วนที่สำคัญมากในกิจกรรมครั้งนี้คือ การฝึกเจริญสติด้วยการเคลื่อนไหว ตามแนวหลวงพ่อเทียน ที่ช่วยให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติกรรมฐาน การฝึกที่ช่วยทำให้เห็น “การเผลอคิด” ที่เป็นต้นทางของการสร้างรสชาติของชีวิตในแบบต่างๆ ที่ทำให้ไหลไปสู่ความยึดติดในอารมณ์ได้โดยง่าย อันเป็นสาเหตุของการเกิดความทุกข์ของตนเอง การฝึกเจริญสติจะช่วยให้ตัดวงจรความเคยชินในการเผลอคิดให้สั้นลง แม้จะมีการคิดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เมื่อจิตรับรู้ได้ในแบบผู้สังเกตการณ์ ที่ไม่เข้าไปเป็นอะไรกับอะไรในเรื่องราวนั้นๆ การเผลอคิดที่เกิดขึ้นก็จะดับลงไปเองโดยธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้โดยอาศัยการมีสติเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ ไปจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งหากรักษาสติได้จนลมหายใจสุดท้าย ก็นับเป็นการจบลงของชีวิตที่งดงาม

นอกจากนี้กิจกรรมยังชวนให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกทำพินัยกรรมชีวิต ผ่านการใช้สมุดเบาใจ รูปแบบหนึ่งของหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้า เลือกวิธีการรักษาในช่วงท้ายของชีวิต ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 หรือ Advance Directive ซึ่งชี้ชวนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมในทุกมิติของชีวิต และเป็นเครื่องมือช่วยสำหรับการเตรียมตัวตายอย่างสงบอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำกลับไปพูดคุยปรึกษากับคนในครอบครัวได้ง่ายขึ้น

กิจกรรมสามวันสองคืน ที่ได้รวมทั้งการเตรียมตัวเองในงานด้านธรรมะและการใช้ชีวิตให้มารวมอยู่ในที่เดียวกันอย่างลงตัว เพื่อให้ชีวิตที่เหลือดำเนินไปได้อย่างสอดคล้องกับทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างงดงาม และนี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ชื่อ “ชวนคิดชีวิตที่เหลือ”

[seed_social]
4 เมษายน, 2561

พินัยกรรมชีวิตที่ให้สิทธิเราตายอย่างสงบ

เมื่อยังเด็ก ฉันเคยเชื่อว่าไม่มีใครหนีความตายได้พ้น ยกเว้นตัวฉัน นั่นคือความเขลาในวัยเยาว์ มาตอนนี้ คนที่ฉันเห็นในกระจกช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเด็กหญิงผู้ไม่ประสีประสาคนนั้น
31 พฤษภาคม, 2562

พระมาโปรด

“เปิดโอกาสให้พระได้ทำหน้าที่เชิงรุกบ้าง เป็นฟางเส้นสุดท้ายก่อนตาย เป็นทางเลือกให้เขา ทำให้เขาได้ดูแลจิตใจ ได้ภาวนา มันเป็นหน้าที่ที่พระน่าจะภาคภูมิใจมากกว่าการไปสวดงานศพ ซึ่งตอนนั้นเป็นปลายเหตุ เขาไม่รับรู้อะไรแล้ว”
13 มีนาคม, 2561

แค่เสี้ยววินาที

ไม่มีใครที่สมบูรณ์หรือมีดีร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม... บางคนโชคดีปนโชคร้าย บางคนเจอเรื่องร้ายแต่พลิกกลับมาเป็นเรื่องที่แสนสวยงาม ดังคำที่ว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน”