parallax background
 

พระมาโปรด

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

คนไทยพุทธมีความเชื่อเรื่อง “พระมาโปรด” กล่าวคือ หากชาวพุทธเจ็บป่วยหรืออยู่ในห้วงทุกข์ แล้วได้เห็นพระสงฆ์ จะรู้สึกมีกำลังใจ พระสงฆ์จึงอยู่ในสถานะมีแต้มต่อกว่าผู้ให้ความช่วยเหลือทางใจอื่นๆ ตรงที่สามารถทำให้ผู้ตกทุกข์ได้ยากสบายใจแบบทันทีทันใดหรือน่าอัศจรรย์

อย่างไรก็ตามมีตัวอย่างไม่น้อยที่การกระทำตามความเชื่อเรื่อง “พระมาโปรด” กลับทำให้คนทุกข์หนักขึ้น เช่น ญาติผู้หวังดีนิมนต์พระไปเยี่ยมไข้ผู้ป่วย แต่กลับทำให้ผู้ป่วยอาการทรุดลง เพราะคิดว่าวาระสุดท้ายของตนเองมาถึงแล้ว หรือพยาบาลนิมนต์พระไปโปรดผู้ป่วยที่ดื่มยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่าตัวตาย แต่พระกล่าวสั่งสอนผู้ป่วยว่า “ การฆ่าตัวตายเป็นบาปที่ต้องชดใช้ห้าร้อยชาติ“ ผู้ป่วยจึงทุรนทุรายเพราะหวาดกลัวสุดขีด

ดังนั้นกรณี ‘พระที่จะมาโปรด' ผู้ป่วยรุนแรงหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย จึงควรเป็นพระที่เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเจ็บป่วย และมีทักษะที่ช่วยให้สติและกำลังใจแก่ผู้ป่วยและญาติได้เป็นอย่างดี

บทความชิ้นนี้จะฉายภาพให้เห็นข้อจำกัดของพระสงฆ์ในการนำหลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับความตายมาปรับใช้กับผู้ป่วยและญาติ และตัวอย่างการเรียนรู้หลักการและทักษะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ช่วยให้พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ “มาโปรด” ได้สมกับความหมายของคำ ผ่านประสบการณ์ของพระครูวิจัยธรรมโกวิท หรือพระเอกคุน ธรรมวิจโย แห่งวัดป่าพุทธมงคล จังหวัดกาฬสินธุ์

เมื่อโยมบิดา-มารดาป่วย
“เรามัวแต่ดูแลเรื่องร่างกายเพราะคิดว่าโยมพ่อป่วยเป็นอัมพฤกษ์ น่าจะหาย ไม่น่าถึงกับตาย แต่ไม่เป็นอย่างที่เราคิด สุดท้ายพ่อป่วยเป็นเส้นเลือดสมองแตกตาย เรารู้สึกว่าเราพลาดแล้ว ตอนนั้นเราไม่กล้าหาญที่จะพูดให้ท่านเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ และไม่กล้าพูดเรื่องความตาย เราคิดเหมือนทางโลกว่าพูดเรื่องความตายเป็นลาง” พระเอกคุนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว ในช่วงที่ท่านบวชเป็นพระได้ 9 พรรษา

ขณะนั้นพระเอกคุนคิดว่า ท่านได้ทุ่มเทดูแลโยมบิดาอย่างเต็มกำลังความสามารถ ท่านพาโยมบิดามาป้อนข้าวป้อนน้ำ ดูแลด้วยตนเองที่วัด ทว่าภายหลังจากบิดาเสียชีวิตแล้ว จึงเพิ่งตระหนักว่านั่นเป็นการดูแลทางกายเพียงส่วนเดียว ยังขาดส่วนสำคัญไม่แพ้กัน คือการดูแลด้านจิตใจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้พระเอกคุนขวนขวายหาความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากหนังสือและสื่อต่างๆ

ในอีกไม่กี่ปีต่อมาเมื่อโยมมารดาป่วยเป็นมะเร็ง พระเอกคุนปฏิญาณกับตัวเองว่าจะไม่ปล่อยให้โยมมารดาตายแบบไร้ที่พึ่งทางใจดังที่เคยเกิดขึ้นกับโยมบิดา

“ทางร่างกายก็ให้หมอดูแลไป เราจะดูแลทางใจ เราเยี่ยมไปคุยทุกวัน ไปดูแลใกล้ๆ เอาธรรมะเรื่องการเตรียมตัวตาย เรื่องการเจ็บป่วยให้ฟัง วันพระจะไปให้โยมแม่ถวายอาหาร พูดคุยซักซ้อมกันว่าตอนใกล้ตายให้ระลึกสิ่งใด โยมแม่สั่งเสียเรื่องจัดงานศพว่าให้สวดสองคืนพอ”

“มีครั้งหนึ่งโยมแม่อาการหนัก เราไม่ได้อยู่ด้วย ก็บอกให้พี่สาวพูดคำว่า “ตายๆๆๆ” ให้แม่ฟัง เพราะเป็นคำที่เตรียมกันไว้ คนพูดกันว่าแม่ตายยิ้ม นอนหลับเหมือนยิ้ม รู้สึกภาคภูมิใจว่าได้ทำหน้าที่ของลูกที่เป็นนักบวชได้ค่อนข้างน่าพอใจ”

จะเห็นได้ว่าพระสงฆ์ผู้ซึ่งแม้บวชเรียนมานาน เข้าใจความหมาย และท่องจำข้อธรรมขั้นสูงเกี่ยวกับความตายได้อย่างคล่องแคล่ว สวดพระอภิธรรมมานับครั้งไม่ถ้วน กลับมีข้อจำกัดในการนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้ให้เหมาะกับกาลเทศะ แม้แต่พระสงฆ์ที่บวชเรียนมานับสิบปี เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตายของคนใกล้ตัวเช่นบิดามารดา ยังรู้สึกกลัวที่จะพูดถึงความตายและอาจไม่สามารถทำหน้าที่ที่พึ่งทางใจให้ผู้ที่กำลังจากไปได้ดีนัก

คนไข้รายนี้มีความประสงค์ให้ดูแลทางใจก่อนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

“กระบวนการ” สำคัญพอๆ กับ “ความรู้”
การจากไปอย่างสงบของโยมมารดายิ่งตอกย้ำให้เพราะเอกคุนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของความรู้และทักษะการดูแลจิตใจผู้ป่วย พระเอกคุนจึงเริ่มแสวงหาความรู้เพิ่มเติมและมีโอกาสเข้าอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและการเผชิญความตายอย่างสงบระยะเวลา 3 วัน ในโครงการสร้างสุขที่ปลายทางชีวิต จัดโดยเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์และกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำ พระเอกคุนเป็นพระสงฆ์เพียงรูปเดียวในกลุ่มจิตอาสานี้

การเปลี่ยนบทบาทจากพระที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมงานศพที่วัด มาเป็นจิตอาสาดูแลจิตใจผู้ป่วยที่บ้านหรือโรงพยาบาลนั้นเห็นผลลัพธ์ทันตา ผู้ป่วยบางคนมีอาการดีขึ้น บางคนจากไปอย่างสงบ

ร.ต.อ.หญิงสิริวิภา เหล่าศรีรักษ์ หัวหน้าศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตเทศบาลกาฬสินธุ์ เล่าถึงคุณยายวัยเก้าสิบปี คุณยายชอบบุญใส่บาตรเป็นนิตย์ เมื่อล้มป่วยเดินไม่ได้ คุณยายก็ไม่ได้ใส่บาตรอีก ต่อมากลุ่มจิตอาสาสร้างสุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิต ซึ่งมีพระเอกคุนร่วมทีมอยู่ด้วย ได้ไปเยี่ยมคุณยายที่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงและอาการไม่ดีนัก

“ตอนทีมพยาบาลไปเยี่ยมครั้งแรกๆ คิดว่าคุณยายคงจะอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากตอบสนองไม่ได้ ตัวแข็งลิ้นแข็ง ก่อนหน้านี้เราแนะนำให้ญาตินิมนต์พระไปเยี่ยมคุณยาย แต่ญาติแย้งว่าการนิมนต์พระมาเยี่ยมจะเป็นการแช่งคนไข้ ครั้งนี้จึงเราแจ้งและถามความสมัครใจญาติก่อนว่าจะมีทีมจิตอาสาที่มีพระสงฆ์ที่เข้าใจและรู้กระบวนการดูแลจิตใจผู้ป่วยไปเยี่ยม ถ้าอนุญาต ให้เตรียมชุดสังฆทานไว้ พระจะรับสังฆทานและสวดมนต์ให้ฟัง พอไปแล้วทั้งคุณยายและลูกปลาบปลื้มมาก ปัจจุบันคนไข้ดีขึ้นเยอะ คุยโต้ตอบได้รู้เรื่อง” ร.ต.อ.หญิงสิริวิภา กล่าว

ด้านพระเอกคุนเล่าประสบการณ์การเยี่ยมไข้ผู้ป่วยที่บ้าน ในโครงการของเจ้าคณะฝ่ายปกครองสงฆ์ระดับอำเภอที่มีมติให้เจ้าคณะตำบลทำกิจกรรมศาสนสงเคราะห์เดือนละสองครั้ง รวมทั้งดูแลผู้ป่วยติดเตียงด้วย ท่านกล่าวว่า นโยบายจากฝ่ายปกครองสงฆ์ ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ เพราะพระกับชุมชนเหินห่างกัน แม้โยมจะเคยนิมนต์พระสงฆ์ไปฉันที่บ้าน แต่ไม่รู้จักสนิทสนมกับญาติโยม พระสงฆ์จึงทำหน้าที่แบบสงเคราะห์ นำของใช้จำเป็นไปให้ เช่น กระดาษทิชชู ยาสีฟัน แพมเพิร์ส

“ถ้าพระไม่มีทักษะการเยี่ยม ไม่มีกระบวนการเยี่ยมที่ดี และไม่มีคนเบิกทางให้ อยู่ดีๆ จะไปคุยเรื่องความตายกับผู้ป่วยเลยจะค่อนข้างลำบาก แต่ถ้าไปแล้วไม่มีโอกาสได้พูดเรื่องความตาย จะมีประโยชน์อะไร เราไปคนเดียว ก็ไม่รู้เขาจะชอบพระหรือไม่ชอบ บางคนเห็นพระตกใจคิดว่าตัวเองจะตายแล้ว เขาถือว่าลางไม่ดี อาตมาลองทำหลายครั้ง มันไม่เข้ารูปเข้ารอย ก็เลิกไป

“อยากให้คณะสงฆ์จัดกิจกรรมแบบมีการออกแบบกระบวนการ เรียนรู้ พระก็ต้องเรียนรู้กระบวนการว่าอะไรควรไม่ควร ถ้าไม่เรียนรู้ก็จะรู้แค่เรื่องบุญเรื่องเดียว อาจเข้าใจว่าต้องพูดธรรมะอย่างเดียว อาตมาคิดว่าทักษะการฟังก็สำคัญ เพราะเพราะส่วนมากก็วันแมนโชว์ เป็นเรื่องอันตราย เพราะบางทีคนไข้ก็ไม่ได้อยากฟังเทศน์ บางครั้งเราไม่ต้องพูดอะไรก็ได้ แค่ไปเยี่ยมก็ดีแล้ว” พระเอกคุนกล่าว

โอกาสทองของชีวิต
ขณะที่บทบาทดั้งเดิมของพระสงฆ์คือการปฏิบัติกิจของสงฆ์อยู่ที่วัด และทำพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายเมื่อมีศพมาถึงวัดแล้ว บทบาทใหม่ของพระสงฆ์ในยุคสมัยที่สังคมต้องการการดูแลด้านจิตใจคือการออกไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านหรือโรงพยาบาล

“เปิดโอกาสให้พระได้ทำหน้าที่เชิงรุกบ้าง เป็นทางเลือกให้เขา ทำให้เขาได้ดูแลจิตใจ ได้ภาวนา มันเป็นหน้าที่ที่พระน่าจะภาคภูมิใจมากกว่าการไปสวดงานศพ ซึ่งตอนนั้นเป็นปลายเหตุ เขาไม่รับรู้อะไรแล้ว”

“เขาเป็นมะเร็ง ธาตุไฟแตกแล้ว พอเราไป พยาบาลถามว่าจะมาปลดท่อออกใช่มั้ย ก็บอกว่าไม่ได้มาปลดท่อหรอก แต่มาเพื่อให้สติ เขาถูกมัดขามัดมือไว้ แล้วดิ้นต่อสู้ทุรนทุราย อาตมาก็เรียกชื่อเขา บอกว่ารู้ว่าตอนนี้เจ็บปวด อย่าไปผลักไสหรือดิ้นรนหนีความเจ็บปวด ให้ยอมรับและอยู่กับมัน อย่าเห็นเขาเป็นศัตรู ชวนให้ภาวนา เขาก็ดิ้นน้อยลง ตอนแรกนึกว่าวันสองวันจะเสีย เขาอยู่ได้อีกเจ็ดแปดวัน” พระเอกคุนเล่าประสบการณ์เยี่ยมไข้ที่โรงพยาบาล

ส่วนที่วัดพระสงฆ์ก็สามารถขยายบทบาทจากการทำวัตรปฏิบัติปกติสู่การสร้างมรณานุสติให้แก่ญาติโยมได้

“โยมที่เข้าวัดไม่ได้ลึกซึ้งเกี่ยวกับความพร้อมหรือการเตรียมตัวตาย ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้เท่าไร มาทำบุญก็คือทำบุญให้ทาน ถ้ามีโอกาสก็จะพูดทั้ง จะไม่ทิ้งเรื่องความตาย มันไม่มีวิชาใดสอนให้เขาเตรียมตัวตาย พ่อแม่ก็ไม่สอน ครูก็ไม่สอน เลยค่อยๆ สอดแทรกไปในทุกกิจกรรมทั้งเทศน์หลังพ่อออกแม่ออกมาทำบุญที่วัด ช่วงเทศกาลปฏิบัติธรรม”

ท่ามกลางสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเต็มไปด้วยความทุกข์จากความเจ็บป่วยเรื้อรังและร้ายแรง ถึงเวลาแล้วที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ชาวพุทธมาแต่โบราณกาล จะหันมาทำหน้าที่มากกว่าผู้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย มาทำหน้าที่ตอบโจทย์ เป็นที่พึ่งทางใจ องค์กรที่เกี่ยวข้องและพระสงฆ์คงต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะสามารถทำหน้าที่ “พระมาโปรด” ได้อย่างแท้จริง

บทบาทพระสงฆ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
· ส่งเสริมให้กำลังใจ พระอาจพูดให้กำลังใจ ให้หายกลัวหรือวิตกกังวลเรื่องต่างๆ หรือสวดมนต์บทอันเป็นมลคลสูงสุด
· เรียกสติ ดึงศรัทธา พระสามารถพูดโน้มน้าวให้ผู้ป่วยกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะด้วยการระลึกถึง “บุญ” ที่เคยทำในช่วงต่างๆ ของชีวิต รวมทั้งสามารถแนะนำให้ทำบุญแม้ขณะที่นอนป่วยหนักอยู่ด้วยวิธีต่างๆ
· เปิดโอกาสให้ได้ทำบุญ ผู้ป่วยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการถวายทาน การมีพระมาโปรดถึงข้างเตียงเป็นโอกาสพิเศษที่จะสร้างความปลื้มปิติให้ผู้ป่วยมาก
· เปิดโอกาสให้อภัย/ขออโหสิกรรม/เปลื้องความรู้สึกผิด พระสามารถเน้นย้ำกับผู้ป่วยว่าอภัยทานเป็นทนที่ยิ่วใหญ่ หากสถานการณ์เหมาะสมก็ “ขอบิณฑบาต” ความโกรธแค้นของผู้ป่วยเสีย หากบุคคลผู้นั้นไม่อยู่ในที่นั้นอาจทำเป็นเชิงสัญลักษณ์เช่น การกรวดน้ำ หรือพระเป็นตัวแทนรับคำอโหสิกรรม เป็นต้น
· ให้ธรรมะ นำสมาธิ น้อมนำใจให้สงบ เช่น อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องกังวลถึงอดีตและอนาคต
· นำทางในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต พระที่มีประสบการณ์หรือผ่านการฝึกฝนมาแล้วสามารถนำทางผู้ป่วยได้ รวมทั้งการสวดมนตร์ สาธยายธรรม แผ่เมตตา ซึ่งนอกจากเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ญาติได้เรียนรู้ธรรมไปด้วย

เรียบเรียงจาก: คู่มือการทำงานดูแลสุขภาวะทางปัญญาในผู้ป่วยระยะท้าย โดยพระวิชิต ธัมมชิโต เครือข่ายพุทธิกา

ภาพ: เพจจุติสุขาวดี
https://www.facebook.com/search/posts/?q=%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B5&epa=SERP_TAB
https://www.facebook.com/search/posts/?q=%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B5&epa=SERP_TAB

[seed_social]
28 พฤศจิกายน, 2560

เบาใจ…สบายกาย

ความรักมักวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเราเสมอ จะเรียกว่าตลอด 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ ถ้าไม่ได้เป็นฝ่ายรักเขา ก็เป็นฝ่ายถูกรัก ยิ่งใครเป็นคนชอบเขียนไดอารีประจำวันและเกิดรักใครขึ้นมาสักคน รับรอง
18 เมษายน, 2561

แผ่เมตตา – จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา (๑)

เราสามารถบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจได้ด้วยการแผ่เมตตาสม่ำเสมอหลังจากนั่งสมาธิ โดยใช้เวลาประมาณ ๕ - ๑๐ นาที อาจใช้บทสวดแผ่เมตตาทางศาสนาก็ได้ แต่ไม่ควรสวดแบบท่องตามไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่ซาบซึ้งกับความหมาย
4 เมษายน, 2561

เครือข่ายชีวิตสิกขา

หลังจากที่นิสิตปริญญาโทภาคจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ สาขาชีวิตและความตาย รุ่นแรกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผ่านการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลศิริราชในปี ๒๕๕๐