parallax background
 

กราบพ่อ

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมเทคโนโลยีดิจิตอลที่ผู้คนต่างบันทึกเรื่องราวชีวิตตัวเองผ่านภาพถ่าย เพียงสัมผัสเบาๆ ที่สัญลักษณ์ชัตเตอร์บนหน้าจอมือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถบันทึกช่วงเวลานั้นไว้ตราบนานเท่านาน ยิ่งบางความรู้สึกอาจ เป็นการยากหากต้องถ่ายทอดผ่าน ‘อักษร’ เราจึงนิยมบอกเล่าด้วย ‘ภาพ’ มากกว่า

หากสำหรับ ‘บางคน’ กลับเลือกที่จะจดบันทึกความประทับใจที่เกิดขึ้นรอบตัว และผู้คนรอบข้างในชีวิตประจำวันด้วย ‘การเขียน’ ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือ ‘บางคน’ ที่ว่าเป็นเพียงเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุ 8 ปี แต่พยายามถ่ายทอด ‘ความรู้สึก’ ของเธอที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช … ‘พ่อหลวง’ ด้วย…ลายมือ


ภาพประกอบจาก Google

หนังสือ กราบพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยเด็กหญิงติณณา แดนเขตต์ เขียนขึ้นเนื่องด้วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ ทราบข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประชวร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2559 จึงแจ้งไปยังนักเขียนรุ่นเยาว์พร้อมฝากข้อคิดว่า ‘ในหลวงประชวร เราในฐานะนักเขียนเด็กๆ และนักเขียนบันทึก จะทำอะไรได้บ้าง’

รุ่งขึ้น นักเขียนวัยเยาว์ผู้นี้เริ่มต้นบันทึกวันแรกและบันทึกเรื่อยๆ มาเกือบทุกวัน จริงอยู่ที่การเขียนนั้นอาจไม่ยาก แต่การเขียนอย่างต่อเนื่องนั้นยากกว่า โดยเฉพาะการเขียนถึงบุคคลผู้เป็น ‘ดวงใจของปวงชนชาวไทย’ ซึ่งผู้เขียนเองมีประสบการณ์เป็น ‘คนไทย’ เพียง 8 ปี ถือว่ายังเยาว์นัก…แต่คงต้องขอบคุณในความเยาว์วัยของเธอ ที่สามารถถ่ายทอด ‘อารมณ์’ ผ่านภาษาที่เรียบง่าย หากละมุนด้วยความคิดอันประณีต สมกับเป็นการเขียนบันทึกจากดวงใจของ ‘เด็ก’ ถวายแด่ พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง

คำนำของหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการเปรียบ ‘ต้นข้าว’ กับการกระทำ ‘หน้าที่ของตนด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตัว’ ธรรมชาติของรวงข้าวเมื่อออกรวงเหลืองอร่าม จะโน้มลงสู่พื้นดินพร้อมที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ เด็กหญิงติณณา เขียนว่า

“…ถ้าในหลวงเป็นชาวนา ท้องนาก็ต้องเป็นประเทศไทย ต้นข้าวก็ต้องเป็นประชาชน ชาวนาปลูกข้าวด้วยความใส่ใจ เพื่อหวังว่าต้นข้าวที่ได้ปลูกจะสมบูรณ์ ฉันเป็นเมล็ดข้าวที่มีสมุดพกพาเล่มเล็กๆ เมล็ดข้าวจะพยายามด้วยตัวเอง งอกออกมาเป็นรวงข้าวเหมือนที่ชาวนาหวัง…”

ความคิดของนักเขียนรุ่นเยาว์ผู้นี้มิได้แสดงถึงมุมมองที่มีต่อในหลวงผู้เปรียบเสมือน 'พ่อของแผ่นดินไทย' เพียงอย่างเดียว หากยังสื่อถึงความเข้าใจใน ‘หน้าที่’ ของ ‘ลูก’ คนหนึ่งที่ต้องถวายความกตัญญูต่อ ‘พ่อหลวง’ อย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยตัวของเธอเอง แม้จะด้วยวัยเพียง 8 ปี ก็ตาม

บันทึกประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เธอเล่าว่าอาจารย์ให้นักเรียนเขียนถึงพระมหากษัตริย์ไทยองค์ใดก็ได้ ตอนแรกทุกคนเลือก ‘ในหลวง’ แต่พออาจารย์บอกว่าหากเลือกพระองค์อื่น จะมีรายละเอียดให้ดูประกอบการเขียน ยกเว้น ‘ในหลวง’ ที่นักเรียนต้องคิดและเขียนขึ้นมาเอง เพื่อนๆ เธอได้ยินดังนั้นจึงเปลี่ยนใจ เพราะเป็นเรื่องยากเกินไป เว้นแต่เด็กหญิงติณณา…เธอบันทึกการตัดสินใจครั้งนี้ว่า

“…แต่ฉันยังคงมุ่งมั่นที่จะเลือกในหลวง เพราะฉันเห็นว่าท่านก็มุ่งมั่นที่จะดูแลราษฎรของท่าน ฉันก็อยากทำแบบท่าน แม้ว่าจะไม่ใช่พระราชา และยังตัวเล็ก”

ในฐานะ ‘ผู้ใหญ่’ คนหนึ่งเมื่ออ่านบันทึกที่เขียนด้วยลายมือโย้ไปเย้มา ดูๆ แล้วทั้งน่ารัก น่าเอ็นดู และที่สำคัญคือ ‘น่านับถือในความเพียร’ ของเด็กน้อยคนนี้ ทำให้ผู้อ่านกลับมาถามตัวเองเช่นกันว่า หาก ‘เด็ก’ สามารถคิดและทำได้ถึงเพียงนี้ แล้วเราในฐานะ ‘ผู้ใหญ่’ สามารถทำอะไรได้บ้าง

ในท้องนาเราเห็นสัจธรรมแห่งรวงข้าว แต่ในสังคมเราเห็นผู้คนที่มีพฤติกรรมหลากหลาย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การปลูกฝังด้านคุณธรรมในจิตใจของเด็กอาจยังคงหยั่งรากลงไม่ลึกพอ ยิ่งยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุนานัปการที่ถาโถมเข้ามา ส่งผลให้เยาวชนไทยเริ่มส่อแวว ‘อ่อนไหว’ จนทำให้แสงเรืองรองแห่งปัญญา…ค่อยๆ อ่อนกำลังลง การเลี้ยงดู ‘เด็ก’ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตทางจิตใจ ไปพร้อมๆ กับร่างกาย ปั้นมนุษย์ตั้งแต่ยังเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราในฐานะผู้ใหญ่ควรกระทำ เพราะการสอนเด็ก ก็เท่ากับเป็นการทบทวนความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเรา ว่ามี ‘ภาวะผู้ใหญ่’ ที่ควรเคารพมากน้อยเพียงใด

พระบรมราโชวาทพระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี 2527 ความว่า

“วัยเด็กเป็นวัยเริ่มต้น เป็นวัยเตรียมตัวเพื่อสร้างความเจริญมั่นคงในชีวิต เด็กๆ จึงควรรีบขวนขวายศึกษา จักได้มีความฉลาดรอบรู้ ว่าอะไรคือความดี และอะไรคือความเสื่อมเสีย เพื่อสามารถเลือกเฟ้นหยิบยกเอาแต่สิ่งที่ดีงามขึ้นมาประพฤติ ปฏิบัติให้เป็นทางนำชีวิตของตนไปสู่ความสุข ความเจริญได้โดยถูกต้องและสมบูรณ์”

ที่มา: หนังสือ ปรัชญาการศึกษาพระเจ้าอยู่หัว

‘ความรู้’ ช่วยให้เราประกอบอาชีพ
‘สติปัญญา’ ช่วยให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์…ดั่ง ‘มนุษย์’

หากในโลกนี้ สิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ คือ ‘ความดี’

‘การเห็นแก่ผู้อื่น’ จึงเป็น ‘ความดี’ ดุจดอกไม้ทิพย์ผลิบานท่ามกลางจิตใจของผู้รับตลอดกาล ถ้าปราศจากความดีอันสงบ เย็น และเป็นประโยชน์แล้ว มันก็คือ ‘ความตาย’ ทั้งๆ ที่ยังมีลมหายใจแล้วนั่นเอง

เสียดายที่ทั้ง ‘ภาพ’ และ ‘อักษร’ อาจไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกรักและคิดถึง ‘พ่อ’ ออกมาได้อย่างสมบูรณ์

ขึ้นชื่อว่า ‘รักในหลวง’ อย่างไรก็ไม่จางคลาย…เพราะอยู่ในใจ ‘คนไทย’...ตลอดไป

คำว่า ‘พ่อ’ พันผูกลูกไม่ห่าง
พ่อ…ทรงสร้างความสุขให้ทั้งผอง
พ่อ…ยอมเหนื่อยเพื่อให้ลูกได้หลับนอน
พ่อ…ราญรอนเหนื่อยยากสู้ตรากตรำ
ณ วันนี้ถึงเวลาที่พ่อพัก
ธ ทรงศักดิ์เสด็จคืนสรวงสวรรค์
เราชาวไทยประณตน้อมจอมเทวัญ
เชิญพระขวัญสู่ชั้นฟ้า…นิรันดร์กาล…

[seed_social]
31 มกราคม, 2561

Coco ความทรงจำ ความหมาย และความตายในโลกหลังความตาย

หนังเล่าเรื่องราวของ Miguel Rivera เด็กชายอายุ 12 ปี ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวขนาดใหญ่ในเม็กซิโก ซึ่งประกอบอาชีพช่างทำรองเท้ามาอย่างยาวนาน (ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ยาย ทวด และย่าทวด ทุกคนล้วนประกอบอาชีพเดียวกัน) และแน่นอน ทุกคนย่อมปรารถนาให้มิเกลได้สืบทอดอาชีพนี้ต่อไปด้วย
19 เมษายน, 2561

ความตายไม่น่ากลัว ความกลัวตายต่างหากที่น่ากลัว

ดิฉันมักจะกลัวอนาคตค่ะ กลัวความตาย เนื่องจากสามีเป็นคนดี กลัวการพลัดพราก ไม่อยากผูกพันกับใครมาก ทำให้ไม่กล้านึกถึงอนาคตค่ะ เวลาที่จะซื้อคอนโดฯ ก็กลัวว่าถ้าเค้าเสียชีวิตแล้วดิฉันจะทำอย่างไร ดิฉันควรคิดอย่างไรดีคะ
20 กุมภาพันธ์, 2561

ตามรอยซิเซลี

ซิเซลี ซอนเดอร์ส แพทย์หญิงชาวอังกฤษ ผู้บุกเบิกสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสมัยใหม่จนกลายเป็นต้นแบบของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในปัจจุบัน แม้ว่าเธอจะเสียชีวิตไปนานเกือบสิบปีแล้ว แต่การอุทิศตัวเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขและได้ตายดีของเธอ