parallax background
 

สช. พร้อมเสนอ ๖ ยุทธศาสตร์
การสร้างเสริมสุขภาวะ
ในระยะท้ายของชีวิต
เป็นวาระระดับชาติ

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อพิจารณาร่าง "แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๙” (National Strategic Plan on Health Promotion for Good Death 2013-2016) ครั้งที่ ๑ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า ๑๐๐ คน เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพ

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต ถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แม้จะมีหลายองค์กรได้ดำเนินการเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง แต่คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ผลักดันให้แนวทางดังกล่าวไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งจะต้องอาศัยทั้งระบบบริการสุขภาพและระบบสังคมรองรับเรื่องนี้ จึงเห็นควรให้ริเริ่มจัดทำยุทธศาสตร์ในระดับชาติ เพื่อรองรับปัญหาของสังคมไทยที่ต้องเผชิญกับโรคใหม่ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคร้ายแรงต่างๆ เป็นต้น อันเป็นต้นเหตุของการทุกข์ทรมานก่อนที่จะเสียชีวิต รวมทั้งสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ปัจจุบันมีถึงร้อยละ ๑๑-๑๒ ของประชากรทั้งประเทศ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้จากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรมีการจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตอย่างเป็นระบบ โดยมีการดำเนินการที่สำคัญคือ "การบริบาลแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิต" (Palliative Care) ทั้งการพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุข พัฒนาสถานพยาบาล และการดูแลที่บ้าน รวมถึงพัฒนาระบบการเงินการคลัง เครื่องมือทางการแพทย์ และยา ซึ่งสำคัญมากสำหรับทำให้ผู้ที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิตจากไปอย่างสงบ

“การบริบาลแบบประคับประคองฯ นี้ ผู้ให้บริการ ผู้ป่วย และญาติ จะต้องร่วมกันวางแผนการดูแลล่วงหน้าให้เป็นไปตามความปรารถนาครั้งสุดท้ายของผู้ป่วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก” ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นระบุ

ด้าน นพ.อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ใน ยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๙ มุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการที่ดีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิดดังกล่าวให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมไทย ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : การสร้างทัศนคติที่ดีและการสร้างความรู้ความเข้าใจ มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจของสังคมเรื่องการตายดีและการบริบาลแบบประคับประคอง ผ่านช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : การสร้างและจัดการความรู้ โดยพัฒนาระบบการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การสร้างระบบจัดการความรู้ สร้างคลังความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ : การพัฒนารูปแบบและระบบบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต มุ่งพัฒนาระบบการบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ทั้งในสถานบริการของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งระบบสุขภาพของชุมชน และการพัฒนาระบบยาที่เกี่ยวข้อง

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ : การพัฒนาศักยภาพและกำลังคน ด้วยการเพิ่มจำนวนบุคลากรสาธารณสุขและเครือข่าย ที่ผ่านการศึกษาและฝึกอบรม โดยมีศูนย์ฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองในทุกภาคของประเทศ มีหลักสูตรที่รับรองโดยองค์กรวิชาชีพ

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ : การพัฒนาและบูรณาการเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศในระบบการบริบาลแบบประคับประคอง เพื่อสร้างความเชื่อมโยง ในการแบ่งปันข้อมูล-ข่าวสารร่วมกัน ของเครือข่ายและสถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย การบริหารจัดการยาและการให้คำปรึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ : การผลักดันนโยบาย กลไก และกฎหมายรองรับการมีสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยมุ่งให้เกิดนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่รองรับการจัดบริการ รวมถึงการเสนอให้เป็นวาระระดับชาติ

ทั้งนี้ ในการประชุมปรากฏว่าได้รับความสนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ การเสนอให้กำหนดคำนิยามที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตว่า การกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นให้บริการ การดูแลครอบคลุมผู้ป่วยชาวต่างชาติหรือไม่ การสนับสนุนองค์กรทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนการแก้ปัญหาการเข้าถึงยา อาทิ มอร์ฟีนเพื่อลดการทรมานในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งให้มีการระดมสมองอย่างต่อเนื่องในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ด้วย

ที่มา: http://www.thailivingwill.in.th/content/สชเดินหน้า-6-ยุทธศาสตร์-เปิดทาง-วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

หญิงสูงวัยยืนยันสิทธิ์ที่จะตาย ‘สัก’ อกซ้ายประกาศเจตนารมณ์

จอย ทอมกินส์ วัย ๘๑ ปี ตัดสินใจเด็ดขาดว่าไม่อยากฟื้นขึ้นมาในห้องฉุกเฉินในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกต่อไป หลังจากเคยทุกข์ทรมานใจที่เห็นสามีค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ มาแล้ว
7 มีนาคม, 2561

เรียนรู้สู่สังคมสูงวัย กับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย

อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น และประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุแล้วโดยสมบูรณ์ คาดการณ์ว่าผู้สูงอายุในไทย (อายุ ๖๐ ปีขึ้นไปตามนิยามสากล) ในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๘) จะมีจำนวนร้อยละ ๑๗ และร้อยละ ๒๗ ในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ (พ.ศ. ๒๖๐๓) 
19 เมษายน, 2561

บทเรียนจากการจากไปของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

ในสังคมไทย พระอาจารย์ชื่อดังหลายๆ รูป มักถูกยื้อชีวิต ยืดความตายในระยะท้ายของชีวิต หลายรูปจากไปท่ามกลางความไม่สงบ เนื่องจากท่านสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูง อีกทั้งผู้ดูแลที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาก็มักต้องการให้ท่านมีชีวิตอยู่ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้