parallax background
 

เมื่อพระจอมเกล้าฯ สวรรคต
: การเตรียมตัวตายอย่างสงบแบบไทยๆ

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

เรียกว่า เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด จริงๆ สำหรับเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดการระเบิด กัมมันตภาพรังสีรั่วไหล แต่หายนภัยใหญ่หลวงที่เกิดจากธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์เองในครั้งนี้ น่าจะช่วยทำให้พวกเราเกิดอนุสติ หันมาพิจารณาวิถีการดำเนินชีวิตของตนเองในปัจจุบัน ว่ายังดำรงอยู่ด้วยประมาทหรือไม่เพียงใด จะมีอะไรดีไปกว่าการเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของชีวิต โดยเราอาจเรียนรู้ได้ทั้งจากบุคลหรือเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะยากดีมาจน เป็นคนสามัญหรือเจ้าพระยาพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งสยามประเทศ ทรงเป็นแบบอย่างอันน่าพิจารณา ถึงทัศนคติและท่าทีต่อการเตรียมตัวเผชิญความตายของคนไทยในอดีต ก่อนที่ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่จะเข้าเป็นแทนที่ในระยะเวลาต่อมา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต นับจากเมื่อเริ่มมีพระประชวรหนักเพียงหนึ่งเดือนเศษ หลังเสด็จฯ กลับจากการทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ ได้ห้าวัน โดยทรงมีพระอาการไข้ จับสั่น เหงื่อออก กระหายน้ำ และเบื่ออาหาร (สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวทรงประชวนด้วยไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย) หมอหลวงถวายพระโอสถมาหลายวันแล้ว แต่พระอาการมีแต่กำเริบยิ่งขึ้น กระทั่งถ่ายออกมาเป็นเลือด ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า

“พระโรคมากอยู่แล้ว ถ้าเห็นอาการเหลือมือ เหลือกำลังปัญญาแพทย์ ก็ให้กราบบังคมทูลแต่โดยจริง อย่าได้ปิดบังไว้ ก็จะได้ทรงทอดพระธุระเสียว่ารักษาไม่หายแล้ว”

การปกปิดพระอาการ

เมื่อทรงทราบว่าโรคหนักเกินกว่าจะเยียวยาให้หายได้เสียแล้ว พระองค์ตรัสว่าไม่ต้องการให้หมอหลวงปกปิดอาการต่อพระองค์ แต่พระราชประสงค์ดังกล่าวมิได้รับการตอบสนองเพราะความเป็นห่วงของพระประยูรญาติและข้าราชการผู้ใหญ่ในขณะนั้น

การปกปิดคนไข้ไม่ให้ทราบว่าตนเองเป็นโรคร้าย หรือปกปิดคนใกล้ชิดไม่ให้ทราบเรื่องดังกล่าว ด้วยความเป็นห่วงของญาติ ผู้ใกล้ชิด และบุคลากรสุขภาพ เพราะกลัวว่าจะทำให้อาการทรุดหนักจากผลกระทบทางจิตใจ เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน แต่จากการศึกษาคนไข้โรคมะเร็งทั้งในและต่างประเทศ พบตรงกันว่า การปกปิดความจริงเป็นความกังวลไปเองของผู้เกี่ยวข้องมากกว่า การวิตกสงสัยว่าตนเองเป็นโรคร้ายและกำลังจะเสียชีวิตโดยไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ เป็นความทุกข์ไม่ต่างจากการรับรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญกับสิ่งนั้น การรับรู้ความจริงจะช่วยให้คนไข้และครอบครัวได้มีโอกาสตระเตรียม จัดการกิจธุระต่างๆ ตามความประสงค์ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ดูแลสภาพจิตใจของกันและกันอย่างเปิดเผย เพียงแต่การบอกความจริงควรต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง

จนเมื่อถึงวันสวรรคต พระองค์ได้ทรงตระเตรียมสิ่งต่างๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างน่าเรียนรู้

ตระเตรียมเรื่องส่วนพระองค์และการแผ่นดินอย่างรอบคอบ

ในช่วงเช้าของวันสวรรคต พระองค์ทรงแสดงพระราชประสงค์เกี่ยวกับการจัดการสรีระอย่างละเอียด โดยระบุว่า สิ่งใดเมื่อครั้งทรงพระชนม์ชีพอยู่ไม่ชอบ ขออย่าได้ทำ เพียงแต่อย่าให้เสียธรรมเนียมด้วยในเวลาเดียวกัน

ในช่วงสาย ทรงมีพระราชกระแสกับพระเจ้าน้องยาเธอและขุนนางทั้งหลาย ขอลา และฝากฝังพระราชโอรส และงานแผ่นดินที่ทรงเป็นห่วงให้เรียบร้อย ในปัจจุบัน เราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ประกอบกิจที่ยังคั่งค้างสำคัญๆ เพื่อให้หมดห่วง รวมถึงเปิดโอกาสให้แสดงเจตจำนงที่ไม่รับการรักษาเพื่อยืดชีวิตออกไปได้ ตามกฎกระทรวง พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๒

ทรงขอขมาสงฆ์ และภาวนาเจริญสติจนสวรรคต

ในช่วงเย็น ทรงขอขมาและลาคณะสงฆ์เป็นภาษาบาลี ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยในภายหลังว่า

“อาพาธของดีฉันก็เจริญกล้า...ดีฉันกลัวอยู่ว่าจะทำกาลณเวลาวันนี้ ดีฉันของลาพระสงฆ์...โทษล่วงเกินได้เป็นไปล่วงดีฉันผู้พาลอย่างไร ผู้หลงอย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ดีฉันผู้ใดได้ประมาทไปแล้วด้วยประการนั้นๆ ทำอกุสลกรรมไปแล้วณอัตตภาพนี้ พระสงฆ์จงรับโทษที่เป็นไปล่วงโดยความเป็นโทษเป็นล่วงจริงของดีฉันผู้นั้น เพื่อสำรวมระวังต่อไป...”

เราสามารถช่วยเหลือผู้กำลังจะเสียชีวิตให้ได้แสดงความรู้สึก ความต้องการ เช่น การกล่าวขอบคุณ ขอขมา สั่งเสียต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ตลอดวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงภาวนาเจริญสติด้วยพระองค์เองมาตั้งแต่เช้าตรู่ ทรงรับสั่งกับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงว่า “...วันนี้เป็นวันสำคัญอย่าไปข้างไหนเลย ให้คอยดูใจพ่อ ข้ารู้เวลาตายของข้าแล้ว ถ้าข้าจะไปอย่างไรลง ก็อย่าได้วุ่นวายบอกหนทางว่าอรหังพุทโธเลย ให้นิ่งดูแต่ในใจเถิด เป็นธุระของข้าเองฯ...” จนถึงช่วงพลบค่ำ พระองค์ทรงภาวนาเจริญสติจนกระทั่งเสด็จสวรรคตอย่างสงบทั้งๆ ที่มีพระอาการประชวรอย่างหนัก

ความตายย่อมมีแก่ทุกคนโดยเสมอกัน และเราทุกคนมีสิทธิที่จะตายอย่างสงบได้เช่นกัน หากว่าเราได้เตรียมตัวอย่างสมควรแล้วในยามมีชีวิตอยู่ ทัศนคติและท่าทีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ในการตระเตรียมตัวเอง และช่วยเหลือคนไข้ระยะสุดท้ายให้เผชิญความตายได้อย่างรอบด้าน ที่ช่วยให้ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์สุขภาพสามารถบูรณาการกับภูมิปัญญาทางศาสนา สังคม และวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในบริบทของสังคมไทย

-----
เก็บความจากบทความเรื่อง “เรียนรู้การดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย จากเหตุการณ์สวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดย รศ.นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี, ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๑๒ เดือนตุลาคม ๒๕๕๓

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

การประชุม APHC 2015

อีกครั้งที่นักวิชาการ บุคลากรสุขภาพ และอาสาสมัครนานาประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มาร่วมตัวกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง
19 เมษายน, 2561

มหิดลทุ่มพันล้าน สร้างศูนย์วิจัย ดูแลคนชรา-คนป่วยระยะท้าย

ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายมักเคลื่อนไหวน้อยลง พื้นที่ใช้ชีวิตแคบลง การดูแลคือต้องทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกได้นานสุดเท่าที่จะนานได้ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะบ่อยครั้งที่เรามักดูแลโดยไม่ให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะท้ายทำสิ่งใด สุดท้ายก็จะทำให้ร่างกายเสื่อมลงไวขึ้น
5 เมษายน, 2561

ครม.เห็นชอบร่างกฏกระทรวง ให้สิทธิผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อยืดชีวิตจากโรคที่รักษาไม่หาย

คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต