parallax background
 

งานวิจัยใหม่บอกเราว่า
ความตายอาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

โดย: สรนันท์ ภิญโญ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ความกลัวตายเป็นความรู้สึกร่วมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เรากลัวความเจ็บปวดทุกข์ทรมานและกังวลว่าจะต้องเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างโดดเดี่ยว การคิดถึงความตายทำให้เราหวาดหวั่นพรั่นพรึง แต่การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Psychological Science เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บอกเราว่า ประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับการตายที่เกิดขึ้นจริงมีด้านบวกมากกว่าและด้านลบน้อยกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดคิดกัน


เคิร์ต เกรย์ (Kurt Gray) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาสังคม แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลน่า หัวหน้าคณะวิจัยกล่าวว่า "เมื่อพวกเราจินตนาการถึงอารมณ์ความรู้สึกตอนเข้าใกล้ความตาย ส่วนใหญ่จะคิดถึงความโศกเศร้าและความน่าสะพรึงกลัว แต่จริงๆ แล้ว การตายน่าเศร้าและน่ากลัวน้อยกว่า แต่มีความสุขมากกว่าที่คิด"

จากการวิจัยที่สำรวจข้อเขียนของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและนักโทษประหาร พบว่า "ในมโนภาพ การตายคือความโดดเดี่ยวและไร้ความหมาย แต่จากข้อเขียนสุดท้ายในบล็อกของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและถ้อยคำสุดท้ายของนักโทษประหารกลับเปี่ยมไปด้วยความรัก ความสัมพันธ์ และความหมาย"

เกรย์ได้แรงบันดาลใจในการทำวิจัยจากการอ่านบทความของนักเขียนหนังสือเด็ก เอมี โรเซนธัล ในคอลัมน์โมเดิร์นเลิฟ ที่ตีพิมพ์ใน นิวยอร์กไทมส์ หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว ๑๐ วัน ข้อเขียนของเธอเรื่องการค้นหาคู่ครองให้แก่สามีหลังจากเธอเสียชีวิตแล้วเต็มไปด้วยความรักและอารมณ์ขัน

"ข้อเขียนของเธอกระทบใจมากเพราะช่างคิดบวก เปี่ยมด้วยความรักและความหวัง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับคนที่ใกล้ความตาย งานของเราจะแสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่พบได้จริง"

เกรย์และคณะทำงานของเขาเริ่มคิดเรื่องการศึกษาประสบการณ์ทางอารมณ์ของการตายมากขึ้นเมื่อได้อ่านถ้อยคำสุดท้ายของนักโทษประหารในรัฐเท็กซัสที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐรวบรวมไว้ พวกเขาแปลกใจในความร่าเริงแจ่มใสของถ้อยคำเหล่านั้น และสงสัยว่าความรู้สึกของเราต่อเรื่องความตายและการตายอาจดูหม่นมัวเพราะนิสัยหมกมุ่นอยู่กับประสบการณ์ด้านลบของเรามากกว่าความจริงที่เกิดขึ้น

ในงานศึกษาชิ้นแรก เกรย์และคณะวิจัยวิเคราะห์เนื้อหาส่วนที่เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของข้อเขียนต่างๆ ในบล็อกของผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งกำลังจะตายด้วยมะเร็งหรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ที่เข้าสู่ระยะลุกลามแต่ความคิดจิตใจยังทำงานได้ตามปกติอยู่ จำนวน ๒๕ คน รวม ๒,๖๐๐ ข้อเขียน โดยแต่ละบล็อกที่ใช้ในการศึกษาจะต้องมีอย่างน้อยสิบข้อเขียนในช่วงเวลาอย่างน้อยสามเดือน และผู้เขียนบล็อกต้องเสียชีวิตไปแล้ว

จากนั้น จึงรับสมัครคนที่มีสุขภาพดีจำนวน ๕๐ คน ให้จินตนาการว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย จะมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่สองสามเดือน แล้วบันทึกประสบการณ์ลงในบล็อก

ก่อนจะนำข้อเขียนจากบล็อกของผู้ป่วยจริงมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผู้ป่วยจินตนาการว่า มีคำบรรยายอารมณ์ความรู้สึกด้านบวกและด้านลบ เช่น "กลัว" "น่ากลัว" กระวนกระวาย" "ความสุข" "ความรัก" เป็นต้น มากน้อยแค่ไหน

ผลการศึกษาพบว่า ข้อเขียนของผู้ป่วยใกล้ตายมีด้านบวกกว่าคนที่จินตนาการถึงความตายได้แค่รางๆ และจะยิ่งเป็นบวกเมื่อผู้เขียนเข้าใกล้ความตายมากขึ้น

"ผมคิดว่าเมื่อผู้คนจินตนาการเกี่ยวกับความตาย พวกเขาจะมองว่านั่นเป็นสิ่งที่ต่างไปจากชีวิตที่พวกเขารู้จักมากๆ แต่ในความจริง ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องกลัวความตายมากเท่าที่เป็นอยู่" อีกอย่างหนึ่งคือ "โดยปกติแล้ว ผู้คนจะคาดเดาความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตได้แย่มากๆ สิ่งต่างๆ ที่คนเรากลัวส่วนใหญ่ไม่ได้แย่อย่างที่คิดเมื่อสิ่งนั้นมาถึง เรื่องความตายก็เช่นกัน"

อีกการทดลองหนึ่งที่แยกต่างหากออกไป เกรย์ให้อาสาสมัคร ๑๕๐ คนจินตนาการว่าพวกเขาเป็นนักโทษประหารที่กำลังเผชิญหน้ากับการถูกประหาร แล้วให้เขียนถ้อยคำสุดท้ายออกมา จากนั้นจึงนำมาเปรียบเทียบกับถ้อยคำสุดท้ายของนักโทษประหารในรัฐเท็กซัสตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๒ พบว่าถ้อยคำของคนที่เผชิญหน้ากับความตายจริงๆ จะมีน้ำเสียงที่แจ่มใสกว่า

"เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ได้รู้ว่านักโทษมีความรู้สึกบวกอย่างไรเมื่อใกล้ตาย พวกเขาบอกเล่าเรื่องความรัก กระทั่งการมองอนาคตในแง่ดี"

สิ่งที่พบคล้ายคลึงกับงานวิจัยแรกคือ นักโทษประหารที่ใกล้ตายจริงๆ จะใช้ถ้อยคำด้านลบน้อยกว่า ด้านบวกมากกว่าคนที่ไม่ได้ใกล้ความตายจริงๆ

งานวิจัยอาจจะบอกได้ไม่ชัดเจนเสียทีเดียวว่า ข้อความหรือถ้อยคำสุดท้ายในบล็อกเหล่านี้จะสะท้อนประสบการณ์ใกล้ตายของคนส่วนใหญ่ได้ดีเพียงใด เพราะ "คนที่เลือกเขียนบล็อกอาจจะมีความรู้สึกแตกต่างจากคนที่ไม่ได้เขียน" หรือ "นักโทษประหารอาจรู้สึกกดดันให้ต้องคิดในแง่บวกก่อนที่จะถูกประหารก็เป็นได้"

แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือผู้คนจะมีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปตามระยะการเข้าใกล้ความตาย แม้อาจจะต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ อีกหลายอย่างประกอบด้วย เช่น เรื่องความเชื่อทางศาสนา เรื่องความสัมพันธ์ ผู้คนที่ต้องเผชิญหน้ากับความตายอย่างโดดเดี่ยวน่าจะรู้สึกแตกต่างจากคนที่แวดล้อมด้วยครอบครัวและเพื่อนๆ หรือเรื่องบุคลิกภาพพื้นฐานของแต่ละคน ย่อมส่งผลว่าเขาจะเผชิญหน้ากับความตายอย่างไรด้วย แต่ทั้งผู้ป่วยใกล้ตายและนักโทษประหารดูเหมือนจะเน้นไปยังสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตของพวกเขามีความหมาย ซึ่งจะช่วยลดความกระวนกระวายเมื่อความตายใกล้มาถึง

แต่โดยภาพรวมแล้ว ความตายอาจจะน่ากลัวน้อยกว่าที่คนจำนวนมากคิด

อย่างไรก็ตาม เกรย์กล่าวว่าการค้นพบดังกล่าวอาจไม่สามารถนำไปใช้กับคนใกล้ตายได้ทุกคน แต่อย่างน้อย การค้นพบช่วยบอกเราว่าความคาดหมายของเราเกี่ยวกับการตายมักจะไม่สอดคล้องกับความจริง ซึ่งมีนัยยะสำคัญสำหรับการที่เราจะดูแลผู้คนที่กำลังจะตาย โดยเฉพาะระบบการแพทย์ในปัจจุบันที่มุ่งแต่จะหลีกหนีความตาย เพราะมองว่าความตายน่ากลัวและน่าเศร้า ซึ่งทำให้เรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับความตายล้วนแต่เป็นด้านลบ และแพทย์มักจะงัดมาตรการสู้สุดตัวเพื่อยื้อชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนอะไรไป วิธีการเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อคนรอบข้างที่ผู้ป่วยรักมากกว่าเพื่อตัวผู้ป่วยเอง แต่ถ้าพวกเขารู้ว่าความตายไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดกัน พวกเขาอาจจะยอมปล่อยให้ผู้ป่วยตายจากไปเมื่อถึงเวลาได้ง่ายขึ้น

เรียบเรียงจาก: psychologicalscience.org / consumer.healthday.com

[seed_social]
28 กุมภาพันธ์, 2561

Little DJ. : เสียงจากหัวใจ “ครอบครัว ความรัก และการจากพราก”

ผู้เขียนพาผู้อ่านให้ได้รู้จักตัวเอกของเรื่อง คือ ทาคาโนะ ทาโร เด็กชายอายุ ๑๑ ปี ฉากเบื้องหลังทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพชีวิตของทาโรว่าเขาเป็นเด็กชายที่มีชีวิตชีวา สนุกสนานกับกีฬาเบสบอล แต่ทาโรก็เป็นเพียงตัวสำรอง ไม่ได้มีความโดดเด่นด้านกีฬานัก
18 เมษายน, 2561

พร้อมก่อนตาย

ณ ใจกลางห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ในวันหยุดสุดสัปดาห์กลางเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเมืองกรุงจะเข้ามาเดินกันขวักไขว่ในอาคารปรับอากาศ ที่มากมายด้วยกิจกรรมพิเศษหรืองานอีเวนต์ เวทีและแสงสีชั่วคราว