parallax background
 

ฉันไม่อยากตายอย่างโดดเดี่ยว

ผู้เขียน: สรนันท์ ภิญโญ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

มีคำกล่าวกันว่า สภาพสังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอีกสิบหรือยี่สิบข้างหน้า ให้ดูสังคมอเมริกันในปัจจุบันเป็นตัวอย่าง เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ประเทศไทยเดินตามรอยมานานหลายสิบปี การเรียนรู้สภาพสังคมตลอดจนวิธีการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาของสังคมอเมริกัน จึงเป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับรองรับสภาพปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดกับสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งในปัจจุบันของสังคมอเมริกันที่สังคมไทยควรจับตามอง คือการที่ผู้สูงอายุชาวอเมริกันนับล้านคนต้องใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในอเมริกา (และพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่) จนผู้คนในสังคมเกิดความตื่นตัวและหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะบุคลากรในแวดวงสุขภาพ มีโรงพยาบาลหลายแห่งพบว่า การมีใครสักคนหนึ่งคอยปลอบโยนผู้ป่วยอยู่ข้างเตียงถือเป็นยาขนานเอกสำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิต และหากผู้ป่วยไม่มีเพื่อนหรือคนที่รักมาคอยเฝ้าดูแล อาสาสมัครอาจช่วยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวได้

รีเบคกา ฮิกสัน (Rebecca Hixson) พยาบาลที่โรงพยาบาลแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt) เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี บอกว่า “เป็นเรื่องน่าพิศวงที่เพียงแค่มีใครสักคนหนึ่งคอยจับมือผู้ป่วยเอาไว้ ก็ช่วยสร้างความแตกต่างได้อย่างมหาศาล”

ชาวอเมริกันในยุคปัจจุบันมีอายุยืนขึ้น แต่ก็ต้องอยู่และตายอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้นด้วย เพราะพวกเขาอาจตัวคนเดียว ไร้ลูกหลาน หรือต้องมารักษาตัวไกลจากคนที่พวกเขารัก

อย่างเช่นผู้ป่วยที่มารักษาตัวในแวนเดอร์บิลต์ “ส่วนใหญ่ครอบครัวของพวกเขาจะอาศัยอยู่ห่างออกไปสองรัฐ เมื่อกลับไปบ้านหลังจากมาส่งผู้ป่วยแล้ว ก็ไม่มีเงินค่าเดินทางพอที่จะมาเยี่ยมได้”

“สำหรับผู้ป่วยบางคน สิ่งสุดท้ายที่เขาพูดกับภรรยาคือ ฉันไม่อยากตายอย่างโดดเดี่ยว”

ดังนั้น เมื่อทางโรงพยาบาลบอกว่ามีบางคนที่สามารถมาอยู่เป็นเพื่อนพวกเขาได้ “ผู้ป่วยดูเหมือนจะได้รับการปลดเปลื้อง เพียงแค่รู้ว่าจะมีมนุษย์สักคนหนึ่งคอยอยู่กับเขา ก็ทำให้เขาสงบลงได้แล้ว"

สำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐระบุว่า ผู้มีอายุสูงกว่า 65 ปีจำนวน 18 ล้านคนผ่านปีทองของชีวิตพวกเขามาเพียงลำพัง ไม่ได้แต่งงาน หย่าร้าง หรือเป็นม่าย ส่วนสมาคมจิตวิทยาอเมริกันประเมินว่าชาวอเมริกันมากกว่าสามในสี่คนตายในโรงพยาบาลหรือสถานดูแลผู้ป่วยระยะยาวมากกว่าตายที่บ้าน

“หมายความว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากพบว่าตัวเองไม่มีคนที่จะคอยช่วยเหลือพวกเขา หรือเพียงแค่อยู่กับพวกเขาในโรงพยาบาลเมื่อถึงเวลาต้องจากโลกไป” ดร.โมฮานา คาร์เลการ์ (Mohana Karlekar) ผู้อำนวยการแผนกการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของแวนเดอร์บิลต์กล่าว

โรงพยาบาลแวนเดอร์บิลต์จึงเปิดตัวโครงการอาสาสมัครเฝ้าไข้ในปี พ. ศ. 2559 โดยได้ต้นแบบมาจากโครงการชื่อ “No One Dies Alone” เมื่อ 15 ปีก่อนของศูนย์การแพทย์ซาเคร็ดฮาร์ต (Sacred Heart) รัฐโอเรกอน ซึ่งได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลและสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนมากทั่วสหรัฐอเมริกา

แนวคิดหลักคือการคัดกรองและฝึกอบรมอาสาสมัครที่สามารถอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วย เมื่อพวกเขาเข้าสู่ช่วงอัสดงของชีวิต

“เป้าหมายของโครงการไม่ใช่เพียงแค่การแสดงความเคารพต่อผู้ป่วย แต่คือการช่วยทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมีความหมายที่สุดเท่าที่จะทำได้”

โครงการนำร่องของแวนเดอร์บิลต์เริ่มทำจากเล็กๆ มีอาสาสมัคร 25 คนเข้าร่วมดูแลผู้ป่วยในแผนกดูแลแบบประคับประคองราวๆ 15 คนในช่วง 6 เดือนแรก ก่อนจะขยายไปยังแผนกไอซียูในเวลาต่อมา

ทอดด์ เฮเวนส์ (Todd Havens) ผู้สนับสนุนที่แข็งขันของโครงการ เคยเป็นอาสาสมัครพนักงานดับเพลิง ผู้ฝึกสอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และเป็นรองประธานสำนักงานผู้ตรวจสอบภายในของศูนย์การแพทย์

“ผมทำงานที่นี่และรู้ว่ากำลังสนับสนุนองค์กรที่มีภารกิจในการดูแลชุมชนของเราอยู่”

เขาเล่าประสบการณ์เป็นอาสาเฝ้าไข้ครั้งแรกว่า ผู้ป่วยเป็น “หญิงชราวัย 80 ปี ที่มีพี่ชายเป็นโรคสมองเสื่อม จึงไม่สามารถดูแลแม้แต่ตัวเอง เธอจึงไม่มีใครเลย”

ดังนั้น ไม่ว่าผู้ป่วยจะยังสื่อสารได้หรือไม่ เฮเวนส์จะเข้าไปเล่นดนตรี อ่านหนังสือ หรือสวดมนต์ให้ฟัง เพราะเขารู้สึกว่า “การทำให้ผู้ป่วยพบกับความสงบสันติในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ”

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของ ดร.คาร์เลการ์ หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าวคือ สิ่งสำคัญไม่ใช่การพยายามรับมือกับปัญหาโดยทำตามความรู้สึกไปเรื่อยๆ แต่คือ “การมีระบบรองรับอย่างเป็นทางการ ยกระดับและทำสิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องทำบนวิถีแห่งมนุษยธรรม”

เรียบเรียงจาก www.consumer.healthday.com [seed_social]
19 เมษายน, 2561

คุณค่าความหมายภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

เครือข่ายพุทธิกาทำงานสร้างทีมสุขภาพที่มีพยาบาล จิตอาสาและภิกษุสงฆ์ เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง ๔ มิติ โดยทุกคนในทีมสุขภาพจะเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการทำงานไปด้วยกัน
1 มิถุนายน, 2561

ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด

นวนิยายเรื่อง The Unlikely Pilgrimage of Harold Fry ผลงานของ เรเชล จอยซ์ นักเขียนบทละคร ทั้งละครวิทยุและโทรทัศน์ แปลโดยธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ ในชื่อเรื่อง ความตายครั้งที่มีความหมายมากที่สุด
29 พฤษภาคม, 2566

รับฟังประสบการณ์ชุมชนกรุณาภาคเหนือ สังคมที่งดงามจากการร่วมลงมือทำ

ปี 2578 เป็นปีที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านเข้าสูงอายุเต็มตัว หมายความว่าสังคมต้องเผชิญสถานการณ์ผู้สูงวัยที่ป่วยเรื้อรังและป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น