เหลียวหลังแลหน้า การอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ
ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ, ณพร นัยสันทัด หมวด: อาสามีเรื่องเล่า
การอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน และมีผู้คนสนใจเข้าร่วมการอบรมเป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันมีการจัดอบรมไปแล้วกว่า ๘๔ ครั้ง
แรกเริ่มเดิมที การอบรมมีเพียงรูปแบบเดียว โดยผู้จัดได้ออกแบบเนื้อหาให้เหมาะกับกลุ่มผู้เรียนรู้ทั้งประชาชนทั่วไป และกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข หากต่อมาการอบรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากโรงพยาบาลต่างๆ เป็นอันมาก จึงขยายการจัดการอบรมให้กับบุคลากรสาธารณสุขเป็นการเฉพาะ และเน้นเนื้อหาในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มากขึ้น
จากการประมวลข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าอบรมในเบื้องต้น โครงการพบว่า
กลุ่มบุคลากรสาธารณสุขเข้าร่วมการอบรมมากที่สุด (ร้อยละ ๖๖) ทั้งในประเภทการอบรมแบบกลุ่มเฉพาะให้กับโรงพยาบาล และในการอบรมสำหรับผู้สนใจทั่วไป เนื่องจากการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบเป็นเหมือนหลักสูตรเสริมเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายฯ โดยเฉพาะที่เน้นการดูแลทางจิตใจผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ดูแลผู้ป่วย ยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทางด้านสาธารณสุข
ในขณะที่บุคคลทั่วไปเข้ามาร่วมการอบรม (ร้อยละ ๓๔)
และเพื่อให้การจัดอบรมสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมและมีประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างแท้จริง เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โครงการจึงได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ผ่านการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติ จิตใจ หรือพฤติกรรมไปอย่างไรบ้างหลังจากได้รับการอบรมไปแล้ว ตลอดจนสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในปัจจุบัน โดยใช้วิธีการส่งแบบสอบถามและโทรศัพท์พูดคุยเพิ่มเติมเฉพาะราย
ข้อมูลในแบบสอบถามแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยให้เผชิญความตายอย่างสงบภายใน ๕ ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ได้รับเมื่อผ่านการอบรมหลักสูตรเผชิญความตายอย่างสงบ และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการอบรม
ทางโครงการได้ส่งแบบสอบถามจำนวน ๙๔๐ ชุด มีผู้ส่งแบบสอบถามคืนกลับมาถึง ๑๕๐ คน (คิดเป็นร้อยละ ๑๖) แบ่งเป็นกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขร้อยละ ๕๐.๔ และกลุ่มบุคคลทั่วไปร้อยละ ๔๙.๖
พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างที่สะท้อนถึงสถานการณ์ในการดูแลผู้ป่วยในสังคม เช่น
ภาวะโรคที่อยู่ในความดูแล ส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๘๑) คือโรคมะเร็ง ตามด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผู้ป่วยมักเสียชีวิตใน “โรงพยาบาลของรัฐ” ร้อยละ ๗๐ “บ้าน” ร้อยละ ๔๕ และ “โรงพยาบาลเอกชน” ร้อยละ ๖.๓
ผู้ผ่านการอบรมส่วนใหญ่ให้การดูแลผู้ป่วยด้วยการ ให้กำลังใจ การดูแลทางกาย และอยู่เป็นเพื่อนตามลำดับ บางคนสามารถให้แง่คิดเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ หรือการนำไปสู่การปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ และมีถึงร้อยละ ๔๑.๕ ที่สามารถนำทางผู้ป่วยขณะกำลังกำลังเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม พบว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ผ่านการอบรมไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ เนื่องจากไม่สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลได้มากเท่าที่ควร มีปัญหาในการสื่อสารกับผู้ป่วย รวมถึงระบบการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่สนับสนุนเท่าที่ควร เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขส่วนหนึ่งเข้าร่วมอบรมด้วยความสนใจส่วนตัว หน่วยงานยังไม่เห็นความสำคัญหรือไม่มีระบบรองรับอย่างชัดเจน
ผู้ผ่านการอบรมส่วนใหญ่ตอบว่า ตนเองได้รับประโยชน์ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระดับปานกลางถึงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความรู้ ทักษะ และความสามารถในการดูแลจิตใจของผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีมาก ทำให้มีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น
การอบรมยังมีส่วนช่วยให้ผู้ผ่านการอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเผชิญความตายในสามอันดับแรก คือ
๑. มีส่วนช่วยให้สามารถยอมรับความตายของคนรอบข้างได้
๒. ยอมรับความตายของตนเองได้ และ
๓. มีส่วนช่วยให้สนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น
กิจกรรมที่ผู้ผ่านการอบรมมีความพอใจมากที่สุดตามลำดับใน
๑. การบรรยายของวิทยากร (เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย)
๒. การเจริญมรณานุสติ (เพราะสามารถนำมาปรับใช้ทำให้รู้ว่าตนเองยังมีห่วงในเรื่องอะไร)
๓. การสำรวจทัศนคติเรื่องความตาย (เพราะเปิดพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องความตายที่ตามปกติพูดคุยไม่ได้)
ส่วนกิจกรรมที่พึงพอใจน้อยที่สุดตามลำดับ ได้แก่
๑. การภาวนาโพวา ทองเลน (ผู้เข้าร่วมไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการที่ชวนให้ทำ ตลอดจนการจินตนาการเป็นเรื่องยาก)
๒. กิจกรรมบทบาทสมมติฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วย (รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเหมือนฝึกการแสดงมากกว่า และการสวมบทบาทเป็นคนอื่นโดยไม่มีประสบการณ์ร่วมเป็นเรื่องยาก) และ
๓. การเขียนพินัยกรรมชีวิต
ท้ายสุดคือ ผู้ร่วมการอบรมต้องการให้ผู้จัดการอบรมผลิตหนังสือ ซีดี และเผยแพร่เนื้อหาลงในเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ รวมถึงต้องการพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อการเรียนรู้การเผชิญความตายอย่างสงบ และกิจกรรมฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เช่น มีคอร์สอบรมเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น การสื่อสารกับผู้ป่วยในช่วงใกล้ตาย ฯลฯ
[seed_social]