‘ความตาย’ ไม่ได้หมายถึง ‘สิ้นสุด’ ...แต่บางครั้ง หมายถึง ‘สิ้นรอบ’ เพื่อรอ ‘เริ่มต้น’
โลกของสิ่งมีชีวิตเป็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่าง พืช สัตว์ และถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน ซึ่งรวมทุกส่วนของโลก ตั้งแต่ก้นทะเลลึกขึ้นมาถึงชั้นบรรยากาศส่วนล่าง ทุกๆ ส่วนของโลกจึงมีการเชื่อมโยงกับ
“วัฏจักรอาหาร” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘ผืนป่า’
สัตว์ป่าที่เป็นสัตว์บกในเอเชียเขตร้อนหลากสายพันธุ์ โดยเฉพาะสัตว์กีบ และสัตว์ผู้ล่าจะชุกชุมในพื้นที่ที่มีป่าผลัดใบ และป่าไม่ผลัดใบที่ขึ้นสลับกันไปมา
‘หญ้าและไผ่’ ในป่าผลัดใบจะเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าในช่วงปลายฤดูแล้งและฤดูฝน ส่วนไม้พื้นล่างและพืชคลุมดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชในวงศ์ถั่วในป่าไม่ผลัดใบ จะเป็นแหล่งอาหารตลอดปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งที่ขาดแคลน ‘หญ้า’
โครงสร้างปัจจุบันของป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้น ป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าเต็งรังในภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากการพัฒนาการของพันธุ์ไม้ภายหลังพื้นที่ป่าถูกรบกวนขนาดใหญ่ในอดีต ทั้งจากลมพายุ และการรบกวนขนาดเล็ก เช่น สภาวะแห้งแล้งรุนแรงยาวนาน รวมทั้ง ไฟป่า ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมามานานกว่า 8,000 ปี
ใช่! ป่า และสัตว์ป่ามีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ให้เหมาะสมกับสภาพที่มี ‘ไฟป่า’ เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติกว่าแปดสหัสวรรษ!
‘ป่า’ คือพื้นที่ที่ทุกชีวิต มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อย่าง ‘อิสระ’
ไฟป่าที่ลามตามพื้น ปกติเปลวไฟสูงไม่เกิน 1 ฟุต จึงเป็นตัวช่วย ‘กำจัด’ เศษซากพืชที่พื้นป่า แต่ ‘ไม่ทำลาย’ พืชพรรณ เนื่องจากพันธุ์ไม้ในป่าเต็งรังส่วนใหญ่เป็นพวกทนต่อไฟ เมื่อฝนตกทั้งพื้นป่าและเรือนยอดไม้จะกลายเป็นสีเขียวอีกครั้ง เพื่อให้เกิด ‘หญ้าระบัด’ คือการผลิแตกใบอ่อนของใบหญ้าในผืนป่า ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสัตว์กีบทั้งสิ้น ส่วนกล้าไม้ที่ถูกไฟป่าทำลายก็จะตายเฉพาะส่วนเหนือพื้นดิน แต่ส่วนใต้พื้นดินยังคงมีชีวิตอยู่ และสะสมอาหารไว้ที่รากตลอดฤดูกาล ทำให้กล้าที่แตกขึ้นมาหลังไฟไหม้มีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี
‘ความตาย’ ไม่ได้หมายถึง ‘สิ้นสุด’
แต่บางครั้ง หมายถึง ‘สิ้นรอบ’ เพื่อรอ ‘เริ่มต้น’
ป่าที่ไฟไหม้ประจำ เชื้อไฟน้อย ไฟป่าไม่รุนแรง หญ้าระบัด สัตว์ป่าไม่อดตาย นั่นคือ ไฟล้างไฟ
ป่าที่มีมาตรการกันไฟต่อเนื่อง เชื้อไฟมากหนาแน่น เมื่อเกิดไฟป่า จะถาโถมรุนแรง ไม่เพียงทำลายกล้าไม้ ลูกไม้ พืชพรรณอันอุดมจนบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ ยัง ‘ฆ่า’ สัตว์ป่าที่เป็นเพื่อนร่วมโลกอย่างอุกอาจ นั่นแหละ เพลิงไพร!
การป้องกันไฟป่าอย่างเข้มข้น จึงเป็นการกระทำที่มนุษย์ ‘บังอาจ’ เปลี่ยนแปลง ‘วัฏจักรพงไพร’ ที่อุบัติขึ้นมานานกว่า 8,000 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าผลัดใบอย่างรุนแรง
ความหมายที่สำคัญที่สุดของคำว่า ‘ธรรมะ’ คือ ‘หน้าที่’ ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพื่อความมีชีวิตสงบทั้งโดยส่วนตัว และส่วนรวมที่เรียกว่า ‘โลก’
ป่าไม้ คือหนึ่งในครูผู้สอนศิษย์ เช่น ‘มนุษย์’ ให้รู้เรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และเรื่องผลตามกฎของธรรมชาติ
รู้จักเหตุ…หากไร้ไฟ หญ้าไม่ระบัด จากป่าโปร่งกลายเป็นป่ารกทึบ
รู้จักผล…สัตว์กีบขาดอาหาร อดตาย พันธุ์ไม้หลักในป่าสูญพันธุ์
รู้จักตน…พันธุ์ไม้ในป่าเต็งรังต้องอาศัยไฟในการสืบต่อพันธุ์และเติบโต
รู้จักประมาณ…ไฟไหม้ประจำ เชื้อไฟน้อย ไฟป่าไม่รุนแรง
รู้จักกาล…ไฟป่าจะเกิดช่วงฤดูแล้ง เพื่อต้นฤดูฝน น้ำฝนจะตกลงให้เกิด ‘หญ้าระบัด’ สัตว์ป่าชอบ
รู้จักบริษัท…สังคมของสิ่งมีชีวิตในผืนป่าเชื่อมโยงกันด้วยห่วงโซ่อาหาร
รู้จักบุคคล…อาหาร น้ำ สมุนไพร และอากาศคือของขวัญธรรมชาติ มอบให้ ‘สัตว์โลก’ อย่างไร้เงื่อนไข
หาก ‘มนุษย์’ ยังย่อหย่อนต่อการเรียนรู้ และยอมรับ เรื่อง ‘ความตาย’ เสมือนหนึ่งในหน้าที่ที่ทุกชีวิตพึงกระทำเฉกเช่นสัจธรรมบทสุดท้ายแห่งชีวิต เราคงได้แต่ชื่อว่า ‘สัตบุรุษ’ ที่ปราศจาก ‘สัปปุริสธรรม 7 ประการ’ ที่บุคคลผู้รัก ‘ความสงบ’ พึงมี บางที... เราอาจเป็นต้นเหตุของการก่อความไม่สงบในการตายของสรรพชีวิตอื่น…ก็เป็นได้
[seed_social]