เบนซ์ - วิชญา โมฬีชาติ เป็นนักจิตวิทยาคลินิก เป็นนักศิลปะบำบัด และเป็นกระบวนกรชุมชน นอกจากการทำงานกับผู้เข้ารับการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตในโรงพยาบาลมาอย่างยาวนานแล้ว อีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นกระบวนกรชุมชน ”ชมพูกรุณา” ที่เชียงใหม่ การส่งต่อความรู้สู่ชุมชนมากว่า 5 ปี ทำให้วันนี้ชุมชนมีความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การเข้าเป็นสมาชิก 1 ใน 4 คนของกลุ่มชุมชนกรุณา “ขะไจ๋” ที่ลำปางทำให้ขอบเขตการทำงานของเธอขยายกว้างขึ้นทั้งชุมชนบนพื้นที่จริงและชุมชนออนไลน์ เป้าหมายยเพื่อเชื่อมโยงคนไทยทั่วโลกให้มองเห็นความหมาย คุณค่า และความงดงามของการมีชีวิตอยู่ การทำงานของเธอทำเรารู้ว่า ชุมชนกรุณาเกิดได้ทุกหนทุกแห่ง เพียงแค่ผู้คนมีหัวใจเชื่อมโยงกัน เปี่ยมไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
จากนักจิตวิทยาคลินิกมาเป็นกระบวนกรชุมชนได้อย่างไร
เราเรียนจบปริญญาตรี-โท ด้านจิตวิทยาคลินิก และเข้ารับราชการในโรงพยาบาลในฐานะนักจิตวิทยา ในระหว่างนั้นได้เรียนเรื่องจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเป็นโครงการของมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับเสมสิขาลัยเพื่อผลิตกระบวนกรร่วม 9 เดือน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาสนใจการทำงานกระบวนกร
สิ่งหนึ่งที่พบเห็นมาโดยตลอดการเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่ทำงานกับผู้ป่วยจิตเวช คือคนทั่วไปมีทัศนคติไม่ดีกับการเป็นผู้ป่วยจิตเวช และการมาโรงพยาบาลจิตเวช แต่เราพบว่ากระบวนการจิตตปัญญาศึกษา สามารถช่วยส่งเสริมและป้องกันสุขภาพจิตของผู้คนได้ และยังทำให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการมีทัศนคติที่ดี ต่างจากการสื่อสารผ่านบทบาทนักสุขภาพจิต เมื่อคนมีเครื่องมือในการดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้แล้ว มันคือการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตไปในตัว
เราได้ลองนำเกมไพ่ไขชีวิต และสมุดเบาใจมาใช้ในผู้ป่วยระยะท้ายที่โรงพยาบาลด้วย พบว่ามีผลดีมาก เมื่อทางรพ.และหัวหน้าเห็นว่าเราสนใจด้านนี้ก็สนับสนุน อนุญาตให้ทำงานร่วมกับทีมหมอเวชศาสตร์ครอบครัวและพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ในฐานะนักจิตวิทยาเราต้องให้คำปรึกษากับผู้ป่วยหรือญาติ โดยเฉพาะในเคสที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น หนุ่มสาวที่ประสบอุบัติเหตุจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้ง ๆที่อวัยวะอื่นยังดี ทำให้ญาติหรือตัวคนไข้เองยอมรับไม่ได้
ต่อมาเจน (เจนจิรา โลชา) ชวนมารู้จักทีมงาน Peaceful Death เมื่อเราฟังแนวคิดการทำงานแล้วรู้สึกโอเค จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานชุมชนกรุณา ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาก็ร่วม 5 ปีแล้วทำไมจึงตัดสินใจร่วมงานกับชุมชนกรุณา
ตอนแรกเราก็คิดนะ ว่าทำไมต้องชื่อชุมชนกรุณา เหมือนเป็นคำติดดี ทั้ง ๆที่คิดว่าตัวเองก็ไม่ได้เป็นคนดีขนาดนั้นนะ (หัวเราะ) แต่เราเป็นคนฝึกดี การตัดสินใจทำงานนี้มันเริ่มมาจากคุณพ่อเราเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในวันสุดท้ายของพ่อ มีญาติมารวมตัวสวดมนต์ให้พ่อ ทำให้พ่อไม่ห่วงอะไรก่อนจากไป เราคิดว่าการส่งพ่อครั้งสุดท้ายในคราวนั้นมันดีมากๆ เราอยากให้คนอื่นได้รับการส่งที่ดีในวาระสุดท้ายของชีวิตแบบนี้ด้วย อีกเหตุผลหนึ่งคือเราอยากรู้จักความตาย เรารู้เสมอว่าวันหนึ่งตัวเองต้องตาย แต่ทุกวันนี้เราเองก็ยังกลัวความตายอยู่ การที่เรากลัวอะไรเป็นเพราะเรายังไม่รู้จักมัน เลยคิดว่า เอาละ มาลองรู้จักความตายดีกว่า เพื่อวันหนึ่งที่เราต้องตาย เราจะได้ไม่ต้องกลัวมันอีกเพราะเราเข้าใจมันมากขึ้น นอกจากกลัวตัวเองตายแล้ว เรายังกลัวคนที่เรารักตายด้วย ตอนนี้เรายังมีแม่กับป้าที่เรารักมากและยังมีชีวิตอยู่ ในขณะนี้เราอยากทำหน้าที่ของเราให้ดีจนเมื่อวันท้ายๆของชีวิตพวกท่านมาถึง ก็หวังว่าจะส่งท่านได้อย่างดีและงดงาม
ช่วงแรกชุมชนกรุณาเชียงใหม่เป็นอย่างไรบ้าง
ในช่วงปีแรก เราใช้เวลาส่วนตัวในการทำงาน คือหลังเลิกงานและวันเสาร์-อาทิตย์ พอปีถัดมาเริ่มนำเครื่องมือ เช่น เกมไพ่ไขชีวิต สมุดเบาใจ และไพ่ฤดูฝนมาให้บุคลากรในโรงพยาบาลรู้จักมากขึ้นผ่านการทำเวิร์คช็อป รวมทั้งเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนือด้วย ต่อมาก็ทำกิจกรรมออนไลน์ให้แก่คนทั่วประเทศ
ในปีแรกเราเริ่มทำงานในพื้นที่ ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนกรุณาที่แรกในจ.เชียงใหม่เลย เขาเรียกตัวเองว่า “ชมภูกรุณา” ด้วยความที่ก่อนหน้านี้เราเคยไปทำงานกับคนพิการและผู้สูงอายุในพื้นที่นี้มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2558 ทีมงานชมภูกรุณาก็จะเป็นคนพิการและผู้สูงอายุ เมื่อได้รับเครื่องมือของ Peaceful Death ไม่ว่าจะเป็นสมุดเบาใจ เกมไพ่ไขชีวิต ไพ่ฤดูฝน รวมทั้งความรู้เรื่องสุนทรียสนทนา ทำให้จากเดิมที่เขาเป็นคนกลุ่มเปราะบางและเป็นภาระของคนในชุมชนกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่สามารถให้ความช่วยเหลือคนอื่นได้ เช่น ไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ไปดูแลคนพิการด้วยกันเอง ช่วยตัดผมให้ ช่วยเอาอาหารไปแจกในช่วงโควิด ทำให้คนชุมชนได้เห็นว่าศูนย์บริการผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชนทำงานกันอย่างไร เรียกได้ว่าเป็นชุมชนกรุณาที่เข้มแข็งมาก
ทำไมชมภูกรุณาถึงเข้มแข็งได้ขนาดนี้
ในช่วงแรกเราทำงานกับแกนนำในพื้นที่ เช่น ผอ.รพ.สต อดีตพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขามีหน้าที่ดูแลคนในชุมชนอยู่แล้ว พอเขาได้รับเครื่องมือ ก็ทำให้เขาทำงานได้ง่ายขึ้น เราขอให้โรงพยาบาลสารภีซึ่งเป็นโรงพยาบาลปฐมภูมิในระบบสาธารณสุขและครูในโรงเรียนเข้ามาร่วมด้วย ทำให้เราได้ทำงานครบทุกมิติของชุมชน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ปีต่อมาเราจึงเปิดพื้นที่ใหม่โดยขยายผลมาที่ตำบลดอนแก้ว เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลในสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว จึงทำให้การประสานงานง่ายและได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่ภายหลังมีสถานการณ์โควิดจึงพักไว้ก่อน
พบอุปสรรคในการทำงานบ้างไหม
การทำงานกับคนภาครัฐ มักเป็นคนที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว เขาจะไม่มีความสงสัยในสิ่งที่เราทำ กลับเป็นข้อดีที่เรามีเครื่องมือไปให้เขาใช้ทำงาน แต่กลุ่มที่ยากคือประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพราะเขาไม่ชอบคุยเรื่องความตาย คิดว่ามันหดหู่ ช่วงแรกที่เราเชิญมาร่วมกิจกรรม เขาก็ให้ความร่วมมือนะ แต่เป็นมาด้วยความเกรงใจ เหมือนช่วงแรกใจปฏิเสธ แต่พอจบกิจกรรมเขาก็แชร์กับเราว่าเข้าใจมากขึ้น ส่วนในกลุ่มบุคคลทั่วไปมีปัญหาเลย เพราะเขามาร่วมเพราะเห็นการประชาสัมพันธ์ที่เราบอกรายละเอียดชัดเจนอยู่แล้ว คนที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มคนที่ต้องการเครื่องมือ ต้องการความช่วยเหลือและต้องการเครือข่ายอยู่แล้ว จึงสื่อสารไม่ยาก
5 ปีที่ผ่านมา เจอความท้าทายอะไรในการทำงานบ้าง
ที่ผ่านมาเราอยู่ในบทบาทนักจิตวิทยา เวลาถูกเชิญไปถ่ายทอดความรู้ คนในพื้นที่จะต้อนรับและให้เกียรติเราเป็นอย่างดีในฐานะอาจารย์ เราจึงไม่ได้สัมพันธ์กับชาวบ้านมากนัก แม้กระทั่งเวลาไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เราก็มีบทบาทเป็นอาจารย์อยู่ดี ทำให้มีช่องว่างระหว่างเรากับชาวบ้าน เมื่อมาทำงานที่ต้องมีเครือข่ายเป็นชาวบ้าน เราต้องปรับวิธีใหม่ เอาตัวไปคลุกคลีกับเขา กินอาหารด้วยกัน คุยเล่นกัน ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกหลาน จริงๆ แล้วโดยปกติของเรา ถ้าเขาชวนกินข้าวเราต้องไม่ไปแน่ ๆ ไม่ใช่ว่าเราหยิ่งนะ แต่มันเป็นธรรมชาติของเรา อาจเพราะเราเติบโตมากับสังคมเมือง มีความเป็นส่วนตัวสูง มีห้องส่วนตัวอยู่ จะกินข้าวตอนไหนก็ได้ เราเลยเคยชินมาแบบนั้น แต่วันหนึ่งเราลองฝืนตัวเองดู ก้าวข้ามความคุ้นเคยแล้วพบว่ามันดีมาก เราได้ความสัมพันธ์ ได้มิตรภาพ จนตอนนี้ไปเที่ยวด้วยกัน ไปขยายเครือข่ายด้วยกันได้แล้ว (หัวเราะ)
เราคิดเสมอว่าแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ของทุกคนเหมือนกัน ไม่ว่าใครก็มีทุกข์ได้และมีสุขได้เหมือนกัน ต่างกันแค่เปลือกนอก เช่น ฐานะ การศึกษา อาชีพเท่านั้น ที่ผ่านมา เรามีบทบาทเป็นนักจิตบำบัด เป็นอาจารย์ เป็นกระบวนกร มันทำให้เราเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของคนอื่นผ่านเรื่องเล่า ผ่านอารมณ์ ผ่านวิธีคิดที่เขาแสดงออกมาเท่านั้น แต่พอเราไปคลุกคลีกับเขา ไปอยู่กับเขาจริงๆ ไปทำกิจกรรมด้วยกัน กินลาบ กินส้มตำด้วยกัน นอกจากสนุก มันทำให้เราเห็นชัดเลยว่า นี่ไง ทุกคนไม่ว่าเป็นใครมาจากไหนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกันหมดแหละ
การทำชุมชนกรุณาแบบออนไลน์เป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อก่อน เราเชื่อว่าการทำงานชุมชนต้องเป็นรูปธรรม มีพื้นที่การทำงานในที่เดียวกัน ทีมชุมชนกรุณาขะไจ๋แต่ละคนก็อยู่กันคนละพื้นที่ พอมีกิจกรรมจึงค่อยมารวมตัวกัน ระหว่างนั้นเราติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์และไลน์ สถานการณ์โควิดกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานออนไลน์ กิจกรรมแรกที่จัดคือ 21 วันพารุ้งมาพบใจ (ปรับจากการทำออนไซต์มาเป็นออนไลน์) ซึ่งทำกับคนไทยในต่างประเทศ มันสนุกมากเพราะทุกคนมาจากหลายประเทศทั่วโลก นั่นทำให้เราเห็นว่า คำว่าชุมชนกรุณาไม่จำเป็นต้องเป็นรูปธรรม ไม่ต้องมีบ้านใกล้กัน กินข้าวด้วยกัน นั่งอยู่ด้วยกันตลอดก็ได้ เพียงแค่ทุกคนมีความคิด ความเชื่อ ความสนใจ และมองเห็นความเป็นมนุษย์ในแบบเดียวกันก็พอ
ช่วยเล่าถึงกิจกรรม 21 วันพารุ้งมาพบใจหน่อย
“กิจกรรม 21 วันพารุ้งมาพบใจ” เป็นการใช้ไพ่รุ้ง ซึ่งเป็นไพ่สำรับย่อยในชุดไพ่ฤดูฝน คำในไพ่รุ้งเป็นคำที่มีความหมายดี ที่เราทุกคนมีอยู่ แต่อาจหลงลืม ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทางจิตวิทยา มีคำว่า Resilience ซึ่งหมายถึงการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตต่างๆในชีวิต ต้องอาศัยต้นทุนทางใจ ความตระหนักถึงคุณลักษณะดีๆที่เรามีอยู่ แต่ละคนมีการรำลึกถึงสิ่งที่ตนมีไม่เท่ากัน การฝึกให้ทบทวน รำลึกถึง จะเป็นต้นทุนสะสมไว้ เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤตจะได้ฟื้นตัวได้ไว ดังนั้น กิจกรรม 21 วันพารุ้งมาพบใจ จึงเป็นการชวนคนมาเดินทางไปกับไพ่รุ้ง
ในแต่ละวันจะมีการเปิดไพ่ 1 ใบ และให้สมาชิกคิดใคร่ครวญถึงคำนั้นตลอดทั้งวัน แล้วเรียบเรียงออกมาเป็นการเขียน รูปถ่าย หรืองานศิลปะแบบไหนก็ได้แล้วมาแบ่งปันกัน โดยมีกติกาสำคัญคือ ต้องไม่สั่งสอน ไม่ตัดสิน เราทุกคนจะเป็นสักขีพยานในเรื่องราวของเพื่อน และเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่เอาความลับของเพื่อนในกลุ่มไปพูดข้างนอก และทุกคนมีสิทธิ์ในเรื่องราวของตัวเอง ในช่วงหลังๆ เราเพิ่มขั้นตอนการภาวนาเข้าไปด้วยนะ เช่น ชวนให้หลับตา ชวนให้สังเกตตัวเอง
มีเรื่องของน้องคนหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟัง เขาเขียนใบสมัครมาเข้ากิจกรรมนี้และบอกชัดเจนในใบสมัครเลยว่ามีความคิดฆ่าตัวตาย แต่มีคนรู้จักแนะนำกิจกรรมนี้มาเลยคิดว่าจะลองดู ถือว่ายืดวันตายออกไปอีกหน่อย น้องทีมงานตกใจมาก แต่เรารับรู้และมั่นใจว่าถ้าเขาร่วมกิจกรรมกับเราแล้วเขาจะไม่ทำ วันปฐมนิเทศ เขาแนะนำตัวกับเพื่อนๆ เหมือนที่บอกกับเราในใบสมัครเลย พอเขาเปิดฉากมาว่าไม่อยากอยู่แล้ว ก็มีเพื่อนในวงจำนวนหนึ่งแชร์ว่า เคยคิดฆ่าตัวตายเหมือนกัน แต่ไม่สำเร็จ บางคนก็เล่าว่าเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ ในช่วงเวลานั้นเอง พื้นที่ออนไลน์แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่เขาได้เชื่อมโยงกัน เป็นกำลังใจให้กัน พอจบคอร์ส เขาบอกว่าเขาดีขึ้นและไม่มีความคิดฆ่าตัวตายแล้ว
ที่จริงเราเชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่าเขาจะไม่ฆ่าตัวตายหรอก ไม่ใช่เพราะเราปรามาสคนคิดฆ่าตัวตายนะ แต่เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการนี้จะทำให้คนรักชีวิตของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าใครก็ตาม หากได้มาทำกิจกรรมนี้ จะเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้นอย่างแน่นอน และท้ายที่สุด ต่อให้มีใครฆ่าตัวตายสำเร็จจริงๆ มันก็ไม่ใช่การโยนความผิดให้ใคร หรือมีใครต้องมารับผิดชอบการตายนั้น
คิดเห็นอย่างไรที่คนสมัยนี้เป็นโรคซึมเศร้าและคิดอยากจบชีวิตกันมาก
ในความเป็นจริงแล้ว คนเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้อยากฆ่าตัวตายทุกคน และคนฆ่าตัวตายหลายคนก็ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่มันมาจากความหุนหันพลันแล่น จัดการอารมณ์ไม่ได้ อาจมีแอลกอฮอล์และยาเสพติดเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ สติและความสามารถในการควบคุมอารมณ์จึงน้อยลง
ส่วนหนึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นที่กำลังหาคำตอบชีวิต รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม มันทำให้เราหันกลับมาทบทวนตัวเองเหมือนกันว่า ตอนเราเป็นวัยรุ่นอายุ 15 ปี เราเคยมีคำถามแบบนี้ไหม เราพบว่าไม่เลย แต่เด็กยุคนี้กลับมีคำถามเหล่านี้เพราะพ่อแม่ เพราะสังคมมีคำถามเหล่านี้กับพวกเขา เขาคาดหวังว่าตัวเองต้องตอบให้ได้ พอตอบไม่ได้ก็รู้สึกว่างเปล่า ไร้ความหมาย นำไปสู่การไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งคุณค่าของชีวิตไม่ใช่การตอบคำถามว่าเป้าหมายของชีวิตคืออะไรหรืออยู่ไปเพื่ออะไรนะ คุณค่าของชีวิตคือการอยู่กับปัจจุบัน กินข้าว นอนหลับ เหมือนธรรมดาทุกวัน เราไม่ต้องรีบตายหรอก เพราะวันนั้นยังไงมันจะต้องมาถึงสักวัน ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตกันมาเรื่อย ๆประหนึ่งว่าจะไม่มีวันตาย ทำให้ทุกคนมองความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ราวกับว่าไม่พูดถึงแล้วจะไม่ตาย ทั้งที่จริงแล้วจะพูดหรือไม่พูด เราก็ต้องตายอยู่ดี เราทุกคนลงทะเบียนเกิดมาพร้อมกับลงทะเบียนตายนั่นแหละ
ในมุมมองของนักจิตวิทยาคลินิก ปัญหาของคนยุคสมัยนี้กับสมัยก่อนแตกต่างกันไหม
เมื่อสิบปีที่แล้ว คนจะเดินเข้ามาหานักจิตวิทยายาก แต่ช่วงหลังมานี้คนกล้าเข้ามาพบนักจิตวิทยามากขึ้น ทำให้เจอปัญหาที่หลากหลายขึ้น แต่ไม่ว่ายุคสมัยไหน ปัญหาไม่ค่อยต่างกันมาก จะเป็นเรื่องหนี้สิน การงาน การเงิน สุขภาพ ความสัมพันธ์ ต่างกันตรงที่ในอดีต การพูดถึงปัญหาจะมีความเป็นรูปธรรมและเน้นเรื่องการดำรงชีพเป็นหลัก แต่ในยุคนี้ วิธีการพูดถึงปัญหามันต่างออกไป มักเป็นเรื่องการหาเป้าหมายของชีวิต ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร คนที่มีคำถามเหล่านี้มักเป็นคนมีปัจจัยพร้อม แต่ขาดความหมายหรือหาคำตอบบางอย่างให้ตัวเองหรือคนใกล้ชิดไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันยากมาก เพราะสิ่งที่เขาตั้งคำถามมันเป็นนามธรรม และต้องใช้จินตนาการมาก ยิ่งถ้าคำถามนี้เกิดในเด็กวัยรุ่น มันไม่มีทางตอบตัวเองได้หรอก เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์
วัยรุ่นสมัยนี้ประสบความสำเร็จเร็ว ความสำเร็จของเด็กสมัยนี้คือการมีตัวตนในโลกโซเชียล มีแฟนคลับ หารายได้ได้มากและรวดเร็วจากโลกออนไลน์ แต่แน่นอนว่าโลกมันไปไวมาก มีคนหน้าใหม่ก้าวเข้ามาแทนที่พวกเขาตลอดเวลา เมื่อความนิยมไม่เท่าเดิม หารายได้ได้ไม่มากและง่ายเท่าเดิม ทำให้เขารับไม่ได้ เอาตัวเองไม่อยู่ สุดท้ายกลายเป็นต้องมาปรึกษานักจิตวิทยา ในปีนี้เราจึงมีความตั้งใจจะทำกิจกรรมกับเด็กมหาวิทยาลัยมากขึ้น โครงการปีล่าสุดทำร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะอาจารย์เองก็มีความกังวลกับปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษาเช่นกัน เราได้จัดกิจกรรมการใช้สมุดเบาใจ ไพ่ไขชีวิต เพื่อใช้ในการเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องความตาย และไพ่ฤดูฝนเพื่อใช้ในการดูแลนักศึกษา รวมทั้งสอนเรื่องสุนทรียสนทนาหรือการฟังอย่างลึกซึ้งอีกด้วย นอกจากจะเป็นการสอนใช้เครื่องมือเพื่อดูแลนักศึกษาแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายไว้ให้ทางอาจารย์ด้วย เผื่อว่าวันหนึ่งมีเคสที่ต้องการส่งต่อทางเราก็ยินดี.
หลังสั่งสมความรู้ทางจิตวิทยาทั้งกระแสหลักและกระแสทางเลือก ผสมกับการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการทำงานชุมชนกรุณาของกลุ่ม Peaceful Death และชุมชนกรุณา “ขะไจ๋” ในวันนี้วิชญาเป็นมากกว่านักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาผู้เจ็บป่วยทางจิตใจที่เดินเข้ามาพบเธอที่โรงพยาบาล แต่เสนอตัวดูแลเยียวยาจิตใจและแนะแนวนำทางผู้ให้ที่เจ็บป่วยทางกายและใจและผู้ที่ยังไม่เจ็บป่วยแต่อยากมีชีวิตอยู่และตายดีถึงชุมชน บ้าน หรือห้องนอนผ่านกิจกรรมออนไลน์
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์ - เมษายน 2565