Peaceful Death ได้พูดคุยกับ วรัญญา จิตรบรรทัด หรือ หนับ อาจารย์พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช หลังจากเธอเพิ่งกลับการเป็นจิตอาสาฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กรุงเทพมหานครเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ก่อนหน้านั้นเธอเป็นจิตอาสาให้คำแนะนำทางโทรศัพท์แก่ผู้ป่วยโควิดที่พักอยู่บ้าน (Home Isolation) ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดรอบแรกเมื่อสองปีที่แล้ว และเป็นผู้รับผิดชอบศูนย์โทรศัพท์เยี่ยมผู้ป่วยโควิด ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราชกำลังจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในจังหวัดนครศรีธรรมราชติดอันดับต้นๆ ของประเทศ
เมื่อถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เธอตอบอย่างมั่นใจว่าเพราะเธอเป็น “เด็กเกาะ”
“เราเกิดที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ตอนนั้นไม่มีไฟฟ้า มีเรือโดยสารวันละเที่ยว มีสถานีอนามัยหนึ่งแห่ง หากเจ็บป่วยร้ายแรงต้องลำเลียงผู้ป่วยลงเรืออย่างทุลักทุเล ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตบนเกาะ มีโรงเรียนสอนถึงป.6 ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าโลกนอกเกาะเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้ออกไปไหน คิดว่าคนอื่นเหมือนเรา แต่ก็คิดว่าถ้าได้เรียนหนังสือก็อยากมาช่วยคนบนเกาะ ต่อมามีการเปิดโรงเรียนขยายโอกาส เราเลยได้เรียนชั้นมัธยมต้น แล้วย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนประจำจังหวัด เราสอบติดพยาบาลศิริราช โชคดีที่ได้เรียนที่นี่ เพราะเขาไม่ได้สอนให้เราเอาตัวเองเป็นที่หนึ่ง แต่สอนว่าจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น”
“การเป็นเด็กเกาะทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำ เลยตั้งปณิธานว่าหากมีโอกาส จะทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตามความรู้ความสามารถที่มี เราอยากเป็นจิตอาสาเพราะเราเคยลำบากมาก่อน เรารู้ว่าเราอยากได้อะไรจากคนที่มีโอกาส พอโตขึ้นและมีโอกาสให้ เราก็เลยให้ได้ นอกจากความฝันของเราเป็นจริงแล้ว เราต้องทำความฝันให้คนเหล่านั้นเป็นจริงด้วย”
แนวคิดดังกล่าวขับเคลื่อนชีวิตของเด็กหญิงจากเกาะลิบงให้ทำงานเพื่อสังคมเสมอมา หลังจากทำงาน มีครอบครัว และเรียนจบปริญญาโทด้านสังคมศาสตร์การแพทย์ เธอและครอบครัวตัดสินใจย้ายจากกรุงเทพไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของสามี โดยเลือกทำงานเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยพยาบาล ทั้งที่ตอนนั้นการเป็นพยาบาลมีรายได้สูงกว่า
“เราคิดว่าถ้าเป็นพยาบาลเราจะช่วยได้แค่คนป่วย แต่ถ้าเป็นอาจารย์ เราจะได้ผลิตคนที่คิดคล้ายๆ เรา คนที่ให้ทำตัวเองรอดและช่วยคนรอบข้างๆ ได้”
สมดังตั้งใจ การอาจารย์พยาบาลทำให้เธอสร้างชุมชนเข้มแข็งที่ช่วยคนรอบข้างได้มากมาย ทุกวันนี้เธอยังคงดำเนินชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวภายใต้หลักความเชื่อ 2 ประการ คือคำสอนของศาสนาอิสลามที่ว่า “ให้มีชีวิตอยู่เหมือนจะตายวันพรุ่งนี้ แต่ให้ทำงานเหมือนเราจะไม่ตาย” และบทเรียนชีวิตที่เธอได้มาจากการเป็นอาจารย์พยาบาล คือ“เราจะไม่ทำให้เขาหรือเราเสียใจจากการกระทำของเรา”
สู่ชุมชนต้นแบบที่บ้านนาเคียน
ความเป็น “เด็กเกาะ” ทำให้วรัญญาเข้าใจระบบสุขภาพของคนในชุมชนเป็นอย่างดี เธอเห็นว่าสิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนคือการสร้างชุมชนที่คนในชุมชนพึ่งพิงดูแลกันเองให้มากที่สุด เมื่อมีโอกาสเธอจึงเริ่มสร้างชุมชนที่พึ่งตัวเองสุขภาพผ่านระบบจิตอาสา ที่บ้านนาเคียน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเธอ เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยพยาบาลที่เธอทำงานอยู่ และเป็นตำบลที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 9 หมู่บ้าน หนึ่งพันกว่าครัวเรือน มีผู้สูงอายุกว่าหนึ่งพันคน
เริ่มด้วยการประกาศรับจิตอาสาในชุมชน มีผู้สมัครจำนวน 20 คน ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเพศวัยและอาชีพ มีตั้งแต่เด็กประถมและมัธยมต้นปลาย (หนึ่งในจำนวนนี้คือลูกๆ ของเธอ) พ่อค้าแม่ค้า ข้าราชการ และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ที่มาสมัครเป็นจิตอาสาเพราะอยากพัฒนาความรู้และช่วยเหลือผู้อื่นนอกเหนือจากหน้าที่การงานประจำ
ภารกิจแรกคือการให้ความรู้จิตอาสาเรื่องการดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยเริ่มตั้งแต่การประเมินสภาพผู้ป่วย การวัดความดัน เจาะน้ำตาล ทำกายภาพ ฟื้นฟูแขนขา การอาบน้ำ การขับถ่าย การป้องกันแผลกดทับ การทำแผลกดทับได้ ทำแผลเจาะคอ ให้อาหารทางสายยาง โดยอบรมทฤษฎี ลงปฏิบัติ และกลับมาถอดบทเรียน และยังให้ความรู้เรื่องการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการสร้างภาวะผู้นำแก่จิตอาสาด้วย
“เรื่องการประสานงานและการสร้างความเป็นผู้นำนี้ยากที่สุด เพราะอสม. หรือจิตอาสาไม่ได้เรียนด้านนี้มาโดยตรง พอเราจัดอบรมให้จิตอาสาก็มีมั่นใจขึ้น ตอนอบรม เราเชิญผู้ใหญ่ กำนัน ตัวแทน อบต. มาด้วย และลงชุมชนด้วยกัน ทุกคนในชุมชนจึงมีความร่วมมือกันมากขึ้น”
“เดิมอสม. มักจะไปหาคนไข้เพราะหน้าที่ ไปวัดความดัน อุณหภูมิ ค่าน้ำตาลเท่าไหร ตอนหลังพอเข้าอบรมชุมชนกรุณา เราฝึกว่าเราจะไม่ถามคำถามเหล่านี้ เราจะถามว่า “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” “เรามาเยี่ยมนะ” เราอบรมจิตอาสาให้ฟังเป็น ไม่ใช่ไปสอน ไปติ ไปฟังเฉยๆ ไปเยี่ยม พูดคุย ให้กำลังใจ ถ้าเราลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนแบ่งปันช่วยเหลือ เราจะได้ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่เขาจะให้กับคนที่ไว้ใจ เป็นข้อมูลที่เราไม่เคยรู้ เช่น แม่ป่วยเป็นจิตเวช”
วรัญญาบอกว่าผลลัพธ์ที่ได้เกินความคาดหมาย นอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ยังขยายผลไปสู่โครงการดูแลกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ คนยากจน
“เมื่อก่อนเวลาทำประชาคมหมู่บ้าน เขาจะคิดว่าจะสร้างถนนตรงไหน พอเริ่มมีโครงการนี้ ในประชาคมจะพูดถึงการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กสมาธิสั้น มีโครงการการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ มีชมรมกีฬาประจำหมู่ มีนักฟุตบอลประจำหมู่บ้านเพื่อดึงเด็กออกมาจากยาเสพติด มีการบริจาคให้คนยากจน มีจิตอาสาดูแลผู้พิการเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้ถ้ารู้ว่ามีผู้พิการในหมู่บ้าน เขารู้ว่าจะบอกต่อที่ไหน ล่าสุดเขาจัดโครงการครอบครัวอบอุ่นให้พ่อแม่ลูกปู่ย่ายาตายมาทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อให้เข้าใจกัน เปิดใจคุยกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกินคาดกว่าที่เราคิดและน่าประทับใจมาก”
แม้จะมีความสัมพันธ์ทั้งในเชิงหน้าที่การงานในฐานะอาจารย์พยาบาลที่พานักเรียนพยาบาลลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนในชุมชนในฐานะสมาชิกของชุมชนและเครือข่ายญาติพี่น้องฝ่ายสามี แต่การสร้างชุมชนกรุณาไม่สามารถทำได้ภายในเวลาอันสั้น กว่าจะเห็นชุมชนนี้ “ผลิดอกออกผล” ก็ใช้เวลานานนับสิบปี
“ตอนเป็นอาจารย์พยาบาลคิดว่าถ้าเราลงถึงชุมชนเราจะทำงานเชิงรุกได้ เราใช้ชุมชนนาเคียนที่เราอยู่ ตอนนั้นเป็นสะใภ้ ไม่รู้จักใคร เชิญรพสต. ผู้ใหญ่กำนัน ทำโครงการผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2553 เดือนละ 1-2 ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 3 ปี เราเห็นชุมชนปรับได้ชัดในปี 2560 ตอนนั้นเขาขอให้เราไปอัพเดทความรู้ โดยมาตามเราถึงบ้าน แสดงว่าเขาต้องการพัฒนาตัวเอง ช่วงโควิด เขาต้องการความรู้ว่าจะดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อความกรุณา “ผลิดอกออกผล”
หากเป็นการลงทุนหรือการเพาะปลูกไม้ดอกไม้ผลก็ถือว่าเป็นดอกผลที่ “เกินความคาดหมาย”
“ช่วงนี้เราปล่อยจิตอาสาลงชุมชนได้เลย เราเห็นพัฒนาการการดูแลผู้ป่วยของเขา พอเราเอ่ยว่า “ได้ข่าวว่าบ้านนั้นหกล้ม” เขาจะบอกว่าเขาไปดูมาแล้ว เขาจะเล่าการดูแลครบองค์ประกอบเลย เขารู้ว่าต้องประสานใครบ้าง พอถึงจุดวิกฤติที่ต้องตัดสินใจ เขาทำเองได้ แสดงว่าการลงทุนลงแรง “หน้าดำตัวดำ” มาหลายปีของเรามันได้ผล เหนือความคาดหมายมาก” วรัญญาบอกเล่าความประทับใจด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
“เรามาอยู่เมืองคอน 13 ปี เราเห็นพัฒนาการของอสม. และการรับรู้ของคนในชุมชน เมื่อก่อนคนในชุมชนคิดว่าอสม.คือชาวบ้านธรรมดาที่มีเงินเดือน “ตรวจลูกน้ำยุงลาย” แต่ตอนนี้เขาคิดว่าอสม.คือที่พึ่ง เพราะผ่านการอบรมให้ความรู้จากเรา เดี๋ยวนี้เวลามีปัญหาสุขภาพคนในชุมชนจะนึกถึงอสม. ติดโควิด กักตัว ก็นึกถึงอสม. เลยทำให้เขาก้าวผ่านคำว่าอสม. โดยการแต่งตั้ง แต่เป็นการทำงานด้วยใจที่เขาอยากช่วยเหลือชุมชนจริงๆ”
“ทุกวันนี้อสม. อายุน้อยลงเรื่อย ๆ ใจเขาอยากเป็นพยาบาล แต่เขาไม่มีโอกาส เราเลยไปช่วยเขามาอบรม เวลาอบรมเด็กรุ่นใหม่ดวงตาจะเป็นประกาย เขาอยากทำได้ อยากดูแลครอบครัวได้ อสม. อายุ 30 ลงมาจะสอนง่ายมาก ไฟแรงและมีแพสชั่นที่จะดูแลคนอื่น เวลาเปิดรับสมัครเขาจะเข้ามาเอง เขาเดินได้ทุกบ้าน ไม่เหนื่อยเลย”
“ตอนกลับมาจากกรุงเทพใหม่ๆ เราคิดแค่ว่าลงชุมชนเพื่อให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังด้วยตัวเอง แต่ผลลัพธ์มันมากกว่าที่คิดเอาไว้เยอะ เราสามารถรวมพลได้ ชวนกันไปดูแลบำเพ็ญประโยชน์ได้ ตอนนี้ที่บ้านนาเคียนมีอสม. 25 คน เราเคยไปเปิดตลาดรับบริจาคซื้อแพมเพิสให้บ้านที่ติดเตียง ใครมีเสื้อผ้าไม่ใช่แล้วก็ไปวาง ได้เงินมาเป็นหมื่นเลย เวลามีคนติดต่อมาว่าจะทำบุญ เขาอยากทำบุญกับคนแก่ แต่ไม่รู้จะทำกับใคร เราก็จัดให้ เพราะเรารู้ว่าใครเป็นผู้สูงอายุยากจน คนที่นำของไปให้คืออสม. บ้านนั้น ๆ เขาจะรู้สึกว่าเขาช่วยเรา เขาจริงใจ เขาดูแลเราดี เขามีความเป็นเจ้าของกัน ส่วนเราอยู่ข้างหลัง”
วรัญญาบอกว่าปัจจุบันชุมชนบ้านนาเคียนผ่านการประเมินสถาบันบรมราชชนให้เป็นชุมชนเข้มแข็งต้นแบบ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีมีความพร้อมที่จะใช้รูปแบบการสร้างชุมชนที่บ้านนาเคียนไปเริ่มสร้างชุมชนที่มีขนาดใหญ่กว่าคือ รพสต. บ้านไม้แดง ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช
มุ่งสู่ชุมชนแห่งการตายดี ด้วยการวางแผนสุขภาพล่วงหน้าผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ
วรัญญาบอกว่าภารกิจที่เธออยากทำหลังจากนี้คือการสร้างชุมชนบ้านนาเคียนให้เป็นชุมชนแห่งการตายดี เธอบอกว่าแม้ศาสนาอิสลามจะมีคำสอนเรื่องการอยู่และตายดีอยู่แล้วว่า “เราเป็นของพระองค์ พอถึงเวลาเราก็กลับไปหาพระองค์” แต่ยังมี “ช่องว่าง” ระหว่างการเจ็บป่วยและการตายตรงที่ปัจจุบันการแพทย์มักเป็นผู้กำหนดว่าควรตายอย่างไรและเมื่อไร สิ่งที่จะช่วยลดช่องว่างดังกล่าวคือการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Planning) หรือ ACP
“ปัจจุบันผู้สูงอายุในบ้านยังเป็นที่รักของลูกหลาน ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนอยู่ดีได้ แต่ยังไม่มีเรื่องการตายดี ผู้สูงอายุอยากตายที่บ้านท่ามกลางวงล้อมคนที่รัก แต่จะมีญาติสักกี่คนที่ยอมให้เขานอนรอแบบนั้นได้ ถ้าผู้สูงอายุเขียนไว้ว่าอยากตายอย่างไรและญาติรับรู้ ผู้สูงอายุจะตายดีได้ เขาจะไม่รู้สึกว่าถูกละเลยไม่ใส่ใจ
“เราเริ่มต้นพูดเรื่อง ACP กับอสม.แล้ว แต่อสม. ยังอยากทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ เราบอกจิตอาสาว่า ACP เป็นการดูแลอย่างหนึ่งนะ ดูแลถึงจิตวิญญาณเลย ไม่ใช่ทุกคนต้องหายนะ เราจะให้เขาตายอย่างไรแบบเราภาคภูมิใจที่ได้ดูแลโดยไม่ทอดทิ้งเขา และเขาจะขอบคุณเรา”
อย่างไรก็ตามการพูดเรื่องการวางแผนการตายไม่ใช่เรื่องง่าย วรัญญาจึงมีแผนให้ความรู้กับคนชุมชนผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ
“การพูดเรื่อง ACP ตอนไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยทำได้ยาก ถ้ามาพูดที่โรงเรียนผู้สูงอายุจะพูดได้ง่ายกว่า เราคุยกับอบต.นาเคียนไว้ว่าหลังโควิด เราจะเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ แล้วบรรจุเรื่องการอยู่และตายดีไว้ในหลักสูตร เราสามารถทำได้เพราะมีทั้งสถานที่ มีหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุของวิทยาลัยพยาบาลราชชนนีฯ มีคนสอนที่เป็นจิตอาสา”
ในชีวิตหนึ่ง หากคนๆ หนึ่งได้ลงแรงกายลงใจทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและขยายผลจากคนหนึ่งคน ไปสู่หนึ่งชุมชน และหลายชุมชน และเมื่อความกรุณาในชุมชนได้ผลิดอกออกผล คนในชุมชนได้ช่วยเหลือดูแลกันเองอย่างเป็นระบบและด้วยหัวใจ ก็เท่ากับว่าคนๆ นั้นได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ผู้เปี่ยมล้นไปด้วยความกรุณาอย่างสมบูรณ์แล้ว
ถอดบทเรียน “ความสำเร็จมิได้เกิดขึ้นโดยลำพัง”
การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชนหนึ่งให้กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ มิอาจทำได้โดยลำพัง วรัญญาสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จในการทำงานของตนเองไว้ดังนี้
- ปณิธานอันแน่วแน่ ศาสนาอิสลามบอกว่า “เรามาเป็นพยาบาลเพราะเราถูกเลือก” เราต้องเอาสิ่งนั้นไปเป็นประโยชน์คนอื่นที่เขาไม่ได้มีโอกาสถูกเลือก
- ครอบครัวสนับสนุน “ตอนเปิดรับจิตอาสาให้ลูกมาสมัครด้วย ตอนนั้นลูกอาย 13, 12, 10 ขวบ เราเอาลูกมาเข้าชุมชนกรุณา ให้ลงเยี่ยมผู้สูงอายุคู่กับอสม. เราเห็นความนิ่มนวลในการชีวิต ฟังคนอื่นมากขึ้น การต่อล้อต่อเถียงแทบไม่มีเลย ลูกเข้าใจว่าเราทำเพื่อคนอื่นอย่างไร เราบอกลูกว่าเมื่อช่วยเหลือใคร พอถึงจุดที่เราลำบากจะมีคนยื่นมือมาช่วย คนช่วยอาจไม่ใช่คนที่เราเคยช่วย ส่วนสามีบอกว่าเราสะสมแต้มบุญเอาไว้ ครอบครัวเราจะได้รอด”
- องค์กรสนับสนุน ผู้บริหารขององค์กรที่สังกัดอยู่เห็นความสำคัญของการพัฒนาชุมชน และมีทีมอาจารย์ในวิทยาลัยพยาบาลที่คิดเห็นในทางเดียวกันว่า “ถ้าเราเป็นอาจารย์ก็เป็นแค่อาจารย์ แต่ถ้าไปทำในชุมชนจะภูมิใจมากที่ได้นำความรู้ที่เรียนมาไปใช้ได้”
องค์กรท้องถิ่นสนับสนุน ในปี 2553 โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราชส่งทีมมาประเมินผู้พิการติดเตียงถึงบ้าน ทำให้ตำบลนาเคียนเป็นตำบลเดียวในจังหวัดที่คัดกรองผู้พิการติดเตียงแล้วได้บัตรผู้พิการ 100 เปอร์เซ็นต์ “จุดประกายให้คนในชุมชนเห็นว่าเราช่วยเขาจริงๆ ผ่านการร่วมมือของชุมชน และเขาก็ร่วมมือมาตั้งแต่นั้น” ปัจจุบันทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ - เมษายน 2565