parallax background
 

เด็กเอ๋ย…เด็กน้อย

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

เหตุใด ‘จินตนาการ’ จึงสำคัญกว่า ‘ความรู้’ มีใครเคยสงสัยบ้าง

เจ้าของวลีอมตะนี้ คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเป็นผู้ค้นพบ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’ รวมทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์อีกนานัปการที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในสังคมยุคใหม่ ตั้งแต่สิ่งของ เครื่องใช้ แม้กระทั่งอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ล้วนถูกพัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานความรู้จากการค้นพบของไอน์สไตน์ทั้งสิ้น

หากเปรียบ ‘ความรู้’ คือปัจจุบัน และ ‘จินตนาการ’ คืออนาคต ทั้งสองสิ่งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นสิ่งที่เนื่องกันอยู่ ‘ความรู้’ อาจทำให้เราวนเวียนอยู่กับจุดเดิม หากแต่การ ‘จินตนาการ’ คือการ ‘ต่อยอดความรู้’ ทำให้สามารถสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมาบนโลกใบนี้

เมื่อครั้งผู้เขียนมีโอกาสร่วมกิจกรรมมอบของขวัญผู้ป่วยเด็กเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่ตึก ภปร. ชั้น 9 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดโดยเครือข่ายพุทธิการ่วมกับมูลนิธิกระจกเงา มีเด็กจำนวนไม่น้อยตื่นเต้นกับกิจกรรมที่กลุ่มจิตอาสานำมาเสนอ หนึ่งในนั้นคือการนำของเล่นทำจากไม้ในรูปทรงต่างๆ และเจาะรูเพื่อให้เด็กๆ มีโอกาสเสียบกิ่งไม้ ใบไม้ ดอกไม้ตามแต่จินตนาการของตัวเอง ของเล่นนี้มีชื่อว่า ‘สัตว์กิ่งไม้’ หรือ ‘Branch Creature’

ชวนเด็กมาเล่นสนุกกับธรรมชาติ อยู่กับตัวเอง อยู่กับจินตนาการ คือของเล่นเด็กแนวคิด Slow Play

‘นกตัวนี้น่ารักมั้ยครับพี่’ เด็กคนหนึ่งหยิบของเล่นไม้ที่เสียบใบไม้หลายๆ ใบมาให้ดู พร้อมทั้งชูมือขึ้นๆ ลงๆ เพื่อให้ใบไม้กระพือได้ เพราะสายตาเด็กน้อย ‘เห็น’ ใบไม้ เป็น ปีกนก ไปแล้ว

หากเด็กๆ โตขึ้นตามลักษณะที่แสดงออกให้เห็นตอนแรกๆ เราก็น่าจะมีอัจฉริยะเต็มไปหมด เพราะสิ่งที่น้องเห็นตรงกับภาษาสันสกฤต ‘ปตฺ’ แปลว่า ‘บิน’ เนื่องด้วยปีกนกเวลากางจะเป็นแผ่นแผ่กว้าง คล้ายใบไม้ที่เป็นแผ่นบางๆ คนโบราณจึงมีการเปรียบเทียบว่าใบไม้ที่ต้องลมโบกไหวมองดูคล้ายปีกนกกำลังกระพือบิน ดังนั้นต่อมา คำว่า ‘ปตรฺ’ จึงแปลว่า ‘ใบไม้’ คนโบราณใช้ใบไม้เป็นวัสดุในการจดบันทึกเรื่องราว เช่น คัมภีร์ใบลาน เป็นต้น ‘ปตรฺ’ จึงมีความหมายขยายออกมาถึง ‘แผ่นวัตถุที่ใช้เขียนหนังสือ’ เป็นรากฐานของคำว่า ‘บัตร’ ในปัจจุบัน

‘ความคิดสร้างสรรค์นั้น มีความสำคัญพอๆ กับการที่เราอ่านออกเขียนได้’ เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงของ เซอร์ เคน โรบินสัน นักคิดชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปัญหาของเด็กในยุคปัจจุบันคือการสูญเสียปัจจุบันไปอย่างไม่รู้ตัว และผู้ที่อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมทางจิตวิญญาณนี้คือ ‘ผู้ใหญ่’ นั่นเอง

มีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่ผลักดันให้จิตวิญญาณของเด็กไปสู่ความตาย ‘ก่อนวัย’ อันควร ด้วยการเลี้ยงดูแบบ ‘เร่งรีบ’ พร้อมคำพูดที่ติดปากว่า

“ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น” หรือไม่ก็…
“คนนั้นทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้” หรือแย่กว่านั้น…
“ทำไมเพื่อนถึงได้เกรดดีกว่า เรียนก็เหมือนกัน สมองน่ะมีมั้ย!”
หากเด็กคนนั้นโตขึ้นพอจะเถียงผู้ใหญ่ได้ คงตอบเสียงดังฟังชัดว่า
“ไม่รู้ว่ามีสมองหรือเปล่า แต่หัวใจน่ะมีแน่!”

ช่วงเวลาปัจจุบันคือชีวิตที่เป็นจริงที่สุด แต่เด็กกำลังถูกฝืนให้ต้องเสียสละปัจจุบัน…เพื่ออนาคตที่ดีกว่า…ชีวิตน้อยๆ จะเป็นเช่นไร ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องตรากตรำคร่ำเคร่งกับการเรียนเพื่อใฝ่หาความรู้จนแทบไม่เหลือโอกาสได้เรียนรู้ผ่านการเล่นที่เป็นอิสระ ที่ทำให้สามารถฝึกแสดงออกตามที่ตนเองคิดจริงๆ ไม่ใช่การคิดที่ผ่านการกลั่นกรองจากผู้ใหญ่ ที่เต็มไปด้วยตรรกะหรือความคิดสำเร็จรูป ยิ่งเด็กเติบโตขึ้นด้วยการอัดแน่น ‘ความรู้’ มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการปิดกั้นการเจริญเติบโต และพัฒนาสมองเชิงความคิดสร้างสรรค์ จนถึงขาดทักษะการแก้ปัญหา และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

เมื่อการตายเริ่มขึ้นจาก ‘จิตวิญญาณ’ จึงจบลงที่ … ‘ร่างกาย’
‘นักศึกษาติดเกม ใช้คัตเตอร์-กรรไกร-ไขควง ทำร้ายตัวเอง’
‘จิตแพทย์แจงเยาวชนเสพดราม่า สิ่งเร้ากระทบจิตใจ เสี่ยงภาวะเลียนแบบฆ่าตัวตาย’
‘คดีสะเทือนใจพ่อแม่เด็กหญิงวัย 11 ขวบ ฆ่าตัวตายเพราะไม่พอใจในรูปร่างตัวเอง’
เหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำให้เรียนรู้ว่า จิตใจของเด็กเปรียบเหมือนกับการฝากเงินในธนาคาร สิ่งใดที่ผู้ใหญ่ใส่เข้าไป จะได้คืนในเวลาต่อมา…พร้อมดอกเบี้ย

ข้อมูลอ้างอิง :

  1. คุณสุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ เพื่อนร่วมงานจิตอาสาศิลปะเด็ก เอื้อเฟื้อข้อมูลของเล่นคอนเซปต์ Slow Play
  2. http://www.creativemove.com/featured-interview/141/
  3. หนังสือ สันสกฤตวิจารณา โดย ศาสตราจารย์ ดร. กุสุมา รักษมณี: สำนักพิมพ์แม่คำผาง
  4. หนังสือ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ตอน บางสิ่งที่พ่อแม่น่าจะรู้นานแล้ว โดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ: สำนักพิมพ์พราว
[seed_social]
10 พฤษภาคม, 2561

เป็น-อยู่-คือ

‘การได้อยู่กับธรรมชาติ ได้สังเกตสิ่งมีชีวิตอื่นๆ’ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชอบนั่งเล่นใต้ต้นไม้ เปิดโอกาสให้ชีวิตดื่มด่ำเรียนรู้ที่จะเคารพนบนอบต่อธรรมชาติอย่างกลมกลืน หลายครั้งมักพบ ‘เพื่อน’ อย่างไม่คาดคิด
17 พฤศจิกายน, 2561

forOldy ชีวิตนี้เพื่อคุณตาคุณยาย

โครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy และร้านคุณตาคุณยาย สร้างระบบที่เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเมือง ผ่านกิจการให้เช่าอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ งานอาสาสมัคร และกองทุนที่เอื้อต่อการจากไปด้วยใจสงบ
24 เมษายน, 2565

ความกรุณาเกิดได้ทุกที่ที่ผู้คนมีหัวใจเชื่อมโยงกัน

นักจิตวิทยาคลินิก เป็นนักศิลปะบำบัด และเป็นกระบวนกรชุมชน นอกจากการทำงานกับผู้เข้ารับการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต