เมื่อได้รับทราบข่าวการเดินประทักษิณรอบเกาะสมุยของ “ครู” ประมวล เพ็งจันทร์ ฉันตัดสินใจทันทีว่า ครั้งนี้ขอให้โอกาสตัวเองได้ร่วมเดินกับครู ท่านบอกกับพวกเราว่า ระยะเวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญ ว่าเราจะไปร่วมเดินกันได้กี่วัน แต่การได้ใช้เวลาเดินด้วยกันต่างหากที่สำคัญ ทำให้เรามีประสบการณ์ร่วมกัน แล้วพอนั่งพัก ครูก็มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ที่เราได้มีร่วมกันสดๆ ที่ผ่านมา ทำให้การสนทนาแลกเปลี่ยนกันประสาครูกับศิษย์ลึกลงไปได้ในหลายๆ เรื่องราวและหลากมิติมากกว่าที่เราจะพบกันในสถานที่อื่นๆ แบบผิวเผิน
ความปรารถนาของครู ที่ชวนให้เหล่าศิษย์ผู้มาเดินตามครูได้ภาวนาระหว่างการเดินมี 3 ประการคือ
1) เดินประทักษิณคารวะเกาะและบรรพชนชาวเกาะสมุย
2) เดินศึกษาธรรมชาติในใจตนเองและโดยรอบ
3) เดินกลับสู่ธรรมชาติอันเป็นหนึ่งเดียว
เมื่อได้มีโอกาสใคร่ครวญความปรารถนาทั้งสามในหลายช่วงหลายตอนของการสนทนาร่วมกันตามที่มีโอกาส เราค่อยๆ พบความงดงามในความปรารถนานี้ปรากฏขึ้นมากมาย ราวกับครูกำลังให้พรอันล้ำค่ากับชีวิตของพวกเราที่นำไปใช้ได้กับทุกๆ ย่างก้าวในชีวิตที่เหลืออยู่ต่อจากนี้ไป หากเราเดินทางต่อไปในชีวิตด้วยความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติและผู้คน ระหว่างทางนั้นทำความเข้าใจธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นทั้งในใจตนและโดยรอบ ท้ายที่สุดเมื่อเราเข้าถึงและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราจะพบความไม่แปลกแยก ไม่โดดเดี่ยวจากธรรมชาติใดๆ เลย เพราะเราล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน
การได้มีโอกาสสนทนากับครู นับเป็นช่วงเวลาที่พิเศษเสมอ หลายคนพูดตรงกันว่า ครูอาจจะเล่าเรื่องเดิมแต่สิ่งที่เรารับรู้กลับแปลกใหม่ แล้วแต่ประสบการณ์ในชีวิตที่เรากำลังพบเจอ แม้ในขณะที่กำลังพักเหนื่อยจากการเดินขึ้นสู่น้ำตกที่สูง ครูบอกกับพวกเราว่า เรียนรู้การเดินขึ้นที่สูงภายนอกก็ไม่ต่างจากการเดินขึ้นที่สูงภายในใจของตนเอง เมื่อเราพบความยากในการเดินทางกายภาพ เราจะเข้าใจความยากของการเดินเข้าสู่ที่สูงภายในใจเราเช่นกัน
‘เดินกินห่อ สาวย่าน ตำนานหมุย’ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อสื่อสารกับผู้คน ที่สอดคล้องกับความปรารถนาในการเดิน สาวย่าน มาจากคำว่า สาวย่านโยด คือพบปะพูดคุยนับญาติกัน แล้วก็ชวนกันไปกินข้าว คำว่า กินห่อ ของคนสมุยคือ เอาอาหารมากันคนละอย่าง แล้วมากินร่วมกันหลายๆ คน พูดคุยถามทุกข์สุขกัน อาหารตรงหน้าจึงอร่อย เพราะมีความเป็นมิตร ไม่มีความเป็น ‘คนอื่น’ ระหว่างกัน
การได้มีโอกาสฟังและเห็นครู เล่าชีวิตในวัยเด็กที่บริเวณพื้นที่บ้านเก่า ครูเล่าถึงวันที่เดินเท้าจากเชียงใหม่กลับมาบ้านที่เกาะสมุยแล้วคืนดินสมุยใส่มือน้าเกศผู้ที่เลี้ยงดูครูมาแต่เล็กแต่น้อย เห็นการโอบกอดของครูกับร่างเล็กๆ ของน้าเกศบนเตียง เห็นครูก้มกราบน้าเชยที่เคารพรัก รวมถึงวันแรกที่เริ่มเดินแล้วเห็นครูก้มกราบเท้าคุณแม่ของเพื่อนเก่าที่อายุ 101 ปี ล้วนเป็นสิ่งที่ครูทำให้เห็น เป็นให้ดู โดยไม่ได้สื่อสารด้วยถ้อยคำ การคารวะบรรพชนอย่างอ่อนน้อมจากภายในนั้นเป็นเช่นนี้ ทำให้เราได้เห็นความกระด้างที่ยังคงมีในตัวเองที่ต้องกลับไปขัดเกลาต่อไป
ครูมีความปรารถนาจะเดินประทักษิณรอบเกาะสมุย ซึ่งเป็นแผ่นดินเกิดสามรอบก่อนวาระท้ายของชีวิต ซึ่งรอบนี้เป็นรอบที่สอง ครูชวนให้พวกเราเดินแต่ละก้าว ให้เป็นก้าวแห่งสติที่เรียนรู้การมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่เพียงก้าวย่างสู่อิสรภาพในใจเท่านั้น แต่ให้ไปพร้อมกับเรียนรู้ข้างนอก ก่อนที่ทุกสิ่งจะกลับสู่ธรรมชาติ
เมื่อมองดูน้ำในทะเลที่ริมหาด ครูเล่าถึงจุดเริ่มของหยดน้ำบนภูเขา ผ่านลำธารสายน้ำ แม่น้ำ ลงสู่มหาสมุทร เปรียบหยดน้ำแต่ละหยดได้กับความเป็นปัจเจกของมนุษย์ ที่สุดท้ายก็ต้องรวมเป็นหนึ่งกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่แปลกแยกแตกต่างไปจากธรรมชาติอื่น ธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าก็คือตัวเรา ตัวเราก็เป็นหนึ่งในธรรมชาตินั้น
ในค่ำคืนที่เราตั้งวงสนทนาในบริเวณศาลา หน้าเมรุเผาศพที่วัดนาราเจริญสุข เปิดใจกันเพื่อค้นหาความกลัวที่อยู่ในใจ เรียนรู้ตนเองผ่าน ‘ความกลัว’ เพื่อไปสู่การยอมรับ การเข้าใจความกลัวของตนเอง ว่านั่นคือ การเปิดทางสู่อิสระที่แท้จริงจากความกลัวที่มีอยู่
เราเรียนรู้ว่าความหมายของ ‘ความตาย’ ที่ศาลาสวดบำเพ็ญกุศลที่วัดดอนธูปว่าคือ การกลับคืนสู่ธรรมชาติอันเป็นหนึ่งเดียว การจากไปของคุณแม่อันเป็นที่รักของท่านที่มาทำพิธีฌาปนกิจที่นี่ และหลวงพ่อผู้มีบุญคุณที่จากไป ณ วัดแห่งนี้ เรื่องราวได้ถูกถ่ายทอดจากปากของครู ให้เราเข้าใจการกลับสู่ธรรมชาติอันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างนุ่มนวลและอ่อนโยน
ความงดงามเติบโตขึ้นในใจเราผ่านการเดินตามครูเพียงไม่กี่วัน ภาพชีวิตและความตายล้วนเป็นธรรมชาติที่งดงามเสมอกัน ทั้งชีวิตและความตายควรคู่กับการกลับคืนไปหาเป็นที่สุด ด้วยความรู้สึกเดียวกันกับเด็กน้อยยอมเดินตามแม่ที่จูงมือไปด้วยดีอย่างมีความสุขเป็นล้นพ้น.
ร่วมติดตามการเดินทางไปกับครูได้ที่ https://www.facebook.com/WalkwithKru/
[seed_social]