parallax background
 

อาสามาอยู่ใกล้เป็น “เพื่อนใจ” น้อง

ผู้เขียน: พรรัตน์ วชิราชัย หมวด: อาสามาเล่า


 

“เด็กเขานอนอยู่เหมือนหุ่นยนต์นิ่งๆ ไม่พูด ไม่คุย นั่งดูทีวี แต่พอเราลองชวนเขาคุย ชวนเขาเล่นก็เหมือนใส่ถ่าน เขาเล่น คุย วิ่งไปวิ่งมา มีชีวิตชีวา ต่างจากแรกๆ ที่นั่งจ่อมอยู่บนเตียง”


คำพูดของอาสาสมัครโครงการ “อาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเด็กเรื้อรังและระยะสุดท้าย” บอกได้อย่างดีว่าเด็กๆ ที่ต้องนอนป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไม่ต้องการของเล่น ของกิน หรือของขวัญที่เกินจำเป็น แต่ต้องการใครสักคนที่เป็นเพื่อนคุย เพื่อนเล่นเวลาที่คุณแม่ไม่อยู่  คนที่จะมาเพื่อชวนเขาวาดรูปต้นไม้ ดอกไม้ แม่น้ำ และภูเขา คนที่จะชวนประดิษฐ์ของเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้วางประดับหัวเตียง และคนที่จะฟัง พร้อมเป็นเพื่อนเขาได้อย่างเต็มหัวใจ

นี่คืองานอาสาสมัครอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องการหงาดเหงื่อ แรงกาย แต่ต้องการแรงใจอาสาที่อยากดูแลฟื้นฟูจิตใจเด็กๆ ผ่านงานศิลปะต่างๆ เช่น การวาดรูป การเล่านิทาน การทำกิจกรรม การพูดคุย การรับฟัง โดยอาสาสมัครไม่จำเป็นที่ต้องมีความสามารถในด้านศิลปะโดยเฉพาะ เพียงมีใจที่อยากทำ มีความพร้อม และเวลา ก็เพียงพอแล้วที่จะทำได้ ทั้งช่วยแบ่งเบาภาระคุณหมอและพยาบาลที่มีงานล้นมือ และคุณพ่อคุณแม่ที่แทบจะต้องนั่งเฝ้าลูกตลอดเวลา ให้พวกเขาได้มีเวลาปลีกตัวออกไปผ่อนคลายกับความเครียดต่างๆ ที่รุมเร้าได้บ้าง

ย่างไรก็ตาม ก่อนที่อาสาข้างเตียงจะสามารถเข้าไปดูแลน้องๆ ได้ ต้องผ่านคัดเลือกผ่านการเขียนบทความ และการอบรมกับคุณหมอและพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  อีกทั้งอาสาสมัครต้อง มีเวลาในการทำกิจกรรมกับผู้ป่วยทุกสัปดาห์ๆ ละ 1 วัน อย่างต่อเนื่อง และนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแพทย์ที่ปรึกษาสัปดาห์ละครั้งในเดือนแรก

แพทย์หญิงพัชรินทร์  สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง แพทย์ด้านศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคระยะสุดท้ายกล่าวถึงเหตุผลของกระบวนการ ต่างๆ ว่า การคัดเลือกอาสาสมัครทางบทความเป็นไปเพื่อรวบรวมคนที่สนใจและตั้งใจจริงมา อบรมทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับระบบโรงพยาบาล การทำศิลปะบำบัด และวิธีการการปฏิบัติตัวกับคนไข้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นกรณีที่ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแพทย์ที่ปรึกษาสัปดาห์ละครั้งในเดือนแรกก็ เพื่อเป็นการดูแลสภาพจิตใจของอาสาสมัครว่าเป็นเช่นไร เมื่อต้องดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย

และเมื่อถามว่าอาสาสมัครต้องทำอะไร?  คำตอบเดียวของคุณหมอ คือ “การมาเป็นเพื่อน”

“เด็กๆ ไม่ต้องการของเล่น แต่ต้องการเพื่อน อาสาจะเข้าไปเป็นเพื่อนได้ ผ่านกิจกรรรมศิลปะ การแลกเปลี่ยนพูดคุย การเล่นกับเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นจังหวะให้เด็กได้แสดงความรู้สึกของตัวเอง ความกลัวของเขาที่ต้องมาอยู่โรงพยาบาลคนเดียว ไม่จมอยู่กับความเศร้า หากไม่มีกิจกรรมเหล่านี้ ความรู้สึกเหล่านั้นของเด็กๆ ก็จะยังสะสมอยู่ ไม่มีใครมาช่วยรับฟัง แบ่งเบาความรู้สึก”

 

คุณหมอกล่าวต่อไปถึงการทำงานอาสาสมัครว่า “การเป็นอาสาสมัคร เป็นการมาทำโดยไม่หวังผลตอบแทน มันเป็นสภาวะที่เป็นอิสระมาก ไม่ตกในเงื่อนไข เพียงแต่อยากอยู่กับเด็กๆ ทำให้เข้าใจตัวตนของเด็กๆ มากขึ้น เราจะได้เห็นว่าเขามีวิธีที่จะต่อสู้ มีวิธีอยู่กับความตายต่างกัน มันเป็นโอกาสที่ทำให้เราเข้าถึงตัวเขา เข้าถึงใจของเขาได้เต็มที่”

สิ่งที่ต้องทำมากมายและละเอียดอ่อนขนาดนี้ แต่สำหรับอาสาข้างเตียงอย่าง ณัธยา  พุทธชัยกุล หรือ นิ กลับบอกว่าการได้มาพบกับเด็กๆ ทำให้เขาได้บำบัดตัวเอง และมองเห็นความงดงามของเด็กแม้ในงามต้องเผชิญความเจ็บป่วย “นิมาเจอเด็กๆ เขาบริสุทธิ์ มากเขาเจ็บก็บอก แต่ไม่เคยเอาความหงุดหงิดมาใส่เรา เวลาเห็นรูปภาพเขาสวยไม่สวย เรา ก็รู้สึกว่ามันสดใสจังเลย มันบริสุทธิ์ เห็นแล้วมีความสุข หัวใจเราเบิกบาน มาแล้วเราได้ เราไม่เสียอะไรเลย”

ด้านคุณพ่อนักประดิษฐ์  กิตติพงษ์  ประภาวิวัฒน์ บอกเล่าถึงประสบการณ์ว่าการเป็นอาสาข้างเตียงว่า  “ด้วยความที่ผมชอบ ประดิษฐ์ของอยู่แล้ว การมาทำกิจกรรมกับเด็ก มันกลายเป็นว่าผมได้บำบัดตัวเองไปโดยปริยาย ผมได้ใช้สิ่งที่ผมมี มาทำประโยชน์ น้องก็ได้ พ่อแม่ได้เห็นก็มีความสุข พอมีกิจกรรม น้องก็รู้สึกดี โรคของเขาก็จะบรรเทาลง”

 “ผมคิดว่าโครงการนี้ถ้ามีโอกาส มีเวลาว่าง น่าจะลองทำดู เป็นการค้นหาตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วยการทำงาน การเป็นอาสาสมัคร เป็นโอกาสทอง ถ้ามีความคิดอยากเป็นครู หรือ อยากให้คนดีใจ เป็นสิ่งที่น่าทำและทำได้เลย แค่คิด สร้างสรรค์ มันสนุก ไม่เสียเวลา”

บุคคลสำคัญ: พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง (หมอโจ้)

[seed_social]
20 มีนาคม, 2562

กลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำ จิตอาสาแบบส่งตรงถึงบ้าน

“จะตายก็ไม่เสียดายชีวิต” ยายนง หญิงชราที่ป่วยติดเตียงร้องบอก เมื่อคณะของเราซึ่งประกอบด้วยจิตอาสาเมืองน้ำดำและเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ไปเยี่ยมบ้าน เธอลุกขึ้นนั่งเกาะขอบเตียงแล้วร้องเพลงลูกทุ่งเพลงโปรดให้ฟังรวมสามเพลง
28 พฤศจิกายน, 2560

ก้าวข้ามความผิดในใจ

ความรู้สึกที่มีใครอยู่เป็นเพื่อน ไม่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวเป็นสิ่งสำคัญมาก ในผู้ป่วยหลายราย สิ่งหนึ่งที่พวกเขากลัวคือการที่ต้องตายคนเดียว หรือตายไปโดยที่ไม่มีใครรู้
4 เมษายน, 2561

เครือข่ายชีวิตสิกขา

หลังจากที่นิสิตปริญญาโทภาคจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ สาขาชีวิตและความตาย รุ่นแรกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผ่านการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลศิริราชในปี ๒๕๕๐