“จะตายก็ไม่เสียดายชีวิต” ยายนง หญิงชราที่ป่วยติดเตียงร้องบอก เมื่อคณะของเราซึ่งประกอบด้วยจิตอาสาเมืองน้ำดำและเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ไปเยี่ยมบ้าน เธอลุกขึ้นนั่งเกาะขอบเตียงแล้วร้องเพลงลูกทุ่งเพลงโปรดให้ฟังรวมสามเพลง
ก่อนหน้านี้เธอเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่เหงาหงอย ตราบเมื่อกลุ่มจิตอาสาเดินทางมาเยี่ยมบ้านและพบว่าหนึ่งในความฝันของเธอคือการไปประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง “ไมค์ทองคำ” พวกเขาทำให้ความฝันของเธอเป็นจริงด้วยการเชิญชวนเพื่อนจิตอาสามาเขียนฉาก บันทึกเสียง และตัดต่อคลิปวิดีโอราวกับเธอได้ไปประกวดร้องเพลงจริงๆ
วันถ่ายทำยายนงยิ้มจนหลานสาวกระซิบบอกผู้เป็นแม่ว่า “วันนี้ยายยิ้มแบบมีความสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” และเมื่อเห็นคลิปที่โพสต์ในยูทูปยายนึงถึงกับอุทานคำว่า “จะตายก็ไม่เสียดายชีวิต” ดูวีดีโอได้ที่นี่
นี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างการทำงานในโครงการสุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิตของกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำ จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังทำกิจกรรมร่วมกันตลอดสองวัน ทั้งการอบรมอาสาสุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิตผ่านกิจกรรมเกมไพ่ไขชีวิต ร่วมกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนที่สนใจกว่าร้อยคน และลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วย ฉันนั่งสนทนากับสมาชิกกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำกลุ่มใหญ่ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง พวกเขาเปิดเผยความเป็นมาและกิจกรรมของกลุ่ม ซึ่งเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้
ต่อยอดงานจิตอาสา...จากคนตายสู่คนเป็น จากผู้ยากไร้สู่ผู้ป่วย
งานของกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำเริ่มต้นขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้ว จากงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ยากไร้ด้วยการระดมเงินบริจาคโครงการ ‘อุ่นกายไม่หนาวใจ’ จากนั้น ร่วมกันอาสาจัดงานศพแก่ศพไร้ญาติและยากจนใน ‘โครงการจุติสุขาวดี’ จนเมื่อปีที่แล้วเมื่อจิตอาสาคนหนึ่งมีดำริว่า ทางกลุ่มควรขยายการทำงานไปสู่กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงนำมาสู่โครงการอาสาสร้างสุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิต ที่มีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพึงโดยไม่เลือกฐานะ เพราะผู้ป่วยทุกคนล้วนต้องการการดูแลเอาใจใส่
กิจกรรมแรกของโครงการนี้คือการจัดอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและการเผชิญความตายอย่างสงบระยะเวลา 3 วัน โดยมีสมาชิกกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำ และเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และผู้สนใจทั่วไปเข้าอบรม จากนั้นนำทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติด้วยการตั้งกลุ่มจิตอาสาเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจำนวน 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 10 คน ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยตามวันเวลาที่แต่ละกลุ่มนัดแนะกันได้
จิตอาสา...ความหลากหลายที่ลงตัว
จิตอาสาเยี่ยมบ้านแต่ละคนมีอาชีพและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ พนักงานบริษัทเอกชน นักกายภาพบำบัด อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และพระสงฆ์ แม้โดยอาชีพการงาน บางคนมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ หรือ อสม. ทว่าในการทำงานจิตอาสา พวกเขาบอกว่าผลที่ได้รับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการทำงานในหน้าที่ ส่วนจิตอาสาที่อยู่นอกวงวิชาชีพล้วนพบกับประสบการณ์และความสุขที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
พระเอกคุน ธมฺมวิจโย แห่งวัดป่าพุทธมงคล พระสงฆ์จิตอาสาเพียงหนึ่งเดียวของกลุ่มเล่าว่า ความเชื่อของชาวพุทธที่ว่าก่อนตาย ‘ผู้ป่วยควรได้พบพระสงฆ์’ แทนที่จะสนับสนุนการดูแลจากพระ กลับจำกัดบทบาทให้พระเป็นเพียงผู้ทำพิธีกรรมเมื่อผู้ป่วยใกล้ตายหรือเสียชีวิตแล้วเท่านั้น ทั้งๆ ที่พระสามารถทำหน้าที่เชิงรุกในการดูแลจิตใจผู้ป่วยที่ต้องการกำลังใจได้ดี ดังเช่นกรณีผู้ป่วยติดเตียงหญิงชราที่ก่อนป่วยมีวัตรปฏิบัติคือใส่บาตรทุกเช้า แต่หลังจากป่วยก็ไม่สามารถใส่บาตรได้อีกเลย เธอมีอาการเงียบซึมและไม่สื่อสารจนญาติเป็นห่วง เมื่อคณะจิตอาสาของพระเอกคุนไปเยี่ยม หญิงชราได้ทำสังฆทานและรู้สึกปลื้มปิติจนกลับมายิ้มและสื่อสารได้อีกครั้ง
“การไปเยี่ยมผู้ป่วยก็ได้พิจารณาตัวเราด้วย เหมือนเป็นครูสอนเราไปในตัว มีพยาบาลไป เราก็ได้รู้เรื่องการดูแลร่างกาย มีพระไป พยาบาลก็จะได้เรียนรู้ว่ามีพระดูแลจิตใจผู้ป่วยอย่างไร เรารู้สึกว่าพระพอมีประโยชน์บ้าง เป็นทางเลือกให้เขาได้ดูแลจิตใจ ได้ภาวนา มันเป็นหน้าที่ที่พระภาคภูมิใจมากกว่าการไปสวดในงานศพ ซึ่งตอนนั้นเป็นการดูแลที่ช้าเกินไป เขาไม่รับรู้อะไรแล้ว อย่างไรก็ตาม พระที่จะไปเยี่ยมไข้ก็ต้องเรียนรู้กระบวนการดูแลผู้ป่วยด้วย ถ้าเทศแต่เรื่องบุญหรือธรรมะเพียงอย่างเดียว ก็อาจเป็นอันตราย เพราะบางทีคนไข้ไม่ได้อยากฟังเทศน์ บางครั้งเราไม่ต้องพูดอะไรก็ได้ แค่ไปเยี่ยมก็ดีแล้ว” พระเอกคุนกล่าว
สวยจริงๆ
สุพิชา บุญถูก หรือพี่หน่อย เป็นประธานอสม. และประธานชุมชน หากว่างเว้นจากภาระงานในหน้าที่ เธอมักแวะไปเยี่ยมเยียมผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ดูแลอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากช่วยให้ผู้ป่วยสบายกายสบายใจ ยังช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแลได้ด้วย เธอแวะเวียนมาดูแลเป็นกิจวัตรจนผู้ป่วยบางคนที่สูญเสียความทรงจำและสื่อสารไม่ได้ถึงกับออกปากชมเธอว่า “สวยจริงๆ”
“พอกลุ่มจิตอาสาจะมาเยี่ยม เราจะไปเตรียมสถานที่ ไปคุยกับคนป่วย เราจะมีความสุขมาก เพื่อนที่ลงไปก็มีความสุข คนป่วยที่เราไปเยี่ยมก็มีความสุข ตาพุทธาแกพูดไม่ได้ วันนั้นทีมเราลงไป เราก็ไปนั่งนวดๆ แกก็มองจ้องหน้าตั้งนาน แล้วพูดว่า “สวยจริงๆ” คนงงเลยว่าพูดได้อย่างไง ตอนนั้นมีความสุขมากที่เขาชมเรา ส่วนคุณยายอีกคนป่วยติดเตียง แกบอกว่าอยากอาบน้ำ เราอาบน้ำให้ และในวันต่อมาก็เสียชีวิต ได้ช่วยจัดงานศพจนเสร็จ มีความสุข รู้สึกมีคุณค่า” พี่หน่อยเล่า
ในฝั่งของจิตอาสาที่อยู่นอกวงการงานอาชีพข้างต้น โบว์ พนักงานบริษัทเอกชนวัยสามสิบตอนต้นบอกว่าเธอมีชีวิตเฉกเช่นคนส่วนใหญ่ในสังคมคือทำงาน ใช้เงินฟุ่มเฟือย ไปเที่ยว ซื้อของ แต่เมื่อได้มาทำงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วย เธอได้สัมผัสถึงความสุขที่ไม่เคยได้รับมาก่อน เป็นความสุขที่ทำให้โรคปวดหัวไมเกรนหายไปโดยไม่ต้องใช้ยาเหมือนแต่ก่อน
“ส่วนมากเราทำอะไรเพื่อตัวเอง โดยมองข้ามว่าเราสามารถหาความสุขได้จากสังคมรอบข้าง มันเป็นความสุขจากการเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ พอได้ให้แล้วจะรู้สึกว่าใจเราเต็มกว่าเรารอรับอย่างเดียว พอเห็นคนอื่นลำบากกว่าเรา เขาแย่กว่าเรา แค่เราให้สิ่งที่เราให้ได้ อาจจะไม่ใช่เงินทองหรือสิ่งของ ให้ความสุข ให้ความรู้ ให้กำลังใจ เขาก็มีความสุขแล้ว มันเป็นความสุขที่ซื้อด้วยเงินไม่ได้ การทำเพื่อคนอื่นบ้าง ทำให้เรารู้จักกับความสุขที่เราไม่เคยได้รับมาก่อน” โบว์กล่าวน้ำตาคลอเบ้า
“เป็นความสุขส่งตรงถึงใจ ไม่ต้องผ่านกายก่อนแล้วถึงมาที่ใจ มันเป็นการให้ตัวเองด้วย ไม่ใช่เรามามอบให้เขานะ สุดท้ายเขามอบให้เรา เรากลับเป็นคนได้ เหมือนกันอย่างนั้นทุกครั้งที่มา สิ่งที่กลับมามากกว่าที่เราให้อีกนะ เรารู้สึกอิ่ม รู้สึกว่าเรามีคุณค่า “ โว่ นักธุรกิจเจ้าของโรงงานกล่าวเสริม เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มจิตอาสาที่ทำความฝันของยายนงเป็นจริง และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขยายเป้าหมายการทำงานของกลุ่มจากคนตายและผู้ยากไร้ สู่ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือโดยไม่จำกัดฐานะ
“โปร่งใส-ตรวจสอบได้” คือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
กลุ่มจิตอาสาที่ทำงานเพื่อผู้อื่นมีมากมาย แต่กลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำแตกต่างจากกลุ่มจิตอาสาเหล่านั้น ที่ความสม่ำเสมอและการมีส่วนร่วม เมื่อลงมือทำ ลองผิดลองถูก แล้วนำประสบการณ์ที่ได้มาหาแนวทางปฏิบัติจนเกิดเป็นข้อกำหนดร่วมของกลุ่ม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทั้งจากสมาชิกในกลุ่มและจากสาธารณะ
ดังเช่นกรณีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ศพไร้ญาติกรณีหนึ่ง ที่สุดท้ายพบว่าผู้ตายมีฐานะมีบุตรชายเป็นถึงปลัดอำเภอ เนื่องจากผู้รับข่าวไม่ได้เช็คข้อมูลในพื้นที่ กรณีนี้นำมาสู่การวางกฎระเบียบว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือ โดยเมื่อมีผู้ร้องขอความช่วยเหลือ จะติดต่อเครือข่ายในชุมชนนั้นๆ ช่วยตรวจสอบว่าสถานะของผู้ตายว่าเข้าเงื่อนไขความช่วยเหลือหรือไม่ และต่อมาระบุว่าทางกลุ่มจะให้ความช่วยเหลือเป็นสิ่งของ แทนการให้เงิน
การสร้างองค์กรที่สมาชิกและสาธารณะสามารถตรวจสอบการทำงานและการใช้เงินบริจาคได้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ ปัจจุบันกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำมีเพจทางเฟสบุ๊คชื่อจุติสุขาวดี เป็นช่องทางการสื่อสารเพื่อแจ้งกิจกรรม การรับบริจาค และชี้แจงการใช้เงินบริจาคอย่างสม่ำเสมอ
“เราทำจริง โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ละศพใช้เงินเท่าไรก็รายงานในเฟสบุ๊ค พอเงินขาด ก็มีคนโอนมาให้ เราใช้ความน่าเชื่อถือจนซื้อโลงเย็นได้ พอมีโครงการก็จะไปบอกแม่ค้า แล้วแบกโลงเย็นไปที่ตลาด แม่ค้าก็ช่วยบริจาค ขอบริจาคแป๊บเดียวได้สี่หมื่นบาท ส่วนเกินใช้ซื้อโลงธรรมดาเก็บไว้ แล้วรายงานการยอดบริจาคแต่ละครั้งในเพจ เดี๋ยวนี้พอมีศพก็จะมีคนบริจาคเจ้าประจำ” แคท สมาชิกกลุ่มรายหนึ่งกล่าว
ปัจจุบันมีผู้คนเข้ามาร่วมกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำตามกิจกรรมที่สนใจและดึงเพื่อนในกลุ่มของตนเองมาร่วม เนื่องจากไม่ใช่องค์กรที่มีระบบและเป็นทางการจึงไม่เคยมีการนับจำนวนคน แต่ที่แน่นอนคือทุกครั้งที่มีกิจกรรม กลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำไม่เคยขาดคนและความช่วยเหลือ
นอกจากนี้กลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำยังได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องจากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งด้านงบประมาณ และกำลังคนซึ่งเป็นเจ้าหน้าของเทศบาลและอีกบทบาทหนึ่งคือเป็นจิตอาสา ซึ่งจะนำเสนอในบทความต่อไป
ภาพ ตัวอย่างการรายงานค่าใช้จ่ายงานศพ ลงในช่วงโปร่งใสตรวจสอบได้
ก้าวต่อไป...สร้างชุมชนกรุณาโดยชุมชนเพื่อชุมชน
“ผลที่ได้เกินคาด มีจิตอาสาลงทุกชุมชน และแต่ละทีมทำดีมากกว่าที่คิด แต่สิ่งที่ผมคาดหวังคือชุมชนทำกันเอง เราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งแนวคิดและการปฏิบัติ ภาพในฝันคือในชุมชนเขาสามารถดูแลกันเองได้ เป็นชุมชนกรุณาของตัวเขาเอง” โว่ จิตอาสาถึงความคาดหวังของกลุ่ม
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการอบรมอาสาสร้างสุขปลายทางของชีวิตให้แก่ตัวแทนชุมชนต่างๆ และประชาชนทั่วไปที่สนใจในเขตเทศบาลกาฬสินธ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเห็นความสำคัญของการวางแผนชีวิตช่วงท้ายและแนวทางดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผ่านกิจกรรมเกมไพ่ไขชีวิต โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดงานจากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
พวกเขาหวังว่าการสร้างเครือข่ายจิตอาสาเพื่อดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในชุมชนซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วจะประสบผลสำเร็จและเป็นแม่แบบให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศไทย “เราคุยกันตั้งแต่ต้นเลยว่าถ้าเราเริ่มที่นี่ได้ เรายินดีให้ที่อื่นนำไปเป็นโมเดล เขาจะทำดีกว่าก็ไม่เป็นไร” จ๊ะเอ๋ หนึ่งในผู้ผลักดันและขับเคลื่อนสำคัญของโครงการนี้กล่าวถึงความคาดหวังที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มทำโครงการ
แน่นอนว่าหากกลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำยังคงร่วมมือกันอย่างแข็งขัน และได้รับการหนุนเสริมทั้งจากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์และภาคประชาชน ความหวังของพวกเขาจะเป็นจริงในไม่ช้าและไม่ยากเย็นนัก
เปิดเส้นทางจิตอาสาเมืองน้ำดำ
● ห้องสมุดตลาดโต้รุ่ง เมื่อสิบปีที่แล้ว “จ๊ะเอ๋” หญิงสาวที่เกิดและเติบโตที่กาฬสินธุ์ แต่ไปรับราชการในจังหวัดยะลา เมื่อย้ายกลับมารับราชการที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เธอเริ่มต้นทำโครงการห้องสมุดในตลาดโต้รุ่งให้แก่ลูกหลานพ่อค้าแม่ค้าที่ติดตามพ่อแม่มาขายของไม่มีที่เล่นหรือทำการบ้านหลังเลิกเรียน โดยขอความรู้ด้านการจัดการห้องสมุดจากห้องสมุนสวนดอกคูณ สมาคมไทสร้างสรรค์ จังหวัดขอนแก่น จากนั้นประกาศหานักดนตรีเพื่อเล่นดนตรีเปิดหมวกระดมทุนซื้อหนังสือ เมื่อมีหนังสือครบ ก็ประกาศหาคนช่วยวาดรูปผนังห้องสมุด ทำให้เป็นห้องสมุดรูปการ์ตูนทั้งห้อง เด็กๆ อยากเข้าไปใช้
● อุ่นกายไม่หนาวใจ ในฤดูหนาวปีเดียวกัน กลุ่มจิตอาสาเล่นดนตรีเปิดหมวกรับบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องกันหนาวและรับบริจาคเสื้อผ้ามือสองเพื่อนำไปแจกนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ และดำเนินกิจกรรมมาจนถึงทุกวันนี้
● ช่วยผู้ประสบภัย เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่บริเวณรอยต่อกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด เพราะเขื่อนแตก ในปีพ.ศ.2545 กลุ่มชมรมออฟโร้ดและชมรมถ่ายภาพนำรถและกำลังคนไปช่วยยกของ ยกกระสอบทราย แจกอาหารแก่ผู้ประสบภัย และเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในตัวเมืองกาฬสินธุ์กลุ่มจิตอาสาเมืองน้ำดำก็ระดมพลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกครั้ง และขยายความช่วยเหลือไปต่างประเทศแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เนปาลและผู้ประสบภัยท่วมเพราะเขื่อนแตกที่สปป.ลาวเมื่อเร็วๆนี้ด้วย
● จุติสุขาวดี เป็นกลุ่มจิตอาสาที่ช่วยเหลือจัดงานศพแก่ผู้ยากไร้และไร้ญาติอย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือกำเนิดในปีพ.ศ. 2560 เมื่อเด็กเร่ร่อนคนหนึ่งจมน้ำตายและถูกนำไปเผาในวันเดียวกันโดยไม่มีการทำพิธีกรรมใดๆ จุติสุขาวดีทำหน้าที่จัดหาสถานที่และสิ่งของจำเป็นสำหรับงานศพ เช่น โลง เครื่องไทยธรรม ดอกไม้จันทน์ รวมทั้งเป็นแรงงานเพื่อช่วยในงานศพ เช่น เสิร์ฟน้ำ เป็นพิธีกรทางสงฆ์ ถือผ้าไตร แจกดอกไม้จันทน์ เป็นต้น จากนั้นมีกิจกรรมขยายผล เช่น สอนพับดอกไม้จันทน์จากสลากกินแบ่งรัฐบาลในโรงเรียนทั่วไป และโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อนำดอกไม้จันทน์มาบริจาคในงานศพ
● สุขสุดท้ายที่ปลายทางชีวิต ต่อยอดจากโครงการจุติสุขาวดี จากการช่วยเหลือคนตายมาสู่การช่วยเหลือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเน้นที่ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพึง เช่น ผู้ป่วยติดเตียงและญาติ โดยจัดอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและการเผชิญความตายอย่างสงบ 3 วัน แล้วตั้งกลุ่มจิตอาสาเยี่ยมบ้านผู้ป่วย จากนั้นขยายผลให้คนในชุมชนเข้าร่วมอบรมอาสาสร้างสุขปลายทางของชีวิต โดยมีเป้าหมายให้คนชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมแห่งความกรุณาในชุมชนของตนเอง