parallax background
 

ดูแลด้วยหัวใจ ใส่ใจระยะสุดท้ายของชีวิต

ผู้เขียน: วรรณวิภา มาลัยนวล หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมาทีมงานโครงการความตาย พูดได้ เครือข่ายพุทธิกา ได้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมในงาน “สานพลังภาคี สู่ สังคมสูงอายุ ศตวรรษที่ 21” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) สำนักงานกองทุนสนับสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงแรงงาน

ในงานนี้ โครงการความตาย พูดได้ นำการอบรมเชิงปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและผ่านประสบการณ์ตรง ในหัวข้อ “ดูแลด้วยหัวใจ ใส่ใจระยะสุดท้ายของชีวิต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่จัดอบรมให้กับผู้สนใจทั่วไป มาเปิดห้องย่อยเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แบ่งปันร่วมกัน

ดูแลด้วยหัวใจและรับฟัง
กิจกรรมที่ชวนให้ผู้เข้าร่วมได้ทดสอบการใช้เครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการดูแลความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ นั่นก็คือการรับฟัง เพราะไม่ว่าจะเป็นระยะใดของชีวิต การรับฟังคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสุดท้ายของชีวิตด้วยแล้ว การรับฟังยิ่งสำคัญมาก ไม่เฉพาะกับผู้ที่จะจากไป แต่ผู้ที่ยังอยู่ก็เช่นกัน

ดูแลด้วยกรุณา
กิจกรรม “เปิดตาใน หัวใจเบิกบาน” การปิดประสาทสัมผัสทางตา ทางปาก และทางหู ที่นำพาให้เรียนรู้ทั้งบทบาทของผู้ดูแลและผู้ถูกดูแล แล้วถอดบทเรียนรู้ร่วมกัน เราได้พบว่าความกังวล ความกลัว ความไม่ไว้วางใจ ความตื่นเต้น หรือความรู้สึกด้านลบอื่นๆ เมื่อได้รับการดูแล ให้ความรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น เชื่อมั่นว่ามีความเป็นเพื่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถมอบให้กันได้ ทำให้ความรู้สึกด้านลบลดทอนลง เมื่อได้ใช้เวลาร่วมกัน การใส่ใจด้วยหัวใจแห่งความกรุณา แม้จะไม่ได้สื่อสารเป็นคำพูดใดๆ กลับเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพอีกอย่างที่สำคัญเช่นกัน

ดูแลด้วยความรักที่แท้จริง
กิจกรรมถัดไปที่ชื่อว่า “ความรักที่แท้จริง” หลายคนได้พบว่า ความรักที่เรามีให้กับคนที่เรารัก กับความรักที่เรามีให้ตัวเองนั้น มีแง่มุมที่ชวนให้ฉุกคิดว่า สิ่งที่เราเลือกให้คนที่รัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระสุดท้าย ที่คิดว่าดีที่สุดแล้วนั้น ตรงตามความปรารถนาของเขาจริงหรือไม่? ทั้งๆ ที่เราคิดว่ารู้จักเขาดีพอแล้วก็ตาม แต่กิจกรรมนี้ช่วยทำให้เราทุกคนได้ตระหนักว่า การเลือกของแต่ละบุคคลนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของชีวิตเลือกได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดนาน เพราะแต่ละคนรู้ตัวว่าพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะจากไป และที่สำคัญคือ การเลือกของเราจะไม่ทิ้งภาระให้คนในครอบครัวต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความรัก แล้วสร้างความขัดแย้งในภาวะวิกฤตให้เกิดขึ้นในครอบครัว

ผู้ป่วยระยะท้ายบางท่านได้ทิ้งบทเรียนของการจากพรากไว้อย่างน่าสนใจ ผู้เข้าร่วมอบรมท่านหนึ่งเล่าว่า มีอาชีพเป็นพยาบาล คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เธอได้รับความไว้วางใจให้ดูแล พี่น้องคุยกันเรื่องการบอกข่าวร้าย และตกลงกันว่าไม่บอกผู้ป่วย ทำให้รู้สึกผิดที่ไม่ได้บอกท่าน หลังจากนั้นคุณแม่ก็จากไป วันรุ่งขึ้นคุณพ่อรู้ข่าว ท่านก็สิ้นชีวิตตามคุณแม่ไป การไม่บอกผู้ป่วยที่เป็นคุณแม่และการไม่ได้เตรียมความพร้อมให้คุณพ่อ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดที่สุดของคุณแม่ ทำให้ได้บทเรียนว่า การเตรียมความพร้อมนั้นสำคัญมาก ต้องรวมถึงคนใกล้ชิดที่มีความผูกพันกันอย่างมากด้วยเช่นกัน

ดูแลทุกความสัมพันธ์
กิจกรรมสุดท้ายที่ชวนให้เห็นมุมมองความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นเรื่องของการช่วยสะสางสิ่งที่ค้างคาใจในความสัมพันธ์แง่มุมต่างๆ อันจะเป็นผลต่อเนื่องนำไปสู่การตายดี ตายสงบได้ ตัวอย่างผู้เข้าร่วมอบรมในบทบาทของคุณแม่ท่านหนึ่ง ได้แบ่งปันประสบการณ์เรื่องความรู้สึกผิดกับลูก คือเธอได้พบสมุดบันทึกของลูกที่เขียนว่า ลูกต้องทำในสิ่งที่เธอซึ่งเป็นแม่อยากให้ทำ ทั้งที่ไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง เธอจึงรู้สึกว่าตนเองคิดผิด อยากจะขอโทษลูก และบอกรักลูก

ในอีกมุมหนึ่ง ผู้เข้าร่วมอบรมอีกท่านหนึ่งบอกเล่าถึงรู้สึกผิดกับแม่ เสียใจที่เคยดุแม่ แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานมากแล้วก็ตาม คำพูดที่เคยดุแม่ยังคงติดค้างอยู่ในใจ จนถึงตอนนี้รู้ว่าไม่ควรดุท่าน ควรรู้คุณแม่ และความเป็นแม่เป็นเราที่มีอยู่ในตัวเรา

ไม่ว่าการบอกรัก การขอโทษ การขอบคุณ หรือคำใดๆ ก็แล้วแต่ ล้วนเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถกระทำต่อกันได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องรอให้ถึงวาระสุดท้ายแล้วจึงทำ การแบ่งปันประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่าน เปรียบดังครูที่สอนให้เราได้เรียนรู้ และไม่ทำพลาดดังที่มีคนเคยทำมา ย่อมจะมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิตที่เหลือได้เป็นอย่างดี

ใส่ใจในระยะท้ายของชีวิต
ผู้เข้าร่วมบอกกับเราว่า วันนี้ได้เรียนรู้ว่า ที่ผ่านมาเคยคิดว่าเตรียมตัวไปบ้างแล้ว แต่พอมาอยู่ที่นี่ทำให้คิดใหม่ว่าต้องกลับไปทำอะไรอีกเยอะ ต้องไปถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อน และที่สำคัญเรามีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ด้วยความรู้ที่เรามี เริ่มต้นที่ครอบครัวของเราและคนรอบข้าง

กิจกรรมจบลงด้วยดี ต้องขอบคุณสำหรับช่วงเวลาดีๆ ที่ผู้เข้าร่วมอบรมมาเรียนรู้ และมีประสบการณ์ร่วมกัน มีผู้ทิ้งท้ายไว้เตือนใจว่า สิ่งสำคัญคือ สิ่งที่เราทำให้เขาหรือใครก็ตาม พยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่าให้เป็นแผล หรือหากเป็นแผลแล้ว ก็ต้องยอมที่จะปล่อย เพราะหาไม่แล้ว อาจเกิดสภาพจิตใจซึมเศร้าในวาระสุดท้ายได้เช่นกัน สิ่งที่เป็นอดีต เราก็ควรวางอดีตลง ถ้าเป็นไปได้ ทำสิ่งที่ทำอยู่เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงข้อมูล ความจริง และสัจธรรมเรื่องของความตายกับความหมายของชีวิตให้มากขึ้น

[seed_social]
20 เมษายน, 2561

ทำพิธีศพโดยไม่มีโลงได้หรือไม่

คุณพ่อเป็นมะเร็งที่สมองและต้องการบริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว เงื่อนไขของโรงพยาบาลคือ ถ้าเป็นมะเร็ง จะบริจาคร่างกายสำหรับแพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด ซึ่งจะต้องแจ้งภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังเสียชีวิต จะนำศพไป โดยให้ตัดผม ตัดเล็บไว้ได้
5 เมษายน, 2561

วิธีปฏิบัติเพื่อประคองจิตในช่วงวิกฤติของชีวิตจะทำอย่างไร

ผู้ใหญ่สามารถฝึกโดยอาศัยสมาธิได้ เช่น กำหนดจิตอยู่ที่พระพุทธรูป ตามลมหายใจ เปิดเพลง เทปทำวัตร สวดมนต์ มีบรรยากาศที่สงบ
3 เมษายน, 2561

มรณานุสติในงานศิลปะ

Memento Mori หรือ “มรณานุสติ” เป็นหัวข้อเก่าแก่ยาวนานในงานศิลปะตะวันตก ทว่าศิลปะที่เตือนให้ระลึกถึงความตายเป็นศิลปะที่ขัดแย้งกับตัวเอง