เคยลิ้มรส ‘ความขมขื่น’ ไหมคะ?
ช่วงเวลาแห่งความขมขื่น คือเมื่อเรา ‘พลาด’ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตขณะที่หัวใจยังเต้นได้...เรื่อย เรื่อย เรื่อย เรื่อย…
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายที่สะท้อนว่าสังคมไทยกำลังป่วย หนึ่งในนั้นคือการฆ่าตัวตายผ่านการถ่ายทอดสดหรือที่เรียกว่า ‘เฟซบุ๊กไลฟ์’ มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้ตายส่วนใหญ่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ด้วยเหตุที่รู้สึกตัวเองไร้ค่า มักตำหนิตัวเอง ที่สำคัญที่สุดคือ รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย เพราะเชื่อว่าการตายคือการทำให้ทุกอย่างจบ
หากเราลองสำรวจคนรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่คนแปลกหน้าที่เจอตามท้องถนน ก็มีความเป็นไปได้ว่า ‘อาจ’ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะด้วยสังคมก้มหน้าเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น การถ่ายทอดอารมณ์ การระบายความรู้สึก ‘ระหว่างมนุษย์’ เกิดขึ้นน้อยลง คนส่วนใหญ่เมินการสัมผัสมือระหว่างสมาชิกในครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อน ที่สามารถมอบไออุ่นยามเราโหยหาที่พึ่งพิงทางใจ แต่หันหน้าผูกมิตรกับโลก ‘เสมือนมนุษย์’ ผ่านเครื่องมือสื่อสารหลากหลายประเภทที่อยู่ในมือ เลือกระบายความรู้สึกด้วยการโพสต์ข้อความ ความคะนองของคนในโลกออนไลน์ อารมณ์ชั่ววูบลื่นไหลไปพร้อมกับความสะดวกของการโพสต์คอมเมนต์ต่างๆ โดยไม่มีใครกลั่นกรอง อาจทำให้โลกของคนคนหนึ่งเปลี่ยนไป และอาจจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย เมื่อประมวลสาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตาย มักเกิดจากความผิดหวังเรื่อง ‘ความรัก’ ซึ่งไม่ใช่เกิดเฉพาะในหมู่วัยรุ่นเท่านั้น หากยังสามารถเกิดกับผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้วเช่นกัน
ความรัก กับ ความขมขื่น เป็นคู่แท้ แต่…ไม่เสมอไป
เมื่อครั้งทำงานอาสาข้างเตียงดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย มีโอกาสได้ฝึกทักษะมากมาย ทักษะอย่างหนึ่งที่เหล่าอาสาต้องเรียนรู้คือ การฟัง…ไม่ใช่ฟังในสิ่งที่เขาพูด…แต่ฟังในสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาด้วย ผู้ป่วยที่เจอครั้งนั้นเป็นคุณป้าอายุราว 50 กว่า พบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ หลังจากที่รักษาตัวอยู่สักระยะ จึงตัดสินใจรักษาแบบประคับประคอง โดยผู้ที่ตัดสินใจครั้งนี้คือคุณป้าเอง เนื่องจากห้องพักผู้ป่วยเป็นห้องรวมจึงมีทั้งผู้ป่วยและญาติอยู่ในห้องจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือผู้ป่วยที่ ‘ไม่ใช่’ ระยะสุดท้าย เข้ามาพักรักษาตัวเพราะ ‘ฆ่าตัวตาย’
ความไม่กลัวตาย อาจมิใช่ความกล้าหาญที่สุด หากเป็นการเผชิญหน้ากับปัญหาที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทุกรูปแบบอย่างไม่ครั่นคร้าม เพราะขึ้นชื่อว่า ‘ชีวิต’ ก็ไม่ต่างอะไรกับจานสีที่เต็มไปด้วยหลากสีสันให้จิตรกรเลือกจะเสกงานศิลป์ผสมผสานส่วนที่งามและไม่งามเข้าด้วยกัน
‘เด็กคนนี้กินยาล้างห้องน้ำ’ คุณป้าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเริ่มเล่าความเป็นมาของ ‘เพื่อนข้างเตียง’ ให้ฟังด้วยสีหน้าเศร้า โดยมีคุณแม่ของผู้ป่วยนั่งร้องไห้อยู่ใกล้ๆ เตียงคุณป้า เพราะ ‘ลูกร้องไล่’ เมื่อคนเป็นแม่ไม่มีที่จะไป แต่ด้วยความรักและห่วงสายเลือดตนเอง จึงจำใจยอมถอยห่างออกมาระยะหนึ่งเตียง ไม่นานนัก ‘สองคุณแม่’ จึงเริ่มคุยกัน
‘ยอม’ ไม่ได้แปลว่า ‘แพ้’ แต่หมายถึง ‘แคร์’ ต่างหาก
คนหนึ่งบอกว่าตัวเองกำลังเตรียมตัวตายอย่างไร ขณะที่อีกคนหนึ่ง ‘กระซิบ’ ระบายความรู้สึก ‘ตายทั้งเป็น’ ให้อีกฝ่ายหนึ่งฟัง และเล่าว่าลูกสาวมีอาการซึมเศร้าหลังจากที่เลิกกับคนรักที่คบกันมาเกือบสิบปี โชคดีที่ตนเข้าไปในห้องนอนลูกสาวทัน เพราะตอนเข้าไปเห็นมือหนึ่งลูกกำลังยกขวดน้ำยาล้างห้องน้ำดื่ม มือหนึ่งถือโทรศัพท์มือถือหันหน้าจอมาหาตัวเอง ระหว่างที่นั่งรับฟังการสนทนาของผู้เป็นแม่ทั้งสอง สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือผู้ป่วยคนนี้ไม่ยอมปล่อยให้โทรศัพท์มือถือห่างจากมือเลย คล้ายๆ กับว่ากำลังรอให้ ‘ใครคนนั้น’ โทรมาหา สายตาเหม่อลอยจ้องอยู่แต่ที่หน้าจอ มีรอยช้ำที่นิ้วนางด้านซ้ายคล้ายกับเคยถูกรัดด้วยวงแหวนมาเป็นระยะเวลานาน แต่ตอนนี้...มีแต่นิ้วเปล่าไร้เครื่องประดับ
‘แม่พี่เหรอ’ เป็นประโยคแรกที่หลุดออกมาจากผู้ป่วยวัยเยาว์คนนี้ ไม่ใช่แต่ผู้เขียนที่กำลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้คุณป้าจะตกใจจากเสียงที่ทักทายมาจากด้านหลัง แต่คุณแม่ทั้งสองก็หยุดการสนทนาลงชั่วขณะ หลังจากช่วยคุณป้าแต่งตัวและบีบนวดตามตัว เพราะเมื่อนอนติดเตียงนานๆ จึงเริ่มมีอาการปวดเมื่อยโดยเฉพาะช่วงขาที่บวมมากกว่าเดิม จึงกลับมานั่ง ‘ตอบคำถาม’ ตามแต่ผู้ป่วยคนนี้ต้องการรู้ โดยเฉพาะกิจกรรม ‘อาสาข้างเตียง’ สลับกับการเป็น ‘ผู้ฟัง’ ตามที่อีกฝ่ายอยากระบายความในใจ
‘เราใช้มือทำอะไรกันได้บ้าง’ ผู้เขียนเริ่มชวนคุย พอเห็นอีกฝ่ายเริ่มเงียบ จึงชวนให้ใช้จินตนาการไปเรื่อยๆ ช่วงแรกเป็นช่วงของการเงียบสนิท ทุกอย่างถูก ‘แช่แข็ง’ เพราะนอกจากจะไม่ได้คำตอบแล้ว ยังเห็นสายตาจ้องมองไปที่นิ้วนางข้างซ้ายแทนหน้าจอมือถือที่ดับไปสักพักเพราะแบตเตอรี่หมด หากทุกสถานที่มีเรื่องราวบอกกล่าวกับเรา ห้องพักผู้ป่วยก็ไม่ต่างกัน เมื่ออยู่ในความเงียบพักใหญ่ ผู้ป่วยคนนี้เริ่มมองรอบๆ ตัวเอง อย่างช้าๆ เหมือนกำลังใคร่ครวญไตร่ตรอง ไม่ช้า จินตนาการก็เริ่มฟื้นคืนมามีชีวิตอีกครั้ง พอเห็นลูกสาวเริ่มพูดคุยมากขึ้น ผู้เป็นแม่จึงค่อยๆ ย่องเดินอ้อมมาทางด้านหลังผู้เขียน เป็นความใกล้ที่ยังคงรักษาระยะไกลเพียงแค่เอื้อม
‘แล้วตอนนี้ล่ะ’ ผู้เขียนเริ่มถาม
คราวนี้จินตนาการเริ่มละลายลง อย่างช้า ช้า…มือที่ปราศจากวงแหวน และว่างเปล่าจากโทรศัพท์มือถือค่อยๆ เอื้อมมือมาข้างหน้าทำท่า ‘ขอมือ’ ผู้หญิงชราคนเดิมที่ยืนรออยู่เช่นกัน
มือบางมือ ก็ไม่ต้องร้องขอ เพราะพร้อม ‘ยื่นให้’ เสมอ
ความผิดพลาดของคนเรา มีอยู่เพียงเรื่องเดียว คือ ไม่รู้ว่าเรื่องใด ‘ไม่ควร’ พลาด
โชคดี ที่เราทุกคนล้วนมีครูคนสำคัญสองคน คือ
ครูวิชา ‘จินตนาการ’ ที่สอนว่าเราทุกคนล้วนมีสิทธิ์พลาดได้ และ
ครูวิชา ‘ศิลปะ’ ที่สอนเราว่า ‘ในชีวิตหนึ่ง’ ควรจะ ‘เก็บ’ ความผิดพลาดอันไหนไว้…เป็นบทเรียน
หากคุณพอมีเวลาให้กับตัวเอง บางทีอาจลองพิจารณาใคร่ครวญว่าใน ‘ขณะนี้’ คุณกำลังทำอะไร ‘พลั้งพลาด’ กับชีวิตที่ได้มาบ้าง…ขณะนี้! ที่ไม่ใช่ พรุ่งนี้
[seed_social]