parallax background
 

เบาใจ…สบายกาย

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

ทุกวัน..มีคนเสียใจเพราะ ‘ความรัก’ แต่ไม่ใช่เพราะ ‘คนพิเศษ’

ความรักมักวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเราเสมอ จะเรียกว่าตลอด 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ ถ้าไม่ได้เป็นฝ่ายรักเขา ก็เป็นฝ่ายถูกรัก ยิ่งใครเป็นคนชอบเขียนไดอารีประจำวันและเกิดรักใครขึ้นมาสักคน รับรองว่าชื่อของเขาหรือเธอจะต้องถูกเขียนลงไปแทบทุกหน้าแน่นอน น่าเสียดายที่ชื่อของ ‘คนที่รักเรา’ กลับไม่เคยปรากฎในไดอารีของเราเลยแม้แต่ครั้งเดียว …ไม่ใช่เพียงเพราะเราไม่ได้ใส่ใจคนคนนั้น แต่อาจเพราะ ‘เราไม่รู้’

เป็นความสุขอย่างมากที่ตอนนี้มีไดอารีประเภทหนึ่งที่เราสามารถเขียนชื่อ ‘คนที่รักเรา’ ลงในบันทึก และเรายังสามารถตรวจสอบด้วยว่าคนนั้นเขารักเราจริงไหม หรือเราแค่คิดไปเอง…ไดอารีนั้นชื่อว่า ‘สมุดเบาใจ’

อะไรคือสมุดเบาใจ?

สมุดเล่มน้อยที่ทั้งหน้าตาและขนาดพกพา ชวนให้นึกถึงสมุดพกประจำตัวนักเรียนยามเป็นเด็กตัวน้อย คือรูปแบบหนึ่งของเอกสารแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 นอกจากจะช่วยวางแผนและสื่อสารความต้องการของเจ้าของสมุดเล่มนี้ให้กับครอบครัวและทีมสุขภาพได้รับรู้แล้ว ยังช่วยลดข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวและทีมแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา นอกจากนี้ยังให้ความรู้ในประเด็นการดูแลสุขภาพช่วงท้ายและวางแผนการดูแลรักษาล่วงหน้า รวมไปถึงการจัดการร่างกายและงานศพอีกด้วย

ที่สำคัญที่สุดคือ ‘ชื่อผู้แทนการตัดสินใจด้านสุขภาพ’ คือ ‘คนพิเศษ’ ที่เจ้าของสมุดเบาใจจะเป็นผู้เลือกให้เป็นผู้ตัดสินใจแทนเรื่องการดูแลสุขภาพและเรื่องอื่นๆ ในยามที่เจ้าของสมุด…เข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต…รักษาไม่หาย…สื่อสารไม่ได้

ทุกวัน...มีคนเสียใจเพราะ ‘ความรัก’ แต่ทุกวันคือโอกาสในการแสดงความรัก

‘สมุดเบาใจ’ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงบอกสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น แต่เขียนขึ้นเพื่อ… คนรอบข้าง….ที่ผู้ป่วย ‘รัก’ ตั้งแต่สมาชิกครอบครัว แพทย์ พยาบาล และทุกๆ คนที่ช่วยดูแลประคับประคองผู้ป่วยดุจ ‘เพื่อนทุกข์’...ว่า…

“ที่รัก…เธออย่าโศกเศร้ากับสิ่งที่ฉันกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้เลย เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติเท่านั้น ก่อนที่ฉันจะอำลาโลกนี้ไป สิ่งเดียวที่ฉันปรารถนาจะได้เห็นจากเธอคือ ‘แววตายิ้มได้กับลักยิ้มบนพวงแก้ม’… เพราะสองสิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า เธอกำลังมีความสุขด้วยสามารถยอมรับธรรมชาติอันจริงแท้ของ ‘ตัวฉัน’ ในวาระสุดท้าย…อย่างไม่มีเงื่อนไข”

ความ ‘เบาใจ’ ของเจ้าของสมุดจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากคนรอบข้างยังมีความ ‘หนักใจ’ กับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

‘ความรัก’ มีอำนาจเยียวยาและเปลี่ยนสภาพการณ์รอบตัวเรา เป็นพลังงานที่ช่วยให้จิตใจเราเข้มแข็ง พร้อมส่งพลังให้เราดูแลผู้อื่นและสรรพชีวิตต่างๆ ให้มีความสุขสงบอย่างที่พลังงานใดๆ ในโลกนี้ไม่สามารถทดแทนได้เลย

ในบรรดาข้อความที่ระบุใน ‘สมุดเบาใจ’ เพื่อให้เจ้าของทำเครื่องหมายถูก หรือเติมคำในช่องว่างนั้น มีข้อความที่บอกถึงสิ่งที่เจ้าของสมุดต้องการให้คนรอบข้างปฏิบัติกับตน อาทิ

…ฉันอนุญาตให้เข้าเยี่ยมเฉพาะรายชื่อต่อไปนี้ หรือมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้เท่านั้น
..ฉันต้องการให้มีคนย้ำเตือนความดีงามที่ฉันเคยทำ ต้องการให้คนที่ฉันรักพูดสิ่งดีๆ แก่ฉัน รวมถึงการบอกรัก
..ฉันต้องการการกุมมือ สัมผัส โอบกอด และพูดคุย แม้ฉันจะไม่รู้สึกตัวก็ตาม…

จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ความจริงแล้ว ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต คือห้วงเวลาพิเศษที่บรรจบกันเพื่อให้ ‘เธอ’ และ ‘ฉัน’ ต่างร่วมกันดำรงอยู่ในภาวะแห่ง ‘รัก’ ได้อย่างพิสุทธิ์

…คือความปรารถนาที่จะมอบความสุขให้ผู้อื่น…เมตตา
…คือการเข้าถึงความทุกข์และปรารถนาที่จะขจัดความทุกข์ของผู้อื่น…กรุณา
…คือความปรารถนาที่จะนำความเบิกบานไปสู่ผู้อื่น และสามารถรับความสุขของผู้อื่นมาเป็นความเบิกบานของตัวเอง…มุทิตา
…คือความปรารถนาที่จะยอมรับทุกสิ่งและไม่แบ่งแยก…มิใช่เพิกเฉย…อุเบกขา

‘สมุดเบาใจ’ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงบอกสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น แต่ยังแสดงจุดยืนของเจ้าของสมุดที่ชัดเจน ว่า…

“ที่รัก…ณ วินาทีที่ฉันกำลังเตียมตัวเดินทางไกล…เราทั้งสองฝ่ายต้อง ‘เบาใจ’…
หากการ ‘ได้รับ’ ความรักพิสุทธิ์จากใครคนหนึ่งเป็นสิ่งที่…ให้ ‘พละ’ แก่ฉัน
หากการ ‘ได้รัก’ ใครคนหนึ่งด้วยจิตวิญญาณ… ให้ ‘ความกล้าหาญ’ แก่ฉัน
‘เธอ’ คือ ‘ใครคนหนึ่ง’ ที่ฉันสามารถบอก ‘รัก’ ในวันที่ฉันยังมีสิทธิ์และมีลมหายใจ…ผ่านสมุดเล่มน้อยๆ ที่ชื่อว่า สมุดเบาใจ”

ทุกวัน..มีคนเสียใจเพราะ ‘ความรัก’ แต่...ไม่ใช่ฉัน

เพราะตอนนี้...ฉันรู้ว่า

เธอรักฉัน…

และ ฉันรักเธอ… ‘คนพิเศษ’ ของฉัน…

[seed_social]
11 มกราคม, 2561

ค่อยๆ ว่ากันไป

เคยรู้สึกบ้างไหมว่า มีบางช่วงที่ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหารุมเร้าอย่างไม่คาดคิดและไม่ทันตั้งตัว จบเรื่องนี้มีอีกเรื่องหนึ่งตามมาอย่างติดๆ โดยไม่ทันหายใจ แถมไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่ามันมาได้อย่างไร รู้แต่ว่าชีวิตไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอะไรได้เลย
19 เมษายน, 2561

สูญเสีย ไม่สูญเปล่า

ม.ล.สุภาสินี จรูญโรจน์ คุณครูการศึกษาพิเศษ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง เคยผ่านประสบการณ์การสูญเสียคุณพ่ออย่างกะทันหัน และเสียน้องสาวจากโรคมะเร็งในสมองทั้งๆ ที่ก่อนหน้าจะป่วยน้องสาวเธอเป็นคนแข็งแรงและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ความสูญเสียทั้งสองครั้งแม้ยากจะทำใจ
20 เมษายน, 2561

จดหมายถึงจ้อย…

จ้อยลูกแม่... เกือบครึ่งปีแล้วที่หนูจากไป แต่หนูไม่เคยห่างหายไปจากใจแม่เลยแม้แต่วันเดียว หนูเป็นแมวตัวที่สองจากเจ็ดตัวที่แม่ได้เลี้ยง แต่มีชีวิตยืนยาวอยู่ด้วยกันมาเป็นตัวสุดท้าย