parallax background
 

Present Moment

ผู้เขียน: ชนาพร เหลืองระฆัง หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

เช้านี้ ฉันมาอยู่ที่ Present Moment ร้านกาแฟแถวพระราม 5 เพื่อจัดกิจกรรมเกมไพ่ ไขชีวิต ในนาม Die Card Café’ เป็นครั้งที่ 6 แล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างทยอยมาพร้อมสายฝน ฉันนึกขอบคุณผู้ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ เพราะนี่เป็นเช้าวันอาทิตย์ วันหยุดสุดสัปดาห์ที่น่านอนชื่นชมความชุ่มฉ่ำเย็นสบายอยู่กับบ้านมากกว่าจะออกไปไหน

พอได้เวลา เราก็เริ่มกิจกรรม เข้าวงย่อยแล้วก็แนะนำตัว ผลัดกันหยิบคำถามจากไพ่ แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน ในกลุ่มที่ฉันเป็นผู้นำวง มีทั้งคุณป้าอายุเจ็ดสิบกว่า พี่พยาบาลด้าน Palliative Care เจ้าหน้าที่เขตที่ดูแลเรื่องพินัยกรรม และเพื่อนเจ้าของร้านที่วัยพอ ๆ กับฉันอีก 3 คน เนื่องจากกลุ่มมีความหลากหลาย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างน่าสนใจ กับคำถามที่พาย้อนไปถึงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง มีหลายคนที่นึกไปถึงวันที่ยังมีพ่อแม่ แล้วไม่ได้ดูแลท่านอย่างที่หวังเอาไว้ หรือไม่ได้บอกลากันในวันสุดท้าย ด้วยภาระที่ต้องดูแลครอบครัว เมื่อคนที่เจอเหตุการณ์คล้ายกัน ต่างคนได้ฟังกันแล้ว ก็ให้กำลังใจกันและกัน มีทั้งคนที่พูดในมุมมองของคนที่เป็นลูก มุมมองของคนที่เป็นพ่อแม่ว่ารู้สึกอย่างไร การได้พูดให้ผู้อื่นคลายความรู้สึกผิดในปัญหาเดียวกัน ก็ทำให้ผู้ที่ให้กำลังใจนั้นคลายความรู้สึกผิดในอดีตของตนเองไปด้วย และเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นก็หล่อมหลอมให้เป็นตัวเองที่มานั่งอยู่ตรงนี้ วันนี้

ฉันมองว่าการเล่นเกมไพ่ ไขชีวิต มีเสน่ห์ ตรงที่เปิดให้การพูดคุยมีอิสระมาก หลายประเด็นที่โยนเข้ามาในวงทำให้มองเห็นมุมมองใหม่ ผู้นำวงไม่ได้จัดการอะไรมากเลย เพียงแค่เป็นตัวของตัวเองรับฟัง ตั้งคำถามเพิ่มเติมเมื่อเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว แต่รูปแบบการพูดคุยนี้นำพาเพื่อนในวงให้ได้เป็นผู้ให้ และ ผู้รับจากประเด็นต่าง ๆ ได้ตามแบบของตนเอง เกิดความใคร่ครวญภายในตนเอง และมองเห็นความเป็นธรรมชาติของแต่ละคนที่มีไม่เหมือนกัน เป็นความงดงามของความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในวงไพ่

เมื่อมาถึงคำถามที่ว่าหากมีเวลาในชีวิตเหลือเพียงหกเดือน จะทำอะไรบ้าง น้องคนหนึ่งบอกว่าเคยเห็นคนที่ป่วยและทรมานอยู่นาน จะให้หมอฉีดยาให้ตายไปเลย เผอิญว่าในช่วงนั้นมีประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย อายุร้อยกว่าปีและต้องการจากโลกนี้ไปทำเช่นเดียวกัน เราจึงให้เวลากับการพูดคุยถึงประเด็นนี้อย่างเต็มที่ พี่พยาบาลอธิบายว่า หากเข้าถึงกระบวนการ Palliative Care จริง ๆ จะเข้าใจว่าในด้านร่างกายผู้ป่วยจะไม่ทรมานมากนัก เพราะมุ่งให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเจ็บปวด เพื่อนำไปสู่การตายดีอยู่แล้ว และในประเทศไทยบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถจะฉีดยาให้คนไข้เสียชีวิตได้ หลังจากแต่ละคนเล่าถึงมุมมองของตน ก็มีคนถามความเห็นของฉันว่าถ้าในทางธรรมว่าอย่างไร

ฉันเงียบไปอึดใจ เพราะฉันเองก็เพิ่งจะถามตัวเองซ้ำไปซ้ำมาถึงประเด็นนี้ และรู้ว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่ภาพนั้นยังไม่ชัดเจน จึงเรียบเรียงความคิด แล้วตอบไปว่าขอละไม่พูดถึงในทางธรรม เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และฉันเองไม่มีความรู้มากพอที่จะพูดถึงในแง่นี้ แต่จะขอพูดในมุมมองของตนเอง ว่ามันมีเหตุผลที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งสิทธิ และเสรีภาพ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี แต่มันไม่ได้มาโดด ๆ แต่มาพร้อมความละเอียดอ่อน ในการที่จะเข้าใจถึงเบื้องหลังการตัดสินใจว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร ซึ่งจะออกมาในรูปแบบไหนก็ไม่มีถูกผิดทั้งสิ้น แต่ฉันเชื่อว่าถ้าเราละเอียดกับตัวเองมากพอ ก็อาจจะเห็นว่า ที่บอกว่าอยากจะให้ฉีดยาตายไปเลยนั้นลึก ๆ เป็นเพราะมีความกลัว กลัวที่จะอยู่กับร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม กลัวที่จะเจ็บ กลัวที่จะโดดเดี่ยว แต่ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่จะฝึกใจเรา ให้มีความสุขกับทุกสภาวะที่เกิดขึ้น เราจะเปิดรับด้วยความยินดีได้แค่ไหนกับสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วพาให้จากไปตามธรรมชาติในวันสุดท้าย น้องที่บอกว่าต้องการฉีดยาตายนั่งเงียบ รับฟัง และบอกว่านั่นสิ มันไม่มีถูกผิดหรอก ถึงเวลานั้นเขาอาจจะกลัวเข็มแล้วไม่ให้หมอฉีดยาก็ได้ และเราต่างก็ยิ้มให้กันอย่างยอมรับซึ่งกันและกัน

การได้พูดคุยกันในวันนี้ที่ Present Moment ทำให้ภาพที่ดูมัว ๆ ก่อนหน้านี้ ชัดเจนขึ้น ฉันเชื่อว่าถ้าเรามองเห็นปลายทางแล้ว วันนี้ เราก็จะพาตัวเองเข้าสู่เส้นทางค่อย ๆ เดินไปตามจุดหมายที่จะมีความสุขอยู่กับทุกขณะที่เกิดขึ้นได้ แม้ปลายทางแห่งการฝึกฝนตนเองจะยังอีกไกลมากสำหรับฉัน และในแต่ละวันก็เข้าใกล้ความตายที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่เข้าไปทุกที แต่ก็มีกำลังใจที่อยู่กับปัจจุบันขณะ พร้อมกับกัลยาณมิตรที่มีอยู่มากมาย

[seed_social]
21 เมษายน, 2561

กลับไปหารอยเท้าเมื่อเยาว์วัย

กลับไปหารอยเท้าเมื่อเยาว์วัย เยี่ยมทางที่ดูยาวไกลเวลานั้น ภาพหลายสิ่งดูยิ่งใหญ่อัศจรรย์ คล้ายเป็นโลกความฝันเมื่อผ่านมา
21 พฤศจิกายน, 2560

เกมไพ่ไขชีวิตที่บ้านโพรงกระต่าย

บรรยากาศยามเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2560 ทีมงานโครงการ “ความตาย พูดได้” เดินทางไกล ไปเปิดวงเกมไพ่ไขชีวิต ถึงที่ร้านบ้านโพรงกระต่าย บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
4 เมษายน, 2561

เครือข่ายชีวิตสิกขา

หลังจากที่นิสิตปริญญาโทภาคจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ สาขาชีวิตและความตาย รุ่นแรกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผ่านการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลศิริราชในปี ๒๕๕๐