parallax background
 

สั่งมาแบบนี้ก็แย่น่ะสิ!

วิธีจัดการกับความปรารถนาก่อนตายที่ทำตามได้ยาก

โดย: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

"ศักดิ์ศรี" คือคำที่เราอาจรู้สึกเฉยๆ เวลาที่ร่างกายแข็งแรงดี สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น แต่เมื่อเราเจ็บป่วยอ่อนแอ สั่งอะไรใครไม่ค่อยได้ อยู่ในสถานที่ที่เราไม่ชอบ และความปรารถนาของเราถูกละเลย เมื่อนั้นแหละ “ศักดิ์ศรี” จะกลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมา


การต่อสู้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นหัวข้อรณรงค์ของผู้ป่วยและครอบครัวจำนวนมาก การเก็บสงวนความลับของผู้ป่วย การห้ามถ่ายภาพผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต การไม่เลือกปฏิบัติ เป็นประเด็นตัวอย่างของการดูแลอย่างเคารพศักดิ์ศรีของผู้ป่วย

การให้สิทธิ์ผู้ป่วยแสดงความปรารถนาเกี่ยวกับการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต ผ่านบันทึกเอกสารที่เรียกว่า Living Will ก็เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยเช่นกัน เพราะการที่ผู้ป่วยแสดงความปรารถนาของตนว่าต้องการสิ่งใด ไม่ต้องการสิ่งใด จะช่วยให้คนใกล้ชิดและทีมสุขภาพรับรู้และปฏิบัติตามได้ถูก ความปรารถนาของผู้ป่วยจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบสนอง เอื้อให้ผู้ป่วยหมดกังวล ไร้สิ่งค้างคาใจและจากไปอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม การช่วยให้ผู้ป่วยบรรลุความปรารถนาก่อนตาย เป็นสิ่งที่ควรวางแผนและดำเนินการล่วงหน้า

การร่วมมือช่วยกันวางแผน และดำเนินการให้ผู้ป่วยบรรลุถึงสิ่งที่ปรารถนาล่วงหน้าก่อนตายนี้ เรียกว่า การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า หรือ Advance Care Planning ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care

การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า ครอบคลุมประเด็นการวางแผนสองส่วน คือ ประเด็นทางการแพทย์ และประเด็นด้านจิตใจ-สังคม

ประเด็นทางการแพทย์ เช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ในช่วงท้ายของชีวิต การใช้-การไม่ใช้-การถอดเครื่องช่วยชีวิตเมื่อผู้ป่วยถึงภาวะวิกฤต ส่วนประเด็นทางสังคม-อารมณ์ เช่น คนที่ผู้ป่วยอยากเจอ อาหารที่ผู้ป่วยอยากกิน สถานที่ที่ผู้ป่วยอยากไปเสียชีวิต เป็นต้น

โดยทั่วไป การตอบสนองความปรารถนาของผู้ป่วยเป็นเรื่องดี ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงความสงบ และเอื้อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี

แต่ถ้าความปรารถนาเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ หรือทำตามได้ยากล่ะ บุคลากรสุขภาพและครอบครัวจะจัดการอย่างไร

 

ทำไมความปรารถนาบางเรื่องจึงทำได้ยาก

การดูแลผู้ป่วยในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตย่อมมีความยาก เพราะผู้ป่วยกำลังเดินทางจากสิ่งที่พวกเขารู้จักไปสู่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้อะไรเลย คำอธิบายทางการแพทย์ที่บอกว่า ความตายหาใช่สิ่งใดนอกจากระบบอวัยวะหยุดทำงาน อาจไม่ใช่คำตอบที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้จักความตายและยอมรับความตายได้มากนัก

ตรงนี้เองที่ความเชื่อและวัฒนธรรมจะเข้ามามีส่วนช่วยให้คำอธิบายและนำเสนอภาพชีวิตหลังความตาย ศาสนาโดยส่วนใหญ่บอกว่า มนุษย์มีชีวิตหลังความตาย การตายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภพภูมิใหม่ เป็นประตูสู่สภาวะใหม่ คำอธิบายในเชิงจิตวิญญาณเหล่านี้ มักช่วยผู้ป่วยให้ก้าวผ่านความตายได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ป่วยบางคน การตายจากโลกนี้คือการได้กลับไปอยู่กับพระเจ้า ซึ่งทำให้รู้สึกอบอุ่นและยอมรับได้ง่าย สำหรับบางคน การเชื่อว่าการตายอย่างมีสติจะช่วยให้ไปเกิดในภพภูมิต่อไปที่ดี ย่อมทำให้ผู้ป่วยและญาติช่วยกันประคับประคองสติด้วยเทคนิควิธีต่างๆ หากผู้ป่วยตายด้วยอาการสงบ มีสติ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังย่อมมีความรู้สึกที่ดีเพราะเชื่อว่าผู้ป่วยไปสู่สุคติ

ผู้ป่วยที่มีความพร้อมและเตรียมตัวรับมือกับชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต อาจแสดงความปรารถนาบางประการที่สอดคล้องกับความเชื่อของพวกเขา เช่น ขอให้บาทหลวงมาอ่านพระคัมภีร์ ขอให้ญาติร่วมกันสวดมนต์บทที่ผู้ป่วยคุ้นเคยเพื่อน้อมนำจิตเข้าสู่ความสงบ ขอพบคนที่ผู้ป่วยเคารพนับถือเพื่อบอกลา ความปรารถนาประเภทนี้ทำตามได้ง่าย ขณะที่ครอบครัวก็ยินดีทำตามเพราะสอดคล้องกับพื้นฐานความเชื่อและวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ

แต่ถ้าความปรารถนาที่ผู้ป่วยบอกกล่าว ไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับความเชื่อหรือวัฒนธรรมที่บุคลากรหรือครอบครัวคุ้นเคย นั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำตามได้ยาก จนใครบางคนอาจบ่นว่า "สั่งเสียแบบนี้ก็ได้เหรอ"

ความปรารถนาที่ทำตามได้ยาก เช่น ขอให้ดาราที่ตนชื่นชอบมาเยี่ยม ขอสูบบุหรี่สักมวนก่อนตาย ขอดื่มเหล้าเป็นแก้วสุดท้าย หรือแม้กระทั่งขอดื่มน้ำมนต์จากหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในเครื่องช่วยหายใจ (เผื่อจะมีปาฏิหาริย์) ความปรารถนาเหล่านี้อาจทำให้ทีมสุขภาพลำบากใจ เพราะการทำตามความปรารถนาลักษณะนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

จัดการกับความปรารถนาที่ทำตามได้ยาก

ก่อนจะช่วยให้ผู้ป่วยบรรลุความปรารถนาที่ทำตามได้ยาก บุคลากรและผู้ดูแลหลักควรอธิบายให้ครอบครัวและญาติคนอื่นๆ เข้าใจว่า ความปรารถนานั้นๆ สำคัญเพียงใดต่อผู้ป่วยเสียก่อน และจะดีมากหากความปรารถนานั้นได้รับอนุญาตจากครอบครัวอย่างเป็นเอกฉันท์ผ่านทางวาจาหรือลงชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร

การขอให้โรงพยาบาลส่งตัวกลับเพื่อไปเสียชีวิตที่บ้าน แม้เป็นปรารถนาของผู้ป่วยที่ดูสมเหตุสมผล แต่ทีมสุขภาพควรจะขอคำยืนยันจากคนในครอบครัวด้วยว่า มีความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือไม่ เพราะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านเป็นเรื่องใช้เวลา ใช้เงินทุน และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว หากครอบครัวไม่พร้อมที่จะดูแลจริง เป็นไปได้ว่าผู้ป่วยอาจถูกส่งกลับมาที่โรงพยาบาลอีก และความปรารถนาของผู้ป่วยก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง

การอนุญาตให้ผู้ป่วยที่ติดบุหรี่ได้สูบบุหรี่ในระยะสุดท้ายของชีวิต เป็นเรื่องที่อาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีและได้รับความเคารพ แต่การอนุญาตเช่นนี้ก็มีความเสี่ยง เพราะโรงพยาบาลอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการสุขภาพ และญาติบางคนอาจใช้ประเด็นนี้เป็นข้อฟ้องร้องโรงพยาบาลว่า เพราะเหตุที่โรงพยาบาลอนุญาตให้ผู้ป่วยสูบบุหรี่ จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา บุคลากรสุขภาพจึงควรใช้วิจารณญาณ ชั่งน้ำหนักและหาความสมดุลระหว่างความพึงพอใจของผู้ป่วย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กฎหมาย และความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนในครอบครัว

แต่สิ่งที่ทำแล้วไม่ผิดเลยคือ การหารือร่วมกันระหว่างบุคลากรสุขภาพและครอบครัว เพื่อแจ้งว่าผู้ป่วยปรารถนาสิ่งใด การแจกแจงข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงจากการทำตามความปรารถนาของผู้ป่วย จากนั้นสอบถามความคิดเห็นสมาชิกในครอบครัว

เช่น การแจ้งว่า หากอนุญาตให้ผู้ป่วยดื่มเหล้าสักหนึ่งแก้ว อาจมีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยสำลักและเหนื่อย แต่น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าได้รับการดูแล ส่วนแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป ไม่มีผลต่อภาวะโรคและความเจ็บป่วย เมื่อเสนอข้อมูลแล้วอาจหารือว่าแต่ละคนคิดเห็นอย่างไร

สำหรับความปรารถนาที่จัดการได้ยาก แต่เกิดขึ้นซ้ำๆ (เช่น ขอให้ดารามาเยี่ยม) สถานบริการสุขภาพอาจสร้างแนวปฏิบัติเพิ่มเติมว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้อีก ทีมสุขภาพควรปฏิบัติอย่างไร และสถานบริการสุขภาพควรสนับสนุนมาตรการหรืออุปกรณ์ใดในกรณีที่เกิดคำขอเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาที่อันตรายหรือไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะทำตามได้ บุคลากรสุขภาพควรสื่อสารให้ผู้ป่วยและญาติรับรู้เช่นกันว่า ที่ทำไม่ได้เพราะอะไร ขณะเดียวกัน อาจชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยมีความปรารถนาหลายประการ บางประเด็นอาจทำไม่สำเร็จ แต่บางประเด็นอยู่ในวิสัยที่ทำได้ และบุคลากรยินดีอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ความต้องการนั้นเป็นจริง สำหรับผู้ป่วยและครอบครัว การช่วยตอบสนองความปรารถนาของผู้ป่วย คือกิจกรรมที่เติมคุณค่าและศักดิ์ศรีแก่ผู้ป่วยอย่างมาก ภาพความสุขในช่วงท้ายของชีวิตผู้ป่วย มิใช่เพียงของขวัญสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพประทับใจแห่งชีวิตที่มอบแด่ครอบครัวและชีวิตการทำงานของบุคลากรสุขภาพด้วยเช่นกัน


เรียบเรียงจากบทความ :  Advance planning is essential for respecting last wishes โดย Gitanjali Borse

เอกสารเพิ่มเติม : Gitanjali Borse. (2017, August 14). Last wishes and ethical dilemmas at the end of life. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2017, จาก EHOSPICE

[seed_social]
20 กุมภาพันธ์, 2562

กลุ่มมะเร็งบำบัด…พื้นที่ “ปล่อยของ” ของคนหัวอกเดียวกัน

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งจึงควรเข้ากลุ่มมะเร็งบำบัด? การอยู่ในวงล้อมของคนเจ็บป่วยยิ่งรับพลังลบมากขึ้นใช่ไหม?
16 สิงหาคม, 2566

กัลยาณมิตรชื่อสติ…มรดกธรรมที่ไม่เคยล้าสมัยของ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

สิงหาคมเป็นเดือนแห่งการเกิดและมรณภาพของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต วัดท่ามะไฟหวาน และวัดป่ามหาวัน (ภูหลง) จังหวัดชัยภูมิ
18 เมษายน, 2561

ประวัติศาสตร์

มีเรื่องเล่าจากเรื่องราวครั้งเยาว์วัย เมื่อฝันท่องทะยานไกลเลยขอบฟ้า การเดินทางของจิตวิญญาณธรรมดา ประสบสรรพสิ่งแสวงหาตามค่าควร