parallax background
 

คำตอบ…ในสายลม

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

นิยาม ‘ความสำเร็จ’ ในชีวิตคุณคืออะไร?

แต่ละช่วงชีวิต เราทุกคนล้วนพยายามมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ ตั้งแต่เราเริ่มคลานด้วย ‘เข่า’ เราคงนึกฝันอยากออกก้าวเดินด้วย ‘เท้า’ ของเราเอง ใช่! เท้าของเราเองนี่ละที่ทำให้เรายืน เดิน หรือแม้กระทั่งวิ่งได้โดยไม่ต้องพึ่งมือใครจูงให้เราต้องเดินตาม เพราะเมื่อเป็นอวัยวะของเราเอง เราย่อมสามารถกำหนดอัตราความเร็ว และทิศทางที่ปรารถนา ได้ ยิ่งเมื่อเราโตพอที่จะจับบังเหียนเองได้ ความรับผิดชอบชีวิตจึงตกเป็นของเจ้าของชีวิตนั้นทันที

สิ่งที่หน้าแปลกคือ ทำไม ‘ความสำเร็จ’ ถึงมักถูกจัดวางให้อยู่ ‘ข้างหน้า’ เราเสมอ ทำให้เราต้องคอยออกเดินทางตามหา จนบางครั้งถึงขั้นปีนป่ายตะเกียกตะกาย ‘เล่นของสูง’ ทั้งๆ ที่เมื่อคิดทบทวนอีกที กลับได้คำถามใหม่แทนคำตอบว่า

เรารู้จัก ‘ความสำเร็จ’ จริงหรือ?

‘จงออกไปหาคำตอบด้วยตัวเอง’ คือเสียงที่ร้องตอบออกมาจาก ‘โลกภายใน’

เนื่องจากวันนี้ (วันจันทร์ที่18 ธันวาคม 2560) ผู้เขียนเข้าร่วมกิจกรรมมอบของขวัญผู้ป่วยเด็กเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่ตึก ภปร. ชั้น 9 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จัดโดยเครือข่ายพุทธิการ่วมกับมูลนิธิกระจกเงา จึงมีโอกาสได้เรียนรู้ว่า ‘ครู’ บางครั้งก็มาในรูปแบบของ ‘เด็ก’ ตัวเล็กๆ ที่มีเพียง ‘กู่เจิง’ พิณโบราณของจีนเป็นอุปกรณ์ประกอบการสอนเท่านั้น

ด.ช.ธนวิน ธนพรธวัล นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีจิตอาสา แสดงดนตรี กู่เจิง เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้รับฟัง ณ โถงชั้น G อาคาร ภปร.ได้เขียนจดหมายถึง โรงพยาบาลใจความว่า

“อยากขอสมัครเล่นดนตรีโครงการจิตอาสา ให้กับทางโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทางด้านจิตใจให้ความสุขกับผู้ป่วย และระบุว่า มีความสามารถทางเครื่องดนตรี กู่เจิง สามารถเล่นได้หลายเพลง เช่น เพลงสากล เพลงจีน และเพลงพระราชนิพนธ์ โดยจะมาเล่นในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือ ช่วงวันปิดเทอม เพราะอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมและฝึกการมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น”

มิใช่ท่วงทำนองที่บอกความไพเราะ

หากเป็น ‘จิตวิญญาณ’ ของผู้เล่นที่กำหนดความไพเราะของดนตรี

การบรรเลงดนตรีโบราณโดยเฉพาะทางแถบภูมิภาคเอเชีย การเรียนการสอนจะเน้นเพียง ‘เสียงดนตรี’ และควบคู่ไปกับการถ่ายทอดปากเปล่าจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น การบรรเลงดนตรีจึงถือว่าเป็นความสามารถเฉพาะบุคคลของนักดนตรีที่จะเป็นผู้กำหนดความสั้น-ยาว ความเบา-ความหนัก ของตัวโน้ต เป็นที่เชื่อกันว่าดนตรีคลาสสิกของจีนนั้นเกี่ยวข้อง และมีรากฐานเดียวกันกับลัทธิขงจื๊อ ซึ่งการเล่นดนตรีมีจุดประสงค์เพียงเพื่อสอนปรัชญาการดำเนินชีวิต

ผู้บรรเลงดนตรี คือ ผู้กำหนดอารมณ์ และ ถ่ายทอดความหมายของเพลง ผ่านเสียงพิณล่องลอยมาตามสายลม โดยปราศจากการกำหนดของโน้ตเพลง

แม้การบรรเลงดนตรียังต้อง ‘เป็นอิสระ’ จากตัวโน้ต

แล้วการดำรงชีวิตที่มีลมหายใจเข้าออกจดจ่ออยู่กับความสำเร็จที่อยู่ข้างหน้า…

แต่ไม่รู้ตรงไหนชัดเจน… เราสามารถเรียกว่า ‘ดำรงชีวิตที่เป็นอิสระ’ ได้จริงหรือ?

‘ชีวิต’ ที่ขาด ‘ชีวา’…ไร้ความสดชื่นทางวิญญาณ…

จะเรียกว่า ‘ชีวิต’ ได้อย่างไร

หากเราใช้เวลาทั้งชีวิตตามหา ‘ความสำเร็จ’ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า ‘คืออะไร’

ตอนนั้นเราจะเป็นอย่างไร…ไม่มีใครรู้…ไม่มีใครรู้จริงๆ แม้แต่..ตัวเราเอง

หลังจากที่บรรเลงเพลงจบ เด็กน้อยอายุไม่เกิน 10 ขวบคนนี้ ยกมือไหว้ขอบคุณบรรดาผู้ชมอย่างนอบน้อมที่แม้จะเป็นผู้ป่วย มีทั้งนั่งบนรถเข็นบ้าง หรือนอนบนรถเข็นบ้าง แต่ทุกคนก็ปรบมือให้ด้วยรอยยิ้ม ผู้ใหญ่บางคนเดินเข้าไปพูดคุยเพื่อชื่นชมความสามารถของเด็กน้อยผู้นี้ มีผู้ใหญ่คนหนึ่งกล่าวขอบคุณที่มาทำงานจิตอาสาบรรเลงดนตรีให้ผู้ป่วยและญาติฟัง แถมคำอวยพรทิ้งท้ายว่า

“ขอให้เรียนเก่งๆ ประสบความสำเร็จในชีวิตนะลูกน่ะ”

“ตอนนี้ผมมีความสุข แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จแล้วครับ”

และวันนี้ ‘ขงจื๊อน้อย’ ก็สอนว่า

ความสำเร็จที่แท้จริงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรอวันเวลาข้างหน้าเพราะคนที่กำหนดนิยามความสำเร็จคือ ‘ตัวเรา’ และที่สำคัญอาจไม่ได้มีไว้ให้คนอื่นชื่นชมมากไปกว่า ‘โลกภายใน’ ของตัวเราเอง

วันนี้..คุณรู้จัก ‘ความสำเร็จ’ แล้วหรือยัง?


ข้อมูลอ้างอิง:
ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 23 มีนาคม 2559

[seed_social]
10 มิถุนายน, 2561

เบาใจ ไขชีวิต….ที่ในสวนขวัญ

บรรยากาศร่มรื่น ท่ามกลางแมกไม้เขียวชะอุ่ม ‘ในสวนขวัญ’ สถานที่สงบเงียบราวกับบทกวีที่งดงาม ที่นั้นมีเจ้าบ้านชื่อ อาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม สุภาพบุรุษร่างสันทัด ใบหน้ายิ้มแย้มนุ่มนวล ดวงตาสดใส
25 มกราคม, 2566

เมื่อลูกรักป่วยด้วยโรคร้าย : ห้องเรียนเบาใจ Live

เมื่อลูกรักป่วยด้วยโรคร้าย เป็นความจริงที่ยากจะยอมรับสําหรับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง แตค่ วามเป็นโรคไม่ เลือกวัยว่าเป็นเด็กจะป่วยไม่ได้ เมื่อโรคร้ายมาเยือน
1 พฤศจิกายน, 2563

ชุมชนกรุณา Homemade

เรื่องราวของคุณกอเตย ปัญชดา ผ่องนพคุณ ที่ใช้สมุดเบาใจในการเตรียมพร้อมสู่การตายดีทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง