parallax background
 

การจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
แบบประคับประคอง
ที่ Kerala ประเทศอินเดีย

ผู้เขียน: วรรณวิภา มาลัยนวล หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

ในการประชุม Living Will and Palliative Care Conference ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมแกรนด์ปาร์ค จ.นครศรีธรรมราช ได้รับเกียรติจาก Dr. Suresh Kumar ซึ่งท่านเป็นผู้มีส่วนในการก่อตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) ที่ Kerala ประเทศอินเดีย ตั้งแต่ปี คศ. 2003 ปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่ผู้สนใจด้านนี้จากที่อื่นๆ ได้เข้ามาเยี่ยมชมงาน เพื่อนำไปเป็นต้นแบบการตั้งศูนย์ และท่านยังเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำในการก่อตั้งศูนย์ Palliative care ในหลายๆ ประเทศอีกด้วย ท่านเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ได้สร้างเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง ทั้งในด้านพื้นที่การให้บริการและค่าใช้จ่ายที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงการดูแลแบบนี้ได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต

ในงานนี้ท่านได้ร่วมบรรยายเป็นหลักใน 3 หัวข้อคือ 1) Setting up palliative care services 2) Kerala Model in palliative care / Community volunteer 3) Pathophysiology and assessment of pain

การบรรยายของ Dr.Suresh เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง และ โรคที่รักษาไม่ได้ ที่ยังคงต้องการได้รับการดูแลตลอดชีวิตของเขา ? และเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาไม่ได้แล้ว หลังออกจากโรงพยาบาลไป? คำถามเหล่านี้ชวนให้คิดถึงหลักการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนั่นเอง

ในแต่ละปีมีผู้ป่วยกว่า 30 ล้านคน ที่ต้องประสบกับอาการปวดอย่างรุนแรงและอาการอื่น ๆ โดยไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่การจัดการกับอาการเหล่านี้มีวิธีการที่รู้กันอยู่ แต่น่าเสียดายที่ความรู้เหล่านี้ไปไม่ถึงผู้ป่วยที่ต้องการ แม้จะมีความพยายามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาก็ไม่ได้รับรู้และเข้าถึงเรื่องเหล่านี้

Dr.Suresh ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า แล้วการดูแลแบบประคับประคอง คืออะไร? โดยลองตั้งโจทย์ที่ว่า หากมีผู้ป่วยชาย อายุ 68 ปี ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะแพร่กระจายไปถึงกระดูก ต้องออกจากโรงพยาบาลเพราะว่าการดำเนินไปของโรคนั้น แพทย์ไม่สามารถรักษาได้แล้ว และผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตภายใน 6-9 เดือน ผู้ป่วยมีแผลกดทับ มีอาการปวดไปทั่วทั้งตัว มีความวิตกกังวลตลอดเวลา รู้สึกโดดเดี่ยว และกลัวตาย หากคุณเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ในโรงพยาบาล คุณจะช่วยผู้ป่วยอย่างไร ? คำถามนี้ช่วยให้เรามองการดูแลได้อย่างครอบคลุมทุกมิติของชีวิต ทั้งทางด้านกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาน และนั่นคือองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญสำหรับทุกศูนย์ดูแลผู้ป่วย

ความต้องการพื้นฐานในการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยที่สำคัญคือ
1) ต้องมีองค์ความรู้และทักษะในการจัดการ
2) ต้องมีเวลา และ
3) ต้องมีการสนับสนุนการทำงานเป็นทีม

ปัญหาที่พบกับผู้ป่วยในหลายๆ ด้าน เช่น ทางกายอาจจะได้แก่ อาการหอบเหนื่อย ความปวด ฯลฯ ทางใจอาจจะเป็นเรื่องของความเศร้า ความกลัว ฯลฯ ด้านสังคมเช่น ผู้ป่วยอาจจะอยู่ลำพัง มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ และด้านจิตวิญญาน เช่น ศรัทธาและความเชื่อ เป็นต้น ดังนั้นหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองต้องคำนึงถึงแนวทางช่วยเหลือให้สอดคล้องกับปัญหาเหล่านี้ เช่น รู้วิธีการจัดการกับอาการทางกาย รู้วิธีการพูดคุยเพื่อช่วยคลี่คลายทางด้านจิตใจ รู้และมีข้อมูลการช่วยเหลือด้านสังคม และสุดท้ายคือ รู้ว่าจะช่วยเหลือทางจิตวิญญานได้อย่างไร

ทีมงานก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งทาง WHO ได้กำหนดขั้นต่ำของทีมงานไว้ว่า ต้องประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาล และคนทำงานในชุมชน โดยทั้งหมดจะต้องได้ผ่านการอบรมในด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนี้ทั้งระดับพื้นฐาน ระดับกลางและระดับสูง ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละหน้าที่ สำหรับในด้าน Palliative care การจัดตั้งศูนย์ในพื้นที่บริการนั้น จะเกี่ยวข้องกับเรื่องหลักๆ คือ
1) ด้านกำลังคน โดยรวมถึงคนที่เป็นมืออาชีพทางด้านการแพทย์, คนพื้นที่เช่นครอบครัว จิตอาสา
2) ด้านเงินทุนระดับท้องถิ่น และ
3) ด้านหน่วยงานของรัฐในท้องที่นั้นๆ ด้วย

ในการจัดตั้งศูนย์ต้องจัดให้มีการอบรมเบื้องต้นร่วมกันเสมอเพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับทีมงานหลัก จากนั้นจึงมีการอบรมพิเศษในแต่ละด้านของบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญหากเป็นการจัดตั้งในโรงพยาบาล ต้องถือว่าเป็นงานในหน้าที่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมผู้ป่วยในศูนย์ หรือไปเยี่ยมที่บ้านก็ตาม

สำหรับระยะยาว การดูแลในชุมชนที่ควรจัดให้มีขึ้น ทั้งในด้านแพทย์ พยาบาลที่ต้องรู้วิธีการวินิจฉัยอาการ แม้ว่าจะรักษาตัวโรคไม่ได้ก็ตาม การดูแลเรื่องอาการหลักๆ เช่น ปวด คลื่นไส้ อาเจียร หอบเหนื่อย กลิ่นที่เกิดจากแผล อีกทั้งเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วยในทิศทางที่สนับสนุนกำลังใจ รวมถึงยาและอุปกรณ์ที่จะไปถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีระดับนโยบายมารองรับ และที่สำคัญควรมองไปจนถึง แนวทางการใช้บ้านของผู้ป่วยเองเป็นที่ในการดูแล

สิ่งที่ Dr.Suresh เน้นย้ำอีกประการ คือเรื่องของการใช้หัวใจของความกรุณาในการเยี่ยมเยียนและดูแลผู้ป่วย อีกทั้งการดูแลด้านไหนก็ตาม ควรจะอยู่ใกล้กับบ้านของผู้ป่วยเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ระบบการดูแลแบบประคับประคองที่มีคุณภาพที่ดี ต้องมีเครือข่ายการสนับสนุนที่ดีจากชุมชน และองค์กรที่จะให้ความรู้และการส่งต่อที่มีคุณภาพ ดังนั้นการมีจิตอาสาที่ได้รับการอบรมจึงมีความสำคัญเชื่อมโยงกันด้วยเช่นกัน

ความรู้ดีๆ จากแนวทางที่ Dr.Suresh ผู้มีประสบการณ์ด้านนี้มายาวนาน นับว่าเป็นประโยชน์กับผู้เข้าอบรมเป็นอย่างมาก และสร้างแรงบันดาลใจสำหรับหน่วยงานที่กำลังจะเริ่มจัดตั้ง ส่วนที่มีอยู่แล้วก็นำไปต่อยอดได้เช่นกัน

ท่านผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมยังสามารถดาวน์โหลดเอกสารของ WHO เรื่องของการจัดการ Palliatice care ได้จาก
http://www.who.int/ncds/management/palliative-care/palliative_care_services/en/

[seed_social]
11 กรกฎาคม, 2564

ร้านรับฝากความเศร้า

หลายครั้งเมื่อคนเราตกอยู่ในความเศร้า จนไม่สามารถรับมือและหาทางแก้ไขได้ หลายคนเลือกที่จะเก็บภาวะเหล่านั้นไว้กับตัว โดยไม่รู้ว่าต้องพูดคุยกับใครหรือไปที่ไหน
24 มกราคม, 2561

สารพัดวิธีธรรมชาติต้านหวัด

ไข้หวัดเป็นอาการเจ็บป่วยพื้นฐานที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เลือกฤดูกาล เป็นแล้วก็เป็นซ้ำได้อีก แถมปัจจุบันนี้ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนบางวันมี ๓ ฤดู
3 กุมภาพันธ์, 2562

Hospice ในเมืองไทย : แนวคิดที่มองด้วยหัวใจ กับ ความสุขระยะสุดท้ายของผู้ป่วย

สิ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องเผชิญคือ ความทุกข์ทรมาณทางร่างกายและจิตใจ แม้ว่าจะหมดหวังในการหาหนทางรักษา แต่คนไข้ก็ยังอยู่กับโรคร้ายที่ยังเติบโตขึ้นทุกวัน ทั้งๆที่ยังมีลมหายใจ พวกเขายังคงมีความหวัง ความห่วง และความปรารถนาเหมือนกับคนทั่วไป