parallax background
 

ใจ “บันดาล” แรง

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

การเดินออกจากสิ่งหนึ่งสำหรับหลายคนอาจหมายถึงการเดินจากไปโดยไม่หันหลังกลับมาเจอกันอีก แต่สำหรับบางคน การเดินออกจากสิ่งหนึ่งหมายถึงการเข้าไปค้นหาความหมายของสิ่งนั้น ยิ่งเดินลึกเข้าไปในใจตนเองมากเท่าใด ก็ยิ่งมองเห็นสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในหัวใจเราเอง…ชัดขึ้น


เดินออกจากความกลัว เพื่อเข้าไปค้นหาความหมายของความกลัว ย้อนกลับไปเมื่อวันอังคารที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ วันแรกที่เข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยชายชาวกัมพูชาวัย ๒๕ ปี ที่เตียงคนไข้ พร้อมกับพี่เลี้ยงทีมอาสาประจำวันอังคาร พี่เป็ด พี่สาวผู้น่ารักที่ร่วมเป็นบัดดี้ และน้องพยาบาล เราพบว่าผู้ป่วยกำลังนอนหลับอยู่ เนื่องด้วยมีไข้ขึ้นสูง มีเจลประคบเย็นวางบนหน้าผากเลยมาถึงเปลือกตา คาดว่าคงอยากนอนหลับและไม่ต้องการให้ใครรบกวน คุณพยาบาลเล่าประวัติคนไข้ให้ฟังก่อนเข้าเยี่ยมว่า เขามารับการผ่าตัดและรักษาตัวเนื่องจากมีก้อนเนื้อโตตามอวัยวะภายใน โดยการตรวจครั้งล่าสุด คุณหมอพบก้อนซีส ๕ ก้อนอยู่ในช่องท้อง

ตอนแรกที่ทราบประวัติคนไข้ เราคิดว่าเขายังโชคดีกว่าคนอื่น ตรงที่ไม่ใช่โรคระยะสุดท้าย หากแต่มาทราบภายหลังว่า โรคนี้เกิดจากการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติตั้งแต่คนไข้ยังอยู่ในครรภ์มารดา ทุกครั้งที่พบก้อนเนื้อโต วิธีเดียวที่รักษาได้คือ “ผ่าตัด” เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าก้อนเนื้อจะโตขึ้นที่อวัยวะภายในส่วนใด อาจเกิดที่ตับ ลำไส้ กระเพาะ ฯลฯ ที่สำคัญคือไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด… ทั้งจุดที่เกิดและเวลาที่เกิด ประเมินล่วงหน้าไม่ได้เลย เป็นเรื่องของธรรมชาติจริงๆ ดังนั้น จึงเป็นโรคที่รักษาไม่หาย นั่นหมายถึง หากต้องการรักษาชีวิตไว้ ผู้ป่วยรายนี้ต้อง “ผ่าตัด” ใช่! ผ่าตัดตลอดชีวิต

ตลอดระยะเวลาการรักษา ผู้ป่วยต้องเดินทางจากกัมพูชามารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไม่มีครอบครัวดูแลเพราะทุกคนทำงานอยู่ที่กัมพูชา ไม่มีเพื่อนที่เมืองไทย หรือแม้แต่เพื่อนคนไข้ที่นอนรักษาตัวอยู่ในห้องพักคนไข้รวม เพราะเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ และไม่มีใครพูดภาษาเขมรได้ การที่ต้องเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ต่างถิ่นที่ไม่มีคนรู้จัก เหลียวมองไปรอบๆ ห้อง เจอคนไข้ที่มีญาติมาคอยอยู่เป็นเพื่อน แต่ตัวเองกลับ…ไม่มี…มีแต่ “ความว้าเหว่” เป็นเพื่อนตลอด ๕ เดือนของการรักษาตัว หากเป็นเราบ้าง…จะรู้สึกอย่างไร… หากการรักษาตลอดชีวิตหมายถึงเขาต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด แล้วชีวิตด้านอื่นล่ะ การเรียน การทำงาน การแต่งงานมีครอบครัว และสิ่งที่คนทั่วไปใฝ่ฝันที่จะทำตอนมีชีวิตอยู่อีกมากมาย ผู้ป่วยรายนี้ “หมดสิทธิ์”< /p>

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจจนกลายเป็นความประทับใจแรกของเราต่อผู้ป่วยคนนี้คือ ในขณะที่ผู้ป่วยหลายคนมักกระวนกระวายกับปลายทางชีวิตเมื่อทราบอาการตัวเอง บางคนอาจใช้เวลาที่เหลืออยู่เตรียมใจและจัดการสิ่งที่ยังคั่งค้าง แต่ชายหนุ่มคนนี้ที่ตลอดเวลาของการเข้าเยี่ยมและพูดคุยด้วยภาษาอังกฤษปนเขมรปนภาษาไทย และภาษาภาพวาด เรากลับเห็น “ความไม่กลัว” ฉายชัดออกมาทางแววตาและสีหน้าที่มีทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ตอนที่เราเริ่มมาทำงานจิตอาสา เมื่ออยู่ในห้องคนไข้รวม แล้วกวาดสายตามองผู้ป่วยเป็นครั้งแรก “ภาพ” ที่ปรากฏตรงหน้าทำให้เรานึกหวาดๆ เพราะเกรงว่าจะซุ่มซ่ามเดินสะดุดสายใดสายหนึ่งหลุดออกมาจากร่างกายคนไข้ เนื่องด้วยแต่ละคนต่างมีสายระโยงระยางไม่ต่ำกว่าคนละเส้นสองเส้น เราไม่ได้เริ่มจากความกล้า แต่มีความกลัวอยู่ในใจ กลัวสิ่งที่เรา “รับรู้” แต่ไม่อาจ “ล่วงรู้” จึงทำให้เราตัดสินใจเดินออกจาก...ความกลัว เพื่อค้นหาความหมายของมัน ไม่ใช่ว่าเรากลัวตาย แต่เรากลัวว่าตัวเองจะไม่เข้าใจความหมายของความตายมากกว่า…เรามั่นใจว่ามนุษย์ทุกคนควรศึกษาและรู้ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของการตายและการมีชีวิต เพราะถ้าเราไม่เข้าใจความตาย เราก็จะไม่เข้าใจ “คุณค่า” ของการมีชีวิต

“ความไม่กลัว” ของตัวผู้ป่วย ซึ่งเป็นพื้นฐานของความสุขที่แท้จริง เป็นของขวัญชิ้นแรกที่เราได้รับจากเพื่อนชาวกัมพูชาคนนี้ ทำให้เราสามารถส่งต่อของขวัญนี้ให้กับผู้ป่วยรายต่อๆ ไปได้

และอย่างที่ทราบแล้วว่าโรคของคนไข้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่เขากลับไม่มีท่าทีโกรธเกลียดพ่อแม่ที่ทำให้ตัวเองเกิดมาเป็นแบบนี้เลย ขณะที่สนทนากันแล้วสายตาเราเหลือบไปเห็น “ดอกจำปี” ห่อใบตองวางไว้ที่หัวนอน แม้ดอกจะเหี่ยวแห้งจนกลีบกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ แต่สายตาที่ผู้ป่วยมองกลับเต็มไปด้วยความทะนุถนอม คล้ายกับว่าดอกไม้ยังส่งกลิ่นหอมเหมือนเพิ่งปลิดจากต้นมาใหม่ๆ รอยยิ้มจางๆ ระบายบนสีหน้าของชายหนุ่มเมื่อเราตั้งคำถามว่า

“นี่ ดอกจำปี ทำไมถึงชอบคะ”

“ไม่ใช่ นี่ดอกจำปา ไม่ใช่จำปี” หนุ่มน้อยพยายามพูดไทยแม้สำเนียงไม่ค่อยจะชัด “ชอบ หอมดีครับ…ดอกจำปีที่ไทย ดอกจำปา…ที่บ้าน…กัมพูชา”

“หอม…แม่ให้…” เขาตอบด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ เต็มไปด้วยความคิดถึง “แม่” และบ้าน…ของบางสิ่ง…แค่ได้กลิ่น…ก็ “ยาใจ”…

ความประทับใจประการที่สองค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในวันที่เราพบกับคุณพ่อคุณแม่ของผู้ป่วยซึ่งมารับลูกชายกลับกัมพูชา ทั้งสามล้วนแสดงออกถึง “ความรักความผูกพัน” ที่ต่างฝ่ายต่างถ่ายเทพลังงานบวกให้แก่กัน ความรักที่อยู่ในหัวใจคุณพ่อคุณแม่ถ่ายพลังเข้าไปในหัวใจลูกชายได้จริงๆ เป็น “ความอุ่นใจ” ที่ได้มีกันและกัน การคิดถึงใครคนหนึ่งที่อยู่ห่างไกล ทำให้คนคนนั้นกระเถิบเข้ามาใกล้หัวใจเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

พลังงานความรักนี้ยังส่งผลต่อทีมรักษาเช่นกัน โดยเฉพาะแพทย์ผู้ผ่าตัด เมื่อคนไข้มีกำลังใจดี แพทย์ก็จะมีกำลังใจ เจองานผ่าตัดยากแค่ไหนก็ไม่หวั่น เหมือนเดินมาครึ่งทางของชัยชนะแล้ว…ทุกอย่างเริ่มที่ใจ และสำเร็จได้ด้วยใจ…เป็นเรื่องจริง… ใจบันดาลแรง เป็นเรื่องจริง แต่จะเป็นแรงประจุพลังบวกหรือพลังลบ ขึ้นอยู่กับเจ้าของใจเป็นสำคัญ

ในขณะที่แรงบันดาลใจคือการรอคอยบางสิ่งจากภายนอกมาขับเคลื่อนภายในตัวเราให้กระทำบางอย่าง แต่ “ใจบันดาลแรง” คือการใช้ใจของเราบันดาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ตั้งแต่ระดับจิตวิญญาณจนถึงการกระทำภายนอก มีผู้คนจำนวนไม่น้อยนั่งรอคอยให้แรงบันดาลใจเดินเข้ามาหาในชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งที่จริงๆ แล้ว “แรงแรก” ที่ดันหลังให้เราค่อยๆ ก้าวทีละก้าวด้วยความมุ่งมั่น และคอยกระซิบข้างๆ หูเราเสมอว่า “นายทำได้!” ต่างหาก ที่พาเราก้าวเดินไปพบ “แรงบันดาลใจ” และจะค้นพบได้ “ระหว่างทาง” สู่เส้นชัยเท่านั้น “เต่า” ชนะ “กระต่าย” เพราะรู้ความลับข้อนี้ นี่ต่างหากที่นิทานสอนให้รู้ว่า!

อย่ารอคอยอัศวิน แต่จงเป็นอัศวินด้วยตัวเราเอง

อาจจะถึงเวลาเสียที ที่พวกเราทุกคนควรหยุด และมองตัวเองอย่างลึกซึ้ง… “เราต้องถามตัวเองว่าเราต้องการอะไร ไม่ใช่ถามว่าต้องการให้คนอื่นมองเราอย่างไร”

ตลอด ๔ เดือนนี้ สิ่งที่เราเดินจากมาคือ “ความกลัว” เพื่อค้นหาความหมายของมัน ในมิติที่มองเห็น “คุณค่า” ของการมีชีวิต ผู้ป่วยคนนี้เป็นคนแรกที่ช่วยนำทางเราให้ค้นพบคำตอบ… คุณค่าของการเป็นมนุษย์มิได้อยู่ที่ร่างกายครบ ๓๒ ประการ สรีระที่สวยงาม หรือความสำเร็จที่มีผู้คนมากหน้าหลายตาปรบมือชื่นชม หากคือกำลังใจที่เข้มแข็งด้วยความเพียร และจิตใจที่งดงามด้วยศิลปะ เพราะนั่นเป็นพื้นที่เดียวที่ทำให้เราทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน…เคล็ดลับของการมีชีวิต คือเป็นอิสระจากความกลัว จะมีประโยชน์อะไรที่เราเดินถึงเป้าหมาย แต่ไม่รู้ว่าเราเดินมาเพื่ออะไร เป้าหมายที่อยู่ไกลหลายพันก้าว ยังไม่สำคัญเท่ากับก้าวแรกที่เรามีคำตอบในหัวใจ

การมอบของขวัญ “ความไม่กลัว” ด้วยใจที่เบิกบาน และช่วยนำทางให้เรามองเห็น “คุณค่าของการมีชีวิต” จึงส่งผลให้เรามองเห็นความแตกต่างระหว่างความงามภายนอกกับความงามภายในชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้ผู้ป่วยจะถูกพันธนาการด้วยสายระโยงระยางหลากสี เสื้อผ้าที่สวมใส่มีสภาพเก่าและซีด มองดูแล้วไม่ค่อยงามเท่าไหร่ แต่กลับฉายแววตาของความ “เบิกบาน” ตลอดเวลาที่สนทนากัน ทำให้จิตอาสามือใหม่อย่างเราลดความประหม่าตื่นเต้นไปได้มาก เมื่อเราหยุดและมองชายหนุ่มคนนี้อย่างลึกซึ้ง เราพบว่า ความงามภายนอกอาจช่วยดึงดูดสายตาและความสนใจใครๆ ได้ก็เพียงผิวเผินและชั่วครู่ชั่วยาม แต่ความงามภายในจะคงอยู่ตรงนั้น เพื่อมอบความประทับใจให้กับผู้พบเห็น…ตลอดกาล และนี่คือความประทับใจประการที่สามที่เรามีต่อผู้ป่วยคนนี้

สุดท้ายนี้ หากมีใครถามว่า “ทำงานเป็นจิตอาสาแล้วได้อะไร” เราก็ขอใช้หัวใจดวงน้อยๆ ของเราตอบว่า …“ไม่ใช่ความสุขที่เราได้เป็น…แต่เป็นความสุขที่เราได้ทำ” เพราะนั่นคือที่สุดของหัวใจ ขอบคุณ…. “ใจบันดาลแรง” ..ตลอดระยะเวลา ๔ เดือนของโครงการอาสาข้างเตียง

ขอขอบคุณ “ใจพิสุทธิ์ของครอบครัว” ผู้เขียน ที่รวมตัวช่วยกัน บันดาลแรงให้ผู้เขียนทำงานอาสาข้างเตียงได้สำเร็จลุล่วงค่ะ ขอบคุณพี่ๆ เครือข่ายพุทธิกาทุกท่านที่มอบองค์ความรู้ ทักษะในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และมีกิจกรรมดีๆ มาแชร์กันตลอด ทำให้สามารถเขียนบทความส่งให้ได้ตลอดระยะเวลา ๔ เดือนค่ะ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ศูนย์ชีวาภิบาล ทุกท่าน รวมทั้งแพทย์และคุณพยาบาลประจำตึกอาทรและปัญจมราชินี ที่คอยให้การสนับสนุนอาสาในการช่วยหาผู้ป่วยเพื่อให้อาสาฝึกภาคสนามค่ะ ขอบคุณเพื่อนๆ อาสาทุกคน โดยเฉพาะพี่เป็ด บัดดี้ที่น่ารักและเฮฮาเสมอ (อย่าลืมแวะมาเยี่ยมผู้เขียนตอนทำงานอาสาศิลปะเด็กด้วยนะคะ) ขอบคุณผู้ป่วยทุกท่าน ที่ตอนนี้เลื่อนสถานะเป็น “อาจารย์” ของผู้เขียน ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแชร์พูดคุยประสบการณ์ต่างๆ ให้ผู้เขียนรับทราบในหลายๆ มุม ซึ่งแต่ละท่านล้วนทำให้ผู้เขียนเข้าใจ “คุณค่าของการมีชีวิต” ค่ะ

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ประวัติศาสตร์

มีเรื่องเล่าจากเรื่องราวครั้งเยาว์วัย เมื่อฝันท่องทะยานไกลเลยขอบฟ้า การเดินทางของจิตวิญญาณธรรมดา ประสบสรรพสิ่งแสวงหาตามค่าควร
13 ธันวาคม, 2560

ชีวิตหลังความตาย

ผู้เขียนยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของตนเอง แต่เมื่อมีความตายเกิดขึ้น ก็ย่อมมีทั้งคนที่จากไปและคนที่อยู่ข้างหลัง วันนี้จะพูดถึงคนที่อยู่ข้างหลังกัน
19 เมษายน, 2561

แคปซูลฝังศพที่สามารถเปลี่ยนสุสานให้กลายเป็นป่า

บริษัทออกแบบสัญชาติอิตาลี แคปซูล่า มุนดิ (Capsula Mundi) คิดค้นวิธีการสร้างแคปซูลฝังศพพลาสติกอินทรีย์ที่ทำจากแป้งซึ่งเมล็ดพืชสามารถเติบโตแหวกออกมาภายนอกได้