อาหารของแม่และข่าวร้าย
What’s for dinner, Mom?
เขียนโดย: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย
What’s for dinner, Mom? หนังนอกกระแสสไตล์ญี่ปุ่น เล่าเรื่องเนิบช้าแบบค่อยๆ เปิดเผยทีละประเด็นทีละเรื่อง ไม่เร้าใจแต่ชวนติดตาม ตัวเอกของเรื่องคือคุณแม่ชื่อ ฮิโตโตะ เรื่องราวของเธอเรียบง่าย คือพบรักกับหนุ่มชาวไต้หวัน แต่งงานและไปใช้ชีวิตที่ประเทศไต้หวันระยะหนึ่งจนมีลูกสาวสองคน คือทาเอะและโย ต่อมาเธอและครอบครัวก็ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น
หนังฉายภาพการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับไต้หวันผ่าน “อาหาร” และเป็นสิ่งที่ติดตัวฮิโตโตะหลังกลับมาอยู่ญี่ปุ่น ลูกสาวทั้งสองต่างก็ชอบอาหารไต้หวันฝีมือแม่ ประเด็นอาจไม่ใช่แค่อาหารไต้หวันที่หากินยากในวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยนั้น แต่เพราะเป็นอาหารไต้หวันฝีมือแม่ที่คุ้นเคยมากกว่า
หลังกลับมาญี่ปุ่นได้ไม่นาน พ่อที่เป็นเสาหลักของครอบครัวก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด ดูเหมือนหนังจะพยายามบอกว่า “บุหรี่” คือตัวการสำคัญ เพราะเราจะเห็นภาพซองบุหรี่เป็นกล่อง (ที่เรียกว่าคอตตอน ขนาดบรรจุ ๑๐ ซอง) ตั้งแต่ฉากแรกที่ทาเอะเดินเข้ามาในห้องที่บ้านเก่าของครอบครัว ภาพบุหรี่ที่ยังอยู่บนโต๊ะทำงานของพ่อในฉากที่เล่าว่าพ่อจากไปแล้ว รวมถึงฉากเคารพศพพ่อซึ่งมีภาพถ่ายและกล่องเถ้ากระดูก ฮิโตโตะจุดบุหรี่วางไว้ให้สามีของเธอก่อนไหว้เคารพ
ฮิโตโตะทำหน้าที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นอย่างดี เธอออกไปหางานทำและยังคงทำ “ข้าวกล่อง” ให้ลูกๆ ทานอย่างสม่ำเสมอ เธอมักจะทำอาหารไต้หวันที่เรียนรู้มาจากครอบครัวและเพื่อนสามีสมัยยังใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ทั้งบ๊ะจ่าง ขาหมูคากิ และขนมผักกาด จนเพื่อนร่วมงานต้องขอมาเรียนรู้และหัดทำจากเธอ
จุดเปลี่ยนของเรื่องอยู่ที่จู่ๆ หนังก็ฉายภาพในห้องตรวจแพทย์ ฮิโตโตะเลือกพาทาเอะ ลูกสาวคนโตที่กำลังเรียนหมอมาเป็นเพื่อนรับรู้ข่าวการเจ็บป่วยของตนเอง ประโยคที่ฮิโตโตะพูดกับหมอน่าสนใจมาก เธอบอกหมอตรงๆ ว่า เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่ว่าเธอจะเป็นอะไรขอให้บอกความจริง เพื่อที่เธอจะได้เตรียมตัว และข่าวร้ายคือเธอเป็นมะเร็ง เธอเข้ารับการผ่าตัด ฟื้นตัว และกลับมาอยู่บ้าน แต่ไม่นานนักเธอก็จากไป โดยหนังเล่าว่า ฮิโตโตะและทาเอะตัดสินใจปิดเรื่องมะเร็งกับโย ลูกสาวและน้องสาวคนเล็กของบ้าน
ภาพสะเทือนใจที่สุดของหนังคงเป็นฉากที่ลูกสาวทั้งสองนำกล่องเถ้ากระดูกของแม่กลับมาบ้าน และโย ผู้ไม่เคยรู้มาก่อนว่าแม่เป็นมะเร็ง คงไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้เลย เธอร้องไห้คร่ำครวญ ร้องเรียกให้แม่กลับมา เธอตีโพยตีพายโวยวาย แม้พี่สาวพยายามจะเข้ามากอดเพื่อปลอบประโลม
หนังใช้อาหารรสมือแม่ สื่อถึงความรักความผูกพันของแม่ที่ส่งต่อถึงลูก ลูกๆ ส่วนใหญ่มักคุ้นลิ้นกับอาหารของแม่ ต่อให้กินอาหารชนิดเดียวกันก็ได้รสชาติไม่เหมือนกัน อาจเป็นเพราะแม่ไม่ใช่แค่ปรุงอาหารตามสูตรที่จดไว้ในสมุดบันทึกเท่านั้น แต่ยังใส่ความรัก ความปรารถนาดี ความใส่ใจ ลงไปในทุกๆ ขั้นตอน อาหารของแม่จึงอร่อยรสเลิศที่สุด เราจะไม่มีวันได้ลิ้มรสชาติแบบนั้นอีกเลย ในวันที่แม่จากไป
ประเด็นขบคิดที่ได้จากหนังน่าจะเป็นเรื่องการบอกข่าวร้ายและการเตรียมตัวเผชิญหน้ากับความตาย ในฉากที่ฮิโตโตะบอกกับหมอเพื่อขอรู้อาการเจ็บป่วยตนเองอย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่จะได้ “เตรียมตัว” และที่สำคัญคือ “เตรียมใจ” หมอในเรื่องก็พูดคำว่ามะเร็งออกมาอย่างไม่รีรอ ประเด็นอยู่ที่คนใกล้ชิดและผูกพันอีกคน คือลูกสาวคนเล็ก ไม่ได้รับรู้ข่าวร้ายนี้เลย เราจึงเห็นฉากที่โยไม่ได้เตรียมใจต่อการจากไปของแม่เพราะเธอไม่รู้ว่าแม่เป็นมะเร็งมาก่อน
มะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจ เป็นประเด็นถกเถียงพอสมควรว่าเมื่อตรวจพบมะเร็ง ควรบอกผู้ป่วยหรือไม่ เพราะบางรายเมื่อรู้ข่าวร้ายทางกาย ใจก็ทรุดลงทันที หรือกรณีผู้ป่วยมะเร็งที่มีจิตใจเข้มแข็ง แล้วญาติใกล้ชิดผู้ป่วยล่ะ? ควรบอกหรือไม่ และบอกใครบ้าง ผู้ป่วยมะเร็งบางรายยังมีพ่อแม่สูงวัยอยู่ ควรจะบอกท่านหรือไม่ บางคนก็เกรงว่าจะไปสร้างความกระทบกระเทือนใจ ประเด็นเหล่านี้คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว สถานการณ์ที่เหมาะสม และการตัดสินใจร่วมกันของผู้ป่วยและญาติมากกว่า
ดูหนังแล้วอาจทำให้หลายคนหวนคิดคำนึงถึงแม่และอาหารของแม่ แม่ผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นทุกอย่างในชีวิตลูก วันหนึ่งท่านต้องจากเราไปอย่างแน่นอน แต่ที่ไม่แน่นอนคือเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ เมื่อวันนั้นมาถึง ภาพของแม่ในครัวก็คงจะเป็นภาพที่ฉายชัดที่สุดในความทรงจำ หนังเรื่องนี้ให้ภาพของแม่ในครัวได้สวยงามนัก โดยเฉพาะการเลือกให้แสงผ่านเข้ามากระทบควันที่พวยพุ่งของอาหารขณะกำลังปรุง หรือตอนที่อาหารปรุงเสร็จใหม่กำลังถูกเสิร์ฟ ความลงตัวของควันและแสงช่างงดงาม แต่ควันหรือแสงใดๆ ก็ย่อมต้องจางหายไป ไม่มีอะไรอยู่คงทนถาวร ชีวิต...ก็เช่นกัน