parallax background
 

ชุมชนแห่งความเอื้ออาทร (1) : ที่มาและแนวคิด

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

1.

หากคุณคือแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทุกวัน ห้องฉุกเฉินของคุณจะมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุเข้ามาให้คุณรักษา บางคนได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย หลายคนบาดเจ็บสาหัส ซึ่งแม้ไม่ตายก็ต้องกลายเป็นคนพิการ หลายคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ บางคนเสียชีวิตในห้องฉุกเฉินของคุณเอง

แรกๆ คุณอาจรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ด้วยความหวัง ความรู้และเครื่องมือที่คุณมีอาจช่วยพวกเขาบางคนได้ แต่เมื่อคุณเจอผู้ป่วยคนแล้วคนเล่า วันแล้ววันเล่า คุณคงเริ่มตระหนักว่า แทนที่จะรอให้เกิดอุบัติเหตุแล้วคุณค่อยให้การรักษา พวกเราน่าจะลงมือป้องกันอุบัติเหตุเสียแต่เนิ่นๆ ผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินอาจลดจำนวนลง คุณจะได้ไม่ต้องทำงานหนักและเห็นผู้ป่วยเสียชีวิตวันแล้ววันเล่า

เมื่อนั้นคุณเริ่มตระหนักว่า คุณไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุในห้องฉุกเฉิน คุณต้องเดินออกไปนอกโรงพยาบาล เพื่อหารือในระดับชุมชนว่า ใครควรทำอะไรเพื่อให้คนขับรถช้าลง ทำอย่างไรให้คนสวมหมวกกันน็อค คุณอาจเดินไปหารือคนทำถนนว่าควรจะออกแบบถนนอย่างไรให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น จุดใดควรติดตั้งสัญญาณป้าย สัญญาณเตือน คุณอาจอยากเดินไปที่โรงเรียนเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่ที่ปลอดภัยแก่เด็กๆ นอกจากนี้คุณอาจสนับสนุนให้คนที่คุณรู้จักเปิดโรงเรียนสอนขับรถ หรือมีส่วนร่วมผลักดันกฎหมายจำกัดความเร็ว หรือจัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนใช้ถนนขับขี่ปลอดภัย

เหตุที่คุณทำเช่นนี้เพราะคุณรู้ว่าการอยู่แต่ในโรงพยาบาล รักษาผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ไม่เพียงพอที่จะลดปัญหาสุขภาพ คุณต้องทำให้ชุมชนมองเห็นปัญหา ร่วมแก้ไขความเจ็บป่วย เพราะสุขภาพเป็นประเด็นที่ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ

การลดปัญหาด้านสุขภาพโดยสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน เป็นแนวโน้มวิธีการแก้ปัญหาสุขภาพที่มีมานานแล้ว ตัวอย่างเช่น ปัญหาเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย โรคอ้วน ปัญหายาเสพติด ล้วนต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่กว้างไปกว่าห้องตรวจและโรงพยาบาล หากต้องดึงการมีส่วนร่วมจากชุมชนด้วย

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

2.

การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย แม้จะเริ่มต้นมาจากแนวคิดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยในทุกๆ ด้าน ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ แต่เมื่อการแพทย์สมัยใหม่สนใจศาสตร์ด้านนี้ หันมาพัฒนาวิธีควบคุมอาการ ลดความเจ็บปวด ทำให้ผู้ป่วยสุขสบายมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมีแนวโน้มที่จะกลับเข้าสู่กรอบคิดแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่สนใจเฉพาะมิติทางกาย และการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องเฉพาะบุคลากรสุขภาพกับผู้ป่วยเท่านั้น

กรอบคิดเช่นนี้ แม้จะช่วยให้เกิดความชัดเจนว่าใครเล่นบทบาทอะไร แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นก็คือ ความเข้าใจดังกล่าวได้ลดทอนศักยภาพของชุมชนในการดูแลสมาชิกของตนเอง ผู้ป่วยพึ่งพาการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยระยะท้ายในการดูแลจำนวนมากขึ้น เกิดสภาพความแออัด และจัดบริการได้ไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรสุขภาพ

นอกจากนี้ ความเข้าใจว่าการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเป็นเรื่องของแพทย์ในโรงพยาบาล ยังอาจทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวเตรียมตัวรับมือกับสุขภาพช่วงท้ายของชีวิตช้าเกินไป ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญความท้าทายในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะพบความจริงว่า พวกเขามีเวลาจำกัดอันเกิดจากโรคที่รักษาไม่หาย

ในภาวะเช่นนี้ ผู้ป่วยมักประสบกับความกังวล ความซึมเศร้า ความโดดเดี่ยว การสูญเสียงาน การเงินฝืดเคือง การเผชิญวิกฤตทางจิตวิญญาณ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ขณะที่ญาติต้องเผชิญกับความเครียด การพลัดพรากสูญเสีย นี่คืออาการที่คาดการณ์ได้ว่าผู้ป่วยหรือญาติอาจต้องประสบ

ปัญหาอันเนื่องจากการเผชิญความตายและการดูแลในระยะท้ายของชีวิต ก็เช่นเดียวกับปัญหาอุบัติเหตุที่ยกตัวอย่างข้างต้น กล่าวคือ เราสามารถป้องกันล่วงหน้าไม่ให้เกิดขึ้นได้ (prevention) ลดความรุนแรงของปัญหาได้ (harm reduction) และรีบจัดการก่อนที่ปัญหาจะบานปลายได้ (early intervention) เพียงแต่การป้องกันปัญหาดังกล่าว ไม่สามารถทำได้โดยบุคลากรจากสถานบริการสุขภาพเท่านั้น แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกๆ ภาคส่วนของชุมชน ทุกๆ คนต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยความเอื้ออาทรกัน

แนวคิดดังกล่าวเรียกว่า Compassionate Communities Approach หรือชุมชนแห่งความเอื้ออาทร

3.

ศาสตราจารย์อัลลัน คีเลเฮียร์ (Allan Kellehear) ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เป็นผู้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “ชุมชนแห่งความเอื้ออาทร” เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2005 ในหนังสือ Compassionate Cities: Public health and end of life care

ก่อนที่จะเสนอแนวคิดดังกล่าว คีเลเฮียร์ ได้สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงกรอบคิดเกี่ยวกับการตายว่า ปัจจุบันความตาย การตาย และการสูญเสีย กำลังมาถึงจุดที่พ้นจากความเป็นเรื่องอัปมงคลหรือพูดไม่ได้อีกต่อไป แต่กลายเป็นประเด็นสุขภาพ มีความเป็นกลางๆ และเป็นธรรมดามากขึ้นในสังคมสมัยใหม่ นอกจากนี้ พวกเขายังคาดหวังที่จะให้การตายและความตายเป็นเรื่องที่สามารถจัดการและเตรียมตัวได้มากขึ้น

คีเลเฮียร์ยังเสนอว่า ด้วยเหตุที่บุคลากรสุขภาพไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม เพราะการตายเป็นเรื่องทางสังคม ไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์เท่านั้น บุคลากรด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ทำหัตถการ เป็นผู้สนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างสถานบริการสุขภาพกับสถาบันอื่นๆ ในชุมชน เพราะชุมชนเป็นทั้งแหล่งทรัพยากรในการดูแลชีวิตและการตาย อีกทั้งชุมชนเองก็ยังต้องการเรียนรู้และเตรียมตัวเองด้วย นั่นคือหัวใจของแนวคิดชุมชนแห่งความเอื้ออาทร

คีเลเฮียร์ยังแจกแจงแนวคิดชุมชนแห่งความเอื้ออาทรเป็นรายข้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. สนับสนุนให้สถาบันทางสังคมอื่นๆ นอกเหนือจากโรงพยาบาลหรือสถานบริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง มีส่วนร่วมป้องกันปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เช่น โรงเรียน วัด ที่ทำงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจท้องถิ่น เป็นต้น
  2. สนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดทำนโยบายการดูแลสุขภาพที่คำนึงถึงจริยธรรมและมีความกรุณา โดยตระหนักถึงความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม
  3. สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพแบบประคับประคองและการดูแลความสูญเสียได้ง่าย การวางแผนชุมชนและการพัฒนานโยบายท้องถิ่น ควรคำนึงถึงมิติการเผชิญความตายและการสูญเสีย
  4. สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือ กิจกรรม และการสื่อสารที่เอื้อต่อสุขภาวะช่วงท้ายที่หลากหลาย
  5. สนับสนุนการจัดกิจกรรมรำลึกถึงการจากไปของบุคคลที่มีความหมายในชุมชน

ศาสตราจารย์อัลลัน คีเลเฮียร์ เสนอว่า การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง ไม่ควรจำกัดตัวอยู่เพียงสถานบริการฮอสพิซ (Hospice) หรือการบริการด้าน Palliative Care เท่านั้น ทั้งยังไม่ควรจำกัดอยู่เพียงผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรัง

ในทางตรงข้าม แนวคิดการสร้างชุมชนแห่งความเอื้ออาทร เพื่อให้เอื้อต่อชีวิตที่ดีและการตายอย่างสงบ ควรเปิดรับสถาบันทางสังคมทุกสถาบันเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการตายเป็นเรื่องของทุกคน และสุขภาพที่ดีเป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีส่วนรับผิดชอบ

4.

หากมองจากมุมของบุคลากรสุขภาพที่กำลังทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การทำความเข้าใจแนวคิดชุมชนแห่งความเอื้ออาทรอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีความคุ้นเคยกับการเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ อีกทั้งการยกระดับงานบริการสุขภาพจากสถานบริการสู่สถาบันทางสังคมอื่นๆ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย

การทำความเข้าใจแนวคิดชุมชนแห่งความเอื้ออาทรผ่านตัวอย่างรูปธรรม อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คนทำงานดูแลสุขภาพระยะท้ายมีแนวทางพัฒนางาน และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในภาคส่วนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

เราจะมาสำรวจแนวคิดชุมชนแห่งความเอื้ออาทร ผ่านตัวอย่างรูปธรรมและหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจในจดหมายข่าว Happy Deathday ฉบับต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Kellehear, A. (2013). Compassionate communities: end-of-life care as everyone’s responsibility. QJM: An International Journal of Medicine, 106(12), 1071–1075.

[seed_social]
28 กรกฎาคม, 2561

แด่ผู้สูญเสียผู้เป็นที่รัก

“แทนที่จะโอบรับและเรียนรู้ความสูญเสียในฐานะเป็นบทเรียนหนึ่งของชีวิต เรากลับปฏิบัติต่อมันราวกับเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่ต้องแก้ไข ทำให้ความเจ็บปวดเป็นพลังด้านลบต่อชีวิต และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น เหมือนเป็นวงจรอุบาทว์จากนรก”
19 เมษายน, 2561

เฮือนเย็น

สังคมไทยโชคดีที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นหลากหลาย และยังคงรักษาไว้ได้ แม้ในทางปฏิบัติจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่เป็นการปรับให้เข้ายุคสมัยโดยรักษาหลักการไว้มากกว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของที่นั้นๆ เป็นสำคัญ
17 เมษายน, 2561

ออยล์ พูลลิ่ง (Oil Pulling) ล้างพิษในช่องปาก

ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่อง ออยล์ พูลลิ่ง (Oil Pulling) มานานแล้ว แต่ไม่ได้สนใจมากมาย จนได้พบกับพี่พยาบาลท่านหนึ่งแล้วสังเกตว่าเธอดูหน้าตาสดใสผิดหูผิดตา จึงเข้าไปถามว่ามีเคล็ดลับอะไร