parallax background
 

ของของเรา

ผู้เขียน: แคทมิน หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 
เคยไหมเวลาที่มีคนเข้ามาขอคำปรึกษาจากเรา แล้วเราสามารถให้คำแนะนำ หรือมีข้อเสนอแนะมากมายเพื่อให้เขาหาทางออกหรือมีหนทางแก้ไขปัญหาของเขาได้

แล้วเคยไหม เวลาที่เรื่องนั้นเกิดขึ้นกับเราบ้าง เรามักจะหาทางออกไม่เจอ วนเวียน หรือจมอยู่กับปัญหา เคยแปลกใจไหมว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น

ผู้เขียนเองเคยอยู่ในสถานการณ์ทั้ง ๒ แบบนั้น คือเป็นทั้งผู้ให้คำปรึกษาคนอื่น และจมอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งบางครั้งหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้

คำตอบที่ทำให้ลงเอยแบบนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเป็น “ของของเรา” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เช่น ความพลัดพราก หรือความตายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคน หรือสัตว์เลี้ยงของเราก็ตาม เพราะเมื่อเรารู้สึกแบบนั้นแล้ว จะมีทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความผูกพัน รวมถึงไม่อยากจะคิดว่านี่คือความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น ต่างจากเมื่อคนอื่นมาปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือจากเรา เราจะรู้สึกว่าเราช่วยเขาได้ เพราะนั่นไม่ใช่ “ของของเรา” แต่เป็น “ของของคนอื่น”

ย้อนกลับไปเมื่อตอนเริ่มเข้ามาทำงานอบรมเรื่อง “เผชิญความตายอย่างสงบ” ใหม่ๆ เคยได้ยินหมอกับพยาบาลเล่าว่า ที่ผ่านมา เห็นคนเจ็บหรือคนตายมาก็มาก แต่ไม่ค่อยรู้สึกอะไร เพราะเขาเหล่านั้นไม่ใช่ญาติของเรา ต่อเมื่อคนคนนั้นเป็นญาติของเรา หรือตัวเราเองที่เป็นโรคร้าย จะยอมรับหรือทำใจไม่ได้ถ้าต้องสูญเสีย หมอผ่าตัดบางคน จะให้หมอคนอื่นเป็นคนผ่าตัดลูกของตัวเอง โดยบอกเหตุผลว่า ทำใจยอมรับไม่ได้ถ้าจะต้องเห็นลูกตัวเองเจ็บปวด

ด้วยประสบการณ์ชีวิตในตอนนั้น ทำให้เราไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลนี้สักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับตอนนี้ที่ชีวิตเริ่มผ่านความเจ็บป่วย ความสูญเสีย และความตายของคนหรือสัตว์เลี้ยงที่อยู่รอบตัวเรา แม้อาจจะถือว่าเราโชคดีที่ทำงานอยู่ในแวดวงเหล่านี้ แต่บางครั้งกลับเอาตัวเองไม่รอด เมื่อต้องเจอกับความจริงที่อยู่ตรงหน้าและกำลังจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เรารัก

แน่นอนเมื่อเราผูกพันกับสิ่งใด เราย่อมมีความรู้สึกหวงแหน ไม่อยากพลัดพรากจากสิ่งนั้น ทำให้เราพยายามทำทุกวิธีทางที่จะยื้อให้สิ่งนั้นอยู่กับเรานานๆ จนบางครั้งเราก็ละเลยบางเรื่องไป เช่น เมื่อเจ็บป่วย เราก็เน้นการรักษาแบบเต็มที่ เพื่อที่จะยื้อชีวิต จนลืมคิดถึงความต้องการของผู้ป่วยไป เป็นเพราะทำใจยอมรับกับความพลัดพรากหรือความตายที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เรารักไม่ได้ ยังไม่นับการบังคับให้ผู้ป่วยทำโน่น หรือไม่ให้ทำนี่ ทำให้ความเข้าใจสวนทางกัน เพราะเราในฐานะของคนดูแลจะคิดว่าต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุด แต่ไม่รู้ว่าดีที่สุดสำหรับใครกัน คนดูแลหรือผู้ป่วย เพราะในมุมของผู้ป่วย เขาอยากจะมีอิสระในชีวิตของตัวเอง และเมื่อสิ่งที่เรารักเป็นแมวด้วยแล้ว ย่อมต้องอาศัยการคาดเดา หรือรู้จักนิสัยกันมาก่อน ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ถ้าเป็นการเจ็บป่วยแบบปกติ เราก็จะทำใจยอมรับได้ แต่ถ้าอาการป่วยอยู่ในระยะท้าย หรือช่วงโคม่า เชื่อว่าหลายคนคงทำใจได้ยาก เพราะเมื่อดูแลก็ยิ่งผูกพันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ใจเราไม่อยากยอมรับความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า และไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับสิ่งที่เรารักเช่นกัน

แต่ในโลกของความเป็นจริง ทุกสิ่งไม่ได้เป็นไปอย่างใจเรา หลายครั้งไม่มีแม้แต่สัญญาณเตือนว่าเรากำลังจะสูญเสียอะไรไป แม้เราจะไม่อยากให้ความพลัดพรากหรือความตายเกิดขึ้นกับสิ่งที่เรารัก แต่ก็เป็นไปไม่ได้ ความพลัดพรากหรือความตายก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลก แล้วเราจะทำอย่างไรดี ถ้าเรายังมีความรู้สึกว่า สิ่งที่เรารัก รวมถึงตัวเราด้วยเป็น “ของของเรา” แม้ที่ผ่านมาเราจะรู้ จะเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริงไหมว่าเป็นการเข้าใจแค่ความคิดในหัวเราเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น เราก็ยังสั่นสะเทือน จมอยู่ในอารมณ์เศร้า หรือทำใจยอมรับไม่ได้อยู่ดี

จะดีไหมถ้าเราใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับเรา แล้วใช้เวลาที่ยังมีอยู่ ณ ขณะนี้ ทำในสิ่งที่เราอยากทำกับสิ่งที่เรารัก ใช้เวลาทุกขณะให้มีค่ามากที่สุด เหมือนว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะได้อยู่กับเขา อยากบอกอยากทำอะไรให้ ให้เรารีบทำ เพราะเมื่อวันนั้นมาถึง อย่างน้อยเราก็จะไม่รู้สึกติดค้าง หรือคิดว่า “รู้อย่างนี้ ตอนนั้นฉัน...” บางทีการกระทำหรือการคิดแบบนี้อาจช่วยทำให้เราค่อยๆ ยอมรับความจริงที่จะเกิดขึ้นกับเราได้สักวัน หรือช่วยทำให้เราคลายความโศกเศร้า แล้วกลับมาดูแลสิ่งที่เรารัก ที่ยังอยู่รอบตัวเราได้ดีอีกด้วย เพราะเราจะเป็นคนใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ในอดีต อยู่กับความเป็นจริง และเข้าใจความเป็นไปของชีวิตได้เป็นอย่างดี

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

เริ่มต้นดีไปได้ดี

เคยไหมคะ ที่เวลาเราเริ่มต้นเรื่องใดดี มักจะไปได้ดีไม่มีอุปสรรคใดๆ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ผู้เขียนเพิ่งมาประจักษ์คำพูดนี้อย่างแจ่มแจ้งเมื่อตอนที่อยากจะเย็บปลอกคอให้บรรดาแมวๆ ที่บ้านใส่
22 มีนาคม, 2562

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ สร้างชุมชนที่เอื้อต่อผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ผู้ซึ่งได้รับรางวัลระดับประเทศจากองค์กรชั้นนำอย่างสม่ำเสมอ จนถูกเรียกขานว่า “เทศบาลนักล่ารางวัล” หรือ “เทศบาลแห่งนวตกรรม”
6 กุมภาพันธ์, 2561

จินตนาการแช่แข็ง

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายที่สะท้อนว่าสังคมไทยกำลังป่วย หนึ่งในนั้นคือการฆ่าตัวตายผ่านการถ่ายทอดสดหรือที่เรียกว่า ‘เฟซบุ๊กไลฟ์’ มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้ตายส่วนใหญ่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า