เคนเป็นคนเชียงใหม่ เขามีชีวิตเฉกเช่นเด็กต่างจังหวัดรุ่นราวคราวเดียวกันส่วนใหญ่ที่ไปเรียนต่อ ทำงาน และสร้างครอบครัวในเมืองใหญ่ ความต่างอยู่ที่ “จังหวะชีวิต” นำพาให้เขาได้สัมผัสกับงานพัฒนาชุมชนและงานจิตอาสาเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาฝึกงานและทำงานบริษัทเอกชน ซึ่งนำมาสู่งานกระบวนกรที่เน้นเรื่องการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง สังกัดกลุ่ม “เพื่อนกระบวนกร” และงานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเมื่อเขาตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพมาทำงานที่เชียงใหม่ เพื่อช่วยมารดาดูแลผู้เป็นยายที่ป่วยติดเตียง
แล้วจังหวะชีวิตก็นำพาให้หนุ่มเชียงใหม่มาเป็น “เขยลำปาง” เขาพบเจอและทำงานกับ “กลุ่มขะไจ๋” ที่ทำงานสร้างชุมชมกรุณาในจังหวัดลำปางและภาคเหนือมาก่อนแล้ว ที่นี่ได้ใช้ทักษะกระบวนกรมาทำงานด้านการวางแผนสุขภาพ ปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในกระบวนกรและนักสื่อสารสุขภาวะของกลุ่มขะไจ๋ โดยมีเป้าหมายร่วมคือการสร้างชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดีในจังหวัดลำปาง ที่ซึ่งจะเป็นสังคมที่รองรับการอยู่และตายดีของตัวเองด้วย
จากพนักงานบริษัทสู่งานเพื่อสังคม
ผมเรียนปริญญาตรีที่กรุงเทพ ผมสนใจทำงานพัฒนาเพราะตอนฝึกงานปี 2 กับเอ็นจีโอต่างประเทศที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ เราลงไปที่แคมป์คนงานก่อสร้างที่เชียงใหม่ เจอคนพม่าทำงานในโรงงานเลื่อยไม้ ถูกสายพานตัดนิ้วขาด เหมือนเราไปเจอคนลำบาก คล้ายพระพุทธเจ้าเจอคนลำบากแล้วออกบวช เราก็เจอเรื่องที่ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือจะเป็นประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เลยเลือกทำ พอกลับมาเรียนต่อมี 2 ทางให้เลือกว่าจะไปทางไหน จะเรียนต่อปริญญาโทถึงปริญญาเอกแล้วมาเป็นอาจารย์ หรือทำอย่างอื่น เหตุการณ์นั้นทำให้เราอยากเป็นนักพัฒนา ตั้งแต่นั้นก็เลือกสายงานพัฒนาหมดเลย
พอเรียนจบก็ทำงานกับบริษัทมหาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสังคมเลย หลังน้ำท่วมใหญ่ (ปี 2554) บริษัทอยากทำงานฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมที่ลพบุรี เลยได้ลงพื้นที่ และปี 2555 ก็เริ่มทำงานอาสาสมัครกับกลุ่ม Volunteer spirit network การทำงานเกษตรอินทรีย์กับชุมชนและทำงานอาสาสมัครทำให้เราได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้คน ทำให้เห็นภาพความทุกข์ยากของคน
ผมตัดสินใจกลับบ้านที่เชียงใหม่เพราะยายป่วยระยะสุดท้าย เริ่มติดเตียง บอกตัวเองว่ากลับมาอยู่เชียงใหม่เพื่อจะได้ช่วยคุณแม่ดูแลคุณยาย ตอนทำงานเครือข่ายจิตอาสา ได้เรียนรู้การเผชิญความตายอย่างสงบบ้าง เอามาใช้กับคุณยาย ตอนคุณยายเสียเราก็ส่งท่านไปอย่างดี ผมมองว่าคุณยายเป็นครู ทำให้เห็นการร่วงโรยของชีวิต เหมือนมะม่วงสุกงอมแล้วร่วงหล่น ทำให้เห็นว่าการตายดีเกิดขึ้นได้จริง ระยะเวลา 4-5 ปี ที่ดูแลคุณยายทำให้ผมเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพระยะสุดท้าย การเตรียมตัวตาย การเผชิญความตายอย่างสงบ
สู่ครอบครัว “ขะไจ๋”
ต่อมาผมแต่งงานแล้วไปอยู่บ้านแฟนที่ลำปาง ไปร้านฮอมสุข ได้เจอพี่อิ้ม (สุธีลักษณ์ ลาดปาละ) ได้เรียนรู้การวางแผนดูแลล่วงหน้า เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำงานกับขะไจ๋ ที่ตั้งเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ผมย้ายมาอยู่ลำปางพอดี ธันวาคม 63 ผมได้ไปช่วยทำเวิร์คชอปที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ต่อมาเป็นช่วงโควิด ทางทีมต้องปรับตัว ชุดโครงการชุมชนกรุณาในลำปางต้องปรับรูปแบบโครงการ เราทำเวิร์คชอปกระบวนกรชุมชนออนไลน์ผ่าน Zoom และเฟสบุคกลุ่มปิด ผมได้ทำกิจกรรมออนไลน์ “21 วันพารุ้งมาพบใจ” แบบเต็มตัวหลายรุ่นติดต่อกัน ทำเรื่องไอทีและทำเว็บไซต์ของกลุ่มด้วย (www.kajai.org)
ก่อนรู้จักขะไจ๋ผมเป็นกระบวนกรสายงานการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เดิมทำงานระบบอาสาสมัครแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาทักษะชีวิตให้เด็กนักเรียนบนที่สูง เราอยู่ในทีมเพื่อนกระบวนกร ทำงานฝึกอบรม ออกแบบกระบวนการเรียนรู้อยู่แล้ว เราเป็นกระบวนกรบนฐานการเรียนรู้ ไม่ว่ามีเรื่องใหม่อะไรก็ชวนให้เราได้เรียนรู้ พอมาทำงานชุมชนกรุณาก็เลยใช้ทักษะกระบวนกรมาเรียนรู้เรื่องชีวิตและความตายซึ่งเราสนใจ อยู่ในเนื้อในตัวเรา ตั้งแต่เราดูแลคุณยาย ได้ทำคอร์สกระบวนกรชุมชนสำหรับการวางแผนดูแลล่วงหน้าให้คน 3 กลุ่ม คือกลุ่มบุคลากรสุขภาพ บุคลากรทางการศึกษา นักพัฒนา กับกลุ่มบุคลากรสุขภาพ เราทำออนไซต์ด้วย เช่น อสม. รพ.มะเร็งลำปาง ศูนย์ผู้สูงอายุ
ได้รับพรและพลังชีวิตจากการทำงาน
ช่วงสถานการณ์โควิด เราทำการรับฟังดูแลใจด้วยไพ่ฤดูฝนฟรี ตอนนั้นเราให้บริการผู้ชายคนหนึ่ง เขาเคยตัดสินใจจบชีวิตมาสองหน แต่ไม่ตาย ครั้งนี้เขามีความทุกข์มาก เขาอยากตาย เราพูดคุยกับเขาอยู่นาน ไพ่รุ้งใบสุดท้ายคือ “เข้มแข็ง” เราสื่อสารว่าเขามีความเข้มแข็งในตัวเอง ขนาดพยายามตายมาสองครั้ง ก็ยังไม่ตาย เราชวนให้เขาเรียนรู้และศึกษาชีวิตต่อไป เขายังไม่ถึงเวลาตาย แต่ไม่ว่าพูดอะไรเขาก็คิดลบตลอดเวลา เราเลยชวนให้เขาเข้าโครงการ “21 วัน พารุ้งมาพบใจ” โดยเปิดไพ่รุ้ง 21 วันต่อเนื่องกัน ให้ไพ่รุ้งที่เป็นคุณสมบัติด้านดีติดตัวไปทุกวัน และตอนเย็นมาสะท้อนให้เราฟัง พอจบ 21 วัน ทัศนคติด้านลบของเขาเปลี่ยนไป เราชวนเขาทำกิจกรรมอื่นที่สามารถเรียนรู้และเติบโตภายในได้ ทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่บนโลกใบนี้ ทำงาน และมีชีวิตคู่ที่สดใส สิ่งเล็กๆ ที่เราทำคือสละเวลา 21 วัน ทำให้ผู้ชายคนหนึ่งไม่จบชีวิต เดินต่อไปและสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นได้มากมาย เขายังเดินทางเรียนรู้ภายในในกิจกรรมต่างๆ ที่ขะไจ๋จัดขึ้น คำขอบคุณของเขา เป็นความประทับใจและพรในชีวิตของเรา ทำให้เรามีพลังชีวิต ทำให้เราตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้
ก้าวต่อไป...ค้นหาวิธีสื่อสารเพื่อการตายดี
บทเรียนจาก (ขะไจ๋) เชียงรายทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราอยากเปลี่ยนระบบนิเวศของการตายดี การวางแผนดูแลล่วงหน้าต้องเข้าไปอยู่ในระบบของโรงพยาบาล แบบไม่ใช่แค่ติ๊กว่ายื้อหรือไม่ยื้อชีวิต แต่ต้องมีกระบวนการพูดคุยในโรงพยาบาลและครอบครัว และเมื่อมีการวางแผนดูแลล่วงหน้าแล้ว ต้องสื่อสารเพื่อให้มีคนรับรู้เจตนาของเรา ไม่ใช่เขียนสมุดเบาใจแล้วจบแค่นั้น ผู้ป่วยและผู้สูงอายุต้องสื่อสารให้คนในครอบครัวรับรู้และเข้าใจด้วย เพราะเวลาที่เราโคม่า เขาจะถามญาติว่าจะยื้อไหม ผ่าตัดไหม
ผมเห็นว่าการสื่อสารและการสนทนาสำคัญมาก ช่วงปีที่ผ่านมาเลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทนิเทศศาสตร์ สาขาบูรณาการการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผมสนใจเอาการสื่อสารมาบูรณาการกับด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ถ้าเขาสื่อสารเจตนาสู่การวางแผนดูแลล่วงหน้าได้จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น สังคม โครงสร้างใหญ่ก็ไม่ต้องสูงเสียทรัพยากรดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เกินความจำเป็น
ปีก่อนเราทำแคมเปญคนไทยทุกคนต้องเขียนสมุดเบาใจและวางแผนดูแลล่วงหน้าได้ แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากพอ ในการทำการ์ดแชร์กันมีการวิจัยพบว่าคนที่ผ่านกระบวนการแล้วมีจุดบอดที่ไม่สื่อสารกับคนในครอบครัวและบุคลากรสุขภาพ จากการโฟกัสกลุ่ม 3-4 กลุ่มพบว่า มีวางแผนดูแลล่วงหน้าแล้วแต่ไม่คุยต่อ เพราะมันคุยยาก ฉะนั้นในหลักสูตรกระบวนการชุมชนเลยต้องเพิ่มเรื่องการสื่อสารกับคนในครอบครัวด้วย
ความท้าทายอย่างหนึ่งคือการสร้างกระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้เครื่องส่ง สาร และผู้รับสารมีประสิทธิภาพ ใช้เครื่องมือและเนื้อหาแบบไหนไปจึงจะไปถึงผู้สูงอายุหรือคนป่วยได้ เช่น การ์ดแชร์กัน ล้อมวงคุยกัน เวิร์คชอป ออนไลน์ ออฟไลน์ ยูทูป เพลง หรืออินฟลูเอนเซอร์
เรากำลังทำเพื่อให้กระบวนการสื่อสารเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ธรรมดา สถานการณ์โควิดมันเร่งเร้าให้เราต้องทำเรื่องพวกนี้มากขึ้น (วางแผนดูแลล่วงหน้า) เราเห็นคนตายในโรงพยาบาลโดยคนไปส่งหรือไปลาไม่ได้ เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ขะไจ๋ Peaceful death และคนทำงานเรื่องนี้มาคุยกันมากขึ้น และค้นหาว่าจะทำอย่างไร
จุดหมายปลายทาง..ชุมชนแห่งการอยู่ดีและตายดี
คนไทยมีใจกรุณาอยู่แล้ว แต่ไม่มีช่องทาง ไม่รู้จะทำอะไร ตอนอยู่กรุงเทพมีกิจกรรมอาสาสมัครมากมาย เสาร์อาทิตย์ไปสวนโมกข์กรุงเทพทำงานอาสาสั้นๆ 2-3 ชม ได้ แต่เพื่อนเราหลายคนที่อยู่ต่างจังหวัดบอกว่าแบบนี้ไม่มีเลย แม้ในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่
พอมาอยู่ลำปางเราพบว่าถ้าเราสามารถสร้างช่องทาง คนก็จะเข้ากิจกรรมความกรุณากับเราได้มากขึ้น เรามี “มีใจสเปซ” พื้นที่สำหรับคนอยากกลับบ้านและมีรายได้ ขายขนม ปลูกต้นไม้ เป็นสัตวแพทย์ทำไข่ปลอดภัย ที่นี่ทีมขะไจ๋ได้สร้างกิจกรรมสั้นๆ ให้เด็กๆ มาทำร่วมกัน ล่าสุดเราทำกิจกรรมปันน้ำใจ ให้คนนำของมาบริจาคเพื่อขาย แล้วเอาเงินมาช่วยเด็กผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง คุณเม่คนหนึ่งทำบราวนี่ถาดใหญ่มาให้ขายเพื่อนำเงินไปทำกิจกรรม การมีพื้นที่ มีเวลา มีกิจกรรมทำร่วมกัน ส่งต่อความกรุณาได้เยอะ นอกจากเขามาทำงานเพื่อผู้อื่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นพื้นที่สนทนาด้วย เช่น การตายดี การเตรียมตัวตัวตาย
คนที่เดินมาเส้นทางนี้ ไม่ใช่การทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เราทำเพื่อตัวเราเอง เราทำเพื่อเรียนรู้เรื่องการอยู่และตายดี สิ่งที่สำคัญมากคือถ้าเราอยากอยู่และตายดีเราต้องสร้างเอง ถ้ามีพื้นที่การอยู่และตายดีเกิดขึ้นจริงๆ ในวันที่เราตาย เราได้ตายดีแน่ ๆ
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ - เมษายน 2565