เรื่อง : วรรณา จารุสมบูรณ์
ภาพ: ธำรงรัตน์ บุญประยูร
เช้าตรู่ของวันที่ 11 มกราคม 2566 ณ ศูนย์สร้างสุข อาคารศูนย์แพทย์วัดหนองแวง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในขณะที่ทีมงานกำลังจัดเตรียมสถานที่และจัดตั้งอุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพ เจ้าหน้าที่หลายคนเดินเข้ามาถามไถ่ว่า “วันนี้มีงานอะไรเหรอ?” บางคนถึงกับทำท่าสะดุ้งหลังจากได้ยินคำตอบก่อนจะเดินจากไป บางคนบอกว่า “ชื่อมันแรงไปนะ คำว่าสุดท้ายเนี่ย ต้องขนาดนั้นเลยเหรอ” ในขณะที่บางคนก็สงสัยว่ารูปแบบการถ่ายภาพจะออกมาเป็นอย่างไร
ท่าทีผลักไสเมื่อพูดเรื่องความตายและภาพสุดท้ายในงานศพของตัวเอง ทำให้ทีมงานนั่งลุ้นว่ากิจกรรม “ภาพความทรงจำสุดท้าย (Last Photo)” ในวันนี้จะมีคนมาร่วมงานกี่คน
คำว่า “ภาพสุดท้าย” อาจทำให้กังวลใจที่ต้องยอมรับว่า ความตายจะมาถึงเราอย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ในใจลึกๆ เราต่างปรารถนาที่จะมีภาพสวยๆ เอาไว้ให้ระลึกถึงหรือประดับหน้างานศพของตัวเอง เพราะหลายครั้งที่เราไปงานศพและพบว่าภาพประดับหน้าศพเหมือนถูกทำขึ้นอย่างกระทันหัน ไม่ทันได้ตั้งตัว ทั้งซีดจาง สีหน้าแข็งตึง เคร่งเครียด หรือกระทั่งดูแปลกไปเหมือนไม่ใช่คนเดียวกันกับที่เราตั้งใจมาร่วมงานศพ ซึ่งญาติมักจะบ่นว่าหารูปถ่ายดีๆ ไม่ได้เลย บ้างก็กลัวจะเป็นลางจึงไม่ได้เตรียมเอาไว้ก่อน หรือลึกๆแล้วก็อาจกลัวจนไม่อยากนึกถึง ภาพสุดท้ายของใครหลายคนจึงเป็นสิ่งที่คนอื่นเลือกให้ในวันที่เจ้าตัวไม่อยู่แล้ว
จะเป็นอย่างไร ถ้าเราได้เลือกภาพสุดท้ายเอง?
นี่คือจุดเริ่มต้นที่ “พี่ตุ่ย” ธำรงรัตน์ บุญประยูร ช่วงภาพอิสระในวัยหลังเกษียณคิดคำนึงกับตัวเอง พี่ตุ่ย เป็นช่างภาพมืออาชีพที่มีประสบการณ์ยาวนานและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล “ทำมาหมดแล้ว งานที่ว่ายากๆก็เคยถ่ายมาหมดแล้ว ถ้าถามว่าอยากทำอะไรตอนนี้ ก็อยากทำ Last Photo” พี่ตุ่ยบอกความปรารถนาที่อยากใช้ศักยภาพที่สั่งสมมาตลอดชีวิตทำสิ่งที่มีคุณค่าเพื่อผู้อื่นและยังได้เตรียมตัวตายไปด้วย
ในฐานะช่างภาพที่ถ่ายรูปคนอื่นมานับไม่ถ้วน พี่ตุ่ยจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า “รูปสุดท้ายของชีวิตเราเนี่ย ทำไมต้องเราให้ตกอยู่ในมือคนอื่น ทำไมเราไม่สามารถจะเลือกสิ่งดีกับตัวเราได้” แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ภาพสุดท้าย แต่รวมถึงเรื่องสำคัญอื่นๆ ในชีวิตของเราด้วยที่มักให้คนอื่นเป็นคนตัดสินใจเลือก เช่น เมื่อป่วยหนักอยากยื้อชีวิตหรือไม่ อยากใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่ไหน อยากให้คนจดจำเราอย่างไร ฯลฯ เพราะคนส่วนใหญ่มักผลักไสความตายให้ออกห่างจากชีวิต ทำให้หลายคนพลาดโอกาสใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายตามที่ตนเองปรารถนา
พอมารู้จักกับ “สุ้ย” วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death ซึ่งทำงานสร้างความตระหนักในการเตรียมตัวตายและการวางแผนชีวิตระยะท้ายอยู่แล้ว จึงสอดประสานกันอย่างลงตัวและทำให้เกิดโปรเจค Last Photo ขึ้นมา โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา กับ กลุ่ม Peaceful Death มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ชีวิต” กับ “ความตาย” เป็นของคู่กัน
แม้ชีวิตจะมีวันสิ้นสุด แต่ในอีกแง่หนึ่งการระลึกถึงความตายกลับเป็นโอกาสให้เราตระหนักถึงคุณค่าความหมายของชีวิตในปัจจุบัน อาทิ อะไรคือความสุขของเราในวันนี้ เราอยากใช้ชีวิตแบบไหน เราปรารถนาให้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และอยากให้วันสุดท้ายของเราเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเจ้าตัวย่อมรู้ดีกว่าใคร “ชีวิตกับความตายมันเป็นของคู่กัน เปรียบเหมือนเหรียญ 2 ด้าน เราไม่รู้ว่าระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวตายตั้งแต่วันนี้” พี่ตุ่ย กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลัง
กลุ่มขอนแก่นนิวสปิริต (เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่สนใจการพัฒนาเมืองที่ไม่ทิ้งคนไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นงานเพื่อสังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่วรรณากับเพื่อนๆ ร่วมกันก่อตั้งที่ขอนแก่น) ตั้งใจจะจัดงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับความตระหนักรู้ในเรื่องความเจ็บป่วย การตาย และความสูญเสีย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะท้าย และผู้ดูแล ซึ่งมีความเปราะบางในการพูดคุยสื่อสารให้เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวก่อนตาย
“ศิลปะการถ่ายภาพเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทรงพลัง เข้าถึงและจับต้องได้ง่ายที่สุด ยิ่งเมื่อได้เห็นงานถ่ายภาพขาวดำของพี่ตุ่ยในงานสมัชชาสุขภาพด้วยแล้ว ยิ่งชัดเจนเลยว่างานลักษณะนี้สะท้อนธรรมชาติของชีวิตได้ดีมากๆ จึงตั้งใจชวนพี่ตุ่ยมาจัดกิจกรรมที่ขอนแก่นเป็นการเฉพาะ” วรรณาขยายความ
บทสนทนาที่ไม่ควรรอให้ถึงวันสุดท้าย
พอสายๆ เริ่มมีผู้สูงอายุทยอยมาลงทะเบียน ทำให้ทีมงานใจชื้นขึ้นมาหน่อย ภายหลังลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมพากันแยกย้ายลงตามโต๊ะที่มีกระบวนกรชวนคิดชวนคุยผ่านคำถามในเกมไพ่ไขชีวิต เครื่องมือชวนสนทนาเรื่องชีวิตและความตายของกลุ่ม Peaceful Death
อะไรคือสิ่งสำคัญที่คุณต้องการบรรลุหรือทำให้สำเร็จก่อนตาย?
“อยากไปเที่ยวรอบโลกค่ะ ไม่ต้องไปครบทุกที่ก็ได้ แต่อยากไปต่างประเทศ อยากไปเห็นบ้านเมืองคนอื่นเค้า” คุณป้ายังสาววัย 61 ปี ตอบทันที
การไปเที่ยวต่างประเทศสำคัญกับคุณป้ายังไงคะ? กระบวนกรชวนคุยต่อ
“ที่ผ่านมาเราทำเพื่อคนอื่นมาตลอด ทุกวันนี้เกษียณแล้วก็ยังต้องดูแลคุณแม่อายุ 91 ปี อีก ไม่มีโอกาสทำอะไรเพื่อตัวเองบ้างเลย ตอนทำงานก็นึกถึงแต่งาน ตั้งใจหาให้ได้มากๆ เพื่อครอบครัวจะได้อยู่สบาย เกษียณมาก็ยังต้องรับผิดชอบดูแลโน่นนี่อีก ก็อยากมีความสุขกับเค้าบ้างเน๊อะ”
คุณป้ารู้สึกอย่างไรที่มักให้ความสำคัญกับคนอื่นจนบางครั้งก็ลืมดูแลตัวเอง
“อืม ก็เหนื่อยนะ วันๆ แทบไม่ได้ทำอะไรให้ตัวเองเลย อยากกลับมาดูแลตัวเองบ้าง”
ดีจังเลยค่ะ ดูเหมือนตอนนี้คุณป้าก็อยากดูแลตนเองให้มีความสุข ไปพร้อมๆ กับดูแลคนอื่นให้มีความสุขด้วย
“ใช่ๆๆ ไม่อยากรอแล้ว ไม่รู้จะมีวันนั้นไหม วันที่เราไม่ต้องมีภาระอะไร”
คุณป้าพอนึกออกไหมคะว่า อะไรที่ทำให้คุณป้ามีความสุข แม้เรายังไปเที่ยวต่างประเทศตอนนี้ไม่ได้
“ก็ได้ทำงานบ้านก๊อกๆ แก๊กๆ ไป ไม่ต้องรีบเร่ง ไม่ต้องบีบคั้นว่าจะต้องให้มันได้อย่างนั้นอย่างนี้”
มันจะเป็นยังไง ถ้าคุณป้าอนุญาตให้ตัวเองได้มีความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน ขณะเดียวกันก็ดูแลคนอื่นไปด้วย
(หัวเราะ) ก็คงดีอ่ะเน๊อะ ความจริงมันก็สุขๆ ทุกข์ๆ แหล่ะ แต่สุขมากกว่า
อืม มันเป็นยังไงคะ ที่ได้เห็นว่าชีวิตเราก็มีทั้งทุกข์และสุข แต่มีความสุขมากกว่า
(ยิ้มกว้าง) เราก็โชคดีแหล่ะ ที่ยังมีความสุขได้
เพียงไม่กี่นาทีที่ได้คุยกัน พลังชีวิตของคุณป้ากลับคืนมาพร้อมกับรอยยิ้มสดใส รูปถ่ายของคุณป้าจึงแทบไม่ต้องพยายามเลย เป็นรอยยิ้มที่บ่งบอกถึงความสุข ความสบายใจ ความหนักอึ้งในใจคลี่คลาย
เฉกเช่นเดียวกับผู้เข้าร่วมอีกหลายคนที่เลือกได้ไพ่คำถามที่แตกต่างกันไป
ชีวิตช่วงนี้คุณให้เวลากับกิจกรรมใดมากที่สุด
หากวันนี้คุณหลับไปโดยไม่ตื่นขึ้นมาอีก คุณพร้อมตายมากน้อยเพียงใด?
อยากแจกอะไรเป็นของที่ระลึกในงานศพ?
หากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงและอยู่ในระยะสุดท้าย คุณอยากให้ทีมสุขภาพดูแลคุณอย่างไร? ฯลฯ
หนึ่งคำถาม หลายคำตอบ ชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทบทวน ใคร่ครวญอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก “อืม ไม่คิดว่ากิจกรรมจะเป็นแบบนี้ ได้พูดได้คุย มันก็ได้ระบายออกไปเยอะเน๊อะ” ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งสะท้อนบอก
จากที่ตั้งใจจะคุยแป๊บเดียว กลายเป็นครึ่งชั่วโมง บางคนก็ยาวนานกว่านั้น ความทุกข์ความกังวลที่เคยเก็บเอาไว้ หลั่งไหลพรั่งพรู การมีใครสักคนที่รับรู้ มองเห็น และรับฟังด้วยความใส่ใจ ช่วยทำให้หลายคนผ่อนคลาย สบายใจบางอย่างที่เคยกลัว ไม่อยากนึกถึง ก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นมาในใจ
“เราไม่อยากเป็นภาระใคร ถ้าจะตายก็ขอไปสบาย ไม่ต้องทรมาน ไม่อยากยื้อให้เดือดร้อนถึงลูกหลาน”
คำตอบเป็นอย่างไรอาจไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้ทบทวน ใคร่ครวญ และตัดสินใจเลือกสิ่งที่สำคัญในชีวิตด้วยตนเอง
ความสุขที่เลือกได้เอง
“ผมชื่อ ‘ตุ่ย’ นะครับ วันนี้ขอฝากตัวเป็นลูกเป็นหลานนะครับ” เสียงช่างภาพกล่าวทักทายด้วยไมตรี
“ยิ้มให้ผมหน่อยครับ อย่างงั้นแหล่ะครับ ดีมากครับ สุดยอดเลย”
“เราอยากบอกให้คนที่เห็นภาพนี้เค้ารู้ว่าเรามีความสุขแค่ไหน ลองปล่อยมันออกมาครับ” พี่ตุ่ยยังคงทำงานกับคนตรงหน้าอย่างเบิกบาน
“นั่นแหล่ะครับ เยี่ยมไปเลย” เสียงช่างภาพผสานกับเสียงหัวเราะของผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังลอดมาเป็นระยะ
บรรยากาศช่างแตกต่างจากที่หลายคนคิดนึกเอาไว้ ก่อนกลับผู้เข้าร่วมหลายคนที่มาแบบงงๆ ในตอนแรก เดินส่งยิ้มมาแต่ไกล
“เข้าใจแล้วว่าเรามาทำอะไร”
“ชอบจัง มีความสุขที่ได้ทำอะไรแบบนี้”
“คุ้มค่ามาก ที่ตัดสินใจมา”
“ความจริงก็เตรียมตัวตายมาบ้างแล้วแหล่ะ แต่พอมาทำอะไรให้มันชัดเจนแบบนี้ก็ดีนะ โล่งเลย”
เป็นความจริงที่ว่า ความตายไม่ได้น่ากลัว เท่ากับความกลัวตาย ในทางตรงกันข้ามความตายกลับมาเตือนให้เราใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างไม่ประมาท ไม่เสียเวลาไปกับอะไรที่ไม่จำเป็น
อยากบอกคนที่มาเห็นภาพนี้ในวันที่เราไม่อยู่แล้วว่ายังไงคะ กระบวนกรชวนคุยก่อนกลับ
“ใช้ชีวิตให้มีความสุขเถอะ อีกไม่นานเราก็ตายแล้ว” ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งพูดเจือเสียงหัวเราะสดใส
ชั่วขณะที่คนตรงหน้ายิ้มหรือหัวเราะอย่างเต็มที่ คือโมเมนต์ที่คนถูกถ่ายภาพได้กลับไปเชื่อมโยงกับโลกภายในของตนเอง ผู้ถ่ายภาพเพียงสัมผัสได้ถึงความสุขที่เปล่งประกายออกมาจากข้างในนั้นและเลือกกดชัตเตอร์เก็บเอาไว้ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ “พี่ตุ่ย’ ทำงานนี้อย่างเบิกบานใจและมีความสุขทุกครั้ง
Last Photo จึงเป็นของขวัญที่เรามอบให้กับตัวเองและคนที่เรารัก โดยไม่ต้องรอให้มีเส้นตายมากำหนด และความตายก็ไม่ได้น่ากลัว หากเรายอมรับและเตรียมตัวเสียตั้งแต่วันนี้.
- ขอขอบคุณรพศ.ขอนแก่น ศูนย์แพทย์วัดหนองแวง และเทศบาลนครขอนแก่น ที่เอื้อเฟื้อสถานที่จัดกิจกรรม
- ขอขอบคุณนพ.วัชรพงษ์ หัวหน้าฉวีลักษณ์ น้องเอ็ม และแม่อ้อ ที่ดูแลสนับสนุน
- ขอขอบคุณแม่เพ็ญและแม่สำเภา สำหรับภาพประกอบ