parallax background
 

ปันกันอิ่ม

ผู้เขียน: เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร หมวด: ชุมชนกรุณา


 

เมื่อร้านอาหารไม่ได้ขายแต่อาหาร และร้านกาแฟไม่ได้แต่ขายแต่กาแฟ เขาจะทำอะไรได้บ้าง นอกจากเป็นพื้นที่ให้คนฝากท้อง ปัจจุบัน ร้านอาหารบางแห่งเริ่มเปิดพื้นที่รับฝากอาหาร จากผู้ประสงค์จะให้ "อิ่ม" แก่ผู้ประสงค์จะรับ ที่น่าสนใจคือ ผู้ให้และผู้รับ ไม่จำเป็นต้องพบหน้ากัน เพียงแค่มีข้อความสั้น ๆ ส่งแทนคำขอบคุณก็พอแล้ว

โครงการน่ารักนี้ชื่อ "ปันกันอิ่ม” ที่ชวนให้แม่ค้าพ่อค้าผู้เป็นเจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านน้ำ มาทำให้ร้านของตัวเองกลายเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปัน เพราะเพียงข้าวจานเดียวหรือน้ำแก้วเดียวก็เป็นสิ่งที่มีค่ากับหลายชีวิตที่ยังเข้าไม่ถึง เช่น ผู้ที่มีรายได้น้อยหรือผู้ที่ยังไม่พร้อมจ่ายในวันนั้นก็เป็นได้

ในโครงการนี้ เจ้าของร้านอาหารหรือร้านเครื่องดื่มทำหน้าที่เหมือนผู้รับฝากอาหาร โดยเมื่อใดที่มีผู้ที่ประสงค์จะแบ่งปันอาหาร เขาก็เพียงมาแจ้งกับเจ้าของร้านว่า อยากแบ่งปันกี่จาน แล้วจ่ายเงินไว้ล่วงหน้าตามจำนวนเสมือนฝากไว้ แล้วเจ้าของร้านก็จะบันทึกยอดรวมไว้สำหรับมอบให้ผู้ที่ประสงค์จะรับอาหารต่อไป วันไหนที่มีผู้ขาดแคลนผ่านมาก็รับไปทานได้ หรือถ้าเจ้าของร้านเห็นใครที่อยากช่วยเหลือ ก็ชวนเข้ามาทานได้เช่นกัน

เมื่อผู้รับทานเสร็จแล้ว เพียงเขียนข้อความสั้น ๆ ถึงผู้ให้ แปะไว้ที่กระดานในร้านนั้นแทนคำขอบคุณเท่านั้น ไม่แน่ว่า วันใดวันหนึ่งข้างหน้า เขาเองก็กลับมาเป็นผู้ให้ได้เช่นกัน

"โครงการเราตั้งใจจะเริ่มจากคนที่อยากจะให้ค่ะ เจ้าของร้านที่รู้สึกว่า เขาทำร้านอาหารอยู่แล้วอยากจะทำบุญหรืออยากจะช่วยเหลือคนอื่น พอมีรูปแบบนี้ขึ้นมา เขาจะเห็นว่า เขาก็ให้ได้นะ” คุณอุ๋ย-ณพร นัยสันทัด หนึ่งในทีมผู้ดูแลโครงการบอก เธอเล่าว่าการให้ผู้รับเขียนข้อความถึงผู้ให้ ก็เป็นการดูแลความรู้สึกของผู้รับหรือผู้ที่ไม่พร้อมจ่าย เพราะโครงการไม่ได้จัดขึ้นเพื่อการสงเคราะห์ แต่เพื่อเปิดโอกาสการแบ่งปันและทุกคนก็สามารถเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับไม่ต่างกัน

เจ้าของร้านที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับแผ่นป้ายที่เขียนข้อความเชิญชวนให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้เห็นโอกาสที่เขาจะแบ่งปันอาหาร โดยเจ้าของร้านจะทำหน้าที่บันทึกจำนวนจานที่ผู้ให้จ่ายเงินไว้ล่วงหน้า และเขียนตัวเลขยอดรวมล่าสุดไว้ที่ป้าย เพื่อเป็นการแจ้งจำนวนอาหารฝากที่ผู้รับสามารถรับไปทานได้ เมื่อใดมีผู้รับมารับไปหรือมีผู้ให้มาฝากเพิ่ม เจ้าของร้านก็จะแก้ไขตัวเลขยอดรวมที่ป้ายเป็นครั้ง ๆ ไป 

นอกจากนี้ ภายในร้านก็จะมีอีกป้ายหนึ่ง เป็นพื้นที่สื่อกลางให้ผู้รับเขียนข้อความส่งถึงผู้ให้แล้วติดไว้ที่ป้ายนี้ ข้อความในป้ายนี้จึงเต็มไปด้วยคำขอบคุณและคำอวยพรต่าง ๆ ที่ใครได้อ่านก็จะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่ผู้รับมีต่อผู้ให้ด้วย 

เจ้าหน้าที่ของโครงการ “ปันกันอิ่ม” จะแวะมาเยี่ยมเยียนเจ้าของร้านเพื่อพบปะพูดคุยเป็นระยะและรับฟังสถานการณ์ต่าง ๆ เจ้าของร้านเพียงแค่แจ้งยอดตัวเลขอาหารฝากในช่วงนั้นให้เจ้าหน้าที่ทราบแต่ไม่ต้องเขียนรายงานเป็นเล่ม เมื่อเจ้าของร้านมีข้อสังเกตก็จะสะท้อนให้คุณณพรรับทราบ เช่น บางครั้งที่มีจำนวนอาหารไม่พอให้ผู้รับ เจ้าของร้านก็มีน้ำใจแบ่งอาหารให้เอง แต่โดยปกติแล้ว จำนวนอาหารที่ฝากไว้ก็มักจะมีเพียงพอให้ผู้รับได้อิ่ม

ร้านแรกที่เข้าร่วมโครงการคือ "ข้าวมันไก่ตอน แม่สำเนียง" อยู่ในย่านพระราม 2 โดยคุณตู่-ปกรณ์ธวัศ เพชรอนันต์ อายุ 37 ปี ชายหนุ่มผู้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านอาหารของตัวเอง แม้จะเพิ่งร่วมโครงการได้ 3 เดือน ก็มีคนหมุนเวียนฝาก-รับกันแล้ว “ผมเป็นเหมือนคนกลางครับ คนให้ก็เข้ามาแล้วได้ทำบุญด้วย คนรับก็เต็มใจที่จะรับ ผมก็รู้สึกภูมิใจนะครับ” คุณปกรณ์ธวัศบอกความรู้สึกที่ร้านของเขาเป็นจุดเชื่อมโยงให้ผู้คนได้ช่วยเหลือกัน

อีกร้านซึ่งอยู่ไม่ห่างคือ "999 กาแฟโบราณ" ของ ลุงจักร-สุรชัย ตันประเสริฐ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านผู้อัธยาศัยดีเล่าว่า “คนที่มารับประจำคือ ลุงยามที่อยู่ใกล้ ๆ นี่เอง แกมารับหลายครั้ง หลัง ๆ ก็ไม่กล้าเข้ามา ผมต้องบอกแกให้มาเอากาแฟไปกินนะ” นอกจากลุงยามแล้ว ก็มีคนเร่ร่อนที่มารับน้ำเป็นครั้งคราว กระดานไม้ที่ตั้งอยู่หน้าร้านช่วยสื่อสารให้ผู้ที่มาซื้อกาแฟได้เห็นโอกาสแบ่งปัน 

คุณสุรชัยเปิดสมุดบันทึกไว้ว่าแต่ละวันมีคนฝากกาแฟกี่แก้ว ไล่เรียงทุกวันไม่ขาดสาย ปกติจะมียอดฝากเพิ่มวันละ 3-4 แก้วต่อเนื่องทั้งเดือน “ผมว่าถ้าสังคมจะน่าอยู่ขึ้น ถ้าเราให้กัน” คุณสุรชัยบอก และก็รับรู้ได้ในข้อความจากผู้รับคนหนึ่งที่เขียนติดไว้ที่กระดานด้วยว่า “ขอบคุณมาก ๆ จากใจจริง"

ร้านข้าวมันไก่ของคุณปกรณ์ธวัศและร้านกาแฟของคุณสุรชัยช่วยจุดประกายการแบ่งปันในสังคมได้ แต่หากมองไปในระบบการจัดการที่ซับซ้อนขึ้น โครงการก็ยังพบความท้าทายที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ “ตอนแรกโครงการเราอยากจะเริ่มจากพื้นที่ในมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาล แต่พอเจอกับระบบก็ชะงักไป” คุณณพรบอกที่มาของการเริ่มต้นทำโครงการกับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในชุมชนก่อน 

“ศูนย์อาหารจะใช้การ์ด แล้วการ์ดกับเงินสดมีเงื่อนไขต่างกัน เพราะการ์ดต้องมีค่ามัดจำ 10 บาท แล้วเงินส่วนนี้จะอยู่กับใคร ใครจะเป็นคนดูแล ตอนแรกเราคิดว่าถ้าทำกับทุกร้านในศูนย์อาหารได้ก็จะดีมาก แค่ไปรับบัตรที่เคาน์เตอร์แล้วอยากกินอะไรก็ได้ แต่เขาก็มองว่าจะเป็นภาระกับแคชเชียร์ที่จะต้องดูแลเงิน 10 บาทในการ์ดแทน” คุณณพรเล่า

อย่างไรก็ตาม ระบบการจัดการเรื่องการเงินและการรับฝากอาหารอาจไม่ใช่ปัญหาที่แท้ เพราะหากตั้งใจจริง เราย่อมหาวิธีทำให้เกิดขึ้นได้ ช่วงที่ผ่านมาในประเทศไทยก็มีร้านอาหารที่มีใจแบ่งปัน เช่น "ร้านสเต็กอินดี้ บายเพาะช่าง เชียงใหม่” ที่ จ.เชียงใหม่ เปิดให้ผู้พิการทานฟรี หรือ "ราเมงอะ” ร้านอาหารญี่ปุ่นย่านพระราม 9 ที่รับฝากอาหารให้กับผู้ที่อยากกินแต่ไม่พร้อมจ่าย รวมถึงร้านอาหารอีกหลายแห่งทั่วโลกที่มีนโยบาย Suspended meal รับฝากอาหารเพื่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน

ความสงสัยที่ว่าผู้รับสมควรได้รับหรือไม่ หรือทำอย่างไรให้มั่นใจว่า คนนี้สมควรหรือคนนั้นไม่สมควร อาจไม่มีใครให้คำตอบที่ถูกต้องที่สุดได้ เพราะคำตอบอยู่ในใจเรา และเมื่อใจพร้อม ก็ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป

ความเป็นชุมชนคงไม่ได้เกิดจากการมีบ้านอยู่ใกล้กัน แต่ชุมชนเกิดจากความรู้สึกที่ผู้คนในละแวกนั้นเกื้อกูลสิ่งที่มี ให้สิ่งที่ให้ได้ ไม่ว่าจะอาชีพใด ตำแหน่งอะไร หรืออายุเท่าไหร่ ชุมชนจะน่าอยู่ก็ด้วยคนที่อยู่ในชุมชนนั่นเอง ร้านอาหารเป็นพื้นที่ที่ชวนให้คนในชุมชนส่งต่อความกรุณา กำลังใจและคำขอบคุณให้กันได้

สังคมทุกวันนี้ อาจไม่ได้ต้องการอะไรที่ใหญ่ไปกว่าน้ำใจ เราอาจไม่รู้ว่าสิ่งใกล้ตัวที่เราใช้เป็นประจำหรือสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน สามารถเป็นโอกาสในการแบ่งปันได้เสมอ และอาจดูแลได้อีกหลายชีวิตที่คิดไม่ถึงก็เป็นได้

หากผู้ใดอ่านแล้วสนใจเข้าร่วมโครงการ “ปันกันอิ่ม” สามารถติดต่อได้ที่ เครือข่ายพุทธิกา โทร. 02-882-4387 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งการแบ่งปันไปด้วยกัน

[seed_social]
28 กันยายน, 2560

ท่องโลกกว้างกับสล็อต

ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีอารมณ์ฉุนเฉียว ขี้โมโห ถึงขั้นลงไม้ลงมือเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ เป็นปัญหาที่น่าหนักใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี บางคนเคยอารมณ์ดี
28 พฤศจิกายน, 2560

เบาใจ…สบายกาย

ความรักมักวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเราเสมอ จะเรียกว่าตลอด 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ ถ้าไม่ได้เป็นฝ่ายรักเขา ก็เป็นฝ่ายถูกรัก ยิ่งใครเป็นคนชอบเขียนไดอารีประจำวันและเกิดรักใครขึ้นมาสักคน รับรอง
22 กันยายน, 2560

ใครอ่านข้อความนี้ต้องตาย

คุณอ่านไปแล้ว อย่าทำเป็นไม่เห็น เพราะถ้าคุณอ่านมาถึงประโยคนี้ มันก็สายเกินไปแล้ว จากนี้ไปเตรียมตัวได้เลย “คุณ ต้อง ตาย” เพราะนี่คือข้อความต้องคำสาป