“สิทธิ เสรีภาพ ทางเลือก นวัตกรรม และความหลากหลาย” กำลังกลายเป็นคำสำคัญของยุคสมัย หนุ่มสาวจำนวนมากใช้เป็นคำตอบให้กับชีวิตในหลายๆเรื่องไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องชีวิตและความตาย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ละช่วงวัยย่อมมีความคิด-ความเชื่อเรื่องความตายและการใช้ชีวิตแตกต่างกัน แม้โดยหลักการพื้นฐานไม่ต่างกันกับคนรุ่นก่อนนัก แต่มีเฉดของนิยามความหมายที่กว้างขึ้นไปอีก โลกทัศน์ย่อมเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม
คนรุ่นใหม่จะเน้นเรื่องการทำตามความฝัน ได้ใช้ชีวิตดังที่ปรารถนา หากได้ทำครบหมดแล้วก็พร้อมที่จะตายด้วยความรู้สึกที่คุ้มค่า หากในวันสุดท้ายของชีวิตต้องทุกข์ทรมานก็อยากจะมีทางเลือกเอง ไม่อยากนอนบนเตียงแล้วมีคนมาเลือกหรือตัดสินใจให้ ต่างจากคนรุ่นพ่อแม่เรา ที่พอล้มป่วยก็จะเริ่มรู้สึกหมดคุณค่า ไม่มีความเห็น ให้ลูกหลานตัดสินใจ หรือไม่ก็บอกว่าแล้วแต่หมอจะจัดการ อาจเพราะคนรุ่นก่อนไม่ได้มีแนวคิดว่าชีวิตเป็นของตัวเอง แต่สัมพันธ์โยงใยกับสังคมและคนรอบตัว ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีมุมมองต่อตัวเองชัดเจนมาก มีความฝัน การจัดการวิถีชีวิตในแบบของตัวเองโดยไม่ขึ้นกับใคร และต้องการทางเลือกในทุกเรื่องไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องความตาย จึงทำให้นิยามการตายดีของคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่ยังต่างกันอยู่มาก
ในคนสูงวัยหรือคนที่เกิดในยุคเบบี้บูม เมื่อทราบจากหมอว่าตัวเองกำลังเป็นโรคร้าย มีเวลาอยู่ได้จำกัด มักจะทำใจยอมรับได้ง่าย และปฏิบัติตามที่หมอแนะนำ แบบหมอว่าไงก็ว่ากัน แต่หากเป็นคนยุคนี้ เขาจะเริ่มศึกษาข้อมูล หาทางเลือกในการรักษา มี/ไม่มีสิทธิรักษาอะไรบ้าง ทั้งในไทยและต่างประเทศ เมื่อหาความรู้ในการจัดการได้มากพอจนแน่ใจแล้วจึงตัดสินใจเลือกเองจากทางเลือกอันหลากหลายนั้น ไม่ใช่แค่การเชื่อหมอ อาจเนื่องจากความเป็นปัจเจกสูง ไม่ขึ้นกับใครแม้กระทั่งคนในครอบครัว ต่างจากคนรุ่นก่อนที่มักมีความเชื่อว่าตัวเองไม่ใช้ปัจเจกโดยสมบูรณ์ หากตนเองตายลงจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน เราจะเห็นได้ว่าในอดีต หากใครสักคนล้มป่วยลง สมาชิกครอบครัวทั้งตระกูลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก แต่ปัจจุบันที่เป็นครอบครัวเดี่ยว หลายบ้านกลับเลือกจะปกปิดเป็นความลับ เพราะไม่อยากให้ญาติเข้ามาวุ่นวาย ทรรศนะความเป็นปัจเจกเหล่านี้จึงส่งผลต่อกระบวนการรักษาและการตัดสินใจในช่วงท้ายของชีวิต นี่จึงเป็นคำถามสำคัญว่า ตอนนี้สังคมไทยมีทางเลือกให้มากน้อยแค่ไหน มีพื้นที่ให้พูดคุยหรือไม่ เพราะเรายังอยู่ในวันเวลาที่คนจากหลายวัยอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน
ยูธานาเซีย (Euthanasia) และการฆ่าตัวตาย
ไม่ว่าจะเป็นยูธานาเซีย (Euthanasia) หรือการฆ่าตัวตาย ล้วนแต่เป็นทางเลือกหนึ่งในการจบชีวิตภายใต้การตัดสินใจของเราเอง แต่แตกต่างกันในเชิงเทคนิค แต่ไม่ว่าวิธีใด ผลกระทบที่ตามมาต่างหากที่น่าสนใจ ยูธานาเซียเป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และสวิตเซอร์แลนด์ ในกรณีที่ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยเรื้อรังและต้องการยุติความเจ็บปวดนั้นโดยการจากไปอย่างสงบโดยไม่จำเป็นต้องยินยอมจากผู้ปกครองหรือญาติ นั่นแปลว่าผู้นั้นจะได้รับสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจเหนือร่างกายของตนเองอย่างแท้จริง แม้จะดูยุ่งยากซับซ้อนไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับการฆ่าตัวตาย แต่การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องต้องห้ามของมนุษย์ทั้งในเชิงศาสนาและความสัมพันธ์กระทบต่อความรู้สึกของคนที่อยู่รอบข้างอย่างรุนแรง สร้างบาดแผลร้าวลึกยากจะเยียวยาให้แก่คนในครอบครัว
ในทางการแพทย์เองก็มีข้อถกเถียงกันมากว่า ยูธานาเซีย หรือ Physician-Assisted Suicide เป็น best interest หรือ ประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยจริงหรือไม่ บางแง่มุมอาจมองว่าไม่ใช่เลยก็ได้เพราะการแพทย์ไม่มีสิทธิไปตัดสินความเป็นความตายของใครด้วยซ้ำ ฉะนั้นในท้ายที่สุดมันคงอยู่ที่แต่ละคนเลือกมอง แล้วประสบการณ์มากมายในชีวิตจะเป็นสมการสำคัญในการเลือกตัดสินใจและออกแบบความตายของตัวเอง
ก้าวแรกสู่การวางแผนการตาย ต้องทำอย่างไร
สิ่งแรกสุดคือทางเลือกในการป้องกัน ควรวางวางแผนอย่างรอบคอบสำหรับวันที่เราเจ็บป่วย แก่ชรา หรือต้องพึ่งพาผู้อื่น เราจะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับตัวเอง ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายและแนวปฏิบัติว่าด้วยเรื่องการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Plan) ในรูปแบบสมุดเบาใจ ที่ทุกคนสามารถเขียนเจตจำนงไว้ได้หากมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีรูปแบบหนึ่งในตอนนี้ ถัดมาคือเมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา การแบบประคับประคอง (Palliative Care) ยังคงเป็นรูปแบบที่มีคนไข้เข้าถึงการรักษานี้น้อยและยังไม่มีความเข้าใจมากพอ จำเป็นต้องให้ความรู้ให้มากขึ้นก่อนที่จะไปถึงการพูดเรื่องยูธานาเซียเสียด้วยซ้ำ และสุดท้ายคือ Hospice หรือสถานดูแลผู้ป่วยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งก็เป็นทางเลือกหนึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความเป็นอยู่ที่ดีก่อนตายและทำให้ผู้ดูแลทำงานได้ง่ายมากขึ้น
สำหรับในประเทศไทยแล้ว Nursing Home หรือบริการสถานดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่ควรยอมรับให้ผู้สูงอายุมีช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่จะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพด้วย เพราะโดยทั่วไป หากผู้สูงอายุป่วยจนโคม่า หรือใกล้เสียชีวิตจะถูกส่งไปให้โรงพยาบาลและกลายเป็นภาระของทางโรงพยาบาลเรื่องจำนวนเตียงอีกทีหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำสูง การเลือก Nursing Home ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูงมาก สังคมไทยควรออกแบบให้คนจน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมสามารถมีทางออกได้ด้วย โดยเฉพาะคนจนในเมือง ในขณะที่ต่างจังหวัดกลับดูมีความเป็นไปได้มากกว่า ชุมชนจะมีการจัดการตัวเองในรูปแบบจิตอาสาเพื่อดูแลและเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้านเรือน แม้จะดูแลไม่ได้เต็มที่ แต่ก็เป็นการผ่อนหนักเป็นเบาให้กับญาติหรือผู้ดูแลหลักที่เหนื่อยล้า สังคมไทยคงต้องหันกลับมาหาทางเลือก เครื่องมือและสร้างนวัตกรรมสำหรับรองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดในไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเสียที
สังคมเนิร์สซิ่งโฮมเป็นไปได้จริงหรือในประเทศไทย ?
คนจำนวนหนึ่งมีการวางแผนถึงช่วงท้ายของชีวิตว่าไม่อยากเป็นภาระคนในครอบครัว การอยู่ในเนิร์ซซิ่งโฮมในช่วงท้ายของชีวิตจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะมีพยาบาลคอยดูแล มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆครบครันเหมือนบ้านของตัวเอง แต่นั่นหมายความว่าต้องใช้เงินมหาศาล แนวคิดนี้กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ของสังคมสมัยใหม่ แน่นอนว่าคนจำนวนมากในสังคมไทยที่ยากจนย่อมถูกทิ้งให้ตกหล่น ไร้ทางเลือก และไม่สามารถมีสิทธิเสียงในการเลือกวิธีนี้ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมต้องหาคำตอบ และทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับคนส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ ฉะนั้น การย้อนกลับไปสร้างความแข็งแรงให้ชุมชนจึงยังเป็นเรื่องสำคัญ
ในประเทศญี่ปุ่นมีการจัดการสังคมผู้สูงวัยอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เมื่อพบว่าปัญหาของสังคมผู้สูงวัยคือการขาดคนดูแล จึงมีการออกนโยบายให้เด็กๆมาอยู่ร่วมกับกับผู้สูงอายุ คอยดูแลกันและกัน นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องการขาดบุคคลากรสำหรับดูแลผู้สูงอายุแล้ว ยังสร้าง bond สำหรับคนสองวัย ปลูกฝังให้เด็กรู้ว่าการได้ดูแลคนอื่นคือคุณค่าอย่างหนึ่งของชีวิต เป็นการแก้ปัญหาได้ในระกลางและระยะยาว ซึ่งเป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาที่ empower ให้คนในชุมชนดูแลกันและกัน สร้างความแข็งแรงของชุมชนที่สามารถทำได้จริง
จะตายดีได้ ชุมชนต้องดีด้วย
คนสมัยนี้มีการออกแบบและวางแผนชีวิตอย่างรอบคอบมากขึ้น มีทั้งการวางแผนครอบครัว (มี/ไม่มีลูก) วางแผนการเงินหลังเกษียณ รวมทั้งวางแผนการตายของตัวเอง แต่ที่ผ่านมา เราพูดถึงความตายในมิติที่พอจะวางแผนล่วงหน้าได้เท่านั้น แต่อย่าลืมว่าชีวิตเรายังมีอีกมิติหนึ่งที่เป็นความกะทันหัน เป็นเรื่องไม่คาดฝัน เราไม่มีโอกาสเตรียมตัวเพราะไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นั่นคือความตายจากความเสี่ยงทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โควิด มลพิษ โรงงานนิวเคลียร์ระเบิด ฝีดาษลิง หรือการกราดยิงในโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาสังคมที่ยังแก้ด้วยตัวปัจเจกบุคคลไม่ได้ หากแก้ปัญหาทางสังคมเหล่านี้ไปได้ ก็จะทำให้โอกาสของการตายสมดุลมากยิ่งขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า
การลดความรุนแรงของการสูญเสียอาจเริ่มต้นได้ที่ชุมชน โครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี จึงถูกดำเนินขึ้นเพื่อให้ทุกคนในชุมชนสามารถดูแลกันและกันระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อนำไปสู่การอยู่และตายที่ดีโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมายนัก และไม่ปล่อยให้ใครบางคนเผชิญกับปัญหานี้เพียงลำพัง และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เห็นว่า แต่ละคนมีส่วนสำคัญในการดูแลครอบครัว คนรอบข้าง และชุมชนของตัวเอง และเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมกันออกแบบ แนวคิดดังกล่าวขยายวงกว้างในอังกฤษ สก็อตแลนด์ เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และไต้หวัน รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งตอนนี้เริ่มมีปฏิบัติการชุมชนกรุณาในหลายพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว เช่น ในต่างจังหวัดหลายแห่งมีระบบของชุมชนที่สนับสนุนให้คนในชุมชนกลับมาดูแลตัวเองในวาระสุดท้ายได้ดี มีระบบ Palliative Care ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าในเมืองเสียอีก ไม่ว่าจะผ่านรูปแบบจิตอาสา รวมถึงได้รับความร่วมมือจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เริ่มเห็นความสำคัญของเรื่องสวัสดิการ ทั้งคนพิการ คนสูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งแตกต่างจากในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯที่มีผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก แต่กลับไม่มีนโยบายหรือระบบใดๆที่เป็นหลักประกันให้คนจนเมืองเลยว่าเขาจะได้รับการตายที่ดี นี่ซึ่งอาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังในระดับนโยบายของประเทศเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
คนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ คุยเรื่องความตายแบบไหนให้เข้าใจกันมากที่สุด
คนรุ่นใหม่มีความเป็นปัจเจกสูง มีแนวโน้มจะสร้างครอบครัวเดี่ยวและแยกตัวออกมาจากครอบครัวหรือชุมชนเดิมสูง หากเริ่มมีการวางแผนการตายจะมีแนวโน้มจะซื้อคอนโดแทนการซื้อบ้าน เนื่องจากดูแลรักษาง่ายและไม่เป็นภาระมากนัก ในขณะที่คนรุ่นเก่าจะถูกปลูกฝังมาว่าต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ ต้องกลับมาอยู่บ้าน ฉะนั้นเมื่อตนเองแก่ชราหรืออยู่ในวาระท้ายของชีวิตย่อมคาดหวังให้มีลูกหลานมาดูแล แต่คนรุ่นใหม่มีแนวคิดที่ต่างออกไป การอยู่ในเนิร์สซิ่งโฮมอาจจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าสำหรับพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายมหาศาล ด้วยแนวคิดที่ต่างกันนี้เองทำให้กลายเป็นจุดปะทะกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เมื่อถึงวัยไม้ใกล้ฝั่ง เมื่อพ่อแม่คนรุ่นเก่ากับลูกคนรุ่นใหม่ต้องวางความตายและการดูแลร่วมกันในนามครอบครัว
แม้ว่าทุกวันนี้แนวคิดเรื่องความตายและระยะท้ายของชีวิตยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคม การปะทะทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามีให้เห็นอยู่เสมอมา แต่คงไม่ยากเกินไปนักหากเริ่มจากการค่อยๆคุยกันในบ้าน ลองถามพ่อแม่ดูว่าพวกท่านเห็นมุมมองเรื่องนี้อย่างไร อยากให้จัดการแบบไหน และเรามีความเห็นว่าอย่างไร
แม้จะยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้เข้าใจกันมากขึ้น เผื่อวันหนึ่งที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราจะได้ใช้พื้นที่เดียวกันในในการตัดสินใจร่วมกันอีกครั้งในแบบที่ง่ายกว่าเดิมและจะได้ไม่มีใครเจ็บปวดจากการตายของคนในครอบครัวมากเกินไป เพราะบ่อยครั้ง ความเข้าใจกันของคนในบ้านก็เกิดขึ้นจากบทสนทนาง่ายๆบนโต๊ะอาหารนั้นเอง.
ชมวีดีโอเสวนาได้ที่ https://fb.watch/dr-mpQsq8J/
Next Station...Death : สถานี...ตายยังไงไม่ให้ตุย บทความจากเวทีเสวนา
วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565
เวลา 19.00 - 20.00 น. ทาง Facebook Live เพจ Peaceful Death
เรียบเรียงโดย ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์