parallax background
 

“ชูวับ”
กลุ่มมะเร็งบำบัดแบบมิตรและครอบครัว

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

เราอาจเคยเห็นฉากกลุ่มบำบัดผู้ป่วยมะเร็งที่นั่งล้อมวงพูดคุยกันในภาพยนตร์หรือละครทั้งไทยและเทศ ในชีวิตจริงในบ้านเรามีกลุ่มมะเร็งบำบัดเพื่อเยียวยาจิตใจผู้ป่วยเช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อกว่ายี่สิบปีมาแล้ว วรรณา บุญช่วยเรืองชัย หรือ หลี หญิงสาววัย 27ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ หลังการผ่าตัดเธอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มมะเร็งบำบัด “ชูวับ” ที่ริเริ่มและดำเนินการโดยดอกเตอร์สาทิส อินทรกำแหง ผู้ที่สังคมไทยรู้จักในนาม “อาจารย์สาทิส” ในช่วงที่เขายังไม่โด่งดังในฐานะกูรูชีวจิต

ต่อมาเมื่อชีวจิตเป็นที่รู้จักมากขึ้น วรรณามักได้รับเชิญไปออกรายการทีวีในฐานะผู้ป่วยตัวอย่างที่ดูแลตัวเองจนร่างกายแข็งแรงและตั้งครรภ์ อีกทั้งในหนังสือ “ปรากฎการณ์ชีวจิตบอกอะไรแก่สังคมไทย” โดยนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้ลงรูปแต่งงานของเธอเพื่อบอกว่าเธอเป็นดอกผลของผู้ป่วยมะเร็งจากกลุ่มมะเร็งบำบัดที่ลุกขึ้นมามีชีวิตปกติอีกครั้ง ส่วนหนังสือ “มะเร็งแห่งชีวิต” ของอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง บทการดูแลตัวเอง 7-10 วัน นำเนื้อหามาจากบันทึกประจำวันของเธอ

ปัจจุบันวรรณาอายุย่างเข้าสู่วัยเลขห้าในฐานะสมาชิกในครอบครัวเธอทำหน้าที่ลูก ภรรยา และมารดาของบุตรสองคนอย่างเต็มกำลัง ในฐานะสมาชิกของกลุ่มมะเร็งบำบัดซึ่งเปรียบเสมือนอีกครอบครัวหนึ่ง เธอยังดูแลและสานต่อความสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่โดยมะเร็งยังไม่กลับมาเยือน

“หลีเป็นมะเร็งผ่านมา 20 ปีแล้ว อาจารย์บอกว่าในวงการรักษามะเร็ง ถ้า 5 ปี 1 วันถือว่าหายแล้ว”
บทความชิ้นนี้ถึงหวังถ่ายทอดเรื่องราวของเธอและกลุ่มมะเร็งบำบัดที่สามารถเกื้อหนุนทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้คนกลุ่มหนึ่งดำรงสุขภาพกายใจและสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดราวกับคนในครอบครัวเดียวกันมาได้นานกว่ายี่สิบปี

เราคือเจ้าของชีวิต

เมื่อวรรณาเข้าร่วมกลุ่มมะเร็งบำบัดที่ชื่อ “ชูวับ” มีสมาชิกกลุ่มอยู่แล้ว 5 คน เมื่อรวมเธอ เพื่อนผู้ป่วยรุ่นเดียวกัน ผู้ดูแลและผู้สนใจดูแลสุขภาพก่อนป่วย รวมสมาชิก 12 คน โดยมีทั้งผู้ป่วยวัยหนุ่มสาวอย่างเธอและวัยกลางคน รวมทั้งอาจารย์สาทิสที่เคยเป็นผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูกและหายจากมะเร็งแล้ว

กิจกรรมแรกที่เธอเข้าร่วมคือค่ายสุขภาพหนึ่งสัปดาห์ สิ่งที่เธอจดจำไม่รู้ลืมในการเข้าค่ายนี้คือบรรยากาศแบบครอบครัว และข้อตกลงร่วมกันว่าผู้ป่วยคือผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง มิใช่ผู้นำกลุ่มอย่างอาจารย์สาทิสหรือแพทย์เจ้าของไข้รายใด

“เขาจะสร้างความสัมพันธ์แบบญาติ ให้เรียกว่าพ่อ พี่ อา ลุง บางคนเรียกว่าอาจารย์ แต่ไม่มีใครเรียกว่าหมอสาทิส โดยบอกว่าเป็นแค่คนที่เคยเป็นมะเร็ง จบสัตวแพทย์ และเรียนฝังเข็มมา ไม่ทำว่าเป็นหมอแล้วมารับผิดชอบชีวิตพวกเรา ‘หลีป่วยเป็นมะเร็งต้องเข้าใจมะเร็ง อาเหมือนโค้ช หลีเป็นมะเร็ง หลีชกเอง’ ”

เธอมาใคร่ครวญภายหลังว่าอาจารย์สาทิสจะพูดคำว่า “ชก” หรือ “สู้” กับมะเร็ง กับผู้ป่วยที่เข้ากลุ่มในช่วงแรกๆ เพื่อกระตุ้นให้ลุกขึ้นยืนให้ได้เร็วที่สุด พออาการป่วยเริ่มอยู่ตัวหรือเริ่มยืนได้ เข้าใจวิถีปฏิบัติแบบชีวจิตแล้ว ก็จะเปลี่ยนคำพูดและวีธีสอนเป็น “เราจะอยู่กับมะเร็งอย่างไร

การเน้นย้ำว่าเราคือผู้รับผิดชอบชีวิตตัวเอง ทำให้วรรณาผู้ซึ่งเพิ่งอกสั่นขวัญแขวนกับข่าวร้ายจากแพทย์เจ้าของไข้ อันเป็นเหมือนคำพิพากษาชีวิตหายกลัวมะเร็งไปเลย

“สื่อต่างๆ ข้อมูลทางการแพทย์ และหมอทำให้เรากลัวมะเร็ง ประสาทเสียไปเลย ขณะที่หมอบอกว่าผลตรวจชิ้นเนื้อเป็นมะเร็งระยะ 1 จะไป 2 เพราะมันกินเปลือกไปแล้ว และเราก็ไม่รู้ด้วยว่ามันกระจายไปที่อื่นหรือยัง อาจารย์บอกว่าเซลล์มะเร็งก็คือเซลล์หนึ่งของเรา เพราะมันไม่สมดุล มันก็เลยทำงานเพี้ยนและแบ่งเซลล์ผิดปกติ อาไม่สนใจหรอกนะว่ามันจะลามไปแค่ไหน อามองแค่ว่าการวัดแบบสมัยใหม่ ถ้าวัดว่ากล้ามเนื้อโตกี่เซนเรียกระยะไหน แต่ไทรอยด์มันเล็กนิดเดียว ไม่อยากให้คิดว่าเป็นระยะหนึ่งมันจะหายขาด และเราไม่จำเป็นต้องเชื่อตัวเลขพวกนั้น แต่ให้เรากลับมาเป็นเจ้าของชีวิตเรา

“ขณะที่หมอบอกให้ทำโน่นทำนี่ อาจารย์บอกให้ฟังเสียงร่างกายเรา เรากินอะไร เราทำอะไรแล้วร่างกายสดชื่นหรืออ่อนแอลง ตอนนั้นเราอ่อนแอและเปราะบางมาก เพิ่งได้คำพิพากษาจากคนอื่นมา มาได้ยินว่าเราเป็นเจ้าของชีวิต น้ำตาร่วงเลย รู้สึกมีความหวัง แต่เดิมเวลาเราป่วยเป็นมะเร็งขึ้นอยู่กับหมอและการรักษาต่างๆ แต่นี่ขึ้นอยู่กับเรา เราเป็นคนเลือกต่อว่าจะไปอย่างไร ชีวิตของเรา เราต้องดูแลรับผิดชอบเอง หมอเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล เป็นโค้ชให้เราเท่านั้น” ข้อคิดนี้เป็นมุมมองการใช้ชีวิตที่วรรณายังนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน

ทำให้เป็นวิถีชีวิต

วรรณาเล่าว่าค่ายสุขภาพจะเน้นเรื่องวิถีปฏิบัติประจำวัน และการสร้างทัศนคติที่ดีต่อความเจ็บป่วยรวมทั้งมีการให้กำลังใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างกัลยาณมิตรภาพและครอบครัวของคนที่อยู่ในภาวะ “หัวอกเดียวกัน” คือเป็นมะเร็งเหมือนกัน

“ตื่นเช้ามาออกกำลังกายด้วยกัน จัดเวรไปตลาดและเป็นลูกมืออาโฉมทำครัวเพื่อฝึกวิธีเลือกวัตถุดิบและทำอาหาร คนที่ไม่ได้ไปตลาดก็อยู่แคมป์เพื่อออกกำลังกาย เข้าห้องซาวน่า ตอนเช้าอาจารย์สาทิสจะตรวจและรักษา เช่น ฝังเข็ม ตรวจตา ดูลิ้น ให้วิตามิน หลังมื้ออาหารทุกมื้อจะมีการพูดถึงการใช้ชีวิตของตัวเอง ให้เลือกว่าพร้อมจะพูดก็พูด ไม่พร้อมพูดก็ฟัง ในวงพูดคุยจะไม่มีการวางตัวคนนำหลัก การฟังประสบการณ์คนอื่นช่วยเตือนเราหลายอย่าง เช่น บางคนชอบกินของสุกๆ ดิบๆ บางคนกินเหล้าเที่ยวกลางคืนสูบบุหรี่จัด และบอกว่า “ผมใช้ชีวิตแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมก็ไม่รู้จะมาคร่ำครวญทำไม” พอพูดจบอาจารย์สาทิสจะถามว่าใครมีประสบการณ์แบบนี้ หรืออยากพูดกับเพื่อนที่เพิ่งแบ่งปันประสบการณ์บ้าง เพื่อเป็นการให้กำลังใจผู้พูด ตอนบ่ายฟังเลคเชอร์ด้วยกัน ตอนเย็นมีช่วงว่างไปเดินเล่น ทำให้มีเพื่อน ทุกคืนมีกิจกรรมผ่อนคลาย นวด นอนภาวนา ฟังเพลง การจินตนาการเช่น จินตนาการว่ามีแสงสีขาวเข้าไปล้างกระดูก”

ภายในค่ายยังมีการจัดกลุ่มคนที่คล้ายกันเข้าด้วยกันเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกันอีกด้วย เช่น เลือกคนที่เป็นมะเร็งประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันให้เป็นเพื่อน เป็นพี่เลี้ยงกันและกัน หรือคนวัยใกล้เคียงกันอยู่ด้วยกัน วรรณาถูกจัดอยู่ในกลุ่มหญิงสาวที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยไม่นานแล้วป่วย ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนที่ชวนกันดินเล่นตามท้องนาในยามเย็นอย่างเพลิดเพลิน

“กิจกรรมที่เจ๋งที่สุด คือวันสุดท้ายอาจารย์สาทิส พาผู้ป่วยทุกคนเดินไปน้ำตกตาดหมอกที่ห่างไปสิบกิโล แต่ละคนมีไม้ไผ่เป็นไม้ช่วยค้ำยันและกระเป๋าน้ำส่วนตัว อาโฉม (ภรรยาอาจารย์สาทิส) จะเตรียมเสบียง เช่น มะขามป้อม ถั่วต้ม ข้าวโพด ฟักทองนึ่ง ถังออกซิเจนและยา ใส่รถปิ๊กอัพขับตามกลุ่มผู้ป่วย คนที่เดินไม่ไหวก็ขึ้นรถแล้วค่อยปล่อยให้เดินเองตอนใกล้น้ำตก พอถึงน้ำตก รู้สึกว่าไม่อยากเชื่อเลยว่าเราเดินได้สิบกิโล เรากินข้าวที่น้ำตกและนั่งสมาธิด้วยกัน”

ผ่านมากว่ายี่สิบปีแล้ว ทุกวันนี้วรรณาที่หายป่วยจากมะเร็งไม่ได้เคร่งครัดเรื่องอาหารการกินตามแนวชีวจิตมากนัก เธอหยุดกินกินน้ำผักและน้ำอาร์ซี (เมล็ดธัญพืช) แล้ว แต่ยังดูแลสุขภาพตามแนวปฏิบัติที่เรียนรู้มาจากค่ายสุขภาพ

“พวกเราค่อนข้างแม่นเรื่องอาจารย์สาทิสสอน แม้ไม่เคร่งครัดมากเหมือนตอนเป็นมะเร็ง กินหมูปิ้งได้ แต่ไม่กินมาก เราต้องมีวิถีปฏิบัติเพื่อดูแลตัวเอง”

สานต่อสัมพันธ์ดุจครอบครัวเดียวกัน

วรรณาบอกว่ากลุ่มมะเร็งบำบัดเป็นการรักษาอีกแบบหนึ่ง เป็นการสร้างเป็นระบบญาติพี่น้องโดยใช้ความเจ็บป่วยเป็นตัวเชื่อมโยง เช่น มีเพื่อนในกลุ่มที่ครอบครัวไม่เห็นด้วยกับการรักษาแนวทางชีวจิต เธอจะขับรถไปรับเขาเพื่อไปซื้ออาหารที่สันติอโศก จตุจักร(ตามโอกาส) ส่วนเพื่อนอีกทีมจะซื้ออาหารเผื่อ เพื่อให้เขามีอาหารกินครบสามมื้อ

“พอกลับมากรุงเทพก็เริ่มนัดกันที่สวนจตุจักรหรือบ้านคนใดคนหนึ่งเพื่อออกกำลังกายตอนเช้าอาทิตย์ละครั้งและทำอาหารไปกินกับเพื่อน ได้ฝึกการทำอาหารแบบใหม่และนั่งกินด้วยกัน พูดคุยกันสารทุกข์สุกดิบ เช่น ไปตรวจมาแล้วค่ามะเร็งไม่ลงเลย”

“สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจตอนป่วยคือพี่คนหนึ่งซื้อตุ๊กตาผ้าตัวเล็กๆ และมีป้ายเล็กๆ เขียนว่า “ให้น้อง อยากให้น้องเข้มแข็ง” เราป่วย คนหนึ่งบอกว่าฉันเป็นพี่สาว มันก็มีกำลังใจมาก เป็นช่วงเวลาที่ป่วย แต่มีความสุขมาก เพราะมีกัลยาณมิตร ทุกวันนี้ก็ยังนัดเจอกัน เพราะผ่านช่วงยากๆ มาด้วยกัน”

ปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่ม “ชูวับ” ยังมีชีวิตอยู่ 5 คน คนที่ยังมีชีวิตอยู่จะนัดพบกันปีละ 1-2 ครั้ง มีไลน์กลุ่มเพื่อพูดคุยและให้กำลังใจกันและกัน

“บางคนตายแล้ว บางคนป่วยเป็นมะเร็งสามรอบแล้วยังมีชีวิตอยู่ บางคนผลเลือดดีหายขาด กลัวว่าเงินที่มีอยู่จะไม่พอใช้จนตาย (หัวเราะ) เราสร้างความสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมป่วยเป็นครอบครัวใหญ่ สิ่งนี้คือความฝันของอาจารย์สาทิส คือถ้าเรายังไม่ตายก็นึกถึงกัน มาเจอกัน มีเยื่อใยต่อกัน” วรรณากล่าว

ส่งต่อมิตรภาพแก่เพื่อนร่วมทุกข์

ด้วยเห็นว่าการกินอาหารและการดูแลสุขภาพกายเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการอยู่ร่วมกับมะเร็ง อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญคือการดูแลด้านจิตใจโดยเฉพาะช่วงที่มีความทุกข์ ปัจจุบันวรรณาในวัยย่างเข้าสู่วัยเลขห้าใช้เวลาช่วงสิบห้าปีหลังทุ่มเทเรียนรู้และฝึกฝนศาสตร์ดูแลจิตใจ เช่น การสื่อสารอย่างสันติ (Non violence communication) และซาเทียร์ ทั้งเพื่อดูแลตัวเองและคนครอบครัว และช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการจัดอบรมให้แก่กลุ่มที่เธอเรียกว่าผู้มีความทุกข์ เช่น ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช ในโครงการสายใยครอบครัว โรงพยาบาลศรีธัญญา หรือผู้หญิงที่ถูกละเมิด ในบ้านพักฉุกเฉิน เป็นต้น

“มองกลับไปทุกคนในกลุ่มที่รอดชีวิตมีครอบครัวสนับสนุน และมีกำลังใจสำคัญจากเพื่อนในกลุ่มนัดเจอกันปีละครั้ง มีไลน์กลุ่มคุยกัน เวลามีใครป่วยก็ไม่นิ่งนอนใจ เพื่อนกลุ่มนี้ทำให้เราอยากช่วยเหลือผู้อื่น พอเราป่วยและรอดแล้ว ก็สัญญากับตัวเองว่าจะให้อย่างที่เราได้รับมา เราเคยถูกความตายเขย่ามาแล้ว หลังป่วยก็ได้คิดว่าชีวิตเราไม่ยาว ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น ตอนนี้ทำอะไรได้ก็ทำไป เหมือนกับคำพูดของพระไพศาล วิสาโล ที่ว่าเราแค่มีมะเร็ง ไม่ได้เป็นมะเร็ง” วรรณากล่าวปิดท้าย

ระยะเวลาอันยาวนาน กอปรกับการจากไปของผู้ก่อตั้งกลุ่มอย่างอาจารย์สาทิส อาจทำให้บางคนเห็นว่า “ชูวับ” เป็นเหมือนกลุ่มมะเร็งบำบัดในตำนาน แต่การที่สมาชิกกลุ่มอีกครึ่งหนึ่งยังมีชีวิตอยู่และเชื่อมร้อยมิตรภาพมาอย่างเหนียวแน่นไม่ขาดตอนมากว่ายี่สิบปี บ่งบอกว่านี่คือกลุ่มที่มีอยู่จริงและสัมผัสได้ผ่านเรื่องราวเล่าวรรณา ผู้เขียนหวังว่าเรื่องเล่าของเธอจะเป็นแนวทางที่ทำให้คนรุ่นปัจจุบันสามารถสร้างกลุ่มมะเร็งบำบัดที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพราวกับชุมชนในฝันให้เป็นจริงขึ้นมาได้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
บุคคลสำคัญ: วรรณา บุญช่วยเรืองชัย

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

จะบอกแม่ที่ป่วยเป็นโรคร้ายอย่างไร

แม่ป่วยเป็นมะเร็งสมอง ปวดหัวมา ๑๐ วัน ครอบครัวเลือกแนวทางการรักษาตามอาการ ไม่ใช้รังสี คีโม เนื่องจากมะเร็งอยู่ในระยะที่กระจายจุดในสมอง มีเลือดซึมออก แม่จึงปวดหัว
22 พฤศจิกายน, 2560

ความผิดปกติ…ที่เป็นปกติ

ย้อนไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ในขณะที่หลายคนกำลังดูโทรทัศน์อยู่ พลันภาพจากจอโทรทัศน์ก็เปลี่ยนเป็นสีดำ ตัดภาพมามีผู้ประกาศข่าวใส่ชุดสีดำนั่งหน้าตรง
13 ธันวาคม, 2560

คุณค่าจากฟันปลอม

จากประสบการณ์เมื่อครั้งไปหาหมอที่คลินิก ในขณะที่แม่ของเธอกำลังนอนให้น้ำเกลืออยู่นั้น คุณหมอหันมาถามเธอซึ่งขณะนั้นอายุ 7-8 ขวบว่า “หนูกินข้าวกลางวันหรือยัง” ในสายตาคนอื่นอาจจะดูเป็นคำถามธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ