parallax background
 

ความผิดปกติ...ที่เป็นปกติ

ผู้เขียน: ฮูนายเมี้ยน หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

ย้อนไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ในขณะที่หลายคนกำลังดูโทรทัศน์อยู่ พลันภาพจากจอโทรทัศน์ก็เปลี่ยนเป็นสีดำ ตัดภาพมามีผู้ประกาศข่าวใส่ชุดสีดำนั่งหน้าตรง และประกาศแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ

สิ่งแรกที่เกิดขึ้นภายในใจของหลายคนในเวลานั้น คือช็อก ตกใจ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริง บางคนคิดว่าต้องเป็นเรื่องโกหก ภาวนาขอให้เป็นแค่ข่าวลือ บางคนรู้สึกเหมือนโดนเอาไม้ฟาดหัว มึนชา หูอื้อ อึ้ง ทำอะไรไม่ถูก บางคนไม่ทราบข่าวจากโทรทัศน์ แต่ระหว่างทางกลับบ้าน เห็นคนใส่เสื้อสีดำ หัวใจเย็นวาบ ใจคอรู้สึกไม่ดี และหลอกตัวเองว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผ่านไปสักพัก ข่าวการสูญเสียก็เผยแพร่อย่างต่อเนื่องจากสื่อทุกประเภท จนเริ่มตระหนักได้ว่าความสูญเสียได้เกิดแล้วจริงๆ ถึงตอนนี้หลายคนน้ำตาไหลพราก บางคนก็ร้องไห้จนตาบวม บางครอบครัวกำลังทานอาหารอยู่ก็ทานไม่ลง หมดความหิวไปโดยปริยาย นั่งเงียบกันทั้งบ้าน ไม่รู้จะพูดอะไรกัน

บางคนพยายามสวดมนต์ แต่ก็สวดไม่รู้เรื่อง ค่ำคืนนั้นบางคนนอนไม่หลับทั้งคืน ตอนเช้าไปทำงานยังรู้สึกจุกอยู่ที่อก ไม่รู้จะพูดอะไรกับใคร รู้สึกหดหู่ ไม่สดชื่น บางคนบอกว่า ตั้งแต่วันนั้นมานอนไม่ค่อยหลับสนิท เมื่อเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ หรือคลิปต่างๆ น้ำตาก็ไหลออกมาเอง

ทั้งที่หลายคนทราบข่าวการประชวรของในหลวงออกมาเป็นระยะๆ แล้ว รู้ล่วงหน้าว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น และมีความคิด ความเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต สามารถเกิดกับทุกคน และไม่เลือกเวลา อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถห้าม บังคับ หรือควบคุมปฏิกิริยาทางธรรมชาติของร่างกายและจิตใจได้ ทั้งความความตกใจ และเศร้าโศกเสียใจต่างก็ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว

แน่นอนว่าการสูญเสียในครั้งนี้เป็นเสมือนการสูญเสียหัวใจหรือจิตวิญญาณของคนในชาติ เป็นความทุกข์ร่วมกัน เข้าใจในความโศกเศร้าของกันและกัน ตลอดระยะเวลาหนึ่งปี ประชาชนพร้อมใจกันจัดงานน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ผู้คนเดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อกราบถวายบังคมพระบรมศพฯ โดยไม่หวั่นต่อผู้คนที่เนืองแน่นและฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ เพราะต้องการแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ทุกคนเข้าใจดีว่า นี่คือการแสดงออกหลังการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง

ทว่าลองเปลี่ยนการสูญเสียครั้งนี้เป็นการตายของใครสักคนในครอบครัว หรือคนที่เรารัก คิดว่าปฏิกิริยาของเราจะต่างกันหรือไม่ แน่นอนว่าย่อมรู้สึกช็อกและเสียใจไม่ต่างกัน แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า คนรอบข้างหลายคนกลับหลงลืม หรือละเลยความรู้สึก ทั้งที่ผ่านประสบการณ์การสูญเสียที่โศกเศร้ามาก่อน บ่อยครั้งที่พูดไปว่า “อย่าไปคิดมาก เกิดแก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา”

หญิงสาวคนหนึ่ง พ่อเสียกะทันหันจากโรคหัวใจวายเฉียบพลัน โดยไม่ได้ล่วงรู้มาก่อนว่าเป็นโรคนี้ เธอร้องไห้อย่างหนักในวันแรก ในวันที่สองก็ยังคงร้องไห้อยู่บ้าง ญาติผู้ใหญ่ของเธอเดินมาบอกว่าเลิกร้องไห้ได้แล้ว พ่อก็อายุมาก แกไปสบายแล้ว เธอโกรธมาก ต่อว่าญาติกลับไป และไม่สนใจว่าใครจะพูดอย่างไร ในที่สุดวันเวลาก็ทำให้เธอคลี่คลายในใจ

หญิงสาวอีกคนหนึ่งแท้งลูก แม้เวลาผ่านไปแล้ว 4 เดือน เธอก็ยังรู้สึกเสียใจอยู่ สามีบอกว่าเวลาผ่านไปตั้งนานแล้ว อย่าไปคิดถึงมันเลย จะยิ่งทุกข์ใจเปล่าๆ แต่เธอยังคงรู้สึกผูกพันกับเด็กที่อยู่ในท้อง แม้ยังไม่ได้เห็นหน้าก็ตาม และสิ่งที่เธอต้องการที่สุดคือ อยากให้คนใกล้ตัวที่สุดเข้าใจเธอบ้าง

นักศึกษาคนหนึ่ง พ่อตายอย่างกะทันหัน ในช่วง 4-5 เดือนแรก เธอไม่รู้สึกอะไรแม้แต่จะร้องไห้ คนรอบข้างคอยให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง จนผ่านไป 5 เดือน จู่ๆ เธอก็ร้องไห้ฟูมฟายอย่างหนัก ไม่อยากเรียนหนังสือ ไม่อยากเจอหน้าใคร เธออยากอยู่คนเดียว อาจารย์และเพื่อนๆ คอยประคับประคอง เพราะเธออยู่หอพัก ไม่ได้ใกล้ชิดกับครอบครัว จนหลายเดือนผ่านไป เธอจึงค่อยๆ รู้สึกดีขึ้น เริ่มพูดคุยกับเพื่อนและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

แม้เราจะยอมรับความจริงว่า เขาตายแล้ว เราไม่สามารถพบเจอกันได้อีกแล้ว แต่กระบวนการภายในของเราไม่ได้จบลงไปกับความตาย แต่กำลังเริ่มต้นขึ้นทั้งอาการทางกายและใจ เราต้องการใช้เวลาสักพักในการไว้อาลัย รวมทั้งปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่มีผู้ตาย หลายคนแทนที่จะยอมรับความเจ็บปวดและคิดว่าสักวันจะค่อยๆ คลี่คลายไป กลับพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ว่าเป็นการปฏิเสธ หรือพยายามกดข่ม จนทำให้ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจยืดเยื้อยาวนานออกไปอีก และบางครั้งปัจจัยด้านอื่น โดยเฉพาะบุคลิกภาพเดิม รวมถึงปมปัญหาเก่าๆ กระตุ้นให้เกิดความผิดปกติจนส่งผลร้ายให้กับตนเอง

นักศึกษาอีกคน พ่อตายกะทันหันด้วยอาการไหลตาย คือหลับและตายไปอย่างไม่มีสาเหตุ หญิงสาวผู้เป็นลูก ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน ต้องมาหลับตอนกลางวัน และไม่ยอมออกจากบ้านหรือเดินทางไปไหน เพราะกลัวตาย ที่จริงปฏิกิริยาของการสูญเสียในช่วงแรกโดยปกติ อาจมีบ้างเหมือนกันที่บางคนมีความกังวลว่าจะไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ และบางคนมีความกลัวตาย แต่เนื่องจากบุคลิกภาพของเธอที่มีความวิตกกังวลสูงอยู่แล้ว และครอบครัวไม่มีใครสนใจ ทำให้เธอกลายเป็นโรค phobia และต้องบำบัดรักษาอยู่หลายปี

เช่นเดียวกับหญิงวัยทำงาน ที่พี่สาวเสียชีวิต เธอรู้สึกโดดเดี่ยวและว่างเปล่า ทุกคนเข้าใจว่าเป็นเพราะเธอสนิทกับพี่สาวมากที่สุด อีกไม่นานก็คงดีขึ้นเอง แต่ความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นยิ่งรุนแรงขึ้นจนตัวเธอเองยังทนไม่ได้ จนต้องส่งไปบำบัด ในที่สุดพบว่าการตายของพี่สาวกระตุ้นความรู้สึกในวัยเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่านี่คือความเศร้าโศกที่ปกติและผิดปกติที่ต้องการความช่วยเหลือ

หากเป็นความเศร้าโศกโดยปกติ เราจะยังสามารถทำกิจกรรมที่ชอบได้ อาจมีอารมณ์เศร้าเกิดได้เป็นช่วงๆ ระหว่างวัน และอาจเกิดความรู้สึกท้อแท้ แต่ไม่มีความคิดฆ่าตัวตาย รวมทั้งยังพอมีความหวังอยู่บ้าง แม้จะเป็นความหวังเล็กๆ น้อย

แต่ความเศร้าโศกผิดปกติ จะมีอาการแยกตัว ไม่อยากทำอะไร แม้จะเป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบ มีอารมณ์เศร้าตลอดทั้งวัน มีความคิดฆ่าตัวตาย และรู้สึกไม่มีความหวังในชีวิตเลย

นอกจากนี้ ช่วงเวลาหลังการสูญเสีย อาจมีอาการซึมเศร้าอยู่ด้วย แต่ไม่รุนแรง โดยจะซึมเศร้าเป็นพักๆ และค่อยๆ ดีขึ้นตามลำกับ แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้า (depression) จะมีความผิดปกติของการกิน การนอน และมีอารมณ์เศร้าที่รุนแรง รู้สึกตนเองไร้ค่า รวมทั้งมีความรู้สึกผิดในเรื่องทั่วๆ ไปหลายเรื่อง แต่ถ้าซึมเศร้าจากความสูญเสีย จะรู้สึกผิดเฉพาะเรื่องที่ได้ทำหรือไม่ทำให้กับผู้ตาย

ทั้งนี้การตอบสนองด้วยการยอมรับและเข้าใจ จะทำให้ผ่านช่วงเวลาอันยากเย็นไปได้ด้วยดี จนกระบวนการเศร้าโศกและอาลัยเดินทางผ่านถึงขั้นสุดท้ายคือ ผู้นั้นจะสามารถนึกถึงผู้ตายได้โดยไม่เจ็บปวดมากหรือมีอาการทางกายที่รุนแรง สามารถฟื้นคืนสู่สังคมและกลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้งหนึ่ง

ในเดือนตุลาคมนี้ จะมีพิธีจัดขึ้นเพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งนี้ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ แน่นอนความรู้สึกต่างๆ จากความอาลัยโหยหา คงผุดขึ้นมาอีก เราไม่จำเป็นต้องผลักไสมันออกไป ค่อยๆ ให้เวลากับมัน และดูแลสุขภาพตนเอง หากต้องการช่วยเหลือคนรอบข้าง ก็ให้เขาได้ระบายความรู้สึก ให้กำลังใจ อยู่ประคับประคองให้เขาได้ผ่านกระบวนการเศร้าโศกไปด้วยความใส่ใจ

อ้างอิง

  • Kanel, Kristi. 2012. A Guide to Crisis Intervention. United States of America: Cengage Learning pp.144-152.
  • “ตอนมีแถลงการณ์สำนักพระราชวังของเย็นวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ทุกคนกำลังทำอะไรกันอยู่หรือครับ”. 2559. แหล่งที่มา https://pantip.com/topic/35705184 (6 ตุลาคม 2559)
  • แพทย์หญิงสุทธิพร เจณณวาสิน. “Article from Ramamental”. 2554. แหล่งที่มา https://med.mahidol.ac.th/ramamental/sites/default/files/public/pdf/Grief.pdf (6 ตุลาคม 2559)
  • ทิพย์สุดา สำเนียงเสนาะ. “Coping with Loss and Grief”. 2556. แหล่งที่มา http://www.tstj.research.tu.ac.th/Issue21No7_PDF/paper7.pdf (6 ตุลาคม 2559)

[seed_social]
25 เมษายน, 2561

สะสางสิ่งคาใจ ปลดเปลื้องภาระติดค้างเพื่อคนอยู่ข้างหลัง

เรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อให้ตายสงบ คือการได้สะสางสิ่งค้างคาใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ในช่วงที่มีชีวิตร่วมหรือเกี่ยวข้องกับผู้อื่น อาจมีเรื่องกระทบกระทั่งทำให้ผิดใจกัน
18 เมษายน, 2561

ป่วยและพร้อมจะตาย แต่คนรอบข้างกลับทุกข์ใจ

คนส่วนใหญ่ยอมรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ ทำให้ทุกข์ทั้งกายและใจ เขาคิดว่าไม่มีวิธีใดรักษาให้หายได้ มีแต่จะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มพูนขึ้น
18 เมษายน, 2561

จะบอกแม่ที่ป่วยเป็นโรคร้ายอย่างไร

แม่ป่วยเป็นมะเร็งสมอง ปวดหัวมา ๑๐ วัน ครอบครัวเลือกแนวทางการรักษาตามอาการ ไม่ใช้รังสี คีโม เนื่องจากมะเร็งอยู่ในระยะที่กระจายจุดในสมอง มีเลือดซึมออก แม่จึงปวดหัว