parallax background
 

Hospice ในเมืองไทย : แนวคิดที่มองด้วยหัวใจ
กับ
ความสุขระยะสุดท้ายของผู้ป่วย

ผู้เขียน: ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

สิ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องเผชิญคือ ความทุกข์ทรมาณทางร่างกายและจิตใจ แม้ว่าจะหมดหวังในการหาหนทางรักษา แต่คนไข้ก็ยังอยู่กับโรคร้ายที่ยังเติบโตขึ้นทุกวัน ทั้งๆที่ยังมีลมหายใจ พวกเขายังคงมีความหวัง ความห่วง และความปรารถนาเหมือนกับคนทั่วไป การดูแลคุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยระยะท้ายย่อมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดทอนความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมาน ไม่เพียงเพื่อตัวผู้ป่วยเอง แต่เป็นคนรอบข้างด้วย

หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับคำว่า ฮอสปิส (hospice) หรือการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวยังไม่เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในประเทศไทยนัก วันนี้ เราพามาพูดคุยกับ นายแพทย์ธนเดช สินธุเสก อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ถึงที่มาที่ไปและการใช้แนวคิดดังกล่าวมาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงการใช้ pet therapy เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ร่วมกับนักจิตวิทยาคนสำคัญของโรงพยาบาลที่ชื่อ บัดดี้ และ ฮันนี่

นายแพทย์ธนเดช สินธุเสก

อยากให้คุณหมอช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการใช้แนวคิด ฮอสพิส (Hospice) หรือ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (palliative care) ในโรงพยาบาล

ในตอนนั้น โรงพยาบาลเราต้องเผชิญกับคนไข้ที่มีอาการป่วยระยะสุดท้าย บทบาทของการดูแลจากพยาบาลจึงค่อนข้างสำคัญกว่าหมอ ต้องคอยคิดตลอดว่าจะดูแลเขาอย่างไร เราเริ่มจากการแยกคนไข้กลุ่มนี้ออกมาทำการรักษา โดยการผ่าตัด ฉายแสง และให้เคมี เราเริ่มมีการจัดวอร์ดเพื่อรองรับคนไข้ระยะท้ายโดยเฉพาะ ในตอนนั้นเรายังไม่ได้สร้างระบบให้เป็นมาตรฐานนัก และคำว่า hospice ยังแทบไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1999 มูลนิธิกาญจนบารมี ให้ทุนเราไปศึกษาดูงานต่างประเทศด้านนี้โดยเฉพาะ ไปที่ ฟลอริดา และ ซานดิเอโก

ช่วยเล่าความแตกต่างระหว่างฮอสปิส ที่ฟลอริดา และ ซานดิเอโก

ที่ฟลอริดาน่าประทับใจมาก คนไข้ระยะท้ายที่ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลจะอยู่ในวอร์ด hospice โดยเฉพาะ เป็นวอร์ด stand alone จุดประสงค์คือ ให้คนไข้อยู่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต คนไข้จะไม่อยู่ที่นี่ตลอดไปจนสิ้นชีวิต แต่เมื่อทีมแพทย์และพยาบาลจัดการกับอาการเจ็บป่วยของพวกเขาทั้งหมดแล้ว ก็จะส่งคนไข้กลับบ้าน

วอร์ดที่ว่านี้ชื่อว่า เฮอร์นานโด้ ป้าสโก้ ฮอสปิส (Hernando Pasco Hospice Care) มีความพิเศษคือ จะมีหมอแค่ 3 คนทำหน้าที่ดูแล และมีพยาบาลแค่ 2 คนเท่านั้น ที่คอยเยี่ยมคนไข้ ทันทีที่ได้รับการส่งต่อคนไข้ พวกเขาจะไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน จากนั้นก็นำข้อมูลกลับมา present ที่โรงพยาบาลให้ทีมฟัง เช่น คนไข้มีประวัติอย่างไร อายุเท่าไหร่ มีญาติกี่คน ใกล้เสียชีวิตแล้วมีห่วงอะไร มีความปรารถนาอะไรก่อนตายไหม ทีมที่ไปเยี่ยมบ้านคนไข้มาก็จะอินมาก เล่าไปก็ร้องไห้ไปด้วย เราเข้าไปนั่งฟังตอนแรก เรารู้สึกซีเรียสกันมาก กังวลว่าจะเล่าได้จบไหม ทำไมเอาแต่เล่าไปร้องไห้ไป แต่ปรากฏว่าคนอื่นที่นั่นเค้าไม่ซีเรียสเลย เป็นเรื่องปกติมาก เพียงแค่ยื่นทิชชู่ให้ซับน้ำตาแล้วก็ฟังเรื่องเล่าต่อไปจนจบ

บุคคลากรที่นี่จะมีการทำงานเป็นทีม นอกจากจะมีหมอ พยาบาล เภสัชกรแล้ว ยังมีนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ในทีมจะช่วยกันลงความเห็นว่า ในแต่ละเคส สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คืออะไร นอกจากนี้ยังมีนักจิตวิทยาเด็กด้วย คอยดูแลสภาพจิตใจของเด็ก ในกรณีเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย

ที่ผมประทับใจทีมแพทย์มาก ไม่ใช่เพราะว่าเห็นว่าเขาเก่งกาจเรื่องความรู้ทางการแพทย์นะ เพราะเรื่องนั้นเราไม่มีทางรู้ได้เลย แต่สิ่งที่เขาปฏิบัติต่อคนไข้ต่างหากที่เรามองเห็น พวกเขาพูดคุยกับคนไข้สุภาพมาก respect คนไข้และญาติ เราได้ตามเขาไปเยี่ยมบ้านคนไข้ด้วย เราเห็นภาพหมอดึงเก้าอี้มานั่งข้างคนไข้ จับมือ และไถ่ถามเพียงไม่กี่คำ จากนั้นก็คอยมองดูเงียบๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้เลย ไม่ได้เอายาไปให้ ไม่ได้ไปนั่งจับชีพจร อะไรทั้งสิ้น นั่นเป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก ทำให้เห็นว่าจริงๆแล้ว กับคนไข้กลุ่มนี้ มันไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีอะไรมาใช้มากมาย ในส่วนของยา ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การให้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยานอนหลับ แพทย์จะทำหน้าที่คอยจัดการกับอาการทั่วไปของผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าเพียงพอแล้วนะ ที่เหลือน่าจะเป็นเรื่อง individual communication คือความสัมพันธ์ระหว่างหมอ กับ คนไข้ มากกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลเองก็จะมีแต่ยาทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ยาแก้ปวด หรือ เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ที่ใช้ระงับกลิ่นสำหรับคนไข้บางคนที่เป็นมะเร็งผิวหนัง หรือปากมดลูก ซึ่งเขาจะมีกลิ่นแรงมากเหมือนเนื้อเน่า

แล้วที่ซานดิเอโกเป็นอย่างไร?

แตกต่างกับที่ฟลอริดามาก ผมไม่ประทับใจนัก ที่นั่นมี alternative medicine มากมาย มี music therapy ด้วย มีคนเอาเครื่องดนตรีมาเล่น เช่น ฮาร์ป (harp) ตัวใหญ่ๆมานั่งเล่นหน้าห้องคนไข้ ผมคิดว่ามันเวอร์เกินไป เพราะเราไม่ได้ถามคนไข้เลยว่าเป็นความต้องการของคนไข้จริงๆหรือเปล่า ผมคิดว่าของแบบนี้มันเป็นเรื่อง tailor-made คือแต่ละคนมีความชอบต่างกัน ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และประสบการณ์ในชีวิตก็แตกต่างกัน มันไม่ใช่ one-size-fits-all แบบการตัดเสื้อโหลที่ทำมาเยอะๆให้ใครใส่ก็ได้ แต่มันไม่พอดีกับใครสักคน ผมเลยคิดว่า การที่โรงพยาบาลทำแบบนี้มันค่อนข้างแปลก ผมคิดว่าความสุขแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน

แต่ที่ซานดิเอโก ก็มีเรื่องเล่าประทับใจเหมือนกัน คือ มีคนไข้เด็กคนหนึ่ง ป่วยหนักเป็นลูคีเมีย ไม่เคยได้ออกไปไหนนอกห้องคนป่วย ไม่เคยได้เห็นอะไรข้างนอกอีกเลย แต่ last wish ของเขาอยากเห็นนกแพนกวิน พอทีมแพทย์พยาบาลรู้เข้า ก็ประสานเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ เนรมิตห้องเด็กน้อยคนนั้นให้กลายเป็นน้ำแข็ง แล้วเอานกแพนกวินมาเดินให้เด็กคนนั้นดู (ยิ้ม)

จากที่เล่ามาเป็นเรื่องทางจิตใจหมดเลย แล้วเรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ล่ะ คิดว่าจำเป็นไหม

ในหลายโรคก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้คนไข้มี comfort และ quality of life ที่ดี ไม่งั้นจะตายอย่างทรมาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราซีเรียสเหมือนกัน เราเคยเจอคนไข้ที่อาการรุนแรง และคุมไม่อยู่ เช่น มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดร้ายแรง มะเร็งโตไปเรื่อยๆจนอุดรูลมหายใจเล็กลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดคนไข้แทบหายใจไม่ได้ ทั้งๆที่สติยังดีอยู่ ท้ายที่สุด คนไข้คนนั้นก็หมดสติลงเพราะอากาศไม่เพียงพอ จนเสียชีวิตในที่สุด โดยเราทำอะไรไม่ได้เลย กรณีแบบนี้ทำให้เรานึกถึง Mercy killing/ Euthanasia (การุณยฆาต) เรื่องราวสะเทือนใจเช่นนี้ก็มีให้เห็นอยู่หลายเคส อย่างเช่นเรื่องราวของหญิงคนหนึ่งในออสเตรเลีย เธอกระดูกคอหัก เส้นประสาทไขสันหลังจากคอทำงานไม่ได้ แขน-ขา ขยับไม่ได้ แต่กระเพาะอาหารทำงานได้อยู่ เธอปรารถนาที่จะตาย และการพยายามตายของเธอคือการไม่อ้าปากกินอาหาร จนกระทั้ง 5-6 วันเธอก็เสียชีวิตไปเองด้วยความทรมาน เนื่องจากหมอไม่สามารถที่จะฉีดยาให้คนไข้เสียชีวิตได้ แต่ถัดจากนั้นเราก็ได้ยินเรื่องที่ดีขึ้นบ้าง เช่น เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ยินเรื่องราวของ ดร.เดวิด กูดดัล นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียวัย 104 ปี ที่เลือกจะเดินทางไปจบชีวิตตัวเองที่สวิตเซอร์แลนด์เนื่องจากออสเตรเลียไม่มีกฏหมายช่วยให้พลเมืองฆ่าตัวตาย

หลังจากกลับมาจากดูงานแล้ว ทางทีมทำอะไรกับโรงพยาบาลของเราต่อ

หลังจากที่ทีมงานเรากลับมา เราพยายามปรับปรุงวอร์ด โดยจัดให้เป็นวอร์ดที่มีแต่คนไข้ระยะท้ายเท่านั้น โดยจะเป็นกลุ่มคนไข้ที่แพทย์ลงความเห็นแล้วว่ารักษาต่อไปก็ไม่ไหวแล้ว เช่น หมอที่ฉายรังสีลงความเห็นว่า ฉายแสงต่อไปก็เนื้อเน่า หรือทำเคมีบำบัดต่อไปก็ตายแน่ๆแล้ว แม้ทีมรักษาหมดหวัง แต่คนไข้ยังต้องอยู่กับโรคที่เติบโตขึ้นทุกวัน โดยทีพวกเขายังมีลมหายใจ เราจะส่งพวกเขามาที่วอร์ดนี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ทางทีมมีวิธีสื่อสารกับคนไข้อย่างไร เมื่อต้องส่งเขาไปที่วอร์ดระยะท้าย

ความสามารถในการรับรู้และการทำใจของ คนไทยกับคนตะวันตกแตกต่างกัน ชาวตะวันตกยอมรับเรื่องพวกนี้ได้ง่ายกว่าและยังมีความรู้เรื่อง hospice มากกว่าคนไทย เพราะฉะนั้น ก่อนจะส่งคนไข้จะมาอยู่ที่นี่ เราต้องประเมินคนไข้ก่อน ตัวคนไข้เองรับได้หรือไม่ ถ้าคนไข้รับได้ เราจะพูดคุยกับเขาตรงๆ แต่หากรับไม่ได้ เราต้องบอกให้คนสนิท เช่น ญาติ ของเขารับทราบ และเมื่อเราตัดสินใจส่งคนไข้ไปที่วอร์ดนั้น เราอาจจะใช้วิธีบอกคนไข้ว่า “ให้ไปพักฟื้นที่ตึกนี้นะ ถ้าดีขึ้นแล้วค่อยกลับมารักษาเพิ่ม“ การบอกแบบนี้จะทำให้คนไข้สบายใจขึ้น แม้ทั้งที่ในใจเราจะรู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีปาฏิหาริย์ หรือบางครั้งเราอาจบอกว่า “อยู่ตึกนี้แล้วจะทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นนะ จะกินข้าวได้มากขึ้น แข็งแรงขึ้นแล้วค่อยกลับมารักษาต่อ” ทางเราจะมีการให้ยาที่ค่อยช่วยทำให้เขารู้สึกสบายขึ้น กินได้มากขึ้น นั่นจะทำให้คนไข้ค่อนข้าง trust และเมื่อเขากินนอนได้ดีขึ้น เขาก็จะอยู่ที่ตึกนี้กัน

ช่วยเล่าถึงวอร์ดระยะท้ายของที่นี่ ว่ามีความพิเศษ หรือ แตกต่างจากวอร์ดทั่วไปอย่างไร

ทีมพยาบาลที่คอยดูแลตึกนี้จะให้ privacy คนไข้มากๆ แม้จะเป็นห้องพักที่ใช้สิทธิ์ 30 บาท แต่เราทำให้เหมือนห้องพิเศษ คือมีประตูปิดมิดชิด ไม่ว่าจะใช้สิทธิ์ 30 บาท จะใช้ประกันสังคม หรือจะมีเงินร้อยล้าน ห้องจะเป็นแบบเดียวกันหมด อาจต่างกันแค่มีแอร์/ไม่มีแอร์เท่านั้น แต่ที่สำคัญคือทุกคนมี privacy เท่าเทียมกันหมด เราเน้นเรื่อง privacy มาก เพราะเวลาที่มีคนตาย คนที่เหลืออยู่ย่อมอยากปลดปล่อย อยากแสดงความรัก เราไม่ mind เลย ถ้าจะมีภรรยาแอบขึ้นไปนอนบนเตียงเดียวกับคนรักที่นอนป่วย หรือลูกสาวที่นอนกุมมือคุณพ่อตลอดคืน

เราเคยเจอเรื่องพวกนี้ที่ออสเตรเลีย หมอที่นั่นเล่าให้เราฟังว่า บางครั้งญาติผู้ป่วยที่มาเฝ้าก็นอนยั้วเยี้ยเกลื่อนเต็มพื้นไปหมดที่ด้านล่างเตียงคนไข้ หมอเลือกที่จะไม่ไล่ญาติออกไปจากห้อง (ทั้งๆที่ทำได้) แต่สิ่งที่เขาทำคือค่อยๆก้าวข้ามพวกเขาอย่างช้าๆและระมัดระวัง เพื่อไปดูแลคนไข้ เสร็จแล้วจะค่อยๆก้าวกลับออกมาโดยไม่ให้ไปรบกวนญาติที่นอนอยู่ และเป็นการทำด้วยความเคารพ เป็นการ respect ในตัวญาติผู้ป่วยที่เขาพยายามจะให้ความรักและปรารถนาดีแก่คนไข้เช่นเดียวกัน ความพิเศษอีกอย่างคือ วอร์ดนี้สามารถเยี่ยมได้ 24 ชั่วโมง ญาติบางคนเลิกงานดึกมาก แต่อยากจะมาเยี่ยม เราก็ยินดี (แต่ถ้าเป็นเคมีบำบัดหรือฉายแสงอาจทำไม่ได้เพราะเราจะต้อง strict มาก) คนไข้ระยะท้าย เขาจะมีปัญหาสุขภาพมาก โดยส่วนมากจะอยากอยู่บ้าน แต่ก็ไม่กล้ากลับ เพราะกลัวห่างหมอ-พยาบาล กลัวว่ากลับไปแล้วจะมีปัญหาฉุกเฉิน แต่ทางเรานึกถึงจิตใจคนไข้มาก วอร์ดนี้จึงเป็นวอร์ดเดียวที่กล้าการันตีว่า หากคนไข้อยากกลับบ้าน สามารถกลับได้เลย แต่หากรู้สึกไม่ดีเมื่อไหร่ ให้กลับมานอนโรงพยาบาลได้เสมอ เรามีเตียงว่างให้ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่มีเตียงว่างจริงๆ จะหาที่อื่นให้จนได้ นั่นทำให้คนไข้เชื่อมั่น และยอมกลับบ้าน เพราะเขาเชื่อว่า หากมีปัญหา เขาจะได้กลับมาใกล้หมอได้แน่นอน

ที่นี่ไม่ใช่ dead hotel (ที่ที่ให้คนไข้อยู่จนกระทั่งเสียชีวิต) โดยปกติ คนไข้จะอยู่ที่วอร์ดนี้ 10-14 วันเท่านั้นตาม care map ของการพยาบาล (แต่อาจจะเสียชีวิตก่อนนั้นก็ได้) โดยระหว่างนี้ หมอจะจัดการกับปัญหาเจ็บป่วยของคนไข้จนกระทั่งควบคุมได้ และสอนญาติให้ดูแลคนไข้ที่บ้านตามปัญหาของคนไข้ได้ เช่น หากคนไข้กลับไปพร้อมถุงอุจจาระ ผู้ดูแลต้องเปลี่ยนเป็น/ ทำความสะอาดเป็น และดูความผิดปกติเป็น หรือคนไข้บางคนต้องใส่ท่อที่คอ ผู้ดูแลจะต้องดึงออกมา clean ให้เป็น และใส่กลับเข้าไปได้ถูกวิธี โดยทางเราจะสอนให้ญาติฝึกทำในหุ่นให้เป็นก่อน จากนั้นค่อยนำคนไข้กลับบ้าน หน้าที่ของวอร์ดนี้มีแค่ 2 อย่างนี้เท่านั้น

เราไม่ได้ต้องการให้คนไข้เสียชีวิตที่นี่ สิ่งที่เราปรารถนาที่สุดคือ อยากให้คนไข้เสียชีวิตที่บ้าน ให้พวกเขาได้กินอาหารที่โปรดปราน อยากกินปลาร้า หรือไข่เจียว ก็ได้กิน ได้นอนเตียงที่คุ้นเคย หรือนอนใต้ต้นไม้ที่เคยนอนตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ได้อ่านหนังสือที่ชอบ อยากทำอะไรที่อยากทำ หรือใครจะมาเยี่ยม ก็มาหาที่บ้านได้ตลอดเวลา ไม่ต้องมาถึงโรงพยาบาล จากตัวเลขของเราพบว่ากว่า 80% ของผู้ป่วย อยากเสียชีวิตที่บ้าน (ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีเพียง 20% เท่านั้นที่เลือกเสียชีวิตที่บ้าน)

อยากถามถึงที่มาของการตั้งชื่อวอร์ดระยะท้ายนี้ว่า QCU (Quality of life care unit)

วอร์ดนี้มีหลายชื่อมาก ในช่วงแรกใช้ชื่อว่า “hospice ward” แต่คำว่า hospice ยังเป็นคำที่คนไทยยังไม่รู้จักนัก เลยเปลี่ยนเป็น “end of life ward” ซึ่งดูเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ชื่อมันฟังแล้วดูทำร้ายจิตใจมากเกินไป เลยเปลี่ยนเป็น “holistic care ward” หรือ “วอร์ดองค์รวม” ซึ่งจริงๆแล้วชื่อนี้เป็นชื่อที่ดีมากนะ เพราะสื่อความหมายได้ครบ ว่าเป็นวอร์ดที่ไม่เพียงแต่ดูแลร่างกายหรือแผลผ่าตัด แต่ยังดูแลจิตใจผู้ป่วย รวมไปถึงญาติด้วย แต่มันยังเป็นคำที่เข้าใจยากสำหรับชาวบ้านอยู่ ท้ายที่สุด เราจึงใช้ชื่อว่า “QCU (Quality of life care unit)” หรือ “หออภิบาลคุณภาพชีวิต” เราใช้คำว่า “quality of life”เนื่องจากคำนี้ เป็น definition จาก WHO เลยว่าเป็นสิ่งที่ต้องมีในคนไข้ระยะท้าย ปัจจุบันมีการนำชื่อนี้ไปใช้ในโรงพยาบาลบางแห่งบ้างแล้ว เช่น โรงพยาบาลสงฆ์ และโรงพยาบาลนครพิงค์ (จ.เชียงใหม่)

ได้ยินว่าความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของวอร์ด QCU คือป็นวอร์ดที่ให้ผู้ป่วยเอาสัตว์เลี้ยงเข้ามาได้ด้วย?

เนื่องจากคนไข้ในวอร์ดนี้เราไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะเสียชีวิตเมื่อไหร่ ถ้าหากคนไข้มีสัตว์เลี้ยงที่รักและผูกพัน หากมีความคิดถึง มีความปรารถนาอยากจะเจอ เราก็อนุญาติให้เอาเข้ามาได้โดยแค่แจ้งให้พยาบาลทราบเท่านั้น เพียงแต่ต้องไม่เป็นสัตว์ที่แปลกเกินไปเช่น อีกัวน่า เพราะจะทำให้คนไข้คนอื่นกลัวได้ เรื่องนี้การอนุญาติให้นำสัตว์เลี้ยงเขามาในห้องผู้ป่วยไม่ได้มีเฉพาะที่นี่นะ ผมเคยไป hospice ที่ญี่ปุ่น เห็นคนอุ้มหมาเดินเข้ามาในลิฟต์เพื่อเข้ามาให้คนไข้เล่น หรือที่สิงค์โปรก็มีหมา volunteer เจ้าของจะพาหมาของตัวเองมาสัปดาห์ละ1 วัน เพื่อให้หมามาเล่นกับคนไข้ เรื่องราวเหล่าดีๆเหล่านี้ในต่างประเทศก็มีมาก เช่นในประเทศอังกฤษ คนไข้เป็นคุณยายที่เลี้ยงม้ามาตลอดชีวิต ก่อนตายอยากเจอม้าอีกสักครั้ง พยาบาลจัดการให้เอาม้าเข้ามาหาที่ห้องแล้วก้มลงจูบคุณยายที่เตียงคนไข้

ที่โรงพยาบาลนี้ มีสุนัขบำบัดด้วย แล้วจุดเริ่มต้นมาจากไหน?

จุดเริ่มต้นเลยคือ ทางทีมพยาบาลได้หาข้อมูลมาพบว่าในต่างประเทศมีการใช้ สุนัขกับผู้ป่วย เพราะมันช่วยในเรื่อง psychology และ movement ของคนไข้ได้ดี โดยเฉพาะในสุนัขบางสายพันธุ์ที่นอกจากจะน่ารัก ขี้เล่นแล้ว ยังมีนิสัยชอบพาคนเดินไปไหนต่อไหน นั่นกระตุ้นให้คนไข้เกิดการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะสุนัขกลุ่ม รีทรีฟเวอร์ (Retriever) ในสมัยก่อนมักใช้เป็นสุนัขที่ใช้การล่าสัตว์ เพราะมันมีนิสัยชอบไปคาบนก คาบปลา กลับมาให้เจ้าของ และมีนิสัยขี้เล่น friendly ไม่ดุร้าย กลุ่มนี้ในต่างประเทศนิยมใช้กับคนไข้ที่ต้องการการช่วยเรื่อง movement เช่น ให้คนไข้ปาลูกบอล สุนัขรีทรีฟเวอร์จะวิ่งไปคาบมาให้เจ้าของ เจ้าของก็จะปาออกไปใหม่ไปเรื่อยๆ จึงเหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องการการ rehabitat แต่สำหรับที่โรงพยาบาลเราจะเน้นเรื่องของความ friendly ของมันมากกว่า เนื่องจากมีความน่ารักและทำให้คนไข้มีจุดสนใจ

เราเลือกใช้พันธุ์ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) หากไปดูข้อมูลจะพบว่าเป็นพันธุ์ที่ถูก register มากที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีความเหมาะสมเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ friendly ไม่กัดคน และตัวใหญ่ ความตัวใหญ่จะช่วยดันคนเลี้ยงให้ไปไหนมาไหนได้ และเหมาะใช้ในคนตาบอดด้วย

เริ่มแรกเราซื้อมา 1 ตัว ชื่อเจ้า บัดดี้ แต่กลัวเจ้าบัดดี้จะเหงา เลยซื้อมาอีกตัวเป็นตัวเมีย ชื่อเจ้าฮันนี่ แล้วเอาไปฝึกที่โรงเรียน เพื่อเรียนรู้คำสั่งง่ายๆ เราการันตีเรื่องความสะอาด มีการให้ยาถ่ายพยาธิ และฉีดวัคซีน รับรองความปลอดภัยแน่นอน สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการดูแลสุนัขคือ เราต้อง respect สุนัขด้วย ให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดี กินอาหารให้ตรงเวลา และได้วิ่งเล่น เลี้ยงดูให้สุนัขมีความสุขไปด้วย

เจ้าบัดดี้-ฮันนี่ ทำงานอย่างไรกับคนไข้ ?

ตอนเช้า คนดูแลจะพาทั้งสองตัวไปเดินในวอร์ดคนไข้ บางครั้งจะให้สวมเสื้อที่มีกระเป๋าสองข้างสำหรับใส่เอกสารต่างๆ ให้คนไข้ได้หยิบอ่านระหว่างรอ หากคนไข้คนไหนชอบสุนัขอยู่แล้ว ก็จะพาไปเยี่ยมที่ห้องเลย แต่ต้องเป็นคนไข้ที่สุขภาพแข็งแรง หากคนไข้ที่ไม่ชอบสุนัข หรือร่างกายไม่แข็งแรง เม็ดเลือดขาวต่ำ เราจะไม่พาไป

ในประเทศไทยนั้น การนำสุนัขมาใช้ในโรงพยาบาล ฟังดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลก ต้องเจอกับกระแสต่อต้านบ้างไหม ?

แน่นอน มีทั้งนั้น แม้แต่คนในโรงพยาบาลเองก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลายคนตั้งคำถามว่าจะคุ้มค่าหรือไม่กับเงินที่ลงทุนไป เอาเงินไปซื้อยาดีกว่าไหม ต่างๆนาๆ เรามีค่าใช้จ่ายไปกับการดูแลหมา ค่าอาหาร-วัคซีน และค่าจ้างคนเลี้ยง ปีละหลายหมื่นบาท แต่ผลที่ได้คือความสุข ซึ่งมันเป็นนามธรรม มันวัดได้ยาก เหมือนคนที่เลี้ยงหมาที่บ้าน เราถามว่าได้อะไร คำตอบมันก็เป็นนามธรรม เราเลยสร้างตัวชี้วัดเป็นความสุขและ quality of life แทน โดยการให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถามประเมินความสุข เช่น ก่อน-หลังการเล่นกับสุนัขผู้ป่วยรู้สึกอย่างไร หายเหงาขึ้นบ้างไหม สนุกขึ้นบ้างไหม นอนหลับได้มากขึ้นไหม ผลตอบรับค่อนข้างดี ทุกวันนี้ใครๆก็ถามหาเจ้าบัดดี้-ฮันนี่ เราเรียกพวกเขาว่าเป็นนักจิตวิทยา พอผลตอบรับเป็นแบบนี้ นอกจากคนไข้แล้ว คนเลี้ยงก็มีความสุขนะ

ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับเป้าหมายก่อน ว่าจะทำหรือไม่ทำ ต้องการจะใช้สุนัขเข้ามาช่วยผู้ป่วยจริงๆไหม เห็นคนไข้ได้ประโยชน์ชัดเจนไหม อย่าเอาแต่ไปคิดถึงแต่ปัญหา เพราะปัญหานั้นมีมากมายอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาลคนไข้ติดเชื้อเยอะ หรือมีที่แคบเกินไป การเลี้ยงหมาจะเป็นไปได้ยังไง แต่ให้คิดถึงจุดประสงค์ แล้วค่อยๆแก้ปัญหาไปทีละเรื่อง เช่น จะเลี้ยงอย่างไร จะเลือกพันธุ์ไหนให้เหมาะสม คนเลี้ยงต้องเป็นแบบไหน มีงบประมาณเท่าไหร่ ผมคิดว่าควรเป็นแบบนี้มากกว่า

อยากให้คุณหมอเล่าว่า ทำไมที่นี่ถึงให้ความสำคัญกับ last wishes ของคนไข้ระยะท้ายมาก?

มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาในใจทั้งนั้น บางทีตอนหนุ่มสาวจะยังไม่มีโอกาสได้ทำ ก็คิดว่าจะเก็บไว้ทำตอนแก่ ผู้ป่วยระยะท้ายเขาก็มีเช่นเดียวกัน อย่างมีรายหนึ่ง เป็นมะเร็งเต้านมแล้วกระจายไปสู่สมอง คนไข้เสียชีวิตแน่ๆ last wishes ของเขาคืออยากมีงานแต่งงานแบบไทยสักครั้ง พอรู้เท่านั้นแหละ พยาบาลเลยจัดการให้ วันนั้นมีการลงทุน ลงแรง กันเหมือนเป็นงานแต่งงานจริงๆ คนไข้มีความสุขมาก คนจัดงานก็มีความสุขไปด้วย แม้ตอนนี้คนไข้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ความสุขนั้นมันยังคงยังอยู่กับพวกพยาบาลที่จัดงาน พวกเขายังคุยกันสนุกสนานถึงเหตุการณ์วันนั้นจนถึงทุกวันนี้ (ยิ้ม) ของบางอย่างเราอย่าไปตีความด้วยเงินเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องความอิ่มใจ คนไข้มีความสุขแป๊บเดียว เดี๋ยวเขาก็ตายแล้ว แต่ความสุขนั้นมันอยู่ในใจเราไม่ลืม

19 เมษายน, 2561

สติ มรรคาแห่งการดูแลจิตใจผู้ป่วย

“สติ” หลายคนคำนี้เป็นคำของพระและผู้ปฏิบัติธรรม แต่ความจริงแล้ว สติยังเป็นคำที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรให้ความสนใจ เพราะสติให้ผลอย่างมากในการนำพาผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ แม้กระทั่งสามารถเผชิญความตายได้อย่างสงบ
25 เมษายน, 2561

โรคพุ่มพวง กับชีวิตที่ไม่ห่วงอะไรอีกแล้วของคุณต้อย ณัทยา

ไม่น่าเชื่อว่า ผู้หญิงวัยกลางคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าตรงนี้ เมื่อหลายเดือนก่อน จะป่วยหนักจนแพทย์แผนปัจจุบันถึงกับเอ่ยปากว่า ธาตุไฟของเธอแตก ระบบอวัยวะภายในไปหมดแล้ว
22 เมษายน, 2561

นำตักบาตร กลางไอซียู

ห้องไอซียู มักมีแต่ความตึงเครียด หดหู่น่ากลัว โดยหลักแล้วห้องนี้มีไว้เพื่อกอบกู้ชีวิตผู้คน แต่ในความเป็นจริงชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องมาสิ้นสุดกันที่นี่ จึงเป็นธรรมดาที่ห้องไอซียูเป็นความทรงจำที่ผู้ผ่านประสบการณ์มักต้องการลบและลืม