นี่คือบทสัมภาษณ์ที่จะพาคุณไปรู้จักกับ อิ้ม- สุธีลักษณ์ ลาดปาละ ผู้หญิงหลายบทบาท ผู้ซึ่งประสบการณ์จากการเรียน ทำงาน และความสนใจส่วนตัวทำให้เธอได้สัมผัสกับผู้คนที่หลากหลายแบบใกล้ชิดแบบ “ข้างเตียง” ทำให้เธอเห็นความแตกต่างและความ “ไม่เท่ากัน” ของผู้คน เธอจึงฝันอยากเห็นสังคมที่เข้าใจความแตกต่างในฐานะเพื่อนมนุษย์และมีความเท่าเทียมกัน
มิเพียงแค่ฝันเธอยัง “ลงมือทำ” ด้วยการเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนให้เกิดสังคมและชุมชนกรุณาขึ้นในจังหวัดลำปางและภาคเหนือ ในนามกลุ่ม “ขะไจ๋” และ “มีใจสเปซ” ซึ่งเป็นชุมชนกรุณาที่มีกิจกรรมและสถานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ และในช่วงสถานการณ์โควิด กลุ่มขะไจ๋ยังขยายชุมชนกรุณาให้กว้างใหญ่ระดับประเทศและทั่วโลกผ่านกิจกรรมออนไลน์อีกด้วย
เรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้วมาทำงานชุมชนได้อย่างไร
เราจบปริญญาตรี ภาควิชากายภาพบำบัดจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ชอบวิชากายภาพบำบัดเท่าไหร่นะ สิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เราเรียนจนจบเริ่มมาจากตอนเรียนปี 2 เทอม 1 ได้ขึ้นวอร์ดเพื่อฝึกซักประวัติคนไข้ เราได้เห็นความเจ็บป่วยและชีวิตคนหลากหลาย มีครั้งหนึ่งคนไข้อายุ 60 กว่าปี มีปัญหาการเดิน ระหว่างเราพาฝึกเดินก็ร้องไห้โฮออกมา เขาบอกว่าเขารู้สึกแย่กับตัวเอง จากคนที่เคยเดินได้ วันนี้ต้องให้คนอื่นช่วยหัดเดิน ที่นั่นทำให้เราได้เห็นชีวิตคน เราเรียนจบมากับการสนใจชุมชน สนใจชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนว่าทำไมถึงมีการดูแลสุขภาพที่ต่างกันนัก
หลังเรียนจบ เป็นยุค Medical Hub กำลังดัง เราไปทำงานที่ Wellness Center ในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ภูเก็ต คนมาใช้บริการมักเป็นชาวต่างชาติ มีเศรษฐานะดี มันต่างจากการฝึกงานสมัยเรียนมากนะ เพราะเราเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ พอไปฝึกงานก็ไปฝึกงานในรพ.รัฐ คนไข้ก็จะเป็นอีกแบบ ด้วยความที่เป็นคนสนใจชีวิตคนอยู่แล้ว เลยเห็นว่า อ้าว! ทำไมชีวิตคนมันต่างกันขนาดนี้ เห็นว่าคนเราไม่เท่ากันผ่านการทำงานของเรานี่แหละ
จากนั้นจึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้านสังคมศาสตร์การแพทย์ จากเป็นเด็กสายวิทย์ แรกๆ ก็ไม่เข้าใจว่าเขาเรียนอะไรกันบ้าง มีเรียนมานุษยวิทยา จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสุขภาพ เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจว่าทำไมคนไข้ไม่ออกกำลังกาย ทำไมไม่ทำแบบที่เราแนะนำ แต่พอเรียนแล้วเข้าใจเลยว่าสังคมที่อยู่มันมีผลทำให้แต่ละคนมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพได้ต่างกัน
พอต้องทำวิทยานิพนธ์ก็ใช้ทฤษฎีของมาร์กซิสต์ (Marxist) ใช้แนวคิดเรื่องชนชั้น การขูดรีดแรงงานมาทำงานและก็ได้เห็นความไม่เท่าเทียมกันในอีกรูปแบบหนึ่งผ่านงานวิจัยของตัวเอง พอเรียนจบได้เข้าไปเป็นอาจารย์คณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเรื่องโชคดีมากเพราะอาจารย์ที่คณะสนใจเรื่อง Transformative Learning (การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง) กลายเป็นว่ามีคนที่สนใจแนวคิดทางสังคมศาสตร์สุขภาพมาอยู่ด้วยกันในคณะที่เป็นวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในช่วงนั้นจึงมีโอกาสเรียนรู้เรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากเสมสิกขาลัยที่เข้ามาสอนพวกเราที่เป็นอาจารย์ เพื่อจะได้ไปปรับให้เหมาะสมกับนักศึกษา
เรารับหน้าที่สอนวิชากายภาพบำบัดชุมชน มีการลงพื้นที่พานักศึกษาไปฝังตัวในชุมชน ฝึกให้นักศึกษาใช้เครื่องมือ 7 ชิ้นในการเรียนรู้ชุมชน เราสอนอยู่ 3 ปี ทำให้เห็นชีวิตคนมากขึ้น เราเห็นชีวิตคนจริงๆ จากการสอนวิชานี้เลย เพราะพื้นเพเป็นเราเป็นชนชั้นกลางในต่างจังหวัด เรียนหนังสือในโรงเรียนประจำจังหวัด ไม่ค่อยได้สัมผัสความลำบากของผู้คนสักเท่าไหร่
หลังจากนั้นก็ย้ายกลับมาอยู่ลำปาง ทำงานเป็นนักวิชาการสาธารณสุขในศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง ลักษณะงานคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา งานที่ทำยังคงเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพียงแต่หัวข้อและกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไป จากนั้นจึงเข้าทำงานที่เสมสิกขาลัยเต็มตัวในฐานะกระบวนกร ตลอดระยะเวลา 3 ปีทำให้เราเรียนรู้เรื่องภายในมากขึ้น การออกแบบกระบวนการของเราก็มีความละเอียด และชัดเจนมากขึ้น ได้เรียนรู้มากจากรุ่นพี่กระบวนกรในเสมฯ จนในที่สุดตัดสินใจกลับไปอยู่ที่ลำปางกับครอบครัว และเริ่มทำงานชุมชนกรุณานับแต่นั้นเป็นต้นมา
เริ่มทำชุมชนกรุณาที่ลำปางอย่างไร
ตอนกลับมาอยู่ลำปาง เรายังไม่รู้จักชุมชนกรุณานะ แต่มีความตั้งใจอยากให้สังคมที่บ้านเราเป็นสังคมที่เกื้อกูลกัน เป็น Active Citizen (พลเมืองที่มีส่วนร่วม-ตื่นรู้) เราเคยจัดกิจกรรม Deep Listening (การฟังอย่างลึกซึ้ง) ให้กับผู้สูงอายุ มีการเชิญวิทยากรมาทำกิจกรรม Voice Dialogue ให้กับพี่ๆ บุคลากรด้านสุขภาพ และด้วยลำปางไม่ใช่เมืองใหญ่นัก การทำงานกับคนในชุมชนก็ไม่ได้เริ่มต้นอย่างยากลำบากนัก เพราะมีเครือข่ายผู้คนที่รู้จักกันอยู่ พอมาทำงานชุมชนกรุณาจึงต้องเพิ่มการสื่อสารให้ชุมชนเขารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ หรือทำอะไรได้บ้าง
ทีมขะไจ๋ (KAJAI) และมีใจสเปซ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เดิมเรารู้จัก เบนซ์ (วิชญา โมฬีชาติ) กับเจน (เจนจิรา โลชา) อยู่ก่อนแล้ว เพราะทำงานในแวดวงกระบวนกรด้วยกัน พอเริ่มทำงานชุมชนกรุณาในภาคเหนือด้วยกัน ได้แลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละคน ในแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไขอะไรที่เหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง มีวิธีการทำงานอย่างไร เกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง ได้ช่วยเหลือและให้คำปรึกษากัน ต่อมาเลยร่วมกันก่อตั้ง “ทีมขะไจ๋” ในรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม มีเคน (พันธกานต์ อินต๊ะมูล) เข้ามาร่วมทีมด้วย เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่อย่างมีความหมายและตายดี ตอนนี้ทีมขะไจ๋มีบริการทั้งออนไลน์และออนไซต์ ออกแบบสร้างสรรค์ชุมชนกรุณา อาทิ กิจกรรมดูแลใจทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่มด้วยไพ่ฤดูฝน กิจกรรม 21 วันพารุ้งมาพบใจ จัดเวิร์คชอบทุกเดือน และรายการขะไจ๋ทอล์ค ที่เชิญผู้คนหลากหลายมาร่วมแบ่งปันที่จัดเป็นประจำผ่านทาง Facebook Live
“ขะไจ๋” เป็นภาษาไทยเหนือ แปลว่า “รีบๆ ”เร็วๆ” “ไวๆ” เพระพวกเรามองว่าเรื่องการเตรียมตัวตายเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เรามีเวลาน้อยแล้ว ต้องรีบสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม เพราะความตายเป็นสิ่งที่กำหนดเวลาไม่ได้ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เวลาจะหมดลง
ส่วน ”มีใจสเปซ” เป็นตลาดเล็กๆ วันเสาร์-อาทิตย์ที่เรากับเพื่อนๆ สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นพื้นที่ให้พวกเรา และคนในชุมชนได้มีรายได้ เราเห็นว่าคนรุ่นเราที่ไปทำงานในเมืองส่วนหนึ่งต้องกลับมาอยู่บ้านเพื่อดูแลคนในครอบครัวมากขึ้น แต่บ้านเรากลับไม่มีพื้นที่รองรับทักษะเดิมของเขา มีใจสเปซจึงทำให้เขามีรายได้เสริม เป็นการเกื้อกูลชุมชน เพราะเราเชื่อว่าชุมชนเกิดจะความกรุณาหรือสังคมที่เราอยู่เกื้อกูลกันได้ไม่ใช่การสงเคราะห์กัน แต่ต้องส่งเสริมศักยภาพกัน ส่งเสริมคนจากความสามารถที่เขามี แม้ไม่ได้คุ้มค่าในรูปแบบของเงิน แต่เราเชื่อว่ามันคือส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ไปสู่คนเล็กคนน้อยในชุมชน แค่ตัวเราอยู่ได้คงไม่พอ มันต้องให้คนรอบๆ ตัวเราอยู่ได้ด้วย คนเหล่านี้ถึงจะมีกำลังเกื้อกูลตัวเอง ครอบครัวและชุมชนต่อไป
ตอนนี้มีใจสเปซเปิดมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว ลูกค้าคือกลุ่มครอบครัวที่อยากมาใช้เวลาคุณภาพด้วยกัน ที่นี่มีทั้งบ่อทรายสำหรับเด็กๆ ห้องสมุด และเป็นสถานที่จัดกิจกรรม ชุมชนกรุณาก็ใช้พื้นที่มีใจสเปซจัดกิจกรรมมาหลายครั้ง เราได้รับการสนับสนุนและเสียงตอบรับที่ดีจากชุมชน ซึ่งคนในชุมชนก็เกื้อกูลคนค้าขายผ่านการเป็นลูกค้า พูดคุย ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
กิจกรรมชุมชนกรุณาของปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง ช่วงโควิดเจออุปสรรคอะไรบ้างไหม
สถานการณ์โควิดทำให้ต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่าง เพื่อให้งานเกิดขึ้นได้จึงเน้นเรื่องความสะดวกและการจัดการง่ายเป็นหลัก พยายามรักษาความสัมพันธ์กับภาคีเครือข่ายที่เราเคยทำไว้ และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนชุมชนกรุณาในพื้นที่อื่น
กิจกรรมแรก เราทำงานกับเด็กและเยาวชน แรกเริ่มเราออกแบบกิจกรรมโดยคิดบนพื้นฐานว่าน่าจะเหมาะสำหรับเด็ก แต่ในความเป็นจริงเรามีเวลาอยู่กับเขาน้อยเกินไปและเราแทบไม่รู้จักเด็กเลย ไม่รู้ว่าธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร เมื่อลงไปหน้างานเลยพบข้อจำกัดหลายอย่าง ด้วยความที่เราเป็นคนหน้าใหม่ ไม่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขาได้มากนัก และกิจกรรมที่เราชวนทำไม่สอดคล้องกับประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กโรงเรียนไทย ทำให้เราต้องใช้พลังเยอะในการพยายามให้เขาพูด ให้แสดงความเห็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งแน่นอนว่าจากกิจกรรมนี้ เด็กๆ ได้รู้จักความกรุณา รู้จักตัวเอง แต่มันอยู่ได้ไม่นานนัก เหมือนทำแล้วทิ้งไป เราจึงเห็นว่าควรทำต่อเนื่องและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งคือคุณครูได้เห็นตัวอย่างว่าเขาสามารถทำกิจกรรมแบบไหนกับเด็กนักเรียนได้อีกบ้าง ได้เห็นว่าการทำงานจิตอาสาหรือสร้างความกรุณาทำได้ต่างออกไปจากที่เขาเคยทำ
กิจกรรมที่ 2 คือการอบรมกระบวนกรชุมชน เราได้ทำกับทั้งภาคีเครือข่ายเดิมและใหม่ โชคดีว่าเรามีประสบการณ์การอบรมเรื่องการใช้เครื่องมือของ Peaceful Death มานานจึงทำให้พอเห็นภาพว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไร แต่ด้วยความหลากหลาย มีทั้งอสม. ผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน บุคลากรทางการแพทย์ ทำให้แต่ละกลุ่มมีความสนใจและความสามารถในการเข้าใจเครื่องมือแตกต่างกันมาก ทำให้ต้องคอยปรับหน้างานอยู่ตลอดว่าควรทำแบบไหน อีกข้อจำกัดหนึ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มนี้คือ เราวางแผนจะทำกิจกรรมหลายครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้เครื่องมือ 1-2 ชิ้น แล้วให้นำกลับไปใช้ ครั้งหน้าค่อยกลับมาเรียนรู้เครื่องมือใหม่ แต่ผู้เข้าร่วมสะดวกที่จะเรียนรู้แบบรวดเดียวจบมากกว่า ทำให้ผิดแผนไปบ้าง อาจจะเพราะในตอนเราวางแผนและหารือเป็นการตกลงร่วมกับผู้บริหาร ในขณะที่ผู้เรียนจริงๆ ไม่สะดวก
กิจกรรมสุดท้ายคือตลาดปันใจ เกิดขึ้นมาจากการที่เราอยากให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมและรู้จักชุมชนกรุณาผ่านการนำสิ่งของมาบริจาค ทางเรานำไปจำหน่ายแล้วนำเงินที่ได้ซื้อของใช้จำเป็นนำไปมอบให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยกลุ่มเป้าหมายนั้นจะเป็นภาคีเครือข่ายที่เราเคยทำงานด้วยอยู่แล้ว เช่น กลุ่มผู้ป่วยเด็กเรื้อรัง โรงพยาบาลลำปาง หรือผู้ป่วยโรงพยาบาลมะเร็ง เพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ไม่ให้ห่างเหินกันไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วเป็นการออกแบบกิจกรรมตามเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เรามีให้มันเกิดขึ้นได้
ทำงานกับกลุ่มไหนท้าทายที่สุด
กลุ่มเด็กและเยาวชนท้าทายที่สุด เราอยากเห็นความเป็นไปได้ในคนกลุ่มนี้ เลยลองทำกิจกรรมกับเด็กหลายกลุ่ม ทั้งประถมต้น ประถมปลาย มัธยมปลาย และเด็กในสถานพินิจ ด้วยความที่เราห่างเหินกับการทำงานกับเด็กเล็กมานานทำให้เราออกแบบกระบวนการเรียนรู้บนพื้นฐานความเชื่อของเราเท่านั้น ซึ่งแท้จริงมันต่างออกไปนะ เด็กเล็กที่เรารู้จัก เป็นลูกหลานของเรา เป็นเด็กที่เรียนในเมือง มีผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด แต่เด็กกลุ่มนี้ต่างออกไปจากที่เราจินตนาการไว้มาก เช่น ในกลุ่มเด็กประถม จะมีเด็กบางคนเป็นเด็กพิเศษ พอเราไม่ได้วางแผนร่วมกับคุณครูมาก่อนว่าจะมีเด็กกลุ่มนี้ เวลาทำกิจกรรมรวมหมู่ก็จะเกิดการรบกวนการเรียนรู้ของเพื่อนคนอื่น
ส่วนกลุ่มเด็กมัธยม เราพบว่าเด็กม.ปลายสมัยนี้มีปัญหาสุขภาพจิตมาก ความเชื่อมโยงกับตัวเองและครอบครัวมีน้อย และการทำกิจกรรมกลุ่มใหญ่ด้วยการใช้เกมไพ่ไขชีวิต หรือเขียนจดหมายขอบคุณในเด็กม.ปลายมันอาจไม่เหมาะนัก เพราะเขาไม่ได้ถูกจัดการเรียนรู้ให้กล้าแสดงออก และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการสื่อสารบางอย่างออกมาต่อหน้าเพื่อน แม้กระทั่งเรื่องความฝัน หรือความหวังใดๆ ในขณะที่เด็กบางคนมี trauma พอเจอกับกระบวนการที่ต้องกลับเข้าไปภายในของตัวเอง มันก็ทำให้เขาเจ็บปวด ปิดประตู และเลือกที่จะทำเป็นเฉยชาไม่สนใจ หรือทำตลกกลบเกลื่อนแทน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับเราที่จะเข้าไปดูแลเคสเหล่านี้ในขณะทำกิจกรรมกลุ่ม เลยทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำความรู้จักกับกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น แล้วค่อยมาออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเขา อาจจะต้องทำงานเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือสร้างความไว้วางใจให้มากขึ้นก่อน
ในขณะที่กลุ่มเด็กในสถานพินิจยิ่งยากอีกนะ เพราะมันเป็นการทำกิจกรรมวงใหญ่ บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยให้เด็กเป็นตัวของตัวเองได้เลย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเขามีความสามารถ คิดได้ ตอบได้ เชื่อมโยง และเรียนรู้ได้ดี
สำหรับกลุ่มท้าทายนี้ จะปรับกระบวนการอย่างไร?
ตั้งใจว่าจะเลือกโรงเรียนสักแห่งหนึ่งที่ครูและผู้บริหารเอาด้วยกับเรา หมายความว่าอยากจะจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจริงๆ และต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาจให้อยู่ในรูปแบบชมรม เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่กันจริงๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม เพื่อให้เป็นโครงการนำร่องและทำให้คนในพื้นที่เห็นความเป็นไปได้ในการทำงาน
ผลลัพธ์และการตอบรับของกิจกรรมเป็นอย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปการวัดผลการเรียนรู้จะคิดเป็น 3 ส่วน คือ ความรู้, การลงมือทำ และทัศนคติ (Knowledge, Practice, Attitude) ในกลุ่มเด็กและเยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้อย่างแน่นอน ส่วนระดับทัศนคติอาจเพียงเล็กน้อย แต่ยังไม่ส่งผลไปถึงการลงมือทำ ซึ่งเราอยากให้เกิดในระดับนี้มากที่สุด แต่เพราะชีวิตวัยรุ่นมีสิ่งเร้าที่คอยจะดึงเขาออกไป มากกว่าจะกลับมาทบทวนภายใน จึงต้องกระตุ้นไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่รู้สึกประทับใจคือขณะจัดกิจกรรม ครูและผอ.โรงเรียนมาร่วมฟังด้วย หลังจบกิจกรรมเขาสะท้อนว่า เขาไม่เคยคิดเลยว่าเด็กๆ มีความคิดได้มากขนาดนี้ เด็กมีความคิด ความฝัน และความกล้ามากกว่าที่ครูคิดเสียอีก กระบวนการของเราจึงน่าจะทำให้โรงเรียนเห็นว่าจะรู้จักเด็กของตัวเองมากขึ้นผ่านวิธีการไหนได้บ้าง
ส่วนกลุ่มอสม. เจ้าหน้าที่ และกระบวนกรชุมชนนั้น คิดว่าได้การเรียนรู้ในระดับความรู้จากการให้ทำแบบวัดความรู้เท่าทันความตาย (Death Literacy) ก่อน-หลังการทำกิจกรรมพบว่ามีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องพวกนี้มาก่อนจะเปลี่ยนแปลงเยอะกว่ากลุ่มที่เคยผ่านการอบรมมาบ้างแล้ว
ในขณะที่กลุ่มตลาดปันใจจะต่างออกไปคือได้การเรียนรู้ในระดับทัศนคติและการลงมือทำมาก เนื่องจากสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ตามศักยภาพ ความต้องการของตน และได้เห็นประโยชน์ รับรู้คุณค่าได้โดยตรง
ฝันอยากเห็นชุมชนหรือสังคมไทยของเราเป็นอย่างไร
อยากให้สังคมไทยมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทุกคนแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันได้ไม่ว่าจะเป็นใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ อยากให้ทุกคนเกื้อกูลกันตามศักยภาพที่มี ไม่ใช่เพื่อการสงเคราะห์แต่เพราะว่าเราคือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นึกถึงกันให้เยอะขึ้น ใส่ใจคนอื่นให้มากขึ้น แต่ต้องไม่เบียดเบียนตัวเอง เราอยากให้ไอเดียพวกนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เพราะจากที่ได้ทำงานกับเด็กก็เห็นว่าเขาต่างมีเมล็ดพันธุ์ของความกรุณาอยู่ เขารู้สึกดีกับตัวเองที่ได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่น เราเชื่อว่าคนทุกคนอยากมีส่วนร่วมช่วยเหลือแบ่งปัน ไม่นิ่งดูดายกับความทุกข์ยากของผู้อื่น แต่ก็ต้องไม่เป็นคนดีที่ทุกข์ เราอยากเห็นเด็กๆ และคนในสังคมเราเป็นแบบนั้น
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์ - เมษายน 2565