ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ นักเขียนและกระบวนกร ด้านการสื่อสารเพื่อสุขภาพองค์รวม
บุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ดูแลคนไข้หรือผู้ดูแลคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยเรื้อรังเป็นเวลานานมักเผชิญกับความเหนื่อยล้าทางกายและใจ ความเหนื่อยล้าแบบนี้จะค่อยๆ ก่อตัวและสะสมโดนผู้ดูแล “ไม่ทันสังเกต” “ตามไม่ทัน” หรือ “ไม่รู้ตัว” หากรู้ตัวก็อาจกักเก็บกดเอาไว้เพราะสถานการณ์บังคับ เข้าทำนอง “ไม่ไหวบอกไหว” นานวันเข้าก็เข้าสู่ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟจนเจ็บป่วยหรือจิตหลุด ดังที่เราเห็นตามข่าวอยู่บ่อยๆ
สถาบัน TEND Academy สถาบันดูแลสุขภาพจิตคนทำงานด้านสุขภาพในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ที่มีสมาชิกกว่า 26,000 คน ระบุว่าหากผู้ดูแลทุ่มเทดูแลผู้อื่นมากเกินไปจนไม่มีเวลา “เติมพลัง” ดูแลกายใจตัวเอง ความใส่ใจต่อคนไข้จะลดลง มีความคิดลบ เฉยเมย ไม่แยแส และรู้สึกว่างานนี้ไม่จบสิ้นเสียที และจากการเก็บตัวอย่างกลุ่มคนทำงานสุขภาพในช่วงโรคซาร์พบว่าสิ่งที่จะช่วยเยียวยาผู้ดูแลขั้นต้นคือการรู้ตัวและรู้ใจตัวเองเพื่อไม่ให้ก้าวข้ามจุดที่ “ทำมากเกินไป” สุดท้ายแบกรับไม่ไหว ซึ่งการรู้สึกตัวหรือสติถือว่าเป็นเกราะกำบังหรือชุดพีพีอีทางใจที่จำเป็น “ด่านแรก” ในการดูแลสุขภาพของผู้ดูแล
ผู้เขียนและทีมงานได้รับโจทย์ให้ออกแบบกระบวนการสำหรับเจ้าหน้าที่สถาบันประสาทวิทยาและจิตอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วย* รวม 40 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน และดูแลกายใจของตนเอง หลังจากคนเหล่านี้ผ่านการทำงานในโรงพยาบาลร่วมกันมาประมาณ 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับไวรัสโควิดระบาดพอดี ภาวะโรคระบาดทำให้สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เคร่งเครียดอยู่แล้วหนักหนารุนแรงยิ่งขึ้น
เราเลือกใช้กระบวนการการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ (Nature connection) เพื่อฝึกการรับรู้ความรู้สึกทางกายผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ และฝึกการรับรู้และดูแลจิตใจด้วยการเข้าใจตัวเองและให้ความเข้าใจกันและกัน (Empathy) รวมทั้งวางแผนชีวิตที่เกื้อกูลและกรุณาต่อตัวเองและผู้อื่นผ่านกิจกรรมไพ่ต่างๆ เช่น ไพ่เอ็มพาธี (ความรู้สึก-ความต้องการ) ไพ่ไขชีวิต และไพ่ฤดูฝน ผ่านกระบวนการกลุ่มที่นอกจากจะทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถสัมผัสกับความรู้สึกทางกายและรู้จักตัวเองมากขึ้น
การสร้างพื้นที่รับฟังสุขทุกข์ของเพื่อนร่วมกลุ่มที่ออกแบบให้มีการเปลี่ยนกลุ่มเมื่อเปลี่ยนกิจกรรมยังช่วยสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกต่อกันผ่านเรื่องเล่าของแต่ละคน แม้ว่าผู้เข้าร่วมจะมีความต่างทั้งวัยและหน้าที่การงาน เช่น หัวหน้าพยาบาลสามารรับรู้รับฟังเรื่องเล่าของพนักงานเวรเปลและจิตอาสาได้อย่างเท่าเทียมและให้เกียรติกันและกัน
ทั้งนี้จากการประเมินผลหลังกิจกรรมพบว่าผู้เข้าร่วมกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าได้คลายความเหนื่อยล้า รู้จักกายและใจตัวเองมากขึ้น อีกทั้งยังเชื่อมโยงสัมพันธ์ เข้าใจบริบทชีวิตและการงานของกันและกันมากขึ้นอย่างน่าพอใจ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
อนึ่งการเน้นย้ำวัตถุประสงค์ในทำกระบวนการให้ผู้บริหารโรงพยาบาลและผู้ร่วมกิจกรรมรับรู้เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อกำหนดความคาดหวังต่อผลลัพธ์ของการอบรม เช่น การอบรมนี้มีเพื่อเยียวยาดูแลร่างกายและจิตใจส่วนบุคคล และสร้างสัมพันธภาพกับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน (ฉันและเธอ) ซึ่งอาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการทำงานในองค์กร เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในองค์กรนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและระบบที่เอื้อต่อการทำงานด้วย มิเช่นนั้นผู้ร่วมกิจกรรมจะรู้สึกว่าต้องแบกรับภาระในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่องค์กร ทั้งที่ในสภาพการณ์ปัจจุบันต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้รับบริการในโรงพยาบาลและผู้ป่วยจนแทบเกินกำลังอยู่แล้ว
เปิดประตู “การรู้สึกตัว” ผ่านธรรมชาติ
ในกิจกรรมนี้เราออกแบบให้ผู้เข้าร่วมฝึกการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ โดยใช้ธรรมชาติรอบตัวเป็นเครื่องมือ มีทั้งกิจกรรมภายในห้องและกิจกรรมภายนอก เช่น ฝึกการมองเห็น ผ่านการมองหาความแตกต่างในรูปภาพที่คล้ายกัน ฝึกการได้กลิ่นผ่านการดมและจำแนกกลิ่นตัวอย่าง ฝึกการรู้รสผ่านการกินอาหาร ฝึกการได้ยินผ่านการหลับตาฟังเสียงเครื่องมือสร้างเสียงว่ามาจากมุมใดในห้อง และฝึกการหายใจผ่านการลากเส้นจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งประกอบลมหายใจ จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมออกไปใช้เวลาอยู่ธรรมชาติตามลำพังและกลับมาเขียนแผนที่เสียงในห้อง
กิจกรรมสัมผัสธรรมชาติเป็นกิจกรรมที่หลากหลายและเคลื่อนไหว นอกจากผู้เข้าร่วมจะสนุกสนานกับประสบการณ์ตรงและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมกลุ่มแล้ว การมีโอกาสอยู่ในธรรมชาติตามลำพังและฝึกการรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ ยังทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้พบประสบการณ์ใหม่ๆ บางคนได้ยินเสียงและรับรู้ความเย็นเมื่อมีลมเบาๆ พัดผ่าน
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมกิจกรรมนำทักษะที่ได้ไปฝึกต่อในชีวิตประจำวัน จึงปิดท้ายกิจกรรมด้วยการกล่าวถึงข้อดีของการ “อาบป่า” ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมว่าผลการวิจัยทั่วโลกพบว่ามีผลดีต่อร่างกายและจิตใจ เช่น ทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดและความดันโลหิตลดลง การนอนหลับและการจดจ่อดีขึ้น และฮอร์โมนและจุลินทรีย์ในป่ายังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายอีกด้วย หากไม่มีโอกาสไปเดินป่างานวิจัยในอังกฤษพบว่าการเดินในสวนเพียงวันละ 20-30 นาที หรือสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงสามารถลดฮอร์โมนเครียดได้อย่างมีนัยสำคัญ และงานวิจัยเกี่ยวกับผลดีของธรรมชาติที่มักถูกหยิบไปอ้างอิงอยู่เสมอคือผู้ป่วยที่ผ่าตัดและอยู่ในห้องกระจกที่มองเห็นต้นไม้ได้ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นกว่าผู้ป่วยผ่าตัดที่อยู่ในห้องปิดทึบ เป็นต้น
กิจกรรมนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หรือครึ่งวันเช้าของวันแรก ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จคือสถานที่ที่ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่และดอกไม้ ซึ่งการทำกิจกรรมสัมผัสธรรมชาตินี้จะสอดคล้องและเชื่อมโยงกับกิจกรรมปิดท้ายการอบรมคือการจัดดอกไม้แทนคำขอบคุณผู้คนและทุกสรรพสิ่ง
“รู้ใจ” และ “เข้าใจ” ผ่านไพ่ความรู้สึกและความต้องการ
กิจกรรมดูแลจิตใจเริ่มต้นในภาคบ่ายของวันแรก เริ่มจากการสำรวจ “พลังชีวิต” ด้านต่างๆ เช่น ความสำเร็จของงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพการเงิน ความหวังในชีวิต ผลปรากฎว่าคนทำงานด้านสุขภาพกลุ่มนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีสุขภาพกายในโซนสีแดง
ในกระบวนการดูแลจิตใจนี้มีทั้งช่วงเวลาใคร่ครวญตัวเองผ่านกิจกรรม “สายธารชีวิต” ตั้งแต่วัยเด็กถึงปัจจุบัน การเล่าความทุกข์ผ่านการเล่นไพ่ความรู้สึกความต้องการ (Empathy Poker) โดยที่เพื่อนร่วมวงรับฟังและให้ความเข้าใจ (Empathy) ผ่านการขานความต้องการที่สำคัญของผู้เล่า ส่วนผู้เล่าใคร่ครวญตามจนสามารถเลือก รับรู้ และตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองได้ในที่สุด
เป้าหมายของชุดกิจกรรมนี้คือการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสำรวจใคร่ครวญชีวิตในช่วงที่ผ่านมาผ่านกิจกรรม “สายธารชีวิต” ตั้งแต่วัยเด็กถึงปัจจุบัน และแบ่งปันสุขทุกข์ให้เพื่อนร่วมวงรับรู้ ทั้งเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้รู้จักกันและกันมากขึ้น และเป็นการ “เท” หรือระบายสุขทุกข์ โดยมีร่วมวงรับฟังอย่างตั้งใจ โดยทำผ่านกิจกรรม “สายธารชีวิต” ที่มีโจทย์ให้สำรวจชีวิตตั้งแต่วัยเด็กถึงปัจจุบัน จากนั้นสำรวจความทุกข์ในปัจจุบันผ่านกิจกรรมไพ่ความรู้สึกความต้องการ (Empathy Poker) โดยให้แต่ละคนเล่าเรื่องทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ เลือกไพ่ความรู้สึกต่อเรื่องราวนั้น ส่วนเพื่อนร่วมวงรับฟังและให้ความเข้าใจ (Empathy) ด้วยขานไพ่ความต้องการที่สำคัญของผู้เล่า ส่วนผู้เล่าใคร่ครวญตามจนสามารถรับรู้ และตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองได้ในที่สุด
กิจกรรมนี้ออกแบบตามทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งทางจิตวิทยาที่ว่าพฤติกรรมหรือสิ่งที่เรารู้เห็นด้วยตานั้นเป็นเพียงส่วนยอดเล็กๆ ของภูเขาน้ำแข็ง ลึกลงไปในใจยังมีส่วนมหึมาที่มองไม่เห็นและเจ้าของเรื่องราวต้องค้นหา คือความรู้สึกที่จะนำไปสู่ความต้องการที่สำคัญที่เมื่อค้นพบแล้วจะทำให้มองหาวิธีการไปสู่ความต้องการนั้นโดยไม่หลงทางและทำเกิดพลังชีวิต การเล่นไพ่นี้จึงเป็นกระบวนการพาให้ผู้เล่นได้ใคร่ครวญและค้นพบความต้องการที่แท้จริงในเรื่องๆ นั้นได้ ส่วนผู้ร่วมวงผู้ทำหน้าที่รับฟังก็มีโอกาส “เข้าใจ” และ “ให้ความเข้าใจ” (empathy) ผ่านไพ่ความต้องการที่คิดว่าจะตรงกับความต้องการของผู้เล่า
ผู้ร่วมเล่นกิจกรรมนี้สะท้อนคล้ายกันว่า เมื่อมีผู้เลือกไพ่ความต้องการที่ตรงใจตัวเองแล้วรู้สึกดีใจที่มีคนอื่นเข้าใจ และหากได้พบความต้องการที่แท้จริงแล้วจะรู้สึกโล่ง เหมือนได้ปลอดปล่อยหรือระบายความทุกข์ออกมาแล้วมีคนรับรู้ ได้ยิน เข้าใจ แม้เรื่องทุกข์นั้นจะยังมีอยู่ก็ตาม และการพบความต้องการที่แท้จริงในเรื่องนั้นๆ จะเป็นดุจเข็มทิศนำทางให้หาวิธีการหรือทางออกได้แบบไม่สะเปะสะปะหรือหลงทาง
“ให้ไพ่รุ้งนำทาง”
กิจกรรมช่วงเช้าของวันที่ 2 วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมใคร่ครวญตั้งคำถามกับชีวิตของตัวเองในเรื่องที่สำคัญ ซึ่งในชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้คุยกัน ผ่านคำถามที่สำคัญประมาณ 10 ข้อ โดยคัดเลือกคำถามที่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากไพ่ไขชีวิต ที่ประกอบด้วยคำถามใคร่ครวญเกี่ยวกับอยู่และตายดี ไพ่แคร์คลับสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย และไพ่ฤดูฝน สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยที่เผชิญกับสภาวะอารมณ์ต่างๆ
กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมกลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 4 คน เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มมีเวลาใคร่ครวญและแบ่งปันเรื่องราวในกลุ่มอย่างทั่วถึง เริ่มจากการตั้งคำถามในกลุ่มใหญ่ทีละคำถาม ให้แต่ละคนคิดใคร่ครวญหาคำตอบ แบ่งปันในกลุ่มย่อย และแลกเปลี่ยนเพื่อนการเรียนรู้ร่วมกันในวงใหญ่ เช่น “ในชีวิตนี้คุณต้องการเงินเท่าไร เพื่ออะไร” บางคนตอบว่าต้องการเงิน 15 ล้านบาท เพื่อดูแลสุขภาพในวัยชรา บางคนตอบว่าต้องการ 1,000 ล้านบาท เพื่อดูแลครอบครัว หากสามารถนำพาให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นความต้องการที่สำคัญที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการทำงานหาเงิน เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว การยอมรับ ความมั่นคง ก็จะทำให้คนๆ นั้นมองเห็น “วิธีการ” อื่นๆ ที่จะตอบสนองความต้องการที่สำคัญนั้นได้ เช่น แทนการหาเงินเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว อาจใช้วิธีการจัดสรรเวลาอย่างสมดุลระหว่างการทำงานหาเงินและอยู่กับครอบครัว เพื่อดูแลความสัมพันธ์เป็นต้น
เราปิดท้ายกิจกรรมนี้ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทุกคนสุ่มหยิบไพ่รุ้งคนละ 1 ใบ ซึ่งเป็นบัตรคำที่มีความหมายเชิงบวก เชิงสร้างสรรค์ และให้แต่ละคนเชื่อมโยงเรื่องราวของตัวเองกับไพ่รุ้งที่ได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าได้ไพ่ที่ตรงกับเรื่องราวของตัวเองอย่างน่าอัศจรรย์ บางคนบอกว่าไพ่ที่ได้เป็นเหมือน “คำเตือน” หรือ “นำทาง” ในการใช้ชีวิตหลังจากนั้น
“เราทำงานจิตอาสาหนักมาก ทำงานอาสาในโรงพยาบาลหลายที่ ต้องดูแลครอบครัวด้วย วันหนึ่งขับรถจากโรงพยาบาลกลับบ้านต่างจังหวัด หลับในรถวูบเกือบตกข้างทาง ตบหน้าตัวเองให้ตื่นตัว แต่สุดท้ายก็ต้องหยุดรถ นอนข้างทาง เราจับได้ไพ่ “ดูแลตัวเอง” ตรงมาก” จิตอาสาคนหนึ่งบอกเล่าในกลุ่มใหญ่
กิจกรรมปิดท้ายคือการจัดดอกไม้เพื่อแสดงความขอบคุณและระลึกถึงเรื่องราวหรือผู้คนที่แต่ละคนได้ใคร่ครวญและค้นพบตลอดกิจกรรมหรือช่วงชีวิตที่ผ่านมา กิจกรรมนี้เป็นนำพาให้ผู้เข้าร่วมออกไปสัมผัสกับธรรมชาติอีกครั้ง โดยนำภาวะนาให้ระลึกถึงเรื่องราวและผู้คนที่อยากขอบคุณ แล้วให้ออกไปเก็บสิ่งของในธรรมชาติกลับมาจัดดอกไม้เพื่อคนที่ตนเองรัก ชื่นชม และอยากขอบคุณ นอกจากงานศิลปะที่ออกมาจะสวยงาม “ชุบชูใจ” ในกระบวนการใคร่ครวญ เมื่อผู้คนนึกถึงการขอบคุณ เขาจะนึกถึงสิ่งดีงาม เป็นพลังบวก ซึ่งจะเป็นพลังให้ใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความหวังอีกด้วย
หมายเหตุ
จิตอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันประสาทวิทยาและมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 รับสมัครจิตอาสาทั่วไปเพื่อทำหน้าหน้าที่อำนวยความสะดวกผู้ป่วย รุ่นละ 40-70 คน ปฏิบัติหน้าที่รุ่นละอย่างน้อย 4 ครั้ง ต่อเดือน ปัจจุบันมีอาสาสมัครต่อเนื่องประมาณ 30 รุ่น โดยมีจิตอาสาที่ทำงานต่อเนื่องจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้