ให้ความตายเป็นพลังชีวิต

เรื่อง: วลัยพร วังคะฮาต หมวด: ชุมชนกรุณา


 

หากเรามีวัฒนธรรมในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องความตายเป็นปกติธรรมดา เราหลายคนน่าจะใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เพราะการพูดคุยเรื่องความตายเป็นโอกาสที่เราจะได้ทบทวน “การอยู่” ในปัจจุบันของเราว่า ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและความหมายในช่วงเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้แล้วหรือยัง

ด้วยความเชื่อดังกล่าว กิจกรรม “ชีวิตคือดอกไม้ที่งดงาม” ได้เกิดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก เราเป็นส่วนเล็กๆ ของชุมชนกรุณา ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งได้พยายามสื่อสารแนวคิดนี้ผ่านการจัดกิจกรรมกับเด็กเยาวชน และผู้ใหญ่จาก 4 สถานศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี

นักเรียนโรงเรียนบ้านคันไร่ ในอำเภอสิรินธร เป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้าร่วมกิจกรรมเฟสแรกของเรา

ในช่วงสายของวันที่ 3 เมษายน 2564 เมื่อทีมงานชุมชนกรุณา จังหวัดอุบลราชธานี มาถึงโรงเรียนบ้านคันไร่ เราเริ่มต้นทำความรู้จักคุ้นเคยกับน้อง ๆ จากโรงเรียนบ้านคันไร่ จำนวน 16 คน จากระดับชั้น ม. 2 ม.3 ถึง ม.ปลาย

หลังจากชวนน้อง ๆ แนะนำตัวและเล่นเกมละลายพฤติกรรมกันเป็นเวลาชั่วโมงกว่า เราจึงพาไปเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ชื่อ Home ซึ่งชวนให้ผู้เล่นทบทวนตัวเอง ทบทวนเป้าหมายชีวิต และไม่ประมาทในความไม่แน่นอนของชีวิต

ผู้นำกิจกรรมเชิญชวนให้น้องๆ ทุกคนเดินกลับมาอยู่กับตัวเอง งดการสื่อสารกับภายนอก เปิดการสื่อสารภายในตัวเอง

ในรอบแรกให้น้องๆ เดินไปเดินมาในพื้นที่ที่เราจัดไว้ในบริเวณจำกัด เดินด้วยความสงบ เพื่อเลือกจุดที่อยู่แล้วรู้สึกสบายใจเหมือนอยู่บ้าน และในรอบต่อไปทุกคนจะต้องออกจาก “บ้าน” (จุดที่เลือกไว้) โดยมีกติกาว่าจะต้องกลั้นหายใจเมื่อออกจากบ้าน และกลับมาหายใจที่บ้านได้เท่านั้น

ป้าย 4 แผ่นซึ่งเขียนไว้ว่า “การเรียนรู้/การศึกษา” “เงิน” “เกียรติ/การยอมรับ” “ความสัมพันธ์” ถูกนำไปแปะไว้ที่จุดที่ห่างกัน สมมุติให้เป็นเป้าหมายที่เทียบเคียงกับชีวิตจริงที่คนเราต้องออกเดินทางจากบ้านเพื่อไปสู่เป้าหมายของแต่ละคน

น้องๆ เลือกเดินออกจากบ้านไปหาเป้าหมายด้วยลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนเลือกเพียง 1-2 เป้าหมาย บางคนเลือกทุกเป้าหมาย และแต่ละคนก็มีลำดับของการไปหาเป้าหมายต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง หลายคนบอกว่าเลือก “การเรียนรู้” ก่อนที่จะไปหา “เงิน” เพราะในชีวิตจริงก็ต้องเรียนรู้ก่อนถึงจะมีความรู้ไปหาเงินได้ บางคนเลือกไปหา “เงิน” ก่อนที่จะไปสู่ “เกียรติ” เพราะคิดว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สังคมยอมรับ

และไม่ว่าใครจะเลือกเส้นทางไปสู่เป้าหมายของตัวเองอย่างไร สิ่งสำคัญอีกอย่างที่น้องๆ ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมนี้ก็คือ ความไม่ประมาทในชีวิตและความตาย

รอบสุดท้ายของการเดินไปหาเป้าหมายในกิจกรรม Home มีการเพิ่มตัวอุปสรรคเข้าไปเป็นปัจจัยการเรียนรู้ คือหนึ่งในทีมงานจะเดินหรือวิ่งไปแตะตัวผู้เล่น เมื่อใครโดนแตะตัว ก็จะหมดสิทธิ์และไม่สามารถทำอะไรในเกมได้อีกต่อไป

“ในชีวิตจริง อะไรที่เป็นอุปสรรคหรือปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่เราอยากไป อะไรที่ทำให้เราต้องหยุดทุกอย่าง?” เราชวนน้อง ๆ คิด และได้คำตอบหลากหลายตามประสบการณ์ในชีวิตของแต่ละคน บางคนตอบว่า “สิ่งแวดล้อม คนรอบตัวที่ไม่ส่งเสริม” บางคนบอกว่า “ไม่มีเงิน” “ความเจ็บป่วย”แล้วก็มีใครบางคนตอบว่า “ความตาย”

ถึงตรงนี้เราได้ชวนน้องๆ พูดคุยถึงความตาย

ความตาย หยุดทุกอย่างที่เราคิดและฝัน และความตายก็ไม่ได้เลือกเพศหรือวัย หากเมื่อเวลามาถึง จะเป็นชายหรือหญิง จะแก่หรือหนุ่ม จะเป็นเพียงวัยรุ่นอายุยังน้อยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังนั้น แม้ขณะที่เรายังอยู่ในวัยที่ต้องมองไปข้างหน้า มุ่งไปสู่เป้าหมายและความฝัน เราก็ไม่ควรประมาทในความไม่แน่นอนของชีวิต

น้องๆ พยักหน้ารับ บางคนมีสีหน้ากังวล บางคนนิ่งไปเหมือนครุ่นคิดอะไรในใจ

“จริงอยู่ความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่เราทุกคนต้องพบเจอ แต่เราจะมีท่าทีกับมันยังไง เราจะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่จะมาชวนน้อง ๆ คุยในกิจกรรมต่อไปนะ” เราสรุปกิจกรรมสั้น ๆ เพื่อชวนน้อง ๆ ขยับไปสู่กิจกรรมต่อไป

หลังพักเที่ยง เราเปิดคลิปวิดีโอและหนังสั้นที่สื่อเรื่องชีวิตและความตาย เมื่อดูจบก็ชวนทบทวนผ่านคำถามว่าได้เห็นอะไรและได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้

เรื่องแรกเป็นคลิปสั้น มีชื่อคลิปว่า “เกิด แก่ เจ็บ ตาย วัฏจักรชีวิต ใน 30วิ ฉบับการ์ตูนญี่ปุ่น” เป็นอนิเมชั่นการ์ตูนญี่ปุ่นสั้น ๆ ราว 30 วินาที ที่ฉายภาพชีวิตตั้งแต่เกิด เติบโต ใช้ชีวิต ทำงาน แต่งงาน แก่ และตาย ซึ่งดำเนินเรื่องด้วยความรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าชีวิตคนเราไม่ได้ยั่งยืนยาวนานนัก มีเพียงวัฏจักรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

เรื่องที่สองคือหนังสั้นที่ชื่อว่า “จีบได้แฟนตายแล้ว” (“THE ONLY ONE” A film by The 1 Card) เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่สูญเสียคนรักไป  เธอคิดถึงวันเวลาที่เคยใช้ร่วมกัน แม้บางทีจะมีวันที่ไม่ดี มีวันที่พวกเขาทะเลาะกัน แต่ก็มีช่วงเวลาที่ดีที่พวกเขาได้ดูแลกัน เป็นทั้งเพื่อน และบ้านที่อบอุ่นของกันและกัน

หลังจากน้อง ๆ เขียนความรู้สึกและสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการดูคลิปลงในกระดาษ เราชวนพวกเขาแลกเปลี่ยนในกลุ่มใหญ่

“คลิปสะท้อนให้เห็นชีวิตจริงของมนุษย์” “เกิดแก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติของมนุษย์”

“เรียนรู้ว่าต้องใช้ช่วงเวลาของเราให้เกิดประโยชน์จนถึงวันสิ้นลมหายใจ”

“เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตและต้องหัดพึ่งพาตัวเองให้ไปถึงฝั่งฝัน”

“จะทำอะไรรีบทำ ก่อนที่มันจะสายเกินไป”

“ทุกช่วงเวลานั้นมีค่าเสมอ”

“ควรใช้เวลากับคนที่รักก่อนที่จะไม่มีโอกาส”

หลากหลายคำตอบแสดงให้เห็นว่าน้องๆ สามารถเชื่อมโยงเรื่องที่ดูกับชีวิตตัวเองได้ หลายคนเรียนรู้ว่าชีวิตนี้สั้น ควรใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและมีความหมาย มี 2-3 คนพูดถึงการจัดการตัวเองเมื่อพบกับความสูญเสียในทำนองว่า ต้องทำใจและใช้ชีวิตต่อไป

“ถึงแม้เราจะคิดถึงเขามากแต่ไหน เราก็ต้องอดทนใช้ชีวิตต่อไป”

น้องบางคนบอกว่ารู้สึกเศร้า ใจหาย กังวลเมื่อได้ดูคลิปและพูดคุยถึงเรื่องความตาย แต่โดยรวมก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ทุกคนต้องพบเจอ พวกเขาอยากใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ได้ทำความฝัน ได้อยู่กับคนที่รัก ได้ดูแลครอบครัว

“ไม่ผิดที่เราจะรู้สึกเศร้าหรือกังวลเวลาที่คิดถึงเรื่องความตาย แต่อยากชวนน้องๆ นึกถึงตอนจบของคลิปการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราดูเรื่องแรก... ตอนจบตัวละครที่ตายแล้วกลายเป็นวิญญาณมีสีหน้ายังไงคะ?”

“เขายิ้มครับ/ค่ะ” น้อง ๆ ตอบ

“อื้ม... จริงๆ แล้ว เมื่อคนเราได้ทำทุกสิ่งที่อยากทำครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ได้ลิ้มรสชาติชีวิตมาหมดแล้ว เราก็อาจจะเป็นเหมือนตอนจบของการ์ตูนนี้ก็ได้นะ คือ รู้สึกว่าได้เข้าเส้นชัย ไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างมีความสุขไงล่ะ”

“เมื่อเราได้ทำทุกอย่างในชีวิตให้เต็มที่ตามกำลังที่เรามีแล้ว เราได้ทำความฝัน ได้อยู่กับคนที่รัก ได้ดูแลครอบครัวตามที่คิดไว้ เราก็คงไม่มีอะไรค้างคาใจเมื่อเวลามาถึง”

สีหน้าแววตาของน้องๆ หลายคนแจ่มใสขึ้นเมื่อสรุปมาถึงตรงนี้

แต่กิจกรรมการเรียนรู้ของเรายังไม่เสร็จสิ้น เมื่อพูดคุยถึงเรื่องความตาย น้องๆ ก็ได้เรียนรู้ว่าควรจะใช้ชีวิตที่มีอย่างไรให้มีคุณค่า เราชวนน้อง ๆ ไปต่อกับการมองไปสู่อนาคตด้วยกิจกรรม “แผนที่ชีวิต” ชวนทบทวนชีวิตในอดีต มองสิ่งรอบตัว ต้นทุนที่เรามี และวางเป้าหมาย/ความฝันที่อยากจะไปต่อ โดยวาดภาพถนนจากอดีตไปถึงอนาคตลงในกระดาษ และแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนแผนที่ชีวิตของกันและกัน

จากกิจกรรมช่วงเช้ามาถึงตอนนี้ พวกเราสังเกตเห็นว่าน้องๆ หลายคนมีความในใจบางอย่าง เมื่อพูดถึงอนาคตและความฝัน หลายคนกังวลว่าตัวเองอาจไม่สามารถทำตามความฝันได้ เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ปัจจัยด้านครอบครัว สิ่งแวดล้อมและผู้คนที่ไม่ส่งเสริมแล้วยังบั่นทอนกำลังใจ และปัจจัยส่วนตัวอีกหลายต่อหลายอย่าง

และในวงแลกเปลี่ยนแผนที่ชีวิต เราได้รับรู้ความรู้สึกเหล่านั้นชัดเจนขึ้น

ตอนนี้เราอาจไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาของน้องแต่ละคนได้มากนัก แต่อย่างน้อย กิจกรรมในวันนี้ก็ได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้น้อง ๆ ได้พูดความในใจออกมา ได้มีคนรับฟังปัญหา และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน น้องทุกคนเปิดใจที่จะแลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่ เพราะในชีวิตปกติ พวกเขาไม่มีพื้นที่ที่จะพูดคุยกันเรื่องนี้เท่าไรนัก

ในตอนปิดวงเราเปิด “ไพ่รุ้ง” แจกจ่ายให้น้อง ๆ ทุกคน ไพ่รุ้งเป็นคำพรเสริมพลัง เป็นคุณสมบัติที่ดีที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นปัญหาเมื่อเราใช้คุณสมบัตินั้น หลายคนประหลาดใจเมื่อได้อ่านข้อความบนไพ่ พวกเขารู้สึกว่ามันช่างตรงกับความรู้สึกตอนนี้เหลือเกิน มันเป็นคำที่ต้องการในตอนนี้พอดี น้องบางคนมากระซิบบอกทีมงานว่า “ตอนที่ได้อ่านไพ่รุ้งหนูรู้สึกดีขึ้นมากเลยค่ะ”

เพียงเท่านี้ พวกเราทีมงานก็รู้สึกดีใจ อิ่มเอมใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมพลังใจให้น้อง ๆ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้

เมื่อมองเห็นกระบวนการที่ร้อยเรียงจากเรื่องเป้าหมายชีวิต --ไปสู่ความตาย –ไปสู่การใช้ชีวิตอย่างไรก่อนตาย – จนมาถึงการทบทวนมองดูตนเองในปัจจุบันอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเพื่อที่จะสร้างพลังในการดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมาย

การพูดคุยเรื่องความตาย จึงไม่ได้เป็นเรื่องของคนบางกลุ่ม ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนวัยใดวัยหนึ่ง

การตระหนักเรื่องความตาย ไม่ได้เป็นเพียงการเตรียมพร้อมใน “การตาย” เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ชวนให้กลับมาทบทวนใน “การอยู่” ในปัจจุบันของเราทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

[seed_social]

16 สิงหาคม, 2566

กัลยาณมิตรชื่อสติ…มรดกธรรมที่ไม่เคยล้าสมัยของ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

สิงหาคมเป็นเดือนแห่งการเกิดและมรณภาพของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต วัดท่ามะไฟหวาน และวัดป่ามหาวัน (ภูหลง) จังหวัดชัยภูมิ
26 กุมภาพันธ์, 2566

การสนับสนุนพื้นที่ปฏิบัติการสำหรับกระบวนกรชุมชน

การสนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงการตายดีโดยใช้แนวคิดชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดีนั้น กระบวนกรชุมชนหรือผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติ มีทักษะในเรื่องการอยู่อย่างมีความหมาย