parallax background
 

Healthy Living Day
เมื่อบริษัทประกันกลายเป็นส่วนหนึ่ง
ของชุมชนกรุณา

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

กิจกรรม Healthy Living Day เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 62 ถือเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญของการรักษาแบบประคับประคอง เพราะนอกจาก จะทำให้สังคมได้ทำความรู้จัก “การตายดี” อย่างเป็นวงกว้างผ่านรายการเจาะใจแล้ว อีกสององค์กรที่เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้นได้ก็คือ ชีวามิตรและบริษัทประกันชีวิต อลิอันซ์ อยุธยา (Allianz Ayudhya)

องค์กรหนึ่งคือฟันเฟื่องชิ้นใหญ่ที่ขับเคลื่อน “การตายดี” ไปสู่ถนนสายไทย

อีกองค์กรคือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับระบบสุขภาพของเมืองไทย

บริษัทประกันภัย X การรักษาแบบประคับประคอง

กิจกรรม Healthy Living Day นอกจากจะสร้างความตระหนักรู้ในประเด็น “การตายดีแล้ว” อีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้จัดงานต้องการส่งสารไปถึงแขกผู้เข้าร่วมงานก็คือ ปัจจุบันประกันชีวิตจาก อลิอันซ์ อยุธยา สามารถคุ้มครองได้ทั้งหมด ไม่ว่าผู้ตัดสินใจเลือกการรักษาแบบทั่วไป หรือตัดสินใจเลือกรักษาแบบประคับประคองก็ตาม ผู้ทำประกันจะได้รับค่าใช้จ่ายครอบคลุมตลอดการรักษาไปจนถึงการจ้างพยาบาลดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และสามารถโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตลอด 24 ชั่วโมง (สามารถสอบถามรายละเอียดประกันเพิ่มเติมได้จากตัวแทนขายประกัน)

วลีหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไปในงานกิจกรรมครั้งนี้คือ “โชคดีที่ได้เลือก” ประโยคนี้ปรากฏอยู่บนเสื้อของสตาฟจัดงานแทบทุกคน นอกจากนั้นยังฉายเด่นขึ้นขนาบด้านข้างของจอเวที ซึ่งเป็นการเน้นย้ำคีย์เวิร์ดนี้ไปถึงผู้รับสาร เกี่ยวกับการทำประกันรูปแบบใหม่ ที่ให้คุณได้เลือกแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตนั่นเอง

การเข้าสู่วงการ Palliative care ของบริษัทประกันภัยบอกอะไรเราได้บ้าง ?

การเข้ามาของบริษัทประกันนั้นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สังคม “การตายดี” จะเติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะสังคมที่เกื้อกูลกันอยู่แล้วจะได้รับการซัพพอร์ทมากขึ้น เช่น สร้างงานการจ้างงานของบุคลาการกรทางด้านสาธารณสุข เพิ่มช่องทางเลือกให้กับครอบครัวผู้ป่วยในการรักษาแบบประคับประคอง (ดังวลีที่ปรากฏในงาน ทุกมุมมองเขียนเอาไว้ว่า “โชคดีที่ได้เลือก”) และสุดท้ายนี่ยังเป็นการสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทางให้กับบริษัทประกันอีกด้วย เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ทาง

ภายในงานมีกิจกรรมอะไรบ้าง ?

กิจกรรม Healthy Living Day เกิดขึ้น ณ โรงภาพยนตร์สกาล่าในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ตั้งแต่เวลา 10:00-18:00 นาฬิกา สองชั่วโมงแรก (10:00-12:00 นาฬิกา) มีกิจกรรมเวิร์คช้อปต่างๆ เช่น บูธจัดแสดงภาพของศิลปินในประเด็นของการตายดี บูธให้ความรู้ในการทำพินัยกรรมของชีวิต และเวิร์คช้อป “จะทำอย่างไรเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูด” โดย I see u Contemplative care , “วิธีการรับฟังผู้ป่วยซึมเศร้า” โดย SMARITANS และ “การเขียนพินัยกรรมชีวิต” โดยศูนย์การุณรัก

กิจกรรมในภาคบ่าย ตั้งแต่เวลา 13.30 – 18.00 น. เป็นต้นไป เป็นการให้แขกได้เข้าร่วมงานสัมนาภายในบริเวณโรงหนังสกาล่า ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเปิดวิดีโอโฆษณาการทำประกันชีวิตแบบ “เหมา-เหมา” ที่เน้นย้ำในเรื่องคีย์เวิร์ดของงาน (โชคดีที่ได้เลือก) ต่อมาจึงเป็นช่วง Talk ซึ่งผู้จัดงานได้แบ่งออกเป็นสองพาร์ท พาร์ทแรกใช้ชื่อว่า “อยู่สบาย” ในขณะที่พาร์ทที่สอง ใช้ชื่อว่า “ตายดี” โดยในช่วง “อยู่สบาย” เป็นช่วง Talk ที่ให้แง่มุมในการใช้ชีวิต จาก Guess ต่างๆ ที่ลึกซึ้งในแต่ละเรื่องราวของตน

ไฮไลท์จากช่วง “อยู่สบาย” มีดังนี้

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ผู้ดำเนินรายการ Podcast I hate my job จาก THE STRANDARD ประสบการณ์ของคุณท็อฟฟี่ยืนยันกับแขกผู้ร่วมงานว่า ข้อเสียของการเป็นพนักงานออฟฟิศนั้นไม่ได้ส่งผลให้เป็นออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น แต่อันตรายร้ายแรงจากภาวะสังคมในออฟฟิศอาจเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนที่เราเคยเกลียดได้

บนเวทีคุณท๊อฟฟี่ยังทิ้งท้ายถึงวิธีในการเปลี่ยนแปลงตัวเราไปสู่คนที่รักตัวเองมากกว่าเดิม “อย่าปล่อยให้ตัวเรากลายเป็นคนที่เราเคยเกลียด” เวทีของคุณท๊อฟฟี่ใคร่ครวญเอาไว้อย่างนั้น

คุณมัดหมี่ พิมพ์อร โมกขะสมิต เจ้าของเพจ CU.Fitgirl

เธอเคยมีประสบการณ์ในการลดน้ำหนักแบบหักโหม เธอมีวินัยกับตัวเองมากเกินไปจนกระทั่งวันหนึ่ง วินัยที่ไม่เคยหย่อนยานเลย กลับส่งผลกระทบต่อจิตใจ นำเธอไปสู่ภาวะ Binge Eating disorder (BED) หรือภาวะที่ไม่สามารถสั่งตัวเองให้หยุดกินได้จนอาเจียนออกมา อาการนี้กัดกินชีวิตของเธอ จนทำให้เธอให้มีภาวะจิตใจซึมเศร้าและติดบุหรี่อย่างหนัก

ก่อนที่สุดท้ายเธอจะตัดสินใจเยียวยาให้หายขาดและดึงตัวเองกลับสู่ความสมดุลอีกครั้ง โดยเคล็ดลับสำหรับการรักษาสมดุลในชีวิตของคุณมัดหมี่ก็คือ ปล่อยให้ตัวเองมีความสุข 30 เปอร์เซ็น และมีวินัยกับตัวเองอีก 70 เปอร์เซ็น

โดยทิ้งประโยคเตือนใจไว้ว่า “สุดท้ายชีวิตไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ แต่ความไม่สมบูรณ์แบบนั่นแหละที่ทำให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้”

คุณเอิน กัลยกร อดีตนักร้อง นักแสดง

คุณเอิน กัลยกร อดีตนักร้องสาวเสียงดีและดารานักแสดงที่หลายคนอาจรู้จัก ได้เข้ามาแชร์ประสบการณ์ในการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าของตัวเองในจุดที่ตกต่ำที่สุด สู่การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนที่กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง

คุณเอินยืนยันว่าวิธีที่ทำให้เธอหลุดจากวังวนแห่งความเศร้าก็คือ “การฝืน” ที่จะเข้ารับการรักษาและ “ฝืน” เชื่อใจผู้อื่น จนในที่สุดก็ทำให้เธอหายดี นอกจากนั้นยังยืนยันอีกด้วยว่าวิธีการที่จะเยียวยาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดีที่สุดคือการรับฟังและไม่ตัดสิน เพราะสิ่งที่แต่ละคนพบเจอไม่มีวันเหมือนกันได้ แม้ว่าเราจะยืนยันว่าเข้าใจมันดีก็ตาม โดยเธอได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

“ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิตตัวเองหรือเปลี่ยนโลกทั้งใบ มันต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อน”

คุณตั๊บ ดลพร รุจิรวงศ์ นักเขียนและนักแปล

หนังสือ “วาระสุดท้าย” เป็นหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นโดย แซลลี ทิสเดล (Sallie Tisdale) หญิงสาวชาวอเมริกันที่ต้องการถ่ายทอดการรับมือกับความตายในวาระสุดท้ายให้แก่บุคคลที่ต้องการตายดีได้ทราบ และหนังสือดังกล่าวได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยด้วยฝีมือของคุณตั๊บ ระหว่างที่เธอได้ดำเนินการแปลหนังสือเล่มนี้ เธอต้องสบตากับความตายถึง 3 ครั้ง ผ่านคนที่เธอรู้จักและสนิท บทเรียนทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับชีวิต ทำให้เธอเข้าใจกับตัวเองว่า “ความตายคือสิ่งที่น่ากลัว แต่สิ่งที่น่ากลัวไปยิ่งกว่าความตายก็คือ การกลัวตาย นั่นเอง”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อิศรางค์ นุชประยูร ผู้ก่อตั้งโครงการ “เยือนเย็น”

ประสบการณ์การรักษามะเร็งในเด็กมาอย่างยาวนานทำให้ นายแพทย์ อิศรางค์ เข้าใจว่าบางครั้งผู้ป่วยมะเร็งสามารถรักษาได้ แต่บางครั้ง (เช่น มะเร็งระยะลุกลาม) มันก็ไม่รักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดจึงไม่ใช่การรักษา แต่เป็น วิธีการที่จะใช้ชีวิตในห้วงเวลาสุดท้ายอย่างมีความหมายมากที่สุดต่างหาก วิธีการนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Palliative care หรือการรักษาแบบประคับประคอง

ปัจจุบันคุณหมออิศรางค์ให้บริการปรึกษาการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเคยรับการรักษากับคุณหมอมาก่อน สามารถติดต่อคุณหมอได้ทาง Line ID : yyen2018 หรือโทร 080-776-6712

ช่วง “ตายดี” เกิดขึ้นผ่านรายการ “เจาะใจ” ที่นำทีมโดย คุณดู๋ สัญญา คุณากร และทีมคอลัมนิสต์ไม่ว่าจะเป็น คุณโหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, คุณเอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม), คุณอุ๋ย บุดด้าเบลส และคุณป้าจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

ประธานการก่อตั้งโครงการชีวามิตร (เป็นแขกรับเชิญพิเศษ)

ไฮไลท์ในช่วงของ “ตายดี” มีดังนี้

คุณเอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม)

คุณเอ๋ได้ให้แง่มุมเกี่ยวกับ ความตาย ว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิต และเป็นแรงผลักดันให้เราทำอะไรหลายๆ สิ่งในชีวิตมากขึ้น ยิ่งเราตระหนักถึงความตายมากเท่าไหร่ แรงผลักดันในชีวิตของเราก็จะยิ่งมากตามไปด้วย โดยคุณเอ๋ได้บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้พบมากับตัว ในการตระหนักเรื่องความสูญเสียและความตาย ผ่านการจากไปของสุนัขพันธุ์บางแก้วที่ตนได้เลี้ยงมาเป็นระยะเวลา 15 ปี คุณเอ๋กล่าวว่า

“มันเป็นเช้าวันหนึ่งที่เพิ่งตื่นนอนภายในบ้าน หลังจากนั้นพี่สาวก็มาเรียกผมให้ไปหา ผมพบว่าสุนัขที่ตัวเองเลี้ยงมาตลอดระยะเวลานาน ได้หมดลมหายใจลง เมื่อเอื้อมมือไปสัมผัส สิ่งมีชีวิตที่เคยอุ่น ที่เคยเจ็บปวดกลับไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกแล้ว เป็นแต่เพียงความเย็น ความว่างเปล่าที่อยู่ตรงนั้นเอง” ซึ่งเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่บางสิ่งได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นอีกสิ่ง ที่เราไม่เคยได้นึกถึงมาก่อนเลย

การใกล้ชิดกับความตายนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเอ๋ได้เข้าร่วมโครงการกับทีม Peaceful Death ในการออกแบบและจัดงานศพของตัวเองที่วัดธาตุทองเป็นครั้งแรก โดยคุณเอ๋กล่าวว่า ในการจัดงานได้เชิญเพื่อนสนิท ญาติที่เคารพรัก และคนที่รู้จักมาในงานและได้ขอให้แขกในงานกล่าวความในใจที่มีต่อคุณเอ๋ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ “ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา” เพราะวันนั้นทำให้คุณเอ๋รู้ว่า “เราควรทำให้คนใกล้ตัวรู้ว่า เขามีคุณค่ามากแค่ไหน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะมันไร้ค่าเหลือเกินถ้าจะทำสิ่งเดียวกันนั้นในวันที่เขาจากไปแล้ว”

คุณป้าจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

เมื่อคำถามที่ว่า “แง่มุมของความตายเป็นอย่างไร” ถูกเอ่ยขึ้นมา คุณป้าจำนงศรีตอบกลับไปพร้อมรอยยิ้มว่า “ชีวิตของป้าผูกติดอยู่กับความตายมาตั้งแต่จำความได้” เพราะคุณป้าเสียแม่ไปตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ ทำให้ต้องเรียนรู้ว่า การจากไปของคนตายไม่ได้ส่งผลกระทบใดต่อผู้ที่จากไป แต่ส่งผลกระทบถึง “ผู้ที่ยังอยู่” ต่างหาก คุณป้าต้องปรับตัวในการอยู่โดยไม่มีคุณแม่เหมือนคนอื่นๆ

“แท้จริงแล้วแก่นของการสูญเสียไม่ใช่เรื่องน่ากลัว” คุณป้าจำนงศรีกล่าวเอาไว้ แต่สิ่งที่เรากลัวจริงๆ ก็คือการกลัวการสูญเสียความรู้ สูญเสียความสัมพันธ์ และสูญเสียอำนาจในการควบคุม ต่างหาก

คุณป้าจำนงศรีชวนคิดต่อไปว่า เป็นจริงหรือไม่ ถ้าหากเราเดินหลงไปในที่ๆ ไม่มีคนที่เรารู้จัก ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน และไม่มีเงินติดตัวเลยสักแดงเดียว(อำนาจในการควบคุม) เราจะเกิดความกลัว ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันกับความตาย ไม่เคยมีใครได้ล่วงรู้มาก่อนว่าความตายเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยมีใครไปแล้วกลับมาบอกเราเลยสักคน

คุณโหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์

คุณโหน่งได้นำเสนอผลสำรวจที่ถามว่า ถ้ามีเวลาเหลือแค่เพียง 7 วันแล้วคนๆ นั้นจะต้องตายจากโลกนี้ไป เขาจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ 7 วันนั้นอย่างไร กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ตอบเป็นความเห็นเดียวกันว่า “ต้องการใช้ชีวิตอยู่กับคนที่รัก” ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางโดยสิ้นเชิงกับการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันนี้

คุณโหน่งเอง ก็เคยตกเป็นหนึ่งในบุคคลที่ใช้ชีวิตสวนทางกับแก่นสารของชีวิตเช่นเดียวกัน เพราะนำเวลาทั้งหมดสูญไปกับการทำงาน จนกระทั่งคุณพ่อของคุณโหน่งเข้าโรงพยาบาล

“ผมจำได้ว่าพี่ชายผมโทร.มาบอกว่า โหน่ง รีบมาโรงพยาบาลด่วนเลยนะ หมอให้มาดูใจพ่อ ตลอดทางที่ขับรถ ผมเห็นภาพพ่อในอดีตกับตัวผมมันซ้อนขึ้นมาเต็มไปหมด เป็นแต่ภาพความทรงจำดีๆ ที่ผมกับพ่อมีร่วมกัน ทั้งๆ ที่ผมกับพ่อไม่คุยกันมาหลายปีแล้ว”

โชคดีที่เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คุณพ่อของคุณโหน่งก็รอดจากอาการวิกฤติมาได้ราวปาฏิหาริย์ ตั้งแต่วันนั้นคุณโหน่งจึงตระหนักได้ว่า ในทุกๆ วันเราลืมเลือนการให้ความสำคัญกับคนที่เรารัก แต่กลับให้ค่ากับสิ่งรอบตัวที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งๆ ที่ในวาระสุดท้ายเรากลับอยากที่จะใช้เวลากับคนที่เรารักให้คุ้มค่ามากที่สุด

คุณอุ๋ย บุดด้าเบลส

การใช้ชีวิตวนลูป คือสิ่งที่น่ากลัวเสมอ เพราะมันไม่เคยบอกเราว่า ความตาย กำลังจะเดินทางมาทักทายเราเมื่อไหร่ และนั่นคือข้อความสำคัญที่คุณอุ๋ยได้บอกกับคุณผู้ฟังในงาน พร้อมกล่าวว่า

“ทุกครั้งที่มีการจัดงานแบบนี้ (กิจกรรมที่ทำให้ใคร่ครวญถึงความตาย) มันเป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะมันทำให้เราได้ตระหนักรู้การใช้ชีวิตต่อจากนี้ให้มีคุณค่า แต่พอผ่านไปสักพัก เราได้กลับไปอยู่บ้าน ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เราก็จะลืมเลือนการตระหนักรู้ที่เราเคยได้รับมา แล้วกลับไปสู่ชีวิตวนลูปแบบเดิมๆ อีก” ดังนั้นการตระหนักรู้ถึงสิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่พิเศษมากๆ

ในประเด็นเรื่องการตระหนักถึงความตาย คุณเอ๋ นิ้วกลมเข้ามาเสริมอีกว่า “ผมเคยถามพระอาจารย์ไพศาลเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน พระอาจารย์บอกกับผมว่า จริงๆ มรณานุสติสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายจังหวะของชีวิต เช่น ก่อนขึ้นเครื่องบิน เราสามารถระลึกถึงความตายได้”

บุคคลสำคัญ : นิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์, คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, อุ๋ย บุดด้าเบลส, โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, สัญญา คุณากร, เอิน กัลยกร นาคสมภพ, ตั๊บ ดลพร รุจิรวงศ์, ท้อฟฟี่ แบรดชอว์, พิมพ์อร โมกขะสมิต ,ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อิศรางค์ นุชประยูร

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

เริ่มต้นดีไปได้ดี

เคยไหมคะ ที่เวลาเราเริ่มต้นเรื่องใดดี มักจะไปได้ดีไม่มีอุปสรรคใดๆ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ผู้เขียนเพิ่งมาประจักษ์คำพูดนี้อย่างแจ่มแจ้งเมื่อตอนที่อยากจะเย็บปลอกคอให้บรรดาแมวๆ ที่บ้านใส่
20 เมษายน, 2561

ดินแดนแห่งธรรม ธรรมชาติ แยกไม่ออกจากชีวิต

เดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองเรากำลังร้อนจัดทั้งอุณหภูมิแดดและสถานการณ์ความรุนแรงกับการชุมนุมคนเสื้อแดง ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปต่างเฝ้ามองห่วงใยจนไม่เป็นอันทำอะไรอย่างราบรื่นนัก
25 เมษายน, 2561

ความตาย : ธรรมดา

เดิมรู้สึกว่าความตายเป็นของที่ไม่น่าพิสมัย เหมือนการพลัดพราก การจากกัน มีแต่ด้านลบ เป็นเรื่องที่ไม่พึงมานั่งคิด คือเราไม่เคยเรียนรู้เรื่องพวกนี้ เราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมแบบคนไทยโบราณ