ให้ไพ่ฤดูฝนสานความสัมพันธ์กับตัวเอง-ครู-นักเรียน เรื่องเล่ากระบวนกรชุมชนกรุณา ครูนิ้วนาง - จิดาภา ทัศคร
เมื่อโครงสร้างและระบบการศึกษาในโรงเรียนมัธยมทำให้ครูรุ่นใหม่ที่มีใจมุ่งมั่นในการสอนแทบหมดไฟตั้งแต่ปีแรกๆ ส่วนเด็กนักเรียนไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะบอกเล่าปัญหาชีวิตและแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้ บรรยากาศในโรงเรียนจึงเต็มไปด้วยความเครียด
เรื่องเล่าของ “ครูนิ้วนาง” จากโรงเรียนดงมะไฟวิทยา จังหวัดสกลนครเผยให้เห็นว่า เมื่อทั้งครูและนักเรียนมี “พื้นที่” หรือ “เครื่องมือ” ระบายความรู้สึกนึกคิดและมองเห็นความหวังความดีความงามผ่าน “ไพ่ฤดูฝน” แม้ปัญหาที่เผชิญอยู่จะยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่การมีเพื่อนรับรู้ทุกข์สุขก็ปลดเปลื้องความหนักอึ้งไปได้อย่างน่าทึ่ง
ผลพลอยได้คือครูอิ่มใจ “ไม่ท้อแท้” ในวิชาชีพ ส่วนนักเรียนก็สบายใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวให้ครูและเพื่อนๆ ฟัง บรรยากาศแห่งการเรียนรู้และมิตรภาพก็เบ่งบาน
เมื่อ “ครูคืนถิ่น” พบ “ก่อการครู”
“เราสอบติดครูที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ตอนเรียน ทางสาขาเน้นให้ทำกิจกรรม ออกค่ายปีละ 3-4 ค่าย ทำให้ได้รู้จักเด็กในมุมที่ต่างจากมุมมองบุคคลภายนอก ทั้งสนุกและได้ทำตามแผนงานด้วย”
“เราไปฝึกสอนที่อำเภอสันทราย เด็กที่นั่นหลากหลายมาก มีตั้งแต่เด็กสัญชาติไทย เด็กไม่มีสัญชาติ เด็กไม่มีนามสกุล เด็กที่พ่อแม่ทำงานก่อสร้างแล้วมาอยู่กับพ่อแม่ เจออย่างนี้เยอะมาก เลยทำให้ฉุกคิดว่าปัญหามันเยอะ ก็เลยสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น”
“พอเรียนจบ สอบติดโครงการครูคืนถิ่น เราโดนเรียกตัวกลับบ้านมาอยู่ในโรงเรียนมัธยมประจำตำบลขนาดกลางและเป็นโรงเรียนชายขอบของอำเภอเมือง เด็กที่มีทุนทรัพย์จะเข้าไปเรียนในเมือง เด็กที่ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี อยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่หย่าร้าง พ่อแม่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ส่งเงินมาให้จะอยู่ที่นี่ เด็กกลุ่มนี้มีทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาชู้สาว เขามีดีในแบบของเขา แต่เอาไปเทียบกับเด็กโรงเรียนในเมืองไม่ได้เลย”
“ที่โรงเรียนมีเด็กหลายกลุ่มมาก กลุ่มเด็กเรียนซึ่งหาได้ยากมาก เด็กท้อแท้ในการเรียน กลุ่มเด็กติดเกม เด็กกลุ่มนี้จะจับกลุ่มกันในโรงเรียน นั่งเล่นเกม เหมือนสร้างโลกอีกโลกหนึ่ง เวลาคุยกันก็ใช้ภาษาในเกม ครูบางคนตัดสินไปแล้วว่าเด็กไม่ปกติ บางทีเราก็ตั้งคำถามนะว่ามีอะไรมากกว่าที่เด็กแสดงออกมาไหม เราเคยเจอเด็กคนหนึ่ง เขาบอกว่าเคยแทงครูที่โรงเรียนอื่น เราตกใจและไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร พอดีมีเครื่องมือการโค้ชชิ่ง ก็เลยถามดูว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร เวลาโกรธทำอย่างไร แต่คิดว่าตอนนั้นเรายังไปไม่สุด เลยเริ่มสนใจว่าควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้เพื่อรับมือเด็กกลุ่มนี้”
“เราคาดหวังว่าการเป็นครูคือมาสอน แต่วันหนึ่งๆ สอนจริงๆ ได้ประมาณ 2-3 คาบ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ เรามีงานอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบ ต้องทำให้เสร็จ เข้าระบบมาประมาณครึ่งปี ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คิดว่าถ้าอยู่นานๆ หมดไฟแน่ เราเลยสมัครร่วมโครงการก่อการครู พอเข้าร่วมก่อการครูก็เจอห้องเรียน “ครูคือมนุษย์” อาจารย์พาให้รู้ว่าเรามีความรู้สึกนะ ทำไม 20 ปีกว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยคุยกับตัวเองเลย เหมือนเราพยายามหนีความคิดตัวเองมาตลอด เวลาเผชิญเรื่องราวห้องเรียน ครูมีสิทธิ์รู้สึกได้ แต่เราจะถูกบอกเสมอว่า เด็กๆ ต้องมาก่อน เหมือนข่าวครูตีนักเรียนครูผิด แต่เขาไม่เคยถามเลยนะว่าก่อนหน้านี้เด็กทำอะไรให้ครู แล้วทำไมครูถึงมีแรงผลักดันในการทำแบบนั้น”
เปิดประตูใจ สร้างมิตรภาพด้วย “ไพ่ฤดูฝน”
“พอมาอยู่ทีมก่อการครูสกลนคร พี่ๆ ก็ชวนมาทำเวิร์กชอปไพ่ฤดูฝนที่ทีม Peaceful Death เคยไปจัดเวิร์กชอปให้แล้วรอบนึง เราสนใจที่จะนำไปใช้ต่อ เพราะกระบวนการนี้ไม่ยาก เราเอาไปทดลองใช้ในห้องเรียน ดูว่าเด็กมีปฏิกิริยาอย่างไร แล้วค่อยๆ ปรับ จนนำไปเวิร์กชอปในห้องใหญ่ก็ได้เรียนรู้มาเรื่อย ๆ”
“ก่อนเอาไพ่ฤดูฝนมาใช้ ระยะห่างของเรากับเด็กเยอะมาก เด็กบางคนไม่เคยคุยกันเลย พอใช้ไพ่ในห้องเรียนประมาณ 20-30 คน เด็กบางคนเขาก็จะเดินมาบอกว่า ครูหนูได้ไพ่ใบนี้ หนูไม่เข้าใจมันคืออะไร ครูอธิบายให้หนูฟังได้ไหมว่าไพ่บอกอะไรกับหนู พอเราอธิบายความหมายของไพ่ เด็กก็ค่อยๆ เชื่อมโยงกับชีวิตของตัวเอง เรารู้สึกว่าระยะห่างระหว่างเรากับนักเรียนใกล้กันมากขึ้น เด็กบางคนรู้สึกปลอดภัยพอที่จะมาเล่าเรื่องให้ฟัง”
“สิ่งที่เสียดายและยังไม่ได้ทำก็คือ การติดตามผลว่าหลังจัดกิจกรรม เพราะเด็กเรียนจบแล้ว คิดว่าเครื่องมือนี้สามารถนำไปทำกิจกรรมกับเด็กได้ไกลกว่านี้มาก น้องที่ร่วมทำเวิร์กชอปไพ่ฤดูฝนด้วยกันบอกว่าอยากนำกิจกรรมนี้ไปเปิดคลินิกเยียวยาเด็ก เพราะโรงเรียนเราไม่มีครูแนะแนว ทำให้เด็กในโรงเรียนไม่มีแรงบันดาลใจอยากทำหรืออยากเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ Peaceful Death ทำงานกับกลุ่มนักเรียนโดยใช้เครื่องมือเหล่านี้ ทั้งแบบเวิร์กชอปกับเด็กและครู คิดว่าน่าจะสนุกและเพิ่มเครือข่ายได้มาก”
“เราเริ่มทดลองในชั้นเรียนทั่วไป ตอนแรกไม่รู้จะนำไปใช้อย่างไร ก็ทำกระบวนการเหมือนเวิร์กชอปของ Peaceful Death คือเริ่มจากไพ่ฤดูฝน ไพ่ความต้องการ จบด้วยไพ่รุ้ง จากนั้นให้เด็กเลือกไพ่ความรู้สึกในปัจจุบัน พบว่าแม้จะมีคำเชิงบวกให้เลือก แต่เด็กในห้องเลือกไพ่ความรู้สึกโทนลบหมดเลย บางห้องให้หลายรอบ ความรู้สึกก็ยังเป็นโทนลบ”
“ต่อมาลองนำไปเล่นกับเด็กชั้นม.2 ที่เราเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา นักเรียน 25 คน ให้นักเรียนเขียนความรู้สึกในสมุดของตัวเอง ไม่ต้องให้ใครดูหรือเล่าให้ใครฟัง เพราะเด็ก ม.2 จะกลัวเพื่อนบูลลี่ว่าทำไมรู้สึกอย่างนี้ พอมาถึงไพ่ความต้องการ มีนักเรียนที่เป็นรองหัวหน้าห้องร้องไห้ออกมา พอถามเด็กว่าเกิดอะไรขึ้น พบว่าเขาเห็นไพ่ความต้องการ “การรับฟัง” ซึ่งตรงกับความต้องการของเขา แต่ในชีวิตเขาไม่เคยได้เรียนรู้คำๆ นี้ พอเจอคำก็คลิก เราบอกนักเรียนว่านี่คือสิ่งที่เพื่อนต้องการนะ ช่วยเพื่อนได้มั้ย”
“พอเห็นคนนี้ร้องไห้เราก็สะอึก คิดว่าจะรับมือยังไงดี จะต้องทำตัวแบบไหน เพราะโดยปกติในห้องเรียนไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความรู้สึก วันนั้นเลยเดินไปปลอบว่า “โอเคนะ โอเคมั้ย มีอะไรไปเล่าให้ครูฟังได้นะ ถ้าไม่โอเค หลังออกนอกห้องก็มาคุยกับครูก็ได้ เป็นการจุดประเด็นให้จัดเป็นวงใหญ่ในรอบต่อมา”
“ตอนสอนวิชาพระพุทธศาสนา เราฉุกคิดขึ้นได้ว่า เมื่อพูดเรื่องอริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) พอพูดเรื่องความทุกข์จะมีไม่สบายกายไม่สบายใจ เราถามนักเรียนว่ามีใครมีความรู้สึกอะไรบ้าง
“เหนื่อย, ท้อ” เด็กนักเรียนบอก
“เป็นอะไร เกิดอะไรขึ้นทำไมถึงท้อ สาเหตุเกิดจากอะไร” เราถาม
“แฟนทิ้ง อกหักเขาไม่ตอบแชท” นักเรียนตอบ
“แล้วทำอย่างไงดีให้ทุกข์น้อยลง” เราถาม
“มีคนใหม่ไปเลยครู มูฟออน” นักเรียนตอบ
เรายกสถานการณ์ของเด็กมาเชื่อมจนถึงจนสุดทาง คือทางออกแห่งทุกข์ (มรรค) แล้วให้เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ในชีวิตที่ตรงกับเรื่องทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค
“เราจัดเวิร์กชอปกลุ่มใหญ่ให้เด็กม 6 โดยเปิดรับสมัครตามความสมัครใจ ในโปสเตอร์เขียนว่า “ห้องพักใจ” กระจายในไลน์กลุ่มให้เด็กๆ ชวนเพื่อนมาแบบปากต่อปาก มีผู้สมัคร 15 คน จาก 2 ห้อง คือห้องวิทย์และห้องศิลป์
“เริ่มจากเช็คอินความรู้สึก มีโพสต์อิทให้คนละแผ่นเพื่อเขียนความรู้สึก ให้เวลาประมาณคนละ 5 นาที
จากนั้นให้จับกลุ่มตามความสมัครใจเพื่อเล่าเรื่องราวให้เพื่อนฟัง ให้เล่าทีละคนโดยไม่ตัดสิน โดยปูพื้นฐานการฟังมาก่อน
“รอบต่อไปเรื่องความต้องการ รอบสุดท้ายไพ่รุ้ง พอเจอไพ่รุ้ง บางคำเด็กสามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้ เช่น คำว่าความงาม ศิลปะ เด็กบางคนก็ร้องไห้ออกมาอีกรอบ เด็กร้องไห้กันเยอะมาก เราก็ปล่อยเลย เพื่อนเขามีวิธีการจัดการ บางคนทำตัวไม่ถูกก็บอกให้ปลอบเพื่อนหน่อย จับมือเพื่อนหน่อย ห้องนี้ไหลลื่น เพราะเขาเป็นเพื่อนกัน เด็กบางคนถูกครูคนอื่นตัดสินว่าขาดเรียนบ่อย เป็น “สก๊อย” เราไปฟังพบว่าเด็กคนมีปัญหาทางด้านครอบครัว เแม่ไปมีแฟนใหม่แล้วต้องอยู่กับพ่อ เขาเลยเลือกที่จะให้แม่สนใจ ทำให้เราเห็นปัญหาที่เด็กต้องเผชิญ
“พอจบวง เด็กสะท้อนว่าเห็นว่าเพื่อนเจออะไรมา ตอนเรียนด้วยกัน ไม่มีเวลามานั่งคุยชีวิตส่วนตัวกัน นักเรียนผู้ชายก็เข้ามานะ เป็นนักเรียนรด. พอมาอยู่ในวงนี้เขาร้องไห้หนักมาก หนักจนเพื่อนไม่รู้จะรับมืออย่างไง เราปล่อยเลย ดูว่าเพื่อนเค้าจะจัดการยังไง เราเป็นผู้ดู แล้วเพื่อนเค้าก็จะมีวิธีการจัดการของเขา
“เราอยู่ด้วยการตัดสินมาตลอด บางทีมีคนไม่ถูกกันอยู่ในวงนั้นด้วย หลังเข้ากลุ่ม เด็กที่ไม่ถูกกันบอกว่า “หนูเห็นอีกมุมหนึ่งของเพื่อน เขาก็มีมุมนี้เยอะเหมือนกันนะ ที่ผ่านมาหนูไม่ชอบเขา หนูเกลียดเขา ใช้อคติของหนูคำตัดสินเขามาตลอด วงนี้ทำให้เขาเห็นว่าเพื่อนมีปัญหาเยอะเหมือนกัน เพื่อนต้องรับมือกับอะไรเยอะมาก”
“เราทึ่งค่ะ แบบ เฮ้ยทำได้ไง ทำให้แบบวงนั้นจบไปด้วยความอิ่ม อิ่มกับตัวเองมาก เด็กบอกว่าขอบคุณคุณครูนะคะที่ทำให้ห้องเล็กๆ ห้องนี้อบอุ่นมาก พอจบกิจกรรมนักเรียนสะท้อนว่าได้มิตรภาพ ได้รู้รับได้ฟังปัญหาของเพื่อนที่ไม่ได้สนิทกันเลย”
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ภารดี ปลอดภัย - เมษายน 2565