ผู้เรียบเรียงจากเสวนาออนไลน์ “นักเรียนเศร้า เราดูแล” 9 ต.ค. 2565 โดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ท่ามกลางข่าวร้ายรายวัน นักเรียนถูกเพื่อนและสังคมออนไลน์ทำร้ายร่างกายและจิตใจจนทำร้ายตัวเอง ส่วนบ้านก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เด็กบางคนถูกพ่อแม่ข่มขู่ ทำร้าย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
เหตุการณ์เหล่านี้นับเป็น “ความสูญเสีย” ที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจทั้งระยะสั้นและระยะยาว สิ่งที่ร้ายแรงกว่าการบาดเจ็บหรือสูญเสียทางร่างกายคือ เด็กๆ สูญเสียตัวตน ความมั่นใจในตัวเอง ความเชื่อมั่นที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัย เกิดเป็นบาดแผลทางใจที่ทำให้เด็กนักเรียนอยู่ในภาวะกดดันและโศกเศร้า ร้ายแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย
ข้อมูลล่าสุดของกรมสุขภาพจิตพบว่านักเรียนเริ่มเป็นโรคซึมเศร้ากันตั้งแต่ชั้นประถม
ครอบครัว โรงเรียน และสังคมไทยจะทำอย่างไรเพื่อให้นักเรียน “ทรัพยากรอันล้ำค่า” ของสังคมรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะหากนักเรียนในวันนี้มีปัญหาสุขภาพจิต ก็เท่ากับว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้าเราจะมีผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม
งานเสวนาออนไลน์ “นักเรียนเศร้าเราดูแล” จัดขึ้นเนื่องในงานประชุมเรียนรู้ชุมชนกรุณาและวันฮอสพิซและการดูแลแบบประคับประคองโลก พ.ศ.2565 (World Hospice and Palliative Care Day 2022: Healing Hearts and Communities) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ต.ค. 2565 เพื่อเรียนรู้แนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตและดูแลความสูญเสียในสถานศึกษา ผ่านประสบการณ์ของกลุ่มก่อการครูสกลนคร ทีมงานห้องสมุดแมวหางกินส์ จ.อุบลราชธานี และการทำงานในพื้นที่อื่นๆ
“บูลลี่” “ด้อยค่า” “สูญเสียตัวตน” เรื่องเศร้าของนักเรียน
“เป็นเด็กเป็นเล็กมีเรื่องอะไรให้เศร้า” พวกผู้ใหญ่มักคิดและพูดแบบนี้เมื่อเด็กบอกว่าเศร้า
แท้จริงแล้วเด็กเป็นวัยที่อ่อนไหวกับความรู้สึกเชิงลบมากที่สุด เรื่องที่ผู้ใหญ่มองว่า “เล็กน้อย” มักเป็นเรื่องใหญ่เสมอสำหรับเด็กและวัยรุ่น เช่น ถูกเพื่อนล้อว่าไม่สวย อ้วน ดำ เป็นต้น
ดร.อริสา สุมามาลย์ “ครูเหมียว” ตัวแทนกลุ่มก่อการครูสกลนครและอาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่าสมัยเป็นอาจารย์ที่สถาบันราชภัฏสกลนครและเป็นผู้สอนวิชาจิตตปัญญาศึกษานักศึกษาปริญญาตรีพบว่า “เรื่องเศร้า” หรือความสูญเสียของนักศึกษาคือการสูญเสียความมั่นใจตัวเอง การไม่มีตัวตนในสังคม โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์
“จากแต่ก่อนเด็กถูกกดดันจากการถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนข้างบ้านและครอบครัว ตอนนี้สังคมออนไลน์ทำให้เขากดดันตัวเอง เห็นคนประสบความสำเร็จเร็ว ขายของออนไลน์ได้เป็นล้าน ก็อยากผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นบ้าง”
อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้เด็กเศร้าคือการเติบโตใน “ครอบครัวฟันหลอ” ครูเหมียวกล่าวว่าเด็กในต่างจังหวัดมักเติบโตใน ครอบครัวที่พ่อแม่ไปทำงานในเมืองใหญ่หรือต่างประเทศ เด็กถูกทิ้งให้อยู่กับผู้สูงอายุ พอเด็กมีปัญหาไม่สามารถพูดคุยกับผู้สูงอายุที่ดูแลได้ เพราะมีช่องว่างและความขัดแย้งระหว่างวัย เช่น เด็กอยากทำงานอิสระ แต่คนเจนปู่ย่าตายายก็อยากให้ทำงานมั่นคง เช่น เป็นครูหรือราชการ เป็นต้น
ด้านวลัยพร วังคะฮาต “ครูอร” ครูอาสาห้องสมุดแมวหางกิ้นส์และผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนกรุณา อุบลราชธานี ให้ความเห็นว่าเด็กนักเรียนมักประสบภาวะไม่มี “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “เซฟโซน” ทั้งในบ้านและนอกบ้าน
ในชุมชนห้องสมุดที่เราทำงานกับเด็กประถม มีเรื่องหนักๆ เช่น พ่อแม่เสียชีวิต เด็กอยู่กับตายาย และครอบครัวที่ไม่ใช่ครอบครัวที่แท้จริง และตอนทำกิจกรรมออนไลน์กับเด็กกลุ่มเปราะบางบางกลุ่ม พบว่าเด็กบางคนมีภาวะอารมณ์ไม่ปกติ อยากทำร้ายตัวเอง อยากฆ่าตัวตาย เนื่องจากบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย
วลัยพรกล่าวว่าในช่วงวิกฤติการณ์โควิดประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานีในปีที่ผ่านมา เด็กๆ ต้องหยุดเรียน ช่วงโควิดเด็กถูกพรากโอกาสในการศึกษา เนื่องจากชุมชนชนบทเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ เพราะไม่มีอุปกรณ์โทรศัพท์ เด็ก ๆ ไม่มีคนดูแล ทำให้การเรียนทางมือถือไม่มีประสิทธิภาพ
เรากำลังเจอปัญหาหลายมิติ น่าห่วงทุกด้าน ในเด็กที่เริ่มเป็นวัยรุ่น สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือการสูญเสียตัวตน ถูกเพื่อนบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตา ไม่สวย ดำ เด็กวัยนี้ต้องการการยอมรับสูง ยิ่งเพื่อนรักเป็นคนบูลลี่ เขายิ่งรู้สึกสูญเสีย สูญเสียความรัก การยอมรับ ตัวตน ไม่มีคนรับฟัง ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยแม้แต่ที่บ้าน เพราะพ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด ครอบครัวที่อยู่ได้ไม่มีการรับฟัง เขามาคุยกับเราและบอกว่าอยากฆ่าตัวตาย ..วลัยพรฉายภาพ
“สังเกต-รับรู้-เข้าใจ” บันไดขั้นแรกของการดูแลใจนักเรียน
“เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ไม่สามารถใช้ได้กับความโศกเศร้าจากความสูญเสียด้านต่างๆ เช่นเดียวกับความโศกเศร้าหรือความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและวัยรุ่น
สำหรับเด็กๆ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นของจริง “เจ็บจริง” “เศร้าจริง” จนเด็กบางคนไม่สามารถทนทานต่อความเจ็บปวดเหล่านั้นได้
หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ “ปัดผ่าน” หรือ “ด้อยค่า” ความรู้สึกนึกคิดนั้น ก็จะนำมาสู่ปัญหาใหญ่
ดร.อริสาบอกว่าในฐานะครู หากอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนและรู้จักสังเกต จะมองเห็นความเจ็บปวดหรือความไม่ปกติในตัวเด็ก และหากครูกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจัดสรรเวลาพูดคุยกับเด็กเพื่อรู้ปัญหา ก็จะเข้าใจและช่วยเหลือได้ทัน
“การเห็นหรือไม่อยู่ที่สายตาคนมองด้วย เด็กอาจจะส่งสัญญาณแล้ว แต่เรามองไม่เห็น เราเคยเห็นเด็กก้มหน้า มือถือปากกาเกร็ง เราเข้าไปจับมือพบว่ามือเย็น เลยบอกว่า “มีอะไรอยากคุย เลิกคลาสมาคุยได้นะ” หลังจากนั้นเด็กมาคุยและร้องไห้” ดร.อริสาเล่า
ด้านปฏิพัทธ์ อนุรักษ์ธรรม “อาจารย์ตี่” อาจารย์ประจำศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล บอกว่าในการแก้ปัญหานักเรียนเศร้าต้องพิจารณาเรื่องระบบโครงสร้างในสังคมด้วย กล่าวคือระบบและโครงสร้างในสังคมคือตัวหลอมความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคม ขณะเดียวกันระบบโครงการแบบเก่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเด็กถูกกระทำ เช่น ถ้าเศร้าให้ไปเข้าวัดปฏิวัติธรรมเป็นต้น
“เวลามองเด็กเศร้าเรามักมองเชิงปัจเจกว่าเขาโดนอะไรมา แต่ระบบโครงสร้างในสังคมคือตัวหลอมให้เด็กเป็นแบบนั้น เช่น การบูลลี่ เราทุกคนถูกหลอมให้ยอมรับวัฒนธรรม “ทำไมอ้วน” “ทำไมดำ” เราทำงานกับปัจเจก แต่ต้องทำงานกับนะบบสังคมด้วย”
“หลายสถาบันการศึกษามีระบบคิดว่าถ้าเด็กมีปัญหาต้องเข้าวัดปฏิบัติธรรมทำสมาธิ ซึ่งไม่ตอบโจทย์กับความเศร้าของเด็ก บางครั้งเป็นการทำร้ายนักเรียนซ้ำ ดังนั้นครูในสถาบันการศึกษาต้องสังเกตความแตกต่างของเด็ก และเราใช้วิธีเดียวกับคนทุกคนไม่ได้ว่า” ปฏิพันธ์กล่าว
ไพ่ฤดูฝน..เครื่องมือดูแลหัวใจ
“รับรู้ เข้าใจ ยอมรับ” คือขั้นตอนการทำงานกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียทุกประเภท การรับรู้ในที่นี้หมายถึงรับรู้ความรู้สึก-ความต้องการที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อรับรู้แล้วจะเกิดการเข้าใจและการยอมรับตามมา
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม Peaceful Death ได้พัฒนาเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการฟังอย่างลึกซึ้งหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือไพ่ฤดูฝน ซึ่งมีการพัฒนา ทดลองใช้ นำไปใช้จริง และวิจัยผลลัพธ์หลังการใช้
ปฏิพัทธ์ อนุรักษ์ธรรม ผู้วิจัยผลสัมฤทธิ์การใช้ไพ่ฤดูฝนเล่าว่า ไพ่ฤดูในถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสนทนาระหว่างผู้ป่วยระยะท้ายและผู้ดูแล ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และญาติ ประกอบด้วย ไพ่เมฆ ความรู้สึก, ไพ่ฝนสองเม็ด ความต้องการสำหรับผู้ป่วยทั่วไป, ไพ่ฝนสามเม็ด ความต้องการสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย ,ไพ่ร่ม เพื่อดูแลจิตใจบุคลากรทางการแพทย์และผู้ดูแล และไพ่รุ้ง ซึ่งเป็นคำพูดที่เป็นของขวัญหรือคำอวยพร
“จากประสบการณ์ตัวเองและงานวิจัยบอกว่า ไพ่ฤดูฝนเป็น “ตัวช่วย” หรือ “สื่อกลาง” ในการการพูดคุย เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่รู้จะเล่าเรื่องอย่างไร พอเปิดไพ่ความรู้สึกเรื่องราวก็เริ่มชัดเจน บางคนเศร้าหงุดหงิดโกรธ แต่ไม่เคยบอกได้เลย ไพ่ก็ทำให้ชัดเจนขึ้น” ปฏิพัทธ์กล่าวและบอกว่าปัจจุบันมีผู้นำไพ่ฤดูฝนไปใช้หลากหลายมากขึ้น เช่น บุคลากรในสถาบันการศึกษา เป็นต้น
สอดคล้องกับประสบการณ์ของดร.อริสาที่บอกว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุความรู้สึกความต้องการของตัวเองได้ ไพ่ฤดูฝนจึงทำให้นักศึกษารู้จักกลุ่มคำเกี่ยวกับความรู้สีกความต้องการมากขึ้น และกระบวนการเล่าโดยให้สำรวจความรู้สึก-ความต้องการจะทำให้นักศึกษาเข้าใจตัวเอง รวมทั้งขยายมุมมเกี่ยวกับการดูแลตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม
“ถ้าคุยแบบไม่มีเครื่องมือ เราจะคุยได้เฉพาะกับคนสนิทหรือคนที่เดินมาหาเรา แต่ถ้าใช้เครื่องมือนี้ เราสามารถทำงานกับกลุ่มคนที่ใหญ่ขึ้น เรากำลังฝึกทักษะการทบทวนตัวเองและฝึกทักษะการฟังด้วย และสร้างวัฒนธรรมใหม่ว่าเราสามารถฟังกันได้ และเครื่องมือยังช่วยผู้สอนก้าวขั้นบันไดไปสู่เป้าหมาย ทำให้กล้าสอนเด็กมากขึ้น”
“ในวิชาจิตตปัญญาศึกษา เรามีเครื่องมือชวนให้พูดคุยเรื่องภายใน เพื่อเข้าใจตัวเอง และหาวิธีแก้ปัญหาชีวิต เช่น เป้าหมายชีวิต ไอดอลในดวงใจ ถ้าสอนวิธีแก้ปัญหาเลยจะใช้ไม่ได้ผล เพราะคนทุกข์เหมือนน้ำเต็มแก้ว ใส่อะไรออกไปก็ล้น ต้องระบายออกก่อน จึงจะมีช่องทางให้เกิดปัญญา ให้เขาหายใจออกก่อน โผล่พ้นน้ำมาก่อน เราฝึกให้เขามีทักษะจัดการความคิดและหาทางออกให้ตัวเอง ผ่านเครื่องมืออย่างไพ่ฤดูฝน” ดร.อลิสากล่าว
ด้านวลัยพรกล่าวว่าไพ่ฤดูฝนคือการ “เพาะเมล็ดพันธุ์” หรือ “บันไดขั้นแรก” เพื่อให้เด็กรู้จักสภาวะอารมณ์ของตัวเองผ่านการรู้จักความรู้สึกความต้องการ
“ครั้งแรกที่ใช้ไพ่ฤดูฝนกับเด็กในห้องสมุด เราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กเล็ก ป1 ป.2 จะระบุความรู้สึกได้ทันทีหรือชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ แต่กระบวนการกลุ่มจะช่วย พี่โตๆ จะช่วยถามน้อง นี่เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้เขารู้จักความรู้สึกตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาชีวิตตอนโต” วลัยพรกล่าว
“บันไดขั้นแรกของการดูแลใจเด็กเล็กเริ่มจากชวนให้รู้จักความรู้สึกอารมณ์ตัวเองโดยใช้การ์ดชวนคุย เช่น วันนี้รู้สึกอะไรบ้าง พ่อแม่ว่าตอนเช้ารู้สึกอย่างไร ต้องการให้เกิดอะไรขึ้น ถ้าเขาว่าโกรธ เศร้า เสียใจแล้วพูดออกมา จะเป็นเมล็ดพันธุ์แรกที่ช่วยทำให้เขาจัดการอารมณ์ตัวเองได้ คือเริ่มจากรู้จัก ระบุออกมา ยอมรับอารมณ์ตัวเอง และจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งก็คือคำเดียวกับสติ เพียงแต่เราไม่ใช่คำว่าสติกับเด็ก” วลัยพรกล่าว
ความตาย-การสูญเสีย สิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้เพื่อจะอยู่ดี
สื่อสังคมออนไลน์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ ศ.ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ อดีตอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องความตายและการสูญเสียในนักเรียน จึงพัฒนาและเปิดสอนและวิชามรณศึกษาในระดับมัธยมมาตั้งแต่ปี 2552
“เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าการสูญเสียคือความจริงของชีวิตเพราะเขาต้องสัมผัสอยู่แล้ว การตายไม่ใช่การสูญเสียเพียงอย่างเดียว อกหัก ทะเลาะกับเพื่อน ของหาย ก็ถือว่าสูญเสีย เราต้องทำให้เขารู้จัก เผชิญอารมณ์ และจัดการอารมณ์ได้ เมื่อเกิดความสูญเสีย ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือทำให้เห็นคุณค่าของชีวิต และปรับตัวใช้ชีวิตอย่างมีความหมายมีคุณค่า ไม่ประมาท อย่างน้อยที่สุดคือดูแลสุขภาพ ทำความดี และฝึกจิตเตรียมพร้อมเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น เขียนพินัยกรรมชีวิตหรือเขียนคำไว้อาลัยให้ตัวเอง”
“ทำให้เขาเห็นว่าการสูญเสียเป็นกระบวนการธรรมชาติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่ห้ามร้องไห้ ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะการร้องไห้คือการระบายอารมณ์อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ร้องสามวันสามคืน เราสอนให้เขาเผชิญความจริง ได้เรียนรู้และคิด “เปิดใจ” “ทำให้เขา “ตื่นรู้” “ฉลาดรู้” แบบไม่ใช่ป้อนความรู้เขาอย่างเดียว แต่เกิดจากตัวเขาเอง”
ขณะที่สังคมและวัฒนธรรมปกป้องเด็กจากการเรียนรู้เรื่องความตายโดยห้ามไม่ให้ไปงานศพญาติพี่น้องหรือพูดถึงความตาย เพราะกลัว “ติดตา” หรือ “ฝังใจ” ศ.ดร.เอมอัชฌาบอกว่าเราสามารถสอนเรื่องความตายและการสูญเสียให้แก่เด็กโดยให้เด็กสังเกตและเปรียบเทียบจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้เด็กรับมือกับความตายและความสูญเสียได้เมื่อโตขึ้น
ในเด็กเล็กอาจเปรียบเทียวกับหมาแมวหรือการปลูกต้นไม้ ถ้าวันหนึ่งหมาป่วยหนักจะทำอย่างไร พาไปหาหมอไหม หรือปล่อยให้ตายไปเลย หรือเคยทำตุ๊กตาของเล่นหายไหม หายแล้วรู้สึกอย่างไร ในเด็กโตเรามีวิชา “การตายอย่างมีคุณภาพ” เป็นวิชาการศึกษาทั่วไป มีการจัดการอารมณ์เกี่ยวกับการสูญเสีย ในการเรียนการสอนอาจแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็น 3 กลุ่ม เช่น การสูญเสียคนรัก ของหาย สัตว์เลี้ยงตาย โดยพูดคุยแลกเปลี่ยนว่ารู้สึกอย่างไร จัดการอารมณ์อย่างไร
วลัยพรเล่าว่าในเด็กประถม สามารถสอนให้เด็กๆ รู้จักการตายและการสูญเสียได้ผ่านสื่อต่างๆ แล้วชวนพูดคุย เช่น ดูภาพยนตร์เรื่อง “โคโค่ วัยอลวน วิญญาณอลเวง” ราวของเด็กเล็กที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปแล้วชวนเด็กพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวในภาพยนตร์ แล้วโยงมาถึงเรื่องของตัวเอง เช่น มีคนในครอบครัวกี่คน คนที่ผูกพันที่สุดคือใคร ใครหายไป อยากดูแลใคร จากนั้นชวนเด็กเขียนจดหมายเพื่อสื่อสารกับคนที่ยังอยู่ แม้จะไม่กล้าส่งจดหมาย แต่ให้เขาเรียนรู้ว่าเขารู้สึกกับการสูญเสียอย่างไร จะจัดการอย่างไร
“ปีแรกที่ทำกิจกรรมชุมชนกรุณาในห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ เราใช้นิทานให้เด็กๆ เรียนรู้ความสูญเสีย ปีนี้เราจะทำงานกับเด็กโต เน้นให้เขาเห็นว่ามันเกิดขึ้นได้ อะไรคือเป้าหมายสำคัญของชีวิต เราจะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและมีคุณค่าได้อย่างไร ส่วนชุมชนกรุณาลำปางกำลังพัฒนาหลักสูตรอยู่ดีตายดีในวัยรุ่นหรือเด็กโต โดยให้เรียนรู้เรื่องการอยู่ดีตายดีผ่านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมล้อมตัว เช่น ใบไม้ แมลง ผีเสื้อนก ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วดึงมาสู่เรื่องชีวิตและความตายของตัวเอง เพื่อให้เด็กสัมผัสกับความจริงของชีวิตและวางแผนรับมือการสูญเสียด้านต่างๆ เป็นหลักสูตร 1 เทอม 16 ชั่วโมง"
ด้านปฏิพัทธ์บอกว่าเด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องความตายเพราะความเข้าใจเรื่องความตายจะเชื่อมโยงมาถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต
“ที่ศูนย์จิตตปัญญาเรามีวิชา “ชีวิตและความตาย” เราพูดถึงการเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น สอนเรื่องชีวิตอยู่แล้ว ทำให้ความใจเรื่องความตายในมิติต่างๆ กฎหมาย สุขภาพ การจัดการใจ ศาสนา ความเชื่อม “ความตายและชีวิตเชื่อมโยงกันและกัน”
ปิดท้ายด้วยความเห็นของดร.อริสา ว่าความตายเกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตตปัญญา เพราะความตายทำให้เข้าถึงความจริง ความดี ความงาม ความจริงคือเราไม่ได้อยู่ตลอดไป ความดีคือเราจะทำอะไร และความงามคือเราเห็นความงามในสรรพสิ่งที่แต่ละวันผ่านไปโดยเราไม่เสียดาย เรามีชีวิตอยู่แต่ละวันเพื่ออะไร
การเสวนานี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในฐานะครูและผู้ใหญ่ เราสามารถ “โอบอุ้ม” ความโศกเศร้าของเด็กนักเรียนได้ผ่านการเปิดพื้นที่ “รับฟัง” เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ เพียงแค่ฟังก็เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ แล้ว นอกจากนี้เรายังเป็นภาระหน้าที่ของผู้ใหญ่ในการสร้างระบบและโครงสร้างทางการศึกษาที่ทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และรู้จักกายใจ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองอย่างถ่องแท้ผ่านประตูด่านแรกคือ “ความรู้สึก-ความต้องการ” และการเรียนรู้เรื่องความตายและการสูญเสียด้านต่างๆ เพื่อที่จะได้เป็น “เกราะ” หรือ “อาวุธ” ประจำตัวประจำใจให้เด็กนักเรียนรับมือกับความเศร้าได้อย่างไม่เจ็บปวดและสูญเสียเกินไปนัก